xs
xsm
sm
md
lg

“Fingo” แชร์ลูกโซ่ยุค 5G ลวงหลอกผ่านแอป เจาะกลุ่มวัยรุ่น-วัยเรียน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




พ่อแม่-ผู้ปกครองอย่าคลาดสายตา!! เผลอแป๊บเดียวลูกหลานของคุณอาจตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ นาม “Fingo” ที่แอบแฝงมาพร้อมแอป มุ่งเจาะตลาดวัยรุ่น-วัยเรียน อีกหนึ่งภัยคุกคามจาก อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ


กลลวงแชร์ลูกโซ่ ระวังถูกลวง!!


“เด็ก 9 ขวบ ยังทำได้ครับ น้องพีเคอายุ 9 ขวบ ทำฟินโก้มา 1 เดือนกว่าได้ ขึ้นตำแหน่ง AM แล้ว น้องจะมีรายได้ขั้นต่ำ 50,000 ต่อเดือน คุณคิดไหมว่าเด็กยังทำได้ แล้วคุณจะรออะไร อายเด็กไหมคะ สนใจทักแชตครับ”

“เด็ก ป.6 สมัครงานกับพี่ได้ 5 วัน รับเงินแล้ว 9,000 บาท คนว่างงานตกงาน เลี้ยงลูกอยู่บ้านอยากมีรายได้วันละ 1,000 #พร้อมสอนงานฟรี สะกิดมาค่ะ”


ข้อความข้างต้น คือคำชวนเชื่อ พร้อมภาพเงินจำนวนมาก ที่ผุดมาให้เห็นจากเฟซบุ๊ก “Fingo Thailand” นำมาซึ่งการตั้งคำถามและข้อสงสัยของสังคมถึงการทำงานของแอปพลิเคชันยอดฮิตที่ลามไปถึงกลุ่มเด็กนักเรียน และวัยรุ่น ที่พากันสมัครแอปนี้ ว่าจริงๆ แล้วเป็นกลโกงหลอกลวงประชาชนให้แห่เข้าไปสมัครหรือไม่


สำหรับแอป Fingo นี้ เป็นแอปที่อ้างว่าสามารถเข้าไปชอปปิ้งออนไลน์ เพราะมีสินค้ากว่า 30,000 รายการ มีระบบกลไกการทำงานคล้ายกับ Lazada, Shopee แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือ แอปเปิดโอกาสให้สร้างรายได้อย่างไร้ขีดจำกัด จากการแนะนำสมาชิก และการแชร์ลิงก์สินค้า

เมื่อตรวจสอบสิ่งที่พบ คือ ไม่มีการโพสต์ขายของจากผู้สมัครแอป มีเพียงการเชิญชวนลูกทีม และหาคนเข้ามาลงทุนด้วยกันเป็นทอดๆ เท่านั้น เพราะยิ่งหาคนเพิ่มได้มากเท่าไหร่ คนที่เป็นคนเชิญชวนจะได้เปอร์เซ็นต์ และรายได้เพิ่มมากขึ้น


ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้อง ทางทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ว่าการกระทำเหล่านี้เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ผิดกฎหมาย รวมทั้งการทำงานของระบบแอปเป็นเพียงกลโกงหลอกประชาชนหรือไม่

โดยเขาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ได้ให้คำตอบเอาไว้ว่า หากได้รายได้จากการชักชวนคนมาร่วมลงทุนตัวในแอปถือว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ หลอกลวงประชาชน

สามารถ เจนชัยจิตรวนิช

“เราต้องถามก่อนว่าสินค้าขายตัวเองได้หรือไม่ เราสมัครแอป Fingo เราต้องการได้แอปพลิเคชันนี้จริง หรือเราต้องการรายได้จากการชักชวนให้คนมาร่วมลงทุน อันนี้ต้องมองให้ออกก่อนนะครับ


คือ คุณต้องการแอปพลิเคชันนั้นจริงหรือไม่ หรือว่าคุณต้องการรายได้จากการชักชวนคนมาร่วมลงทุนตัวนี้ ผมกำลังจะบอกว่าในรูปแบบของการแชร์ลูกโซ่ คุณเคยเห็นไหม น้ำมันก็เป็นแชร์ได้ ข้าวสารก็เป็นแชร์ลูกโซ่ได้ ทองคำก็เป็นแชร์ลูกโซ่ได้ ทุกอย่างสามารถเอามาผลิตเป็นแชร์ลูกโซ่ได้หมด


ฉะนั้น แอปพลิเคชันนี้ หรือแอปพลิเคชันใดก็แล้วแต่ ก็สามารถจะดำเนินการได้ วันนี้เราต้องดูเจตนารมณ์อย่างแท้จริงก่อนว่า เราสมัครเข้าซื้อสินค้านั้น เราต้องการซื้อเพราะอะไร สินค้าดีจริงหรือเปล่า สินค้าไม่ดีแต่เราต้องได้เงินจากค่าแนะนำ จากการชักชวน แปลว่าเข้าองค์ประกอบที่เป็นการหลอกลวงพ่อแม่พี่น้องประชาชนอยู่แล้ว


ผมได้รับข้อมูลจากประชาชนว่าแอปบางแอป สินค้าแพงกว่าราคาตลาด หมายความว่าเข้าไปเข้าเสิร์ชเป็น 200 พอซื้อผ่านแอปนี้ แพงกว่า 3 เท่า เพื่อเอาเงินแพงกว่าตรงนี้มาจ่ายปันผลให้กับทุกๆ คน

เพราะฉะนั้นผมอยากจะพูดให้เห็นว่า โมเดลของแชร์ลูกโซ่ คือ ร่วมกันโกง แบ่งกันกินอย่างนี้ แปลว่าคนที่อยู่ข้างบนรู้อยู่แล้วเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ต้องการรายได้จากคนที่อยู่ข้างล่าง”


เช่นเดียวกับทางด้านเพจนักแฉชื่อดังอย่างเพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” หรือแอดมินที่โซเชียลเรียกกันว่า “ควีน” ได้ออกมาโพสต์ถึงแอปขายของที่กำลังมาแรงที่สุดในขณะนี้ โดยควีนเผยว่า หลักการทำงานของแอปขายของโมเดลลูกโซ่นั้นมีแค่ไม่กี่อย่าง ค่าสมัครพันกว่าบาท ถ้าหาเหยื่อมาสมัครต่อได้ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์ ในลักษณะงูกินหางต่อไปเรื่อยๆ เตือน อย่าตกเป็นเหยื่อรายต่อไป


“หลักการ Fingo แม่งมาเนียนๆ ค่าสมัครพันกว่าบาท หาเหยื่อมาสมัครต่อได้ ให้เปอร์เซ็นต์ งูกินหางไปเรื่อยๆ เป็นธุรกิจขายตรงแบบลูกโซ่ไม่ลูกโซ่ ถ้าไม่โง่และโลกสวยต้องคิดได้ แอปขายของอะไร เข้าไปต้องจ่ายเงิน แอปขายของ แอปอื่น เสียค่าสมัครไหม คิดสิคิด นี่ไม่รวมของในแอปราคาแพงกว่าร้านอื่นหลายเท่า แถมหลายคนสั่งมา เป็นของใช้ไม่ได้ ของห่วย พอติดต่อขอคืนของ ไม่คืนเงินอีกนะ”


ไม่เพียงแค่นั้นเพจ “ดอกจิกพิเศษใส่ไข่” ก็ออกมาตีแผ่ถึงธุรกิจของแอปนี้ โดยตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสของแอป Fingo

“ทำไมไม่ไปชี้แจงกับทาง สคบ. ไม่ยื่นแผนการตลาดแบบตรงและธุรกิจแบบตรง ไม่จดทะเบียนการตลาดแบบตรงและธุรกิจแบบตรงกับ สคบ. ไม่มีของขาย ไม่โพสต์ขายของ หาแต่คนมาร่วมทีม หลีกเลี่ยงกำกวมกับเงินลงทุน 1599 บาท ตัดแต่งรายได้หาเหยื่อเข้าร่วมทีม หลายสิ่งเหล่านี้ก็ชี้ชัดว่ามันคือธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ณ ตอนนี้เวลานี้ ก็รอให้ทาง สคบ. รวบรวมหลักฐานทั้งหมด…”


ไม่เพียงแค่นั้น ด้านประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันการหลอกลวงประชาชนมีหลายรูปแบบ ล่าสุดพบเป็นกลุ่มวัยรุ่น เพราะต้องการมีอาชีพ และรวยอย่างรวดเร็ว

“เมื่อก่อนต้องมาเจอกัน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเจอตัวกัน ใช้เทคโนโลยี คนรุ่นใหม่เองตั้งแต่แชร์แม่มณีมา เราจะเห็นเทรนด์ผู้เสียหายเป็นเด็กลงเรื่อยๆ เป็นวัยรุ่นลงเรื่อยๆ เพราะว่าคนวัยรุ่น หรือเด็กเยาวชนเติบโตมาที่เป็น Gen Z เขาหาข้อมูลทางเทคโนโลยี

เขาจะเสิร์ช google ทำยังไงรวยเร็ว รวยออนไลน์ ขายของออนไลน์ พอเสิร์ชไป 80% เป็นแชร์ลูกโซ่หมด ฉะนั้นแชร์ลูกโซ่เข้ามาแฝงอยู่ในเทคโนโลยี อยู่ในโลกออนไลน์แล้ว”




แชร์ลูกโซ่ = อาชญากรของประเทศ



“จะเห็นว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีการหลอกลวงมากขึ้น มีการมาร้องทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ DSI มากขึ้น อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราก็เห็นได้ว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จับกุมบริษัทแชร์ลูกโซ่หลายใหญ่ที่มีความเสียหาย

จากข่าวที่ตำรวจแจ้งว่า 3 พันล้าน ผู้เสียหาย 5 หมื่นคน ที่ใช้พีบี สมาร์ทฟาร์เมอร์ ก็ให้เห็นว่าการหลอกลวงมีมาก”



ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย มองย้อนถึงคดีแชร์ลูกโซ่ เมื่ออดีตโดยมองว่า “แชร์ลูกโซ่” อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน เพียงแต่เปลี่ยน สินค้าที่นำมาเป็นจุดขายในการหลอกลวงให้เข้ากับยุคสมัย และที่ยังทำให้มีช่องโหว่ของการตรวจสอบอยู่ อาจเพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่ดูเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงทำให้กระบวนการหลอกลวงแชร์ลูกโซ่ ยังคงผุดขึ้นมาเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ


“ตัวละครพวกนี้เขาจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ เขาก็จะเอารูปถ่ายกับผู้หลักผู้ใหญ่ ข้าราชการ การเมือง ดารา เอามาให้ประชาชนหลงเชื่อ ตอนนี้การชักชวนคนมาร่วมลงทุนนั้น เขาก็ไม่รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ. ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้ และเขาดำเนินการได้อย่างไร

นั่นคือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่า วันนี้เราจะต้องมีหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการปกป้องพ่อแม่ พี่น้องประชาชน ไม่ใช่ว่ารอให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นก่อน แล้วเราก็ไปจับกุมเหมือนในอดีต คือ วันนี้เองผมทราบมาว่าทาง สคบ.ก็ลงไปตรวจคนในบริษัทดังกล่าวแล้ว เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา”

เพื่อยืนยันคำตอบถึงการสมัครการใช้แอปอาจจะเป็นกลโกงลวง และในอนาคตอาจจะมีเหยื่อ เหมือนอย่างบทเรียนที่ผ่านมา ทางผู้เชี่ยวชาญที่อยู่แวดวงนี้ได้ช่วย สะท้อนแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบัน อีกทั้งแนะทริกไม่ให้ตกเป็นเหยื่อคนกลุ่มคนเหล่านี้ ว่าระบบการทำงานของแชร์ลูกโซ่มันจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน


“ผมก็ถามว่าแอปพลิเคชันทั่วไป เขาเก็บค่าสมัครไหม ถามก่อนคุณไปใช้แอป Shopee คุณเสียตังค์ไหม คือ คนสมัครแอปฟรี ไม่เสีย ถูกต้องไหม ไม่เสียค่าแอป

เรื่องที่ 2 ชวนคนสมัครแอปได้ตังค์ไหม ปกติไม่ได้ตังค์ แต่แอปประหลาดนี้ได้ตังค์และยิ่งสร้างเครือข่ายมาก ได้ตังค์มากขึ้น นั้นคือสิ่งที่ผมสะท้อนให้เห็นว่าเราก็ควรจะรู้ แต่วันนี้เองที่ผมพูดว่ากฎหมายเราเองมันมีช่องโหว่ มันไม่มีคนที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานของรัฐเอง ก็มันไม่ได้เกี่ยวข้องแค่หน่วยงานเดียว มันพัวพันไปหลายหน่วยงาน

สิ่งที่สำคัญที่สุดผมกำลังจะพูดว่า ถ้าเราปล่อยให้แชร์ลูกโซ่ระบาด เศรษฐกิจประเทศที่สำคัญ คือ เติบโตไม่ได้ เราไปดูข้อมูลได้ ในช่วงปี 1990-1993 ก็มีการหลอกลวงแชร์ลูกโซ่ จนมาถึงปี 2000 หลอกลวงมากจน GDP เป็น 10% ของประเทศ หมายความว่าใน GDP มี 100% มีแชร์ลูกโซ่เข้ามาแฝงถึง 10%

ฉะนั้น ประชาชนไปลงทุน สุดท้ายแชร์ลูกโซ่จ่ายไม่ได้ระยะยาว มันก็ปิดตัว เกิดเหตุการณ์จลาจลในประเทศเขา นั่นคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้ว ในต่างประเทศก็มีแชร์ลูกโซ่ มีอาชญากรรมประเภทนี้ เขาเรียกว่าเป็นอาชญากรรมเศรษฐกิจเลยนะ”


นอกจากนี้เขายังทิ้งท้ายถึงเรื่องจิตสำนึกต่อส่วนรวม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการร่วมกัน ให้ความรู้กับประชาชนให้มากขึ้น และต้องมีหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

“อย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่า กระบวนนี้เป็นกระบวนการหลอกลวง พี่น้องประชาชนต้องทำ Social sanction พ่อแม่พี่น้องต้องเข้ามาช่วยกันปกป้องคนที่ไม่รู้

ต้องช่วยกันเตือน ช่วยกันสอดส่องและบอกต่อ ในเรื่องของการแชร์ลูกโซ่ เพราะว่าอย่าลืมครับว่ามันเสมือนไฟที่มันกำลังไหม้ วันนี้มันอาจจะไม่โดนบ้านเรา แต่ผลกระทบมันเกิดขึ้นแน่นอนว่า เราอาจจะไม่ถูกหลอก แต่ถ้าพ่อแม่พี่น้องคนไทยถูกหลอก เม็ดเงินเหล่านี้ที่มันหายเอาไปจากประเทศ


สุดท้ายมันกลับมาหาเราไม่น้อยก็มาก ฉะนั้นสาระสำคัญที่สุด คือ สำนึกต่อส่วนรวม วันนี้ถ้าเราไม่ช่วยกันต่อต้าน หรือช่วยกันห้าม หรือช่วยกันเตือนอาชญากรก็จะมาเป็นแบบนี้ แล้วสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้สังคมถูกมอมเมาคนก็จะเสพติด กับเรื่องพวกนี้


ผมว่าแชร์ลูกโซ่มันอันตรายกว่าบ่อนการพนันด้วยซ้ำ เพราะว่าแชร์ลูกโซ่บางคนไม่รู้ แต่บ่อนที่คนเดินเข้าไปรู้อยู่แล้ว หรือแม้แต่ยาเสพติดเรารู้อยู่แล้ว ให้เห็นยาเสพติดเรารู้ว่าไมดี แต่ทำไมมีคนขาย ก็เพราะว่าเขาอยากได้เงินใช่ไหม

เฉกเช่นด้วยกับแชร์ลูกโซ่บางคนก็รู้ว่ามันเป็นแชร์ แต่อยากได้เงิน แต่สิ่งสำคัญสุด คนที่ไม่รู้ เราจะไปช่วยเขายังไง คนที่ไม่รู้แล้วถูกหลอกเข้าไป และสุดท้ายกลายเป็นว่าเข้าไปอยู่ในวงจรนี้ด้วย มันอันตรายมาก”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น