xs
xsm
sm
md
lg

“โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19” สานต่อพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีแรงงานตกงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก และต้องกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาทำให้ขาดรายได้ที่จะมาจุนเจือครอบครัว ราษฎรประสบความทุกข์ยากแสนเข็ญ

ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย



ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำที่ดินในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้ง 30 ฟาร์มจากจำนวน 61 ฟาร์มทั่วประเทศ มาใช้สนับสนุนการจ้างงาน ภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19”

พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ฟาร์มต้านภัย ทั่วประเทศยั่งยืน


“โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” มีจำนวน 30 ฟาร์ม จาก 17 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่ว่างส่วนหนึ่งของฟาร์มตัวอย่างฯ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 5 ไร่ จนถึง 35 ไร่ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 471 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา

โดยได้น้อมนำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ฟาร์มตัวอย่างเป็นแหล่งที่สร้างอาหารที่ปลอดภัย แหล่งรายได้ สามารถสร้างเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยประชาชนไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานมาทำงานในเมืองเหมือนเช่นเคย

โดยการนำองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการแบบเกษตรทฤษฎีใหม่มาประกอบการดำเนินงานเน้นการมีส่วนรวมของประชาชน ดังพระราชปณิธานที่ต้องการให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”



การดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ระยะเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย.) มีการวางแผนการออกแบบปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือที่เรียกว่า ปั้นโคก สร้างหนอง และทำนา ด้วยการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อสร้างอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ขั้นตอนที่ 2 ระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) เป็นการเสริมสร้างพืชผลและเสริมสร้างเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้ที่จำเป็นเมื่อผลผลิตจากฟาร์มมีเพียงพอสำหรับคนในฟาร์มแล้ว สามารถนำไปแบ่งปันให้แก่คนอื่นในชุมชนที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของการให้ ยิ่งทำยิ่งได้ยิ่งให้ยิ่งดี

ขั้นตอนที่ 3 ระยะเวลา 1 เดือน (ก.ย.) เป็นการเรียนรู้การขายผลผลิตที่เหลือจากขั้นที่ 2 แบบพอประมาณของที่นำมาขายเป็นของที่เหลือจากทุกขั้น ขายด้วยความรู้สึกของการให้ อุ้มชู เผื่อแผ่ และแบ่งปันไปด้วยกัน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งก็สามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งจังหวัดและประเทศ

ปัจจุบัน การจ้างงานเป็นแรงงานในฟาร์มตัวอย่างฯ มีผู้สมัครทั้งหมด 1,104 คน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 ฟาร์ม 110 คน ภาคกลาง 3 ฟาร์ม 150 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 ฟาร์ม 346 คน และภาคใต้ จำนวน 15 ฟาร์ม 498 คน
รอยยิ้มปวงประชา สู่แหล่งอาหาร-รายได้มั่นคง

บนพื้นที่กว่า 15 ไร่ จากจำนวนเนื้อที่ 720 ไร่ ของฟาร์มตัวอย่างฯ ศรีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ได้ถูกจัดสรรเพื่อใช้สำหรับการจ้างงาน และศูนย์การเรียนรู้ของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้เข้ามาทำงานสร้างอาชีพภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19”

โดยได้น้อมนำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ฟาร์มตัวอย่างเป็นแหล่งที่สร้างอาหารที่ปลอดภัย แหล่งรายได้ สามารถสร้างเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน เดิมพื้นที่ทั้ง 15 ไร่ เป็นเพียงทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของฟาร์มตัวอย่างฯ เท่านั้น

แต่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพลิกฟื้นที่ว่างเปล่าทำการเกษตรพร้อมเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการเอามื้อสามัคคี ปั้นโคก สร้างหนอง ขุดสระลึก 7 เมตร 3 สระ นำดินที่ขุดขึ้นมาถมให้เป็นชาน

ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน แถมเป็นที่วางไข่ของปลาน้อยใหญ่ ทั้ง 3 สระน้ำ ความจุรวม 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอีกหัวใจของพื้นที่ช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฟาร์มยังนำร่องทำนาปลูกข้าว กข. ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ช่วยสร้างแหล่งอาหาร เพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง และมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวคลายปัญหาในช่วงวิกฤต



[ วรัตม์ มาประณีต นายอำเภอแสวงหา ]

วรัตม์ มาประณีต นายอำเภอแสวงหา กล่าวว่า แม้จังหวัดอ่างทองจะไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ด้วยสถานการณ์ที่โรคระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้ราษฎรในอำเภอแสวงหาดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก แม้ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ของรัฐบาลไปบ้างแล้ว แต่พี่น้องก็ยังประสบปัญหา กลับมาทำงานไม่ได้ โรงงานปิด ขาดรายได้ ทั้งยังมีภัยแล้งซ้ำเติม ทางอำเภอสำรวจว่า มีปัญหาอะไร ต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร

โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ จึงประกาศรับสมัครประชาชนผู้ว่างงานร่วมโครงการ จากนั้นกำนัน และผู้ใหญ่บ้านคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการจ้างงาน ยึดหลักเกณฑ์เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานเลิกจ้างหรือหยุดกิจการ ประชาชนที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย ทำร้านอาหาร และเกษตรกรที่ไม่สามารถขายพืชผลได้ โดยทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์

“เราคัดเลือกผู้ว่างงานจริงๆ จากพิษโควิด-19 และสามารถทำงานในฟาร์มตัวอย่างได้อย่างต่อเนื่อง เพราะหัวใจของโครงการนี้ไม่ใช่แค่การจ้างงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นขั้นตอน

น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิตมากขึ้น และแบ่งปันให้ผู้อื่น อำเภอแสวงหาจะนำโมเดลนี้ไปเป็นต้นแบบผลักดันให้เกิดฟาร์มตัวอย่างฯ ในทุกตำบลที่มีหมู่บ้านยากจน รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี จากฟาร์มตัวอย่างบ้านยางกลาง 15 ไร่ อาจใช้พื้นที่แค่ 1 ไร่ ปรับตามความเหมาะสม ปลูกผักกิน อำเภอจะทำควบคู่กับโครงการศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอแสวงหา เป้าหมาย 7 หมู่บ้าน 7 ตำบล นายวรัตม์ กล่าว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่ที่จะทรงสืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเตรียมพร้อมเมื่อเผชิญต่อวิกฤตต่างๆ ด้วยการนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้เป็นหลักยึดในการสร้างแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ และพร้อมถ่ายถอดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนอื่นๆ ได้
หยุดชีวิตท้อแท้ มุ่งตามรอยปรัชญาพ่อหลวง

บุญล้อม เต้าแก้ว คณะทำงานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ครูกสิกรรมธรรมชาติโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 กล่าวว่า ฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านยางกลาง นำแนวเกษตรทฤษฎีใหม่มาออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ปั้นโคก ขุดหนอง เน้นสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ตนเอง เพื่อให้เก็บน้ำฝนไว้ใช้และกินตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังสร้างพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พร้อมทั้งปลูกพืชที่แปรเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู สบู่ น้ำยาอเนกประสงค์ ทำให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการ 48 คน ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม หรือเรียกว่า 4 หมู่บ้าน ดูแลพื้นที่ 15 ไร่ อย่างเป็นระบบ

มีกระบวนการคิด ไม่ปลูกสะเปะสะปะ พร้อมทั้งฝึกอบรมทักษะความรู้ต่างๆ จากวิทยากรชั้นครูของเกษตรกรจังหวัด กศน. ควบคู่การหนุนนำให้เกิดจิตอาสาตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ ๑๐



“ชาวบ้านเป็นลูกชาวนา เพียงหนีไปทำงานในเมือง เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ก็กลับบ้าน เช้าจดเย็นทุกๆ วันในฟาร์มตัวอย่างฯ ทั้ง 30 แห่ง เป็นห้องเรียนกสิกรรมธรรมชาติ สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เหมือนเป็นเจ้าของแปลงของตนเอง ไม่ได้เป็นแรงงาน เกิดความรักและภาคภูมิใจในแผ่นดิน

เพราะผืนดินนี้สร้างความสุข อนาคตจะหวงแหนที่ดิน ไม่ขาย นี่คือแหล่งอาหารที่มั่นคง ไม่มีเงินก็อยู่ได้ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสร้างความสามัคคีในสังคมไทย เป็นทางรอดทั้งโรคระบาด ภัยแล้ง น้ำท่วม ทรงสร้างคนให้พึ่งพาตนเอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในหลวงและพระราชินีอย่างหาที่สุดไม่ได้” นายบุญล้อมกล่าว


[ รัชนีพร พลรักษา ชาวแสวงหา ]

รัชนีพร พลรักษา ชาวแสวงหา จ.อ่างทอง กล่าวว่า มีอาชีพรับจ้างทั่วไปแต่ต้องตกงานเพราะโควิด-19 ระบาด เมื่อทางอำเภอประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านรับสมัครชาวบ้านร่วมโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 ก็สนใจและได้รับคัดเลือกทำงานในฟาร์มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“ช่วงที่ตกงานใหม่ๆ เราก็เครียดมากเพราะเราไม่มีรายรับในบ้านเลย ตรงกันข้ามกลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้ชีวิตนี้รู้สึกท้อแท้มาก ลูกๆ ก็ต้องกินต้องใช้ แต่เมื่อทราบข่าวว่า ในหลวงพระราชทานโครงการนี้มาให้ชาวบ้านในอำเภอแสวงหาและอำเภอใกล้เคียงเราจึงรีบมาสมัครทันที และพอได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการก็ดีใจมาก เพราะจะได้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวแล้ว”

จากเดิม รัชนีพร แทบไม่มีความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่เลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อเข้าอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติก็สะสมความรู้ได้เป็นอย่างดี ครูสอนตั้งแต่วิธีขุดล้อมต้นไม้เพาะกล้าห่มดินปูฟางทำให้ดินชุ่มชื้น ขุดคลองไส้ไก่ ขุดสระปล่อยปลา ทั้งปลานิล ตะเพียนขาว ตะเพียนทอง ปลาสวาย ปลาบึก กุ้งก้ามกราม



แปลงนาก็มีดำนาแล้ววันที่ 3 มิ.ย. วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินีจะเกี่ยวข้าวกันวันแม่ 12 สิงหาคมนี้ ตนรับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่ 4 ชื่อบ้านปันสุข เรามีคำขวัญ “วิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ต้องเรียนรู้ไว้ มีเหลือใช้ให้แบ่งปัน” พื้นที่เรายังปลูกหม่อนกินผลด้วย

“ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 เป็นวิถีกสิกรรมธรรมชาติมีโคกหนองนาที่เราช่วยกันสร้างเพื่อกักเก็บน้ำตอนนี้ผลผลิตทยอยออกแล้วพวกพืชผักสวนครัวไม้ผลชาวบ้านในโครงการได้นำกลับไปกิน เหลือก็แจกจ่ายเพื่อนบ้านแล้ว ยังได้ความรู้อาชีพเสริมจากวิทยากรที่มาอบรมทุกวัน

ช่วงบ่าย ทั้งวิธีทำสลัดโรล ทำวุ้นแบบง่ายๆ จะกินเองหรือทำขายก็ได้ชาวบ้านทุกคนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง จากนี้ตนจะเลิกรับจ้างรายวันหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ 3 ไร่ของตัวเอง จะปรับปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพราะเห็นประโยชน์จริงๆ” นางรัชนีพร กล่าวด้วยความตั้งใจจะกลับไปพลิกดินทำเกษตรผสมผสานพออยู่พอกิน

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งแห่งน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น ที่ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยสืบสานในพระราชปณิธาน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ราษฎรทุกหมู่เหล่ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานมาทำงานในเมืองไกล มีชีวิตอย่างมั่นคงบนผืนแผ่นดินเกิด

เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล ปกปักอภิบาลประทานพรให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเจริญด้วยจตุรพิธพรพิพัฒน์สวัสดิมงคล พระชนมายุยิ่งยืนนาน

ทรงพระเกษมสำราญสถิตเป็นมิ่งขวัญแห่งปวงประชาสถาพรตราบกาลนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น