เห็นบิลแล้วหนาว! ชาวบ้าน-ผู้ประกอบการโอด “ค่าไฟ” แพงหูฉี่ ทั้งที่เปิดใช้เท่าเดิม แถมบางคนไม่อยู่บ้าน แต่ค่าไฟพุ่งไม่แพ้กัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยมาตรการลดค่าไฟ 3 เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงพอ “ควรจะมีส่วนลดครึ่งหนึ่งของค่าไฟปกติรึเปล่า?”
ลด 3% ไม่พอ ต้อง 50%
“กรี๊ด ค่าไฟฟ้าเดือนนี้ 16,000 กว่าบาท ตกใจเลย ทำไมขึ้นมาหลายพันขนาดนี้ นี่บ้านชั้นเดียวนะ!!!! เป็นลม ใครค่าไฟฟ้าขึ้นบ้างครับ งงมากกกก”
เรียกได้ว่าเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ดาราก็ยังโอดครวญ เมื่อ “มิค-บรมวุฒิ หิรัณยัษฐิติ” นักแสดงคุณพ่อลูกสอง โพสต์อินสตาแกรมส่วนตัว ระบายความในใจถึง “ค่าไฟฟ้า” ในเดือนล่าสุด ที่มียอดสูงกว่าปกติไปถึง 6,000 บาท! ซ้ำเติมประชาชนในวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้
หลังจากที่เรื่องราวของเขาถูกส่งต่อกันไปบนโลกออนไลน์ ก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ แต่ละบ้านมีค่าไฟที่พุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่งให้ #ค่าไฟแพง ในโลกทวิตเตอร์ พุ่งทะยานขึ้นอันดับ 1
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ โดยเธอให้ข้อมูลว่า มีประชาชนเริ่มส่งข้อมูลร้องเรียนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นมายังมูลนิธิบ้างแล้ว
และไม่เพียงแค่ประเด็นดังกล่าวเท่านั้น ยังมีผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนทั่วไปที่ต้องออกอาการ “งง” กับค่าไฟที่แพงขึ้นมากกว่าปกติ ทั้งที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหรือดำเนินกิจการแต่อย่างใด?!
[ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ]
“ในส่วนงานของมูลนิธิ มีชาวบ้านมาบ่นว่าเขาไม่ได้อยู่บ้าน ไปอยู่ต่างจังหวัด ช่วงวิกฤติโควิดเพราะไม่มีงานทำ เขาบอกพอกลับมาบ้าน ค่าไฟเท่ากับที่เขาอยู่บ้านปกติเลย ทั้งที่ความจริงแล้วค่าไฟเต็มที่ก็น่าจะร้อยกว่าบาทเพราะเขาไม่ได้ปิดอย่างอื่น มีตู้เย็นเครื่องเดียวที่เปิดเอาไว้ อันนี้คือสิ่งที่เริ่มมีทยอยเข้ามา
ล่าสุดมีโทร.เข้ามาปรึกษาเป็นธุรกิจโรงแรม พอมันมีวิกฤติโควิดเขาสั่งปิดโรงแรม ถ้าห้องพักเต็มร้อยกว่าห้อง จ่ายยังไงก็หมื่นกว่าบาท แต่ขณะนี้ไม่มีลูกค้าพัก ก็ยังจ่ายหมื่นกว่าบาทอยู่ ก็เลยให้เขาทำหนังสือแจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่เรา ทำหนังสือส่งไปที่การไฟฟ้าให้แก้ไขปัญหาด้วยตอนนี้กลายเป็นภาระพวกเขาที่ต้องไปร้องเรียน”
นอกจากนี้ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังให้ความเห็นถึงมาตรการลดค่าไฟฟ้า 3 เปอร์เซ็นต์ ที่เธอมองว่า “ไม่เพียงพอ” สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้
“ใช้ 1,000 ลด 3 เปอร์เซ็นต์ ก็ลด 30 บาท แต่คุณเก็บค่าดำเนินการเยอะแยะมากกว่าที่คุณลดอีก ไม่เห็นด้วยค่ะ ตอนนี้เราได้ค่าประกันคืนอย่างเดียว 300 บาทในคนที่ใช้ไฟฟ้า แต่หลักๆ คนประสบปัญหาเรื่องการจ่ายค่าครองชีพ ค่าไฟเป็นเรื่องนึงที่เขาต้องจ่ายเพราะถ้าไม่จ่ายก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ดังนั้นเราคิดว่า มันควรจะมีส่วนลดค่าไฟครึ่งนึงของค่าไฟปกติรึเปล่า ก็ฝากข้อเสนอนี้ไปค่ะ ใช้คำว่าอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ได้มั้ย
และเราอยากให้ตรวจสอบวิธีการเรียกเก็บค่าไฟ เพราะปัจจุบันยังพบปัญหาผู้บริโภคยังถูกเรียกเก็บค่าไฟเท่าเดิม มาตรการการตรวจสอบคนที่ลงพื้นที่ไปจดมิเตอร์ ที่จดแล้วตรงไปตรงมา เพราะมุมผู้บริโภคมองว่า เหมือนแค่ประมาณการ การใช้ไฟว่าเขาเคยใช้อยู่เดือนละเท่านี้ คุณก็จะเก็บเขาเดือนละเท่านี้ตลอด ออกมาจากมิเตอร์ไฟจริงรึเปล่า”
ไขข้อข้องใจ เพราะเหตุใด ค่าไฟแพง?!
เพื่อคลายข้อสงสัยของประเด็นร้อนที่ว่า ทำไมค่าไฟจึงแพงขึ้นขนาดนี้ ทางเพจเฟซบุ๊ก “โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า” ที่มีทีมแอดมินเป็นพนักงานการไฟฟ้า ได้ให้คำตอบไว้ว่า มีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งการคำนวณค่าไฟในอัตราก้าวหน้าของการไฟฟ้า ตลอดจนช่วงฤดูกาล ยิ่งตอนนี้เป็นช่วงหน้าร้อน ที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องทำงานหนักขึ้น
โดยโพสต์ของเพจดังกล่าวระบุว่า การไฟฟ้า คิดเงินแบบอัตราก้าวหน้ามาตลอด อีกทั้งตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เลยทำให้ราคาก้าวกระโดด กล่าวโดยสรุปคือ “ยิ่งใช้เยอะ ยิ่งจ่ายเยอะ”
สำหรับการคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้า มีรายละเอียดดังนี้
- ใช้ไปหน่วยที่ 0-150 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท
- ใช้ไปหน่วยที่ 151-400 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท
- ใช้ไปหน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยนะ 4.4217 บาท
ประกอบกับสภาพอากาศ ถ้าอากาศข้างนอกร้อนแค่ไหน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้น โดยสังเกตได้จากเครื่องใช้ไฟ ทั้ง 4 ชนิดคือ 1.แอร์ พร้อมคอมเพรสเซอร์ 2.เครื่องฟอกอากาศ 3.พัดลมไอน้ำ และ 4.ตู้เย็น
“ถ้าอากาศข้างนอกร้อนแค่ไหน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์คุณทำงานหนัก ยิ่งถ้าเปิดแอร์พร้อมกัน เสียงคอมดังนานแค่ไหน นั่นแหละคือ ทำใจไว้เลย มิเตอร์กำลังหมุนอย่างแรง และนั่นคือ เงินที่คุณต้องจ่ายไป สรุปคือ ไฟฟ้าไม่ได้ปรับ หรือทำอะไรทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะทำอะไรด้วย ไม่ฉวยโอกาสอะไรทั้งนั้น”
ส่วนประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบเป็นอย่างมาก ก็คือ คนที่ไม่ได้อยู่บ้านและไม่มีการเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ทำไมค่าไฟกลับเท่าเดิมหรือมากขึ้น
[ กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ]
ทางด้านของ กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ได้ให้คำตอบกับสื่อว่า ต้องย้อนสังเกตพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ว่าทำกิจกรรมอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ หรืออาจมีสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ ใช้งานไฟฟ้าช่วงกลางวันหรือไม่ ผู้ที่ไม่ได้อยู่บ้านนานหลายวัน หรือไม่ได้อยู่บ้านนานนับเดือน แต่ค่าไฟมีราคาแพงขึ้น โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้ กรณีเช่นนี้ต้องดูเป็นรายๆ ไป
ส่วนประเด็นที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนจำนวนมาก เสนอมาตรการเยียวยาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดค่าไฟฟ้าลง 50 เปอร์เซ็นต์นั้น มีคำตอบจาก จาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการและโฆษกการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ออกมาเปิดเผยว่า รับทราบถึงความเดือดร้อน แต่ทาง กฟน.ไม่สามารถตัดสินใจในส่วนนี้ได้
[ จาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการและโฆษกการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ]
“การไฟฟ้านครหลวงเข้าใจประชาชนว่าเดือดร้อน ยินดีให้ความช่วยเหลือ แต่เรากำลังรอมาตรการจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขึ้นอยู่ที่กระทรวงพลังงาน”
สำหรับข้อสรุปในมาตรการเยียวยาเรื่องค่าไฟที่สูงขึ้นนั้น ประชาชนอย่างเราคงต้องรอคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการ อยู่บ้านหยุดเชื้อเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือใช้ไฟฟ้าอย่างมีสติ นั่นเอง
อ่าน “จดหมายชี้แจง” : การไฟฟ้าขอแจง ข่าว “ค่าไฟแพง” ไม่ใช่เพราะ ไม่จดมิเตอร์จริง!!
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **