ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกหน่วยงาน-ทุกองค์กร ต้องลุกขึ้นมาเอาจริงกับมาตรการ “คัดกรองบุคลากร” ของตัวเอง ด้วยการออกกฎให้ชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางไปยัง “พื้นที่เสี่ยง” และจัดการกับพนักงานที่พยายาม “ปกปิดประวัติการเดินทาง” จนทำให้ผู้คนในสังคม ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะ “ฝ่าย HR” ที่งานนี้สามารถกลายเป็นฮีโร่ของสังคมได้ ถ้าลุกขึ้นมาประกาศมาตรการเด็ดขาดในหน่วยงานของตัวเอง!!
ยิ่งปกปิด ยิ่งเสี่ยงไวรัส
สถานการณ์ไวรัส “โควิด-19” ยังคงน่าเป็นห่วง และยังไม่มีท่าทีที่จะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ง่ายๆ โดยเฉพาะ “ผู้แพร่เชื้อ” ที่ได้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง กลับสู่ประเทศไทย แล้วไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล หรือกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ ที่อาจทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนได้
ทำไมสังคมต้องเดือดร้อนกับการเดินทางไปต่างประเทศของคนไม่กี่คน? คำตอบก็คือเพราะมันสามารถสร้างวิกฤตการแพร่เชื้อได้อย่างน่ากลัว อย่างในกรณีของ “คุณป้าวัย 61 ชาวเกาหลีใต้” คือบทเรียนราคาแพงที่ทั่วโลกต้องศึกษาเพื่อเตือนใจ
เพราะคุณป้าผู้ติดเชื้อรายนี้ มีอาการไอ จามมานาน แต่คิดว่าตัวเองเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่ โควิด-19 จึงร่วมกิจกรรมที่โบสถ์ของลัทธิซินชอนจิตามปกติ แล้วการทำกิจกรรมของโบสถ์นี้จะให้สาวกมายืนชิดๆ กัน เพื่อร้องเพลง เป็นสภาพที่เอื้อต่อการติดต่อของโรค และคนไปร่วมกิจกรรมครั้งหนึ่งเป็นพันคน
ต่อมาป้าคนดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุรถชน จนต้องเข้าโรงพยาบาล และมีอาการเหนื่อย หอบ จนหมอขอให้ตรวจหาไวรัส แต่เธอก็ไม่ยอม ยังคงออกไปใช้ชีวิตปกติอีกรอบ กระทั่งอาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายจึงยอมตรวจ เพื่อพบว่าติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้าให้แล้ว
จากนั้นก็มียอดคนติดเชื้อในเกาหลีอย่างรวดเร็ว เมื่อสืบสวนถึงการติดเชื้อแล้ว หลายคนล้วนเคยเกี่ยวข้องกับคุณป้ารายดังกล่าวทั้งนั้น ส่งให้จากที่มีผู้ติดเชื้อทั้งประเทศไม่ถึง 30 คน ตอนนี้พุ่งสูงเป็นหลายพันคน เพราะคุณป้าคนนี้เป็นต้นเหตุ
เช่นเดียวกับกรณีของ “คุณปู่ชาวไทย” รายนึง ที่กลับจากทัวร์ฮอกไกโด ได้ไปพบแพทย์เพราะมีไข้สูง แต่ไม่ได้บอกว่าเพิ่งกลับจากประเทศเสี่ยง ผ่านไปหลายวันจึงยอมเปิดปาก และเมื่อตรวจก็พบว่าคุณปู่รายดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน
ส่งผลให้คนในครอบครัวที่ใกล้ชิด กลายเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อตรวจร่างกายของหลานวัย 8 ขวบ ก็พบว่ามีผลตรวจเลือดเป็นบวกต่อเชื้อ จนโรงเรียนที่เด็กคนนั้นเรียนอยู่ ต้องประกาศสั่งปิด รวมถึงพ่อของหลานชายซึ่งทำงานธนาคารธนชาต องค์กรดังกล่าวก็ต้องประกาศปิดสาขา เพื่อความปลอดภัยเช่นเดียวกัน
รวมไปถึงพนักงาน บุคลากร โรงพยาบาลที่ดูแลคุณปู่คนนั้นในช่วงแรก โดยไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันเกือบ 40 คน ที่ต้องให้อยู่เฝ้าดูอาการในห้องปลอดเชื้อ ซ้ำยังเดือดร้อนไปถึงทางสายการบิน ให้ต้องประกาศตามหาคนที่ขึ้นเครื่อง พร้อมกับปู่ผู้แพร่เชื้อรายนี้ด้วย
หรือแม้แต่กรณีที่โรงเรียนนานาชาติย่านดอนเมือง ได้พานักเรียนจำนวน 505 คน ไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง เมื่อได้เดินกลับมาถึงไทย ทางโรงเรียนจึงต้องประกาศสั่งปิดไปก่อน และให้เรียนผ่านระบบออนไลน์แทน
[โรงเรียนสั่งปิดหลังมีนักเรียนติดเชื้อไวรัส]
จากเคสที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยย่อยๆ ของสังคม อย่างบริษัทหรือองค์กรต่างๆ มีความสำคัญอย่างมาก ต่อการคัดกรองและตรวจสอบบุคลากรของตัวเอง เพื่อไม่ให้โรคร้ายที่กำลังลุกลามนี้ ระบาดในประเทศจนอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤตขั้นสูดสุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ได้ช่วยวิเคราะห์วิธีการรับมือ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการบุคคลเอาไว้ว่า ทางที่ดีที่สุดที่จะควบคุมโรคไม่ให้เชื้อแพร่ได้ คือการตวรจสอบประวัติการเดินทางออกนอกประเทศและสั่งให้พักงานทันที
“หลักๆ ในการดูแลพนักงาน คือเราเป็นห่วงพนักงานกับสังคมแล้วก็ผู้อื่นด้วย ถ้าหากต้องเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ให้ไป ให้เลื่อนออกมาก่อนในเรื่องของงาน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกันไป
[นิยต มาศะวิสุทธิ์]
แต่ถ้าหากเดินทางไปทำงานในประเทศที่เสี่ยงในช่วงนี้ เมื่อกลับมาเราก็จะให้กักตัว 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ ในระยะนี้ ทางบริษัทจะอนุญาตให้สามารถทำงานที่บ้านได้ และก็จะเป็นการทำงาน คุยงานแบบออนไลน์แทน
ในกรณีที่เดินทางเอง ไปส่วนตัวลาไป ในประเทศที่เสี่ยง ก็ขอความร่วมมือว่าไม่ต้องเข้ามาที่บริษัท แล้วเราจะให้ใช้วันลาพักร้อนในการหยุดงาน เพื่อจะได้ไม่เพิ่มความเสี่ยงให้เพื่อนร่วมงาน จะมีการส่งข้อมูลการดูแลตัวเองเวลาอยู่บ้านควรทำยังไงบ้าง ไม่ควรจะไปในที่ชุมชน ไม่ใช่ว่าไม่มาทำงานแล้วไปที่อื่น อันนี้เราก็จะบอกให้พนักงานเข้าใจด้วย ว่ามันต้องรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับคนที่จะมาติดต่อกับบริษัท ตอนนี้ที่บริษัทเราจะมีเครื่องวัดไข้อยู่ ให้กับพนักงานของเราด้วย ให้กับคนที่มาติดต่องานกับบริษัทด้วย ถ้าเกิดคนที่ไม่ได้ผ่านเครื่องวัดไข้เข้ามา เราก็จะมีที่วัดไข้ให้อีกที สำคัญเลยจะต้องมีหน้ากากอนามัยไว้ให้สำหรับพนักงานที่ต้องพบกับลูกค้า เพื่อป้องกันอีกชั้นนึง”
การดูแลตัวเองควรนึงถึงความสะอาดของตัวเอง ก็เป็นอีกข้อสำคัญที่จะทำให้ตัวพนักงาน หรือคนที่ต้องร่วมงานด้วย ลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัส
“ด้านการทำความสะอาด พนักงานจะต้องล้างมือให้บ่อยๆ เราก็จะมีเจลล้างมือไว้ให้ตามจุดต่างๆ จะให้พนักงานทำเป็นให้เป็นนิสัยเลยตอนนี้ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองของพนักงานอย่างมาก เพราะมันมีผลกระทบ มันไม่ใช่แค่บริษัทเดียว แต่มันคือทั้งสังคมทั้งประเทศ เราไม่อยากให้มีการแพร่ระบาด มันเองก็เป็นสิ่งที่ดี หากเรามีการระวังเรื่องสุขอนามัย
ส่วนมาตราการ การทำงานที่บ้าน ถ้าเป็นทางบริษัทเราเองก็มีมาตราการนี้มานานแล้ว ด้านการอบรบพนักงานเกี่ยวกับโรคไวรัสในตอนนี้ เราจะให้เป็นข้อมูลข่าวสารมากกว่า เพราะพยายามจะหลบเลี่ยงการชุมนุมในที่คนเยอะๆ มันเองก็เสี่ยงเหมือนกัน เลยจะใช้ช่องทางนี้แทน
ในลักษณะนี้หากใครเดินทางจากประเทศที่เสี่ยงก็ควรจะดูแลตัวเอง ดูแลสังคม เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจาย ไม่ควรที่จะปิดข้อมูลกัน บริษัทก็ต้องเน้นให้ผลกระทบน้อยที่สุด เพราะพนักงานบริษัทต้องเดินทางบ่อย เดินทางมาทำงาน เดินทางออกต่างจังหวัด ก็ต้องมีมาตราการให้ชัดเจน”
งดเดินทาง ป้องกันได้ผลชะงัด
พรรษมณฑ์ พัฒนกิจเรือง ที่ปรึกษาและวิทยาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากร เป็นอีกคนนึงในฐานะ HR ที่มองว่าเรื่องการห้ามไม่ให้พนักงานเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง คือทางออกที่ดีที่สุด
“หากมีพนักงานคนใดที่เดินทางไปต่างประเทศที่มีความเสี่ยง ก็ควรจะต้องมีนโยบายให้พนักงานได้หยุดหรือทำงานที่บ้านแทน เพื่อป้องกันหากมีการติดเชื้อ จะได้ไม่แพร่ไปยังบุคคลอื่น
มาตราการเกี่ยวกับการจัดการพนักงานที่เดินทางไปดูงาน ศึกษางานต่างประเทศที่มีความเสี่ยง เมื่อกลับมาอาจจะต้องมีระยะในการกักตัว พักฟื้น หรือเฝ้าระวังอยู่ที่บ้านก่อน โดยยังไม่ต้องเข้าทำงานในบริษัท ใครที่มีงานก็ควรเป็นการให้ทำงานอยู่ที่บ้านในเวลา14 วัน
[พรรษมณฑ์ พัฒนกิจเรือง ]
สำหรับพนักงานที่ต้องมาทำงานในบริษัท จะต้องมีการเข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจ เรื่องของอาการไข้ต่างๆ หลายที่ก็จะมีผู้รับผิดชอบหมุนเวียนกันไป หลายบริษัทก็ควรจะมีอุปกรณ์ในการวัดไข้ ช่วยในเรื่องของการคัดกรอง จุดเข้าออกทั้งคนนอกคนใน จะต้องจริงจังนิดนึงสำหรับช่วงนี้
ภายในบริษัทเองก็ควรจะมี เครื่องกรองอากาศ เจลล้างมือ ผ้า หรือหน้ากากอนามัย แจกให้กับพนักงาน เป็นที่หลายๆ บริษัทควรจะมีไว้ให้กับพนักงานในองค์กร”
เมื่อมีพนักงานที่ไม่สบาย ถือเป็นสิ่งที่หลายๆ บริษัทควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่กระแสไวรัสยังคงระบาดต่อเนื่องเช่นนี้ด้วย
“ในส่วนที่มีคนไม่สบาย ก็ควรที่จะให้หยุดพัก แม้จะเป็นไข้แค่ธรรมดาหรือไม่ได้ร้ายแรงอะไร เพื่อเป็นการระวังในช่วงนี้ หลายๆ บริษัทที่รู้จักเขาก็ทำกัน ให้หยุดทำงานที่บ้านแทน เพื่อเฝ้าดูอาการ ป้องกันความเสี่ยง
การทำงานต่างประเทศก็ต้องหยุด ต้องเลื่อนออกไปก่อนในช่วงนี้ ถ้าก่อนหน้านี้มันอาจจะพอมีบ้าง แต่ช่วงนี้ถือว่าไม่ควรอย่างมาก ยังไงก็ต้องเลื่อนให้เด็ดขาด แม้การไปต่างจังหวัดในประเทสไทยเอง หลายๆ ที่ก็มีการพิจารณาเลื่อนงานออกไป”
ในตอนนี้ก็มีหลายองค์กร หลายบริษัทได้ออกมาประกาศ เกี่ยวกับมาตราการในการป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างมากมาย หากแต่บริษัทไหนที่ยังไม่ได้เข้มงวดในการดูแล ทางด้านที่ปรึกษาบุคลากรคนดังกล่าว ก็บอกว่ามันควรที่จะจริงจังและให้ความสำคัญกับส่วนนี้ได้แล้ว
“องค์กรไหนที่ยังไม่ได้มีมาตราการที่เข้มงวด ก็ควรที่จะเริ่มได้แล้ว เพราะมันเป็นความเสี่ยงที่เราควรจะป้องกันมันจะคุ้มค่ากว่า ที่จะปล่อยให้ตัวเองป่วย หรือปล่อยให้เกิดความสูญเสีย ถ้ามีผู้ติดเชื้อขึ้นมา มันค่อนข้างที่จะไม่คุ้มค่าและควบคุมได้ยาก ในสถานที่ที่มีคนเยอะๆ อย่างคนที่ต้องทำงานออฟฟิศเอง ควรจะต้องหันกลับมาและกำหนดมาตราการให้มันเข้มข้นขึ้นจะดีกว่า”
ล่าสุดมีราชกิจจานุเบกษาประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมการบริหารศาลปกครอง (ก.บ.ศป.) เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่อง และมีคนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
โรคนี้ได้ติดต่อและแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทางการจึงออกคำสั่งห้ามให้ราชการเดินทางออกนอกประเทศ ไปยังประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยเด็ดขาด ซึ่งประเทศที่เสี่ยงประกอบด้วย 1.สาธารณรัฐเกาหลี 2.สาธารณรัฐจีน 3.สาธารณรัฐประชาชนจีน 4.เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 5.เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 6.ญี่ปุ่น7.มาเลเซีย
8.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 9.สาธารณรัฐสิงคโปร์ 10.สาธารณรัฐอิตาลี 11.สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน 12.ประเทศหรือเขตการปกครองอื่นตามที่ประธานศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนดข้อ
หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ก็จะมีการพิจารณาเป็นกรณีไป และเมื่อเดินทางมาถึงไทยต้องแจ้งให้ทางการทราบ และจะให้หยุดราชการเป็นเวลา 14 วัน เพื่อกักตัว และขอความร่วมมือทุกคนให้ปฎิบัติตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ถ้าหากเป็นไปได้องค์กรเอกชนเอง ก็ควรที่จะระวัง และไม่เดินทางไปประเทศพื้นที่เสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่นับวันยิ่งมากขึ้น ทั้งในไทยและทั่วโลก
ขอบคุณภาพจาก : AFP, แฟนเพจ “Experienced HR by Pasamol”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **