xs
xsm
sm
md
lg

ขอบคุณดราม่าเรื่องหน้าตา!! “อดีตดาราเด็ก” ผันตัวมาฟันดาบ จนคว้าแชมป์ทีมชาติไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ยังจำกันได้ไหม!? นักแสดงเด็กในตำนาน เจ้าของบท “หนูน้อยเจ้าน้ำตา” ตีบทแตก-ฟาดทุกดราม่า ขณะนี้ผันตัวมาเอาดีด้านกีฬา กว่าจะเป็นตัวจริงไม่ง่าย ฝึกฝน-อดทนจนติดทีมชาติไทย! ล่าสุด พาทีมฟันดาบคว้าเหรียญทองซีเกมส์ในรอบ 8 ปี สร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศได้ภูมิใจอีกครั้ง!

ค้นหาตัวตน จนมาหลงรัก “กีฬาฟันดาบ”

“กีฬาฟันดาบเริ่มตั้งแต่ช่วงที่พลอยไม่ได้เล่นละครนี่แหละ แม่อยากให้พลอยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้พลอยไม่คิดมาก ตอนนั้นมีเฟลนิดหน่อยค่ะที่ปกติเดินไปไหนคนรู้จัก คนทัก ตอนนี้เขาไม่ทักแล้ว หรือว่าน้องคนนี้เหรอ จำไม่เห็นได้เลย พลอยก็รู้สึกนิดหนึ่งนะ”

จากชีวิตที่เคยโด่งดังในวัยเด็ก “พลอย บัณฑิตา ศรีนวลนัด” กลับต้องพลิกผันเพราะช่วงวัยที่เติบโตทำให้รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป จนต้องห่างหายจากจอละครในที่สุด ในช่วงระหว่างรอยต่อของการค้นหาตัวเอง โชคดีที่ครอบครัวหยิบยื่นกีฬามาให้ จนทำให้เป็นจุดเริ่มต้นสู่การเป็นนักกีฬาฟันดาบจนถึงวันนี้

“ก่อนหน้านั้นพลอยเล่นกีฬาอื่นมาเยอะมาก ทั้งขี่ม้า ไอซ์สเกต แบดมินตัน เทควันโด ลองมาหมดแล้วค่ะ พอได้มาลองก็ติดใจเรื่องความสง่าของชุด เรื่องเพื่อนที่ช่วยเหลือกัน เรื่องที่ว่าเป็นกีฬาที่ต้องวางแผนและมีไหวพริบ พลอยเริ่มเล่นฟันดาบมาตั้งแต่อายุ 14 เลย”

นักกีฬาฟันดาบวัย 23 ปี เล่าย้อนถึงความประทับใจแรกเกี่ยวกับกีฬาที่ว่า จากภาพทรงจำที่เธอยังจดจำได้อย่างดี กีฬาฟันดาบไม่เพียงแต่มอบความสนุกให้กับเธอในวัยที่กำลังค้นหาความชอบ แต่ยังสร้างระเบียบวินัย การฝึกไหวพริบ และการเป็นนักวางแผนได้ด้วย



สนั่น แสงสุวรรณ์ โค้ชฟันดาบประเภททีมเซเบอร์
 
“พลอยเริ่มเล่นฟันดาบตั้งแต่อายุ 14 แต่ก่อนหน้านั้นพลอยเล่นกีฬาอื่นมาเยอะมาก ลองมาหมดแล้ว พอดีลูกของเพื่อนพ่อติดทีมชาติ บอกว่ามันมีโควตานักกีฬาฟันดาบนะ ตอนนั้นนักกีฬาฟันดาบมีรุ่นพี่อยู่เยอะเลยค่ะ และทำผลงานกันได้ดีกันหมด กีฬาฟันดาบกำลังจะบูม ต้องหารุ่นใหม่มาเติม

เขาก็ชักชวนเด็กๆ ที่รู้จักมา พลอยมากับน้องชาย “วรกันต์ ศรีนวลนัด” มาติดใจเรื่องความสง่าของชุด เรื่องเพื่อนและความช่วยเหลือกัน ฟันดาบสร้างให้เรามีระเบียบวินัยมากขึ้น เห็นปฏิกิริยาตอบสนองของตัวเองไวขึ้น ทุกอย่างทำให้เราพัฒนาตัวเราขึ้น กีฬานี้ดี แถมอยู่ใกล้บ้านด้วยก็เลยมาซ้อมที่ชมรมกองทัพอากาศตลอดเลยค่ะ

ที่เริ่มตอนอายุ 14 เพราะเป็นวัยที่พลอยเริ่มจะจริงจังกับอะไรบางอย่างได้แล้ว แต่พลอยจะไม่ใช่คนที่มีเป้าหมายสูงว่าต้องไปโอลิมปิกขนาดนั้น เราแค่ซ้อมให้เต็มที่ที่สุด พอมีแมตช์ไหนแข่ง เราก็เอาแมตช์นี้เป็นเป้าหมาย

พอเราทำได้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าการซ้อมมันส่งผล มันไม่โกหก เราซ้อมแล้วได้ผลจริงๆ นะ เราก็เลยซ้อมต่อไป ลงทุนต่อไป พอโตขึ้นเริ่มมีการวางแผน ซ้อนแผนมากขึ้นว่าเราเล่นเป็นมืออาชีพมากขึ้น ไม่ใช่ใช้แค่แรงอย่างเดียว และมีการคิดต่อยอดด้วย”

จากความชอบที่มีในตอนนั้นนำมาสู่ความรักที่ทำให้เธอคัดตัวจนติดทีมชาติได้สำเร็จ แม้มีอุปสรรคในแรกเริ่มของการคัดตัว แต่สุดท้ายความพยายามและความอดทนที่มีก็พาเธอมาถึงตรงนี้ได้

“พลอยติดเยาวชนทีมชาติประมาณอายุ 15-16 ค่ะ เป็นเยาวชนทีมชาติรุ่น (ไม่เกิน) 17 ปี และเยาวชนทีมชาติรุ่น (ไม่เกิน) 20 ปี เล่นจนหมดรุ่น 20 ค่ะ ระหว่างที่เล่นรุ่น 20 ก็ข้ามไปเล่นรุ่นทั่วไปด้วยเหมือนกัน เพราะฟันดาบจะเล่นเป็นรุ่นอายุ ไม่ใช่ตามรุ่นน้ำหนัก

พลอยคัดซีเกมส์มาทุกๆ 2 ปี คัดไปแล้ว 2 ครั้งก็ไม่ได้สักครั้ง ก่อนหน้านี้ร่างกายเราพร้อมหมดเลย แต่เทคนิคด้านการฟันดาบเรายังไม่เข้าใจดี บวกกับรุ่นพี่ก็ยังกลับมาเล่น ปีนี้เป็นปีที่เหมาะเจาะ เล่นฟันดาบมาทั้งหมด 9 ปี ปีนี้เพิ่งติดทีมชาติแบบเต็มตัว ก่อนหน้านี้คือเล่นเยาวชนทีมชาติมาตลอด ตอนนี้อายุ 23 แล้ว


 
ที่ติดซีเกมส์ได้เพราะว่าเรามีเวลาซ้อมเยอะ ที่ผ่านมาเราพยายามบาลานซ์ระหว่างเรียนกับฟันดาบให้มันดีควบคู่กันไปเรื่อยๆ พอปี 4 พลอยเรียนจบแล้วก็เลยมีเวลามาลงทุนกับสิ่งที่ตัวเองรักมากขึ้น
สิ่งที่เราอยากจะทำให้คือติดทีมชาติ อยากเล่นซีเกมส์ และเอาเหรียญมาให้ได้ ปีนี้ถือเป็นปีแรก และเสร็จสมบูรณ์ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

การเล่นฟันดาบ ความยากคือการเข้าใจเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ ต้องอาศัยประสบการณ์และการวางแผน การแก้เกม เพราะเป็นกีฬาที่เร็วมาก ต้องมีการอ่านเกมผู้ต่อสู้ว่าลูกต่อไปเขาจะเล่นอะไร และเราจะแก้เกมยังไง ต้องฝึกร่างกายจนเป็นอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องคิดแล้วว่าจะต้องทำท่านี้

หรือความถนัดเรื่องมือซ้าย มือขวา จริงๆ มือซ้ายเล่นดีเลยค่ะ เพราะว่าผู้ต่อสู้ส่วนใหญ่เล่นขวา มือซ้ายจะแรร์ไอเทม คนจะเดาทางได้ยาก บวกกับด้านของดาบ คนฝั่งขวาจะไม่ชินกับฝั่งซ้ายเท่าไหร่
ส่วนเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ พลอยว่าคนที่สูงค่อนข้างได้เปรียบ เพราะแขนยาว ขายาว แต่จะเสียเปรียบตรงที่ความคล่องตัวไม่มี ถ้าไม่ได้ฝึกเยอะๆ

อย่างพลอยตัวเล็กก็ต้องเวิร์กฮาร์ดกว่าชาวบ้าน พลอยต้องซ้อมหนักกว่า สเต็ปละเอียดๆ ดูระยะตัวเองดีๆ เหมือนเราจะตีถึงเขาแล้ว
แต่จริงๆ เขาตีถึงเราก่อนตั้งนานแล้ว เราต้องดูระยะแม่นกว่าคนอื่นเขา สายตาต้องดี เรื่องใส่แว่นเล่นกีฬาไม่มีปัญหา อย่างพลอยใส่คอนแทกต์เลนก็เล่นได้ปกติ เรื่องสายตาต้องดี หรือระยะต้องดี พลอยว่าอยู่ที่การซ้อม”

สำหรับคุณสมบัติที่ดีสำหรับผู้ที่อยากเป็นนักกีฬาฟันดาบ เธอแนะนำว่าเรื่องของความแข็งแรงทางร่างกายสามารถฝึกกันได้ ส่วนถ้าใครเคยเล่นกีฬามาก่อนจะได้เปรียบ เพราะสามารถนำมาต่อยอดกับกีฬาฟันดาบได้

“กีฬาประเภทนี้ใช้หลายทักษะรวมกันมากๆ เลยค่ะ เริ่มตั้งแต่วิ่งเลย วิ่งระยะยาว 3 รอบ หรือครึ่งชั่วโมง และวิ่ง 400 เมตร เอาสปีด เต็มที่ที่สุดสำหรับผู้หญิงคือไม่เกิน 1 นาทีครึ่ง อย่างพลอยมีไปเล่นกีฬาอื่นบ้างค่ะ เช่น เล่นแบดมินตัน เล่นฟุตบอล เพื่อเสริมทักษะด้านอื่นๆ มีใช้แขนด้วย

ถ้าใครที่เล่นเทควันโดมาก็จะรู้ระยะตัวเอง ต่อย เตะ มีระยะของเขา มีการฝึกล่อเป้ากับโค้ช มีลงเล่นเกมกับเพื่อน มีเวทเทรนนิ่ง ส่วนสำคัญร่างกายที่ต้องแข็งแรง จริงๆ ก็ทุกส่วนเลย ทั้งคอ บอดี้ต้องมั่นคงเพื่อที่รักษาบาลานซ์ตัวเอง ส่วนกล้ามขาข้างขวาก็จะใหญ่กว่าขาซ้าย เพราะเราใช้ขาขวาในการยัน

คนที่มีไหวพริบจะเล่นฟันดาบได้ดี คนที่วางแผนเป็น โดยเฉพาะไหวพริบด้านกีฬา แก้เกมได้เร็ว ก็คือออกแนวฉลาดแกมโกงนิดๆ ค่ะ ในชีวิตจริงจะเป็นยังไงไม่รู้ แต่ในสนามจะต้องมีลูกล่อลูกชนที่หลอกล่อผู้ต่อสู้ให้เขาหลง ให้เข้าแผนเรา บวกกับความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งเป็นอะไรที่ฝึกกันได้”


 
ภูมิใจไทยแลนด์ คว้าแชมป์ในรอบ 8 ปี!

“ทีมเซเบอร์หญิงคัมแบ็ก รู้สึกว่าเป็นวันที่ทีมมีความเหนียวแน่นมากที่สุด ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมากๆ เหรียญทองที่ทีมพลอยได้เป็นเหรียญทองเซเบอร์หญิงในรอบ 8 ปี เหมือนประวัติศาสตร์กลับมาอีกครั้ง”
 
นักกีฬาฟันดาบทีมชาติไทย เล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจ หลังร่วมกันพาทีมเซเบอร์หญิงฟันดาบคว้าแชมป์สำเร็จในรอบ 8 ปี ณ มหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่เพิ่งจบลงไม่นานนี้

แม้ผลสุดท้ายคือชัยชนะที่ทีมเซเบอร์หญิง สามารถคว้าเหรียญทองกลับมาให้คนไทยทั้งประเทศได้ภาคภูมิใจ ทว่าก่อนการแข่งขันกลับมีอุปสรรคเกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านจิตใจ จนทำให้เธอต้องเข้าปรึกษากับจิตแพทย์กันเลยทีเดียว!
“ประเภทที่พลอยเล่นเป็นประเภททีมเซเบอร์หญิง เราบินไปถึงตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม จึงมีเวลาเตรียมตัว 7 วัน ที่จะเล่นให้ชินกับสนามหรือรู้บรรยากาศ ซึ่ง 7 วันที่ผ่านมาพลอยก็ไปเชียร์เพื่อนที่สนาม เป็นผู้นำเชียร์เลยด้วยซ้ำ ไทยแลนด์สู้ๆ

พลอยก็ไม่เครียดอะไรเกี่ยวกับฟันดาบเลย แต่พอเข้าวันที่ 6 เริ่มรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะซ้อมมาไม่พอ เกิดคำถามว่าเราซ้อมมาหนักแล้วหรือยังนะที่จะมาวันนี้ พรุ่งนี้จะเล่นดีหรือเปล่า เพื่อนจะว่าเราไหม จนวันที่ 7 ไม่ไหวแล้ว ซึ่งที่ซีเกมส์จะมีไทยเฮาส์ คือ บริการด้านจิตวิทยา กายภาพ และอาหาร

พลอยไปขอคุยกับอาจารย์ด้านจิตวิทยาทางการกีฬา หลายคนอาจคิดว่าเข้าไปพบจิตแพทย์แล้วเราเป็นคนบ้าหรือโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ซึ่งไม่จริงเลย เขาจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ รู้สึกมั่นใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น พลอยพบกับ อ.สายหยุด ท่านบอกว่าเราไม่ควรคิดล่วงหน้า หรือคิดถึงอดีตว่าซ้อมมาเยอะแค่ไหน มันรกสมองเปล่าๆ

พลอยและครอบครัว


 
ฉะนั้น ให้โฟกัสกับสิ่งที่เล่น การไปคุยเลยทำให้พลอยเปิดโลกเลย อ.บอกว่าเราต้องตั้งใจกับสิ่งที่เลือกก่อนว่าจะทำสิ่งนี้ ทำมันเต็ม 100% ผลจะออกมาแพ้-ชนะ แต้มจะโดนนำไปยังไงก็ไม่เป็นไร แต่ต้องดึงตัวเองกลับมาให้เร็วที่สุด แล้วลุยต่อ สุดท้ายจะเป็นยังไง อย่างน้อยเราก็ได้ทำ

ตรงนี้เป็นจุดคลิกเลยว่าประโยคนี้มันใช้ได้ทั้งชีวิตของเราเลย เราเอาไปสอนรุ่นน้องต่อไปได้ ลองดูว่าถ้าคุณลังเลที่จะทำอะไรสักอย่างอยู่ มันจะไม่มีวันสำเร็จ แต่ถ้าลงมือทำไป 100% จะไม่มีวันมาเสียใจทีหลัง มันใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตเลย การเรียน ความรัก หรือการงาน”

กว่าจะประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก ก่อนหน้านี้เธออยู่ในตำแหน่งตัวสำรองมาตลอด จนมาถึงแมตช์ซีเกมส์ที่ถูกเลือกให้ลงสนามจริง ยิ่งทำให้เธอภูมิใจกับความพยายามของเธอที่มีมาตลอด แม้ว่ากว่าจะถูกเลือกให้เป็นตัวจริงจะใช้เวลานานพอสมควร แต่เธอก็มีความสุขที่ได้เป็นฝ่ายซัปพอร์ตเพื่อนๆ

“ก่อนหน้านี้พลอยเป็นตัว 4 (ตัวสำรอง) มาตลอดเลย แทบจะไม่เคยได้ลงตัวจริง อยู่ซ้อม อยู่กับเพื่อน ซัปพอร์ตเพื่อนตลอดเวลา ตอนซ้อม เราก็ทุ่มเทแบบเพื่อนหมด แต่แค่โค้ชยังไม่ได้เลือกเราไปเล่นสนามจริง

พลอยก็รู้สึกอยากเล่นนะ มีน้อยใจบ้างว่าฝีมือเรายังไม่ดีพอที่เขาจะเชื่อใจให้เราขึ้นไปยืนบนสนามหรือเปล่า แต่ไม่ยอมแพ้ก็ซ้อมมาตั้งแต่แรกๆ การที่เราไม่ได้ลงไป หมายความว่าคนบนสนามเขาทำหน้าที่ของเขาได้ดีแล้ว เขาไม่บาดเจ็บ และเขาก็เข้าฟอร์มของเขาทุกอย่าง


 
มันคือทีมที่เราช่วยเหลือกันมาตลอด พอครั้งนี้ยิ่งได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงแมตช์แรก ก็เป็นแมตช์ตัดเอาเหรียญ พลอยก็ยิ่งอินเข้าไปใหญ่ในการที่ครั้งนี้เราได้ลง มันคุ้มกับความทุ่มเทที่เราทำมาตลอด”

แน่นอนว่าส่วนที่ยากที่สุดคือการเอาชนะจิตใจตัวเองให้ได้ ที่สำคัญคือการไม่เสียสมาธิไปกับสิ่งรอบข้าง โดยเฉพาะกับสนามที่ไม่ได้จัดขึ้นในไทย ซึ่งเธอยอมรับว่าหากหลุดสมาธิไปง่ายๆ กับเสียงของกองเชียร์ฝั่งตรงข้ามก็มีผลต่อการแข่งขันเหมือนกัน

“กีฬาฟันดาบเป็นตัวต่อตัวก็จริง แต่สภาพแวดล้อมมีผลค่อนข้างเยอะ ถ้าเรายังไม่แข็งด้วยตัวเองมากพอ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหลุดโฟกัสไปกับบางอย่าง เช่น เสียงเชียร์จากอีกฝ่าย เราอาจหงุดหงิดหรือไม่มีสมาธิก็จะพังง่ายๆ เหมือนกัน

รอบแรกเจอกับอินโดนีเซีย ต่อมาก็ไปเจอกับเจ้าภาพฟิลิปปินส์ สิ่งที่กดดันคือกองเชียร์เขาเยอะมาก มีคนไทยไม่กี่คน เสียงเชียร์กลบมาเรื่อยๆ แต่แต้มพวกเรานำมาตลอดเลยนะคะ สุดท้ายไปเจอเวียดนามรอบชิง มีดีกรีเหรียญทองมาหลายสมัยมาก แต่เราก็คว้าแชมป์มาได้

พลอยประทับใจทุกครั้งที่ขึ้นไปเปลี่ยนคู่กับเพื่อน โมเมนต์ที่ประทับใจคือเวลาไปเปลี่ยนสายให้เพื่อน หรือเราขึ้นไปเล่นเอง มีความเชียร์อัพและมองตากันตลอดว่า เอานะ สู้นะ ทำได้นะ เป็นการเชื่อมั่นกันและกัน มันอบอุ่นใจ รู้สึกว่าเราได้แรงใจจากเพื่อนๆ แรงใจจากกองเชียร์มาอยู่ที่ตัวเรา

สิ่งที่ต้องทำคือรวบรวมสมาธิ สู้ให้สุด สิ่งที่ อ.สอนมา เราเอามาใช้ในสนามได้หมดเลย หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าสติหลุด แต่ก็ยังพอมีสติที่จะเบรกเกม รวบรวมสมาธิใหม่ ประวิงเวลานิดหนึ่งในการเรียกสติกลับมา

พลอยภูมิใจนะคะ ภูมิใจมาก รู้สึกภูมิใจในตัวเพื่อน ภูมิใจในตัวเองที่เราสามารถอดทน และรักษาระเบียบวินัยในการซ้อม มีความมุ่งมั่นที่จะเอาเหรียญมา ปัญหาอื่นๆ รอบข้างตัดออกไปให้หมดเลย วันนั้นอย่างที่บอกมีความเป็นทีมมากที่สุด ลงเล่นด้วยความตั้งใจ ภูมิใจที่เราพยายามสู้ด้วยกันมา แล้วผลมันออกมาดี”


 
เด็กแฝด-เด็กออทิสติก-เด็กพิการ รับทุกบทดราม่า!

“ตอนเด็กเรามีชื่อเสียงมากเลยนะ ไปไหนคนก็รู้จักเยอะแยะ แต่พอมัธยมปลาย หน้าเราเปลี่ยน สรีระเปลี่ยน หน้าพลอยไม่สวยเลย ตอนนั้นคนจำไม่ได้ เรารู้สึกว่าอยากกลับไปเล่นละครนะ แต่กลับไปไม่ได้เพราะหน้าตายังไม่เข้าแก๊ป บทก็ยังไม่มีที่จะเหมาะกับวัยรุ่นในตอนนั้น”

หลายคนยังคงจำจดเธอได้ดีในฐานะนักแสดงเด็กที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น แต่เมื่อเวลาผ่านเรากลับไม่ค่อยเห็นผลงานของเธอจากหน้าจอโทรทัศน์เสียเท่าไหร่ เธอสะท้อนให้ฟังว่าคงเพราะหน้าตาและรูปร่างที่เติบโตขึ้น รวมถึงละครในช่วงนั้นยังไม่มีบทวัยรุ่นมากเท่าปัจจุบันนี้ ก่อนจะย้อนเล่าให้ฟังถึงเส้นทางการเข้าวงการที่เริ่มตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ

“พลอยเข้าวงการตั้งแต่ 5 ขวบครึ่งค่ะ เริ่มตั้งแต่ถ่ายโฆษณาเลย เด็กๆ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นดาราอยู่แล้ว มีการไปตัดหน้าม้า เหมือนพี่ทราย - เจริญปุระ ตอนนั้นพลอยไม่มีหน้าม้าก็ตัดเองตั้งแต่ 3 ขวบ มีความอยากเป็นดาราตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ)

พอได้เข้ามาเล่นจริงๆ ตอนนั้นพ่อกับแม่อยู่ประเทศเยอรมนี พลอยอยู่ที่นี่ ตอนพ่อแม่กลับมาคือพลอยเล่นละครเรื่องแรกแล้ว เขาค่อนข้าง งง เหมือนกันว่าลูกไปเป็นดาราเมื่อไหร่ (ยิ้ม) พลอยว่ามันค่อนข้างอยู่ในสายเลือดว่าเราชอบอยู่หน้ากล้อง การเป็นนักแสดงเหมือนเราได้สวมบทบาทคนอื่นเข้ามา

พลอยไม่รู้ว่าความชอบตอนนั้นคืออะไร แต่สิ่งที่ได้รับจากการเล่นละคร มันคือการเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ดีว่าทุกวันนี้เราอินกับอะไรได้ง่ายขึ้น มีความอาร์ตทิสในหัวหน่อยๆ มันทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ และติดมาเป็นตัวตนของพลอย




 
พลอยเล่นละครประมาณ 40 เรื่อง รวมๆ ยิบย่อยด้วยนะคะ ช่วงวัยเด็กทำงานหนัก แต่รู้สึกสนุกเพราะเป็นสิ่งที่เรารัก เราชอบ แต่ชีวิตของพลอยแทบจะใช้เวลากับเพื่อนน้อย ตอนเรียนมีไปถ่ายละครบ่อย ชีวิตในวัยเรียนก็ค่อยๆ หายไป จะไม่มีอาฟเตอร์ สคูล ไปเที่ยว ไปเล่น

เราจะอยู่กับงานส่วนใหญ่ แต่ก็ทำให้เรามีระเบียบวินัยตั้งแต่ตอนนั้น และรู้จักการเข้าสังคม รู้โลก เดาทางคนออก อ่านเกมคนออก เข้าใจโลกได้เร็วขึ้น พลอยทำงานมาให้พ่อแม่หมดเลย เขาแบ่งเงินส่วนไหนมาให้เรา เราก็รับเท่านั้น ไม่มีการขอเพิ่ม หรือขอของเล่นเหมือนเด็กคนอื่น

เพราะเขาก็เหนื่อยไปกับเรานะ พาเราไปส่ง อย่างแม่หลังจากที่กลับมาจากเยอรมนี แม่ก็มาดูแลพลอย ไปกองถ่ายด้วยกัน แม่ขับรถให้ ต่อบทให้เรา แม่เป็นคนสำคัญ เป็นครูสอนแอคติ้ง เพราะพลอยไม่เคยเรียนแอคติ้งเลย ตอนนั้นเด็กยังอ่านบทไม่ออก ไม่คล่อง แม่เขาก็จะบอกให้ฟังว่าเราคาเร็คเตอร์แบบไหน”

ต้องยอมรับว่าความสามารถของเธอนั้นเกินเด็ก พิสูจน์ได้จากผลงานละครกว่า 40 เรื่อง และบทบาทหลากหลายที่เธอเคยรับเล่น แม้ว่าตอนนี้เธอจะหันมาเอาดีทางด้านการเป็นนักกีฬา แต่เธอก็ยอมรับว่ายังคิดถึงวงการบันเทิงอยู่เสมอ

“ต้องบอกว่าช่วงนั้นดาราเด็กกำลังบูมค่ะ พลอยเป็นหนึ่งในนั้นที่กำลังบูม แต่ส่วนใหญ่คนจะติดตาภาพน้องพลอยร้องไห้แทบจะตลอดเวลา เพราะโดนบทดราม่าตลอดเลย ตั้งแต่เรื่องแรกเลยด้วยซ้ำที่มีบทร้องไห้ มีตั้งแต่เป็นเด็กออทิสติก เด็กใบ้ เด็กพิการ จูงพ่อตาบอด บทนางร้าย หรือแฝด เล่นแต่บทพีคๆ

มันก็เลยสนุก รู้สึกว่าท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ที่ยังไม่ได้เล่นคือบทบ้า กับบทบู๊ ที่อยากเล่นมากแต่ยังไม่ได้เล่น จนมาถึงช่วงที่พลอยอยู่ปีหนึ่งคือเล่นเรื่องสุดท้ายค่ะ ตอนนี้ถามว่าคิดถึงการเล่นละครไหม คิดถึงนะ อยากกลับไปเล่นอีก อยากรู้ว่าตอนนี้เราเล่นจะเป็นยังไง เพราะว่าค่อนข้างแตกต่างจากตอนเด็ก 
ตอนเด็กเราเล่นบทน่าสงสาร บทลูกสาวเป็นเด็กมาตลอด พอโตขึ้นมาต้องใส่อินเนอร์เรื่องความรักลงไป ซึ่งเราก็ไม่เคยเอามาเล่นกับการแสดง ไม่รู้เล่นแล้วจะเป็นยังไงก็น่าลอง แต่ก็รู้ว่าตอนนี้ดาราเยอะมากเลย เข้าไปก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปสู้กับเขา

เราไม่ได้สวยขนาดนั้น อยู่ที่จังหวะและโอกาสว่าเขาเห็นบทไหน อยากให้พลอยเข้าไปเล่น หรืออยากเห็นพลอยกลับมา ค่อนข้างยินดีถ้ามีคนเรียกไป หรือจะเปลี่ยนไปเป็นงานพิธีกรบ้างก็ได้หมด เพราะพลอยก็ทำมาตั้งแต่เด็กๆ”




 
บ้านนี้สายกีฬา

“แม่พลอยมีเทคนิคในการเลี้ยงพลอย คือให้อดทนตั้งแต่เด็ก ฝึกพลอยตั้งแต่แบเบาะ ถ้าร้องไห้ก็ปล่อยให้ร้องเลย ไม่มีโอ๋เหมือนเด็กคนอื่น พลอยไม่เคยชักดิ้นชักงอจะเอาของเล่นเลย เพราะถ้าทำอย่างนั้นโดนแน่ๆ โดนตีแน่ๆ แม่จะเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย ความอดทน ความพยายามมาตั้งแต่เด็กเลย”

ภาพความทรงจำวัยเด็กถูกนำมาฉายอีกครั้ง ผ่านการเล่าเรื่องช่วงชีวิตตอนเธอยังเล็กให้ฟัง เพราะเติบโตมาในครอบครัวทหารจึงทำให้เธอซึมซับเรื่องระเบียบวินัยแต่ยังเด็ก ทว่า ครอบครัวก็ไม่เคยกดดันในเรื่องของความชอบ โดยเฉพาะเรื่องกีฬา แถมยังสนับสนุนลูกๆ ให้เล่นได้อย่างอิสระเต็มที่อีกด้วย

“พอมาเป็นนักกีฬารู้สึกว่าสิ่งนี้สร้างคุณค่าให้เรามากยิ่งขึ้นไปอีกนะ เราทำได้หลายอย่างนะ พอทุ่มเทกับมันเราก็เปลี่ยนพาร์ทมาด้านนี้ได้เหมือนกัน ส่วนน้องชายก็เป็นนักกีฬาเหมือนกันค่ะ เพราะเริ่มมาด้วยกัน พลอยกับน้องเหมือนพ่อแม่ประหยัดการรับส่ง (หัวเราะ) ไปทางไหนก็ไปด้วยกัน

ตอนที่เล่นไอซ์สเก็ตก็เล่นมาด้วยกัน หรือขี่ม้า น้องก็ไปเล่นเรือใบ เพราะอยู่ในสถานที่เดียวกัน เทควันโดพลอยกับน้องก็เล่นเหมือนกัน แต่น้องชายมีพรสวรรค์มากในการเล่นกีฬา น้องฉลาด ไม่ได้ใช้แรงเยอะ แต่น้องตัวใหญ่ แก้เกมทันคน ถ้าพูดถึงฝีมือด้านฟันดาบ น้องจะเก่งกว่าพลอยนะคะ ยอมรับเลย

อย่างผลงานแมตช์ซีเกมส์ น้องชายไปลงแข่งเหมือนกันได้เหรียญทองแดงประเภทบุคคล และได้เหรียญเงินประเภททีมเซเบอร์ชาย น้องติด 1 ใน 9 ของเยาวชนโลก น้องจริงจังกับฟันดาบเลยไปเก็บตัวที่ฮังการีมาปีหนึ่ง พลอยกับน้องจะค่อนข้างสนิทกันมาก

พลอยและน้องชาย


 
เพราะซ้อมดาบก็ซ้อมด้วยกัน เล่นกันมาตั้งแต่เด็ก ค่อนข้างสนิทกับน้อง น้องเป็นคนตลก เขาจะทำให้เราหัวเราะได้ ยิ้มได้ตลอด น้องยิ่งโตยิ่งดูแลพลอยได้ดีกว่าที่พลอยดูแลน้องอีกนะคะ
เพราะน้องตัวใหญ่ อายุ 20 ปี แต่ร่างกายทำให้เขาต้องแข็งแกร่ง แต่ก็จะมีพาร์ตเล็กๆ อย่างเวลาน้องท้อหรือร้องไห้ พลอยก็จะเป็นที่ปรึกษาให้ได้”

สิ่งหนึ่งที่เธอเชื่อเสมอว่าการที่เธอเป็นเธอในทุกวันนี้เป็นเพราะคำสอนจากครอบครัว ซึ่งทำให้เธอเป็นคนวางแผนการใช้ชีวิตและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ยังเด็ก เธอยอมรับว่าตัวเองโชคดีว่าสิ่งที่พ่อแม่ปูแนวทางให้นั้นกลายเป็นสิ่งที่เธอทำมันได้ด้วยความรักและความสุข

“ถามว่าถ้าไม่ได้เป็นนักกีฬาตอนนี้จะทำอะไร พลอยคิดว่าจะทุ่มกับเรียน จะพัฒนาภาษาอังกฤษให้เยอะกว่านี้มากๆ อาจจะไปเรียนต่างประเทศแล้วในตอนนี้ คงจะทุ่มกับเรียนไปเลย
ความใฝ่ฝันคืออยากทำงานให้กับประเทศ ไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง ถ้ามาด้านนักกีฬาเราอาจพัฒนานักกีฬาหรือองค์กร อยากเป็นตัวแทนประเทศบางอย่าง

พอเรามาสายกีฬา ครอบครัวไม่ได้กดดันกับพลอยเรื่องฟันดาบว่าจะต้องเล่นโอลิมปิก หรือเล่นทีมชาติเลย แต่สิ่งที่ทำได้ก็ด้วยตัวเราด้วยที่ทำอะไรก็เต็มที่กับตรงนั้น จริงๆ ที่บ้านค่อนข้างมีกรอบนะคะ สอนเราเรื่องการเข้าสังคมและระเบียบวินัยมาตั้งแต่แรกๆ เราก็อยู่ในสังคมทหาร ตอนเด็กๆ เข้มงวดมากทุกกระเบียดนิ้วเลย

แต่ที่บ้านไม่ได้กดดันอะไรเป็นพิเศษ แต่เขาจะคอยตบเรากลับมาถ้าเราออกนอกลู่ พอยิ่งโตก็ยิ่งปลูกฝังให้เราใฝ่ดี เราแสวงหาสิ่งที่เป็นผลดีกับตัวเราในอนาคตเพื่อต่อยอดได้ง่าย พ่อแม่สอนให้พลอยวางหลายๆ แนวทางเอาไว้

อย่างเรื่องการเรียนให้เรียนคณะรัฐศาสตร์เพื่อให้เปิดกว้างไว้ก่อน ส่วนใหญ่พ่อกับแม่จะวางแผนชีวิตให้ ซึ่งพลอยโชคดีว่า สิ่งที่พ่อแม่วางแผนไว้ให้ มันตรงกับไทป์ของเราพอดี ตรงกับสิ่งที่เป็นตัวเราได้ พลอยไม่ได้ฝืน และทำมันได้อย่างมีความสุข”


เรื่อง พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ สันติ เต๊ะเปีย




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น