โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เกิดขึ้นจากแนวคิดของครอบครัวอยู่วิทยา ประกาศความพร้อมเดินหน้า เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้า 1,000 คน ฝึกลงสนามทำจริง เน้นพึ่งตน-แบ่งปันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดึง 2 พันธมิตรสำคัญ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันอาศรมศิลป์ หนุนความรู้เป็นพี่เลี้ยง มั่นใจสร้างโมเดลชุมชนต้นแบบ “พึ่งตน เพื่อชาติ” 100 ชุมชน ขยายผลสู่เป้าหมายล้านคน ไม่หวั่นโควิด-19 กลับมารอบ 2
พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอยู่วิทยา และผู้อำนวยการโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ กล่าวว่า “โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ เป็นความตั้งใจของครอบครัวอยู่วิทยาที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาสร้างแนวทางการดำรงชีวิตใหม่ เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้ชีวิตของคนไทยนับล้านเปลี่ยนแปลงไป หลายครอบครัวไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้เหมือนเดิม ครอบครัวอยู่วิทยาเล็งเห็นว่าการดำรงชีวิตตามวิถีของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะช่วยสร้างความพอมีพอกินพอใช้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าจะสร้างคุณค่าใหม่ของสังคมแห่งการพึ่งตนและแบ่งปันได้ในท้ายที่สุด”
โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ มุ่งเน้นการหนุนเสริมคนที่มีความพร้อมที่จะเป็นทัพหน้าพาคนไทยฝ่าวิกฤต สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง และชุมชนอย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ทางเว็ปไซต์ของโครงการฯ คือ www.พึ่งตนเพื่อชาติ.com ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้ววันนี้ และโครงการฯ จะประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมรุ่นที่หนึ่งจำนวน 300 คน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และจะเริ่มฝึกอบรมหลักสูตร 1 วัน “ก้าวแรก พึ่งตน” ในวันที่ 21 สิงหาคม เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมพึ่งตนได้ง่ายๆ ได้ในเวลาเพียง 1 วัน
การฝึกอบรมเต็มโครงการจะใช้เวลา 3 เดือน โดยแบ่งเป็น การอบรม 5 วัน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าโปรแกรมเติมหลักคิด หลักทำตามทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเรียนรู้การออกแบบพื้นที่นิเวศ ดิน น้ำ ป่า คน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยเป็นพื้นฐานของการพึ่งตน ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เขาใหญ่ หลังจากนั้น ฝึกปฏิบัติการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อดึงศักยภาพของตนเองและชุมชน ปลูกฝังการเรียนรู้การพึ่งตนและแบ่งปัน โดยเลือกฝึกกับครูเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตามพื้นที่ 4 ภาค ระยะเวลา 10 วัน เพื่อร่วมค้นหาต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่แตกต่างตามภูมิสังคม และท้ายสุดคือการ ลงมือทำอย่างจริงจังตามแนวทางของทฤษฎีใหม่โดยมีครู และเครือข่ายเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับกลับไปลงมือปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง สร้างชุมชนของตนเอง หรือนำองค์ความรู้นี้ไปฝึกลงมือทำในพื้นที่ของครอบครัวอยู่วิทยา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกสอนคนอื่นๆ ต่อไป
พรรณราย กล่าวอีกว่า “พึ่งตน เพื่อชาติ เป็นโครงการที่ต้องการให้คนไทยได้หันกลับมามองตัวเอง หันกลับมาดูสิ่งที่ประเทศชาติได้มอบให้กับคนไทยทุกคน เห็นความมั่งคั่งของแผ่นดิน ความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร ความสง่างามของวัฒนธรรม และความสวยงามจากน้ำใจของคนไทย ดิฉันขอเชิญชวนทุกคนเข้ามาช่วยกันทำ มาช่วยกันสร้างคุณค่าใหม่ของการพึ่งตนและแบ่งปันให้กลับคืนมาอีกครั้ง ช่วยกันดำรงเสน่ห์ที่งดงามของประเทศเราให้คงอยู่ ช่วยกันฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า และสร้างแหล่งอาหารให้หลากหลายแล้วนำไปแบ่งปัน เมื่อสังคมที่เอื้ออาทรและช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนกลับคืนมา เราทุกคนก็จะรอดร่วมกันไม่ว่าโควิด-19 จะกลับมาหรือไม่ สังคมที่มีความสุขจากการให้ มีทรัพยากรสมบูรณ์ และทุกคนผลิตจนพึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากฐานรากก็จะเป็นการเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”
ส่วนบทบาทของครอบครัวอยู่วิทยา พรรณรายกล่าวว่า “นอกจากจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนจำนวน 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรกสำหรับดำเนินการโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ในการตอบแทนคุณแผ่นดินที่พวกเราได้ถือปฎิบัติมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว พึ่งตน เพื่อชาติ ยังเป็นโครงการที่ระดมคนทั้งเจน 2 และเจน 3 ของครอบครัวอยู่วิทยาได้เข้ามาช่วยกันทำตามความสามารถและความถนัดของแต่ละคน บางคนลงมือทำ บางคนจะคอยให้คำแนะนำ และช่วยต่อยอดให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย”
พันธมิตรหนุนขับเคลื่อนโครงการ
วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาคนในโครงการฯ นี้ว่า “สำคัญที่สุดคือการสร้างคนและการติดตามหนุนเสริม โครงการนี้เป็นการจับมือร่วมกัน ตั้งแต่การเริ่มออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับคนเมือง หรือคนที่เคยทำงานในเมืองซึ่งจะเป็นคนละแบบกับกลุ่มเกษตรกร โดยจะมีการอบรม 1 วัน 5 วัน และหลักสูตรเข้มข้นคือไปฝึกที่บ้านครูและพาลงชุมชน ไปเรียนรู้จากของจริง หลังจากนั้นกลับไปทำที่ชุมชนตนเอง หรือจะสร้างชุมชนแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกันแบ่งปันกัน รอดร่วมกัน โดยยึดหลัก Our Loss is Our Gain ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา”
นอกจากหลักสูตรที่ออกแบบให้เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้แล้ว โครงการฯ ยังร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ ทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดโมเดลการทำงานของโครงการ พึ่งตน เพื่อชาติ ซึ่งเป็นการประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดของภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม โดยเน้นกระบวนการเปลี่ยน กระบวนคิด (Mind Set) สู่การคิดพึ่งตนและมองเห็นคุณค่าของการแบ่งปัน
ด้านอาจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงมุมมองด้านการศึกษาว่า
“งานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โครงการเดินหน้าสู่เป้าหมาย 1 ล้านคนได้อย่างมีทิศทาง เพราะจะเป็นการตอบคำถามอย่างมีหลักการ เพื่อให้ผู้ดำเนินโครงการได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานได้ทันท่วงที และจะเป็นชุดวิจัยที่เกิดบนสถานการณ์จริง นำไปใช้ได้ประโยชน์ทันทีเหมาะกับโลกยุคโควิด-19 ที่อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้”