เปิดใจเจ้าของไอเดีย “อุโมงค์ฆ่าเชื้อโควิด-19” ใส่ยาฆ่าเชื้อ-พ่นน้ำยาเดตตอล หวังเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยโรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณะลดการติดเชื้อ เผยเหตุผลเบื้องหลังตรงๆ ว่า ที่ออกมาช่วย เพราะหวังรอพึ่งพาภาครัฐไม่ได้แล้วใช่หรือเปล่า?
เจ้าของคอนเฟิร์ม "น้ำยาพ่น" ปลอดภัยต่อผิว
“จริงๆ แล้วเห็นตู้นี้จากต่างประเทศ เขาทำไว้ตามจุดสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ แล้วมาเห็นบ้านเราต้องพ่นฆ่าเชื้อ ที่ร้านมีพนักงานจำนานมาก งานที่เราทำมันจะต้องไปตามบ้านลูกค้า ก็เลยคำนึงถึงความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของร้านเราด้วย”
อิ๋ว -จารุวรรณ์ แซ่ตั้ง วัย 35 ปี บอกเล่าไอเดียกับทีมข่าว MGR Live ในการทำอุโมงค์ฆ่าเชื้อโควิด-19 หลังประเทศไทยกำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลให้มีคนติดเชื้อจำนวนมาก ว่าเริ่มต้นจากบริษัทได้รับติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ระบบกล้องวงจรปิด ซึ่งจะต้องไปพบลูกค้าตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ตนได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของพนักงาน และความมั่นใจให้แก่ลูกค้า
“สำหรับอิ๋ว ทางร้านและตัวพนักงาน คืออย่างน้อยก็สร้างความปลอดภัยเบื้องต้น เพราะว่าเราออกไปบ้านลูกค้า เราไม่รู้ว่าเราจะไปรับเชื้อ หรือจะไปส่งเชื้อให้เขารึเปล่า
ทำไว้เบื้องต้นพื้นฐาน ดีกว่าที่เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ที่ร้านมีมาตรการป้องกันทุกทาง ทั้งระบบความสะอาด มืออะไรอย่างนี้ ตรวจเช็กสกรีนร่างกาย วัดอุณหภูมิ เราทำทุกอย่าง เพราะว่าเราไปให้บริการลูกค้าแล้วลูกค้าจะได้มั่นใจ
อยากทำเป็นสาธารณประโยชน์ด้วย ก็เลยลองทำกันดู เพราะที่บ้านมีกำลังคน และมีกำลังเรื่องความรู้ที่เราศึกษามา ก็เลยลองดู”
ส่งผลให้เธอคิดค้นและออกแบบจนได้อุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อขึ้นมา โดยใช้ท่อพีวีซีทำเป็นโครง จากนั้นก็คลุมด้วยพลาสติกใส ทั้งทางเข้าและออก
ทั้งนี้ ภายในติดตั้งที่พ่นละอองน้ำ พร้อมด้วยติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ เมื่อคนเดินเข้าไปในอุโมงค์และไปหยุดอยู่ตรงเซ็นเซอร์ ก็จะทำงานส่งสัญญาณไปยังระบบฉีดน้ำให้พ่นละอองน้ำลงมารอบๆ ตัว ซึ่งเธอได้ใช้มาตรการนี้กับพนักงานในร้านก่อน
“เบื้องต้นตัวโมเดลทำด้วยตัว PPC ง่ายๆ ก่อน แล้วคุมด้วยพลาสติกตัวที่สามารถโดนน้ำได้ และเป็นระบบพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ
ตัวนี้อิ๋วติดตัวเซ็นเซอร์เข้าไปด้วย ติดตัวเซ็นเซอร์ตรงจุดกลางของอุโมงค์ พอเวลาที่คนจะเข้าไปใช้งาน เข้าไปอยู่จุดที่เซ็นเซอร์สัมผัสปุ๊บ น้ำยาถึงจะพ่นลงมาเพื่อเป็นการประหยัด ไม่ให้สูญเปล่า ไม่งั้นระบบจะพ่นอยู่ตลอดเวลา เครื่องก็จะทำงานหนัก”
แน่นอนหลังมีการแชร์ออกไป ก็นำมาซึ่งคำถามถึงความปลอดภัยของการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อของเจ้าตัวอุโมงค์นี้ ซึ่งเธอให้คำตอบเอาไว้ว่า ก็กลัวกระแสเรื่องนี้เหมือนกัน แต่เมื่อได้ใช้มาตรการนี้กับพนักงาน รู้สึกให้ความมั่นใจว่าปลอดภัย
“ตัวนี้ศึกษาเบื้องต้นมา คือตัวน้ำยาที่ใช้เป็นตัวน้ำยาที่สามารถสัมผัสกับผิวได้ เป็นน้ำยาเดทตอลที่สามารถเอามาผสมอาบ แล้วใช้เช็ดทำความสะอาดแผล
ตอนแรกอิ๋วกลัว เรียนตามตรงเลยจริงๆ กลัว ก็เลยยังไม่กล้าที่จะทำให้หน่วยงานตามที่สาธารณะตรงไหน ก็เลยทดลองใช้ในหน่วยงานของตัวเองก่อน เพราะว่ากลัวกระแสสังคมเรื่องนี้เหมือนกัน และเรื่องยืนยันทางด้านสารเคมีที่สัมผัสผิว แต่ปรึกษากับทางด้านผู้ใหญ่ในจังหวัด เขาก็จะช่วยในเรื่องนี้”
ทำเป็นตัวอย่าง เผื่อ "สาธารณสุข" จะมองเห็น
สำหรับต้นทุนทั้งหมดในการผลิตอุโมงค์ฆ่าเชื้อ เธอเล่าให้ฟังว่า ทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท แต่ทั้งนี้ชุดที่ติดตั้งในปัจจุบันเป็นเพียงต้นแบบเท่านั้น อาจจะต้องมีการปรับปรุงระบบเพื่อที่จะให้สามารถใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้นในอนาคต
“ผลิตทั้งระบบ ทั้งตัวเครื่อง ก็ประมาณ 5,000-6,000 บาท ตอนนี้ทำได้เยอะไหม ถ้าจากการวิเคราะห์ของทางเรา ตัวนี้วันหนึ่งทำได้ประมาณ 1-2 ตัว ถ้ามีอุปกรณ์ แต่ตอนนี้มีตัวแปรหลายๆ อย่าง พวกวัสดุอุปกรณ์จากสถานการณ์เราก็หาซื้อยาก ตัวน้ำยาเราก็หาซื้อยาก”
ส่วนที่ยังคงเป็นกังวล คือความตั้งใจว่าจะผลิตและนำไปมอบให้แก่โรงพยาบาลเพื่อให้บริการประชาชนทั่วไปในการป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว แต่ยังติดปัญหาเรื่องความปลอดภัย และเธอเชื่อว่าหากมีการรับรู้ถึงการทำสิ่งนี้ ในอนาคตเราอาจจะเห็นอุโมงค์ป้องกันเชื้อไวรัสตามสถานที่ต่างๆ ที่ใช้ให้เกิดประโยชน์
“อิ๋วติดต่อเขาไปแล้ว แต่มันจะมีปัญหาเรื่องของความปลอดภัย เขาก็ยังไม่ตอบรับเราเท่าไหร่ แต่ว่ามีผู้ใหญ่ในจังหวัดหลายท่านที่เขาบอกว่าอยากได้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่ส่วนของ รพ. หรือสถานที่ควบคุม เขาติดต่อเข้ามาเยอะมาก อยากให้มีทุกอำเภอ
เบื้องต้นเหมือนมีคนแนะนำเข้ามาว่าเดี๋ยวไม่แน่พอเราดัง สาธารณสุขจะเข้ามาหาเราเอง เราก็หวังว่าเขาจะแนะนำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้”
ทว่า ในฐานะที่เธอแสดงออกด้วยการช่วยเหลือสังคม เธอก็ได้ช่วยสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับการออกมาช่วย เพราะพึ่งรัฐไม่ได้แล้วหรือเปล่า จึงต้องออกมาช่วยเอง รวมทั้งความรู้สึกที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม
แม้จะมีกระแสที่ชื่นชมเธอเป็นจำนวนมาก ต้องยอมรับว่ายังมีคำถามถึงการผุดไอเดียทำอุโมงค์ป้องกันไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ในแง่ลบ เจ้าตัวกลับมองว่าสิ่งที่ทำให้กลับทำให้สังคมตื่นตัว และรู้จักพึ่งพาตัวเองก่อน
“รู้สึกดีใจมาก เหมือนเป็นส่วนหนึ่งให้สังคมได้ตื่นตัว ทำประโยชน์เพื่อสังคม จริงๆ เรามีคนที่ดูแลหน่วยรับผิดชอบของเราประมาณ 30 ชีวิตในร้าน
อิ๋วกับแฟนทำงานโรงพยาบาลมาก่อนด้วยค่ะ การเป็นจิตอาสา เรื่องจิตสาธารณะทำเป็นประจำอยู่แล้ว จริงๆ ที่คุณถามถูกค่ะ ตอนนี้เราต้องพึ่งตัวเองก่อน สำคัญทำอะไรกันได้ก็ช่วยกันทำ ต้องพึ่งตัวเองก่อน”
ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **