xs
xsm
sm
md
lg

ไอเดียเจ๋ง!! "เลี้ยงปลา-เลี้ยงกบ แนวรักษ์โลก" แชมป์คอซอง นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เด็กไทย…ถ้าได้แสดงฝีมือแล้วเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก เช่นเดียวกับเยาวชนไทยคนเก่ง ทั้งสายสามัญและสายอาชีวะที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ในโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 4” ด้วยการโชว์ไอเดียสุดเจ๋งสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ภายใต้หัวข้อ “Social Innovations: นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน”




เวทีที่ส่งเสริมและผลักเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในการเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม จัดโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จับมือพันธมิตรหลัก กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ

โดยเกณฑ์การตัดสินผู้ชนะในปีนี้เน้นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมและชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทีมชนะเลิศทั้งสองทีมได้ฝ่าฝันทีมคู่แข่งกว่าอีก 404 ทีม ด้วยผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์



[ชนะเลิศ สายสามัญ "อุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้" (รร.ปลาปากวิทยา)]
ผลคือรางวัลชนะเลิศสายสามัญตกเป็นของ โรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม ในผลงานอุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ และรางวัลชนะเลิศสายอาชีวะ ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับผลงานชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

รับรางวัลทุนการศึกษาพร้อมตั๋วรางวัลบินลัดฟ้าไปจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และกระทบไหล่เมกเกอร์ชาติอื่นๆ ในงานเมกเกอร์แฟร์ระดับโลกที่ต่างประเทศ รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท


รอยยิ้มแห่งความดีใจและแววตาแห่งความปลาบปลื้ม ฉายชัดบนใบหน้าของคู่หูเมกเกอร์เพื่อนซี้ ธีรภพ ปุรณกรณ์ และ กะวีวัฒน์ แก่นยางหวาย อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม ที่เข้าประกวดเป็นปีแรก ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสายสามัญไปครอง กับผลงาน “อุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ (Automatic Fish Farming Equipment)” ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงของน้องๆ ที่บ้านของตนเอง

รวมถึงคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในบ่อดิน ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในทุกฤดูฝน ทำให้ปลาหลุดออกจากบ่อ สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เด็กๆ จึงได้ริเริ่มคิดประดิษฐ์เครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาปลาหลุดจากบ่อในหน้าฝนนี้ จนกลายเป็นอุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติจากพลังงานแสงอาทิตย์



[ผลงานนวัตกรรม "อุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้"]
ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือระบบให้อาหาร และระบบเปลี่ยนถ่ายน้ำ มีหลักการคือ โดยปกติเมื่อปลาหิวจะว่ายขึ้นมาที่บริเวณผิวน้ำ ดังนั้น จึงมีการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนที่ผิวน้ำ เพื่อส่งข้อมูลยังบอร์ดสมองกลในการสั่งการต่อไปยังมอเตอร์ให้อาหารปลาทำงาน

เช่นเดียวกับระบบการกวนน้ำและเปลี่ยนถ่ายน้ำ ที่ได้ติดตั้งเซ็นเซอร์วัดค่าของน้ำ หากความขุ่นของน้ำได้ระดับที่ตั้งค่าไว้ระบบก็จะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติ นอกจากในส่วนของอุปกรณ์เลี้ยงปลาแล้ว เด็กๆ ยังพบว่าน้ำที่เปลี่ยนถ่ายจากบ่อปลามีสารอาหารที่พืชต้องการ จึงได้ออกแบบแปลงผักลอยน้ำร่วมด้วย และบรรทัดต่อจากนี้ คือคำบอกเล่าของน้องๆ



[ทีมชนะเลิศสายสามัญ]
“ตั้งแต่เห็นประกาศรับสมัครโครงการ พวกผมสองคนก็ช่วยกันสร้าง และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ขึ้นมา เพราะนอกจากความตั้งใจในการแก้ปัญหาให้กับที่บ้านแล้ว เราสองคนยังมองเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ในสังคมเช่นเดียวกัน เพราะสามารถสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่สนใจ

และในอนาคตก็อยากเผยแพร่อุปกรณ์นี้ให้กับประชาชน และโรงเรียนในถิ่นธุรกันดารน้ำน้อยเพื่อใช้เลี้ยงปลาด้วย วันนี้ดีใจมากๆ ที่ทำได้สำเร็จสมกับความตั้งใจและพยายาม และภูมิใจมากที่ได้นำผลงานของตัวเองมาแสดง และเผยแพร่ให้คนอื่นได้เห็นถึงพลังเล็กๆ ที่พวกเราเด็กรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การร่วมมือกันสร้างสังคมที่ยั่งยืนของเราต่อไปในอนาคต



[ชนะเลิศ สายอาชีวะ "ชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" (วิทยาลัยการอาชีพไชยา)]
ด้านทีมผู้ชนะจากทีมสายอาชีวะ เจ้าของผลงานชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ศศิญาดา สุริโย และ อนุชิต สุวรรณ์ อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้น ปวส. ปี 2 วิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้เอาไว้ว่า



[ผลงานนวัตกรรม "ชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์"]
“พวกเราได้ไอเดียในการประดิษฐ์ชุดเลี้ยงกบนี้มาจากการที่ครอบครัวและคนในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเลี้ยงกบอยู่แล้ว จึงมีแนวคิดที่อยากยกระดับการเลี้ยงกบในชุมชนของเราให้มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาจากการเลี้ยงกบแบบเดิมซึ่งต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่

รวมทั้งปัญหาเรื่องโรคติดต่อ การแย่งอาหาร และการกัดกันของกบ ซึ่งทำให้กบเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ ขายไม่ได้ราคา ประกอบกับทางวิทยาลัยการอาชีพไชยามีโครงการชีววิถีที่สนับสนุนในนักศึกษาปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการหารายได้ระหว่างเรียนด้วย จึงเกิดเป็นความตั้งใจที่อยากจะประดิษฐ์เครื่องมือในการเลี้ยงกบนี้ขึ้นมา



[ทีมชนะเลิศสายอาชีวะ]
ชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ของทีมวิทยาลัยการอาชีพไชยา ทำมาจากโครงสร้างพีวีซี (PVC) ที่มีน้ำหนักเบา ลักษณะคล้ายชั้นวางของมีขวดพลาสติกสำหรับบรรจุกบขวดละ 1 ตัวเรียงเป็นแถว ออกแบบกลไกให้สามารถให้อาหาร และเปลี่ยนถ่ายน้ำให้กบที่เลี้ยงในขวดได้ทุกตัวพร้อมกันด้วยชุดคันโยก

ระบบการถ่ายน้ำทิ้งได้ถูกออกแบบ ให้เป็นระบบหมุนเวียนสู่ถังบำบัดด้วยพืชน้ำ โดยสร้างจากวัสดุที่มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น เพื่อหมุนเวียนมาใช้ในการเลี้ยงกบอย่างต่อเนื่องโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้ได้กบที่มีคุณภาพ สุขภาพดี ผิวหนังสวย ไม่มีกลิ่นเหม็บสาบ และเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค

“สิ่งที่ทำให้พวกเราสองคนได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ นอกจากความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างไม่ย่อท้อแล้ว หนูคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นมาสามารถแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรและสร้างประโยชน์สู่ชุมชนได้จริง ตอบโจทย์การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างดี” ศศิญาดากล่าว




[รองชนะเลิศอันดับ 1 สายสามัญ "เครื่องตรวจวัดโลหะตะกั่วตกค้างในน้ำดื่ม ด้วยขั้วไฟฟ้านาโนคาร์บอน" (รร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และ รร.เซนต์คาเบรียล)]


[รองชนะเลิศอันดับ 2 สายสามัญ "WHEELPLAY อุปกรณ์วีลแชร์เล่นเกมเพื่อผู้พิการทางขา" (รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย)]


[Popular Vote สายสามัญ "กระดูกสันหลังเทียม เพื่อการป้องกันอาการบาดเจ็บหลังท่อนล่าง" (รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม)]


[รางวัลพิเศษ ผลงานโดดเด่น สายสามัญ "เสื้อบอกสัญญานไฟเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน" (รร.แกน้อยศึกษา)]


[รองชนะเลิศ สายอาชีวะ "Crab Bank" (วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี)]

[ผลงานนวัตกรรม "Crab Bank"]


[รองชนะเลิศอันดับ 2 สายอาชีวะ "อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรเพื่อประโยชน์ในชุมชน" (วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี)]


[รองชนะเลิศ สายอาชีวะ "Crab Bank" (วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี)]


[Popular Vote สายอาชีวะ "ชุดช่วยอาบน้ำผู้สูงอายุและคนพิการช่วงล่างอำนวยความสะดวกสะอาดปลอดภัย" (วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี)]


[รางวัลพิเศษ ผลงานโดดเด่น สายอาชีวะ "เครื่องขัดล้างเมล็ดในการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย" (วิทยาลัยเทคนิคลำปาง)]


[เยาวชนที่ได้รับรางวัลจากโครงการ Young Makers Contest ปี 4]

รายละเอียดเพิ่มเติม "ผลงานเยาวชน" : http://makerfairebangkok.com/contest/2



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น