สสว. จับมือร่วมกับ 4 ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center) จาก มจพ. มช. มข. และ มอ. จัดงานแถลงข่าวเปิด “โครงการปั้นดาว ปี 2563” เดินหน้าพัฒนาเชิงลึก แบบครบวงจร
เพื่อต่อยอดศักยภาพผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจทั่วประเทศทุกระดับไม่น้อยกว่า 180 ราย ตั้งเป้าปั้นผู้ประกอบการดาวรุ่งได้ไม่น้อยกว่า 60 ราย คาดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท
โดยมีการแถลงข่าว “โครงการปั้นดาว ปี 2563” ในรูปแบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ ZOOM Meeting และได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
พร้อมด้วยผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยพันธมิตร ได้แก่ ผศ.ดร.วิชัย รุ่งเรืองอนันต์ หัวหน้าโครงการฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ผศ.ดร.กรกฎ ใยบัวเทศ ทิพยาวงศ์ หัวหน้าโครงการฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ หัวหน้าโครงการฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันแถลงข่าวในครั้งนี้
ผศ.ดร.วีระพงศ์ เปิดเผยถึงแนวทางการทำงานในโอกาสที่เข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า มุ่งส่งเสริมพัฒนาตามความต้องการ และศักยภาพของผู้ประกอบการทุกระดับเป็นหลัก เน้นเติมเต็มส่วนที่ผู้ประกอบการขาด และดึงศักยภาพที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
พร้อมกล่าวถึงที่มาโครงการปั้นดาว ว่าเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 โดยได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ สามารถขยายตัวทางธุรกิจได้แบบกระโดด
โดยนำร่องจากวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดกาฬสินธุ์และแม่ฮ่องสอน ที่ใช้วัตถุดิบหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตสินค้าหรือบริการจนได้อัตลักษณ์ของตนเอง และกลุ่มวิสาหกิจที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ
เช่น กลุ่ม Startup และกลุ่มสินค้าศักยภาพในตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงขยายตัวเกิดเป็นโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2562 โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยพันธมิตรจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center) จำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ
ทำการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านเกษตรและธุรกิจชุมชน
โครงการปั้นดาว ปี 2563 นอกจากเป็นการเชื่อมโยงหรือบูรณาการการทำงานผ่านมหาวิทยาลัยและเครือข่ายซึ่งเป็นแหล่งทางปัญญา และผู้รู้แล้วยังสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง
สิ่งที่คาดหวังในอนาคตคือ ผู้ประกอบการที่ได้รับการปั้นให้เป็นดาวแล้ว จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ
ดังนั้น โครงการนี้ นอกจากเป็นการเชื่อมโยงความต้องการจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันต่อไปอีกด้วย ส่วนเป้าหมายโครงการ คือ การพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจากทั่วประเทศ ให้เป็น “เรือธง” ในการสร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว
ด้าน ผศ.ดร.วิชัย รุ่งเรืองอนันต์ หัวหน้าโครงการฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงบทบาทในฐานะหน่วยร่วมว่า มจพ.ดูและรับผิดชอบผู้ประกอบการในพื้นที่ กรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันออกรวม 26 จังหวัด
โดยยึดหลักการพัฒนาผู้ประกอบการตามนโยบายของ สสว. ในการต่อยอดศักยภาพผู้ประกอบการแบบเชิงลึก ให้คำปรึกษาเฉพาะราย เพื่อพัฒนาอย่างครบวงจรใน 3 ด้าน ได้แก่พัฒนาด้านกระบวนการผลิตและสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดศักยภาพและสร้างยอดขาย การนำระบบไอทีที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ
และกิจกรรมสุดท้าย กิจกรรมส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย คือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับมาประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการ
โดยจุดเด่นของ มจพ. คือ แหล่งรวมความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การจัดการอุตสาหกรรม และระบบ IOT ที่มีความจำเป็นกับผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน
ขณะที่ ผศ.ดร.กรกฎ ใยบัวเทศ ทิพยาวงศ์ หัวหน้าโครงการฯ ผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแถลงข่าวโดยถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านทางออนไลน์มาจากพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า ภารกิจของมช. คือการดูแลรับผิดชอบผู้ประกอบการในพื้นที่รวมภาคเหนือ 17 จังหวัด ซึ่งโครงการฯได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการสมัครเข้ามาจำนวนมากถึง 193 รายและได้ผ่านกระบวนคัดเลือกแล้วโดยผู้เข้าร่วมโครงการฯทั้งหมด 45 ราย
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า ภาคเหนือได้รับคัดเลือกให้เป็น ไทยแลนด์ ฟูด วัลเลย์ (Thailand Food Valley) โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน มีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมสมุนไพร จึงมีผู้ประกอบการด้านดังกล่าวจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน มช.ยังมีหน่วยร่วมที่เข็มแข็ง และเชี่ยวชาญหลากหลายด้านที่จะเข้ามาร่วมกันส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการโครงการปั้นดาวนี้ให้บรรลุเป้าหมาย และเกิดการพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ หัวหน้าโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการฯ ได้เชื่อมโยงกับศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center)
โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาเข้ามาต่อยอดและพัฒนาหลักๆ 3 ด้าน คือ
1.การรับรองมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องการเพราะมีผลต่อการสร้างยอดขาย และก้าวไปการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าด้วยนวัตกรรมที่สอดคล้องกับยุค 4.0
3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้ามากกว่า 200 ชนิด โดยเน้นด้านการเกษตร ด้วยการนำงานวิจัยเข้าไปสู่กระบวนการเพื่อพัฒนา ทั้งนี้โดยมข. รับผิดชอบดูแลผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งหมด 20 จังหวัด
ในส่วน ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งดูและรับผิดชอบผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ รวม 14 จังหวัด กล่าวว่า โครงการปั้นดาว ปี 2563 ดำเนินการโดยเชื่อมโยงกับศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center) ซึ่งมอ.เป็นศูนย์หลัก ร่วมกับวิทยาเขตอีก 5 แห่ง
โดยมุ่งพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น 3 ด้านได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านแบรนด์สินค้า และด้านนวัตกรรม ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังเน้นด้านการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการทราบดีว่า การทำตลาดในปีนี้เปลี่ยนไปจากปีที่แล้วมาก
การขายเน้นออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องศึกษาเรียนรู้ โครงการปั้นดาว เป็นการปั้นเพื่อต่อยอดให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อไป
สำหรับโครงการปั้นดาว ปี 2563 ขณะนี้ 4 มหาวิทยาลัย ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้กำลังดำเนินการคัดเลือกตามกระบวนการเพื่อพิจารณาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและคุณสมบัติตามโครงการเข้าร่วมโครงการจำนวนหน่วยร่วมละ 45 ราย
จากนั้นผู้ประกอบการจะได้รับการอบรมหลักสูตรต่อเนื่อง 3 วัน ประกอบการด้วย การอบรมเชิงลึก พร้อมที่ปรึกษา (Mentor) จุดประกายความคิด และอบรมเชิงปฏิบัติ (Workshop) 4 ด้าน การฝึกทักษะเพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย ช่องทางการตลาดออนไลน์ และการประเมินศักยภาพตนเอง (Self-Assessment) และเลือกพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองแบบเชิงลึกได้อีก 1 ด้าน
เช่น การพัฒนาหรือสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ การออกแบบ การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย พัฒนาตราสินค้า สื่อการตลาด มาตรฐานการต่างๆ เป็นต้น ก่อนนำเข้าสู่การทดลองตลาดในช่วงเดือนกันยายน 2563
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวโครงการปั้นดาว ปี 2563 ได้ทาง FacebookPage : Osmep สสว.
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **