ผู้หญิงคนนี้ยอมทิ้งธุรกิจที่ทำเงินหลักล้านต่อเดือน มาทำเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารพิษ 100% ความสุขของเธอไม่ได้อยู่แค่เพียงกระตุ้นให้คนกินผักปลอดสารมากขึ้น แต่ยังเปิดอบรมเพื่อแบ่งปันความรู้แก่ผู้สนใจฟรีอีกด้วย
หยุดเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ต่อชีวิต“หลาน”
แทบไม่น่าเชื่อว่า คนที่ทำธุรกิจส่วนตัว มีรายได้ต่อเดือนหลักล้าน จะกล้าตัดสินใจล้มเลิกธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลแบบนั้น เพื่อมาทำการเกษตร ที่รายได้เทียบกันไม่ติด แถมยังต้องลงแรงในการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ
แต่สำหรับ หลิน-เสาวภาคย์ โลหะพันธกิจ เจ้าของไร่เบญจมิน่า ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเคยเป็นเจ้าของธุรกิจส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง (Frozen Seafood) สามารถทิ้งกิจการที่สร้างรายได้อย่างงดงามนั้น เพื่อมาทำการเกษตร และเป็น “เกษตรอินทรีย์” ปลอดภัยไร้สารพิษ 100%
“พี่ทำอาหารทะเลแช่แข็งจากประเทศเวียดนาม พม่า บังกลาเทศ Frozen และส่งไปขายยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เมื่อ 4 ปีที่แล้วหลานพี่ 9 ขวบ ไม่สบาย มีวิกฤต ต้องเปลี่ยนถ่ายหัวใจ
ตอนนั้นพี่เลยมาทานมังสวิรัติ เพื่อหยุดเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น และขอชีวิตเขาไว้ แล้ว Frozen Seafood ที่พี่ทำอยู่ มันก็เป็นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์น้ำ เลยเลิกทำงาน เสร็จแล้วก็ดูแลหลาน เขาก็ได้หัวใจมาเปลี่ยน พอเขาแข็งแรง พี่เลยมาทำเกษตรอินทรีย์ได้เต็มตัว”
ไม่อยากสะสมบาป ไม่เสียดายผลกำไร
“ถ้ามองแต่ตัวเงิน พี่อาจสะสมบาปเยอะขึ้นเรื่อยๆ เนอะ เพราะตู้หนึ่ง กุ้งเป็นล้านๆ ตัวเลยนะ ปลาเป็นล้านๆ ตัว น้องเขาเดินเข้าไปในโรงงาน เห็นเขาทุบปลาทีหนึ่ง เลือดมันก็ออกมา
ถ้าทำโรงงานกุ้ง ก็ไม่มีเลือดให้เห็น แต่มันก็เป็นชีวิต บล็อกหนึ่งก็ 100 ตัวแล้ว กล่องหนึ่งก็ 6 บล็อก 600 ตัว ก็คูณไป กี่ชีวิตอะ ไปคืนไม่หมดแน่ๆ”
หลังจากเธอตัดสินใจหันหลังให้ธุรกิจเงินล้าน แล้วหันหน้ามาทำเกษตรอินทรีย์ จับจอบขุดดิน ทำให้คนรอบข้างอดห่วงไม่ได้ ว่าทำไมเธอต้องมาทำงานที่ลำบากเช่นนี้
“พี่ก็ลงจอบเอง สนุกสนานไป แม่เห็นรูปที่บางทีใครมาถ่ายรูป น้ำตาซึม ทำไมลูกสาวฉันต้องมาเป็นเกษตรกร มาขุดดินด้วย ทำงานดีๆ สบายๆ แบบสมัยก่อนไม่ได้เหรอ บอก ไม่ใช่ มันสนุกมาก
ได้ออกกำลังกาย ได้เห็นสิ่งที่เราปลูก จากต้นเล็กๆ เป็นต้นใหญ่ๆ แต่พอหลายๆ คนพูดมากๆ ญาติๆ ก็เป็นห่วง เรื่องรายได้อีก ตอนนั้นทุกคนตั้งคำถามหมด เฮ้ย ทิ้งตรงนั้นมาทำตรงนี้ทำไมเนี่ย มันก็มีความกดดัน”
เก็บเกี่ยวความรู้ ทำ “เกษตรอินทรีย์”
“พี่มีที่อยู่ที่เขาใหญ่ผืนแรก 8 ไร่ ก็อยากปลูกโน่นนี่ แต่ยังไม่มีความรู้ สุดท้ายก็รู้ว่า ที่ตรงนั้นไม่มีน้ำ ก็พยายามหาที่ติดน้ำ ก็มาได้ที่ผืนนี้ พอได้ที่ผืนที่ 2 ก็เริ่มถามตัวเองว่า เราจะทำยังไงกับมันดี ให้เราปลูกได้
เลยเริ่มหาความรู้ทางยูทูบก่อน ทุกคนก็จะเป็นยูทูบเบอร์ เสร็จแล้วก็ไปเรียน เรียนที่ ม.เกษตรฯ บ้าง ที่โน่นนี่บ้าง เรียนเทคคอร์สสั้นๆ 3 วันบ้าง วันเดียวบ้างไปเรื่อยๆ สุดท้ายเมื่อเดือน พ.ค. 2560 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว พี่เรียนที่ศีรษะอโศก ที่ อ.บุญรุ้ง พี่รู้สึกเลยว่า อันนี้มันใช่สำหรับเกษตรกร คือไม่ใช่แค่ความรู้ แต่มันคือทางรอด”
“จริงๆ ก็เป็นคำถามของเกษตรกรทั่วไปว่า มันจะได้ผลเหรอ จะได้กินเหรอ ผมอยู่กับเกษตรมาตั้งแต่เกิดเลย เรียนจบปริญญาตรี มาเป็นครู ก็มาเกี่ยวข้องกับเกษตรต่อ และผมก็มาพัฒนาองค์ความรู้เรื่องนี้ ด้วยความที่เราเรียนชีววิทยา เรารู้และเข้าใจเรื่องจุลินทรีย์ เราจึงสามารถเอาจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยง มาขยาย และเอาไปใช้งานได้จริงๆ” อ.บุญรุ้ง สีดำ วิทยากรอบรมเกษตรอินทรีย์ ขยายความ
การทำเกษตรอินทรีย์ของพี่หลินในช่วงแรก ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่ตอบโจทย์คนรอบข้างได้รับประทานผักปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพ ก็พอใจแล้ว
“แรกๆ ปลูกเพื่อบริโภคเอง เพราะหลานหลังเปลี่ยนถ่ายหัวใจแล้ว ต้องให้อาหารทางสายยาง อาหารปั่น พี่ก็ต้องการวัตถุดิบที่ใช่มาใช้ เราก็ปลูกเองสบายใจที่สุด ก็เริ่มต้นจากจุดนั้น
อีกอันหนึ่งที่เป็นคำถามสำหรับพี่ตลอด ช่วงปีกว่าๆ อาโกว อาเตี๋ย อาอึ้ม เขาก็เป็นคนจีนสะอาดสะอ้าน กินข้าวต้มเกือบทุกมื้อ และทานปลานึ่งกับผัดผัก เขาเสียชีวิตมะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งตับ เหมือนๆ กัน ติดๆ กัน 3 คน พี่เลยคิดว่า มันอยู่ที่อาหาร ที่ผัก ถ้าไม่ปลอดสารพิษ ยิ่งกินมาก ก็ยิ่งสะสม เลยปลูกเอง พ่อแม่ญาติโยมก็ได้ทานผักที่เราปลูก”
ขาย-แจก แลกสุขใจ คนกินผักปลอดสารพิษ
“พ่อพี่บอกว่า ตู้หนึ่งเคยขายเป็นล้านๆ อย่างที่เราเคยทำมา ทุกวันนี้ต้องมาขายผัก ถุงละ 35 บาท 3 ถุง 100 พ่อบอก ทำทำไมเนี่ย เหนื่อยมากเลย ต้องไปส่งเขาด้วย แต่พี่เสียดายผักที่พี่ปลูกเนอะ อยากให้คนกิน เราปลูกแบบไร้สารจริงๆ อยากให้เป็นอาหารของคนอื่น พี่ถวายวัดด้วย และไปที่โรงเรียนด้วย แต่ก็ยังมีอีก แล้วจะให้มันอยู่ได้รอด พี่ทำคนเดียวไม่ได้ พี่ต้องมีลูกน้องต้องมาแพ็ค ต้องไปส่ง ต้องมีเงินเดือนให้ลูกน้อง
ก็เลยคิด เราทำแบบนี้แหละ ส่งไปตามบ้าน รายได้อาจยังไม่พอ เพราะเราดันทำแบบหรูหราไปหน่อย แต่ที่สำคัญคือ ได้สร้างความตระหนักในกลุ่มคนกินผัก
พอเขาได้ทานผักสะอาด เขาก็เริ่มมองไกลไปเรื่อยๆ เวลาไปกินอาหารที่อื่น ก็เริ่มมองว่า ร้านไหนใช้ผักไร้สาร เขาก็เริ่มเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ จุดนี้พี่ว่า มันเป็นการกระจายออกไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราได้จุดประกายนิดหนึ่ง”
อบรมให้ความรู้ฟรี! หลักสูตร 1 เทพกับ 8 เซียน
ทว่า 2 ปี ที่เธอผุดไร่เบญจมิน่า เขาใหญ่ เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ ไม่เพียงช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาบริโภคผักปลอดสารพิษกันมากขึ้น แต่ไร่แห่งนี้ยังเปิดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พักหรือค่าอาหาร ทุกอย่างฟรีตลอดการอบรม 3 วัน
“หลักสูตรของที่นี่ ถ้าจะเรียกเป็นทางการหน่อย เราเรียกว่า การใช้จุลินทรีย์ในการทำกสิกรรมไร้สารพิษ แต่คนทั่วไปเห็นชื่อยาว ก็ขี้เกียจเรียกแล้ว ก็เรียกว่า หลักสูตร 1 เทพกับ 8 เซียน ด้วยความที่ว่า จุลินทรีย์ที่เราเรียนรู้ มันมีอยู่ 9 กลุ่ม ใน 9 กลุ่มจะมีกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่คนทำเกษตรอินทรีย์จะต้องเริ่มต้น ถ้าทำจุดนี้ได้ ปัญหาทุกอย่างจะเบาบางลงทันทีเลย
เพราะฉะนั้นจุลินทรีย์กลุ่มแรกนี่ต้องใส่ลงไปในดิน เป็นการเตรียมดินให้เหมาะกับการปลูกพืช จุดนี้ผมเรียกว่า 1 เทพ ที่เหลืออีก 8 เซียน เป็นตัวเข้ามาเสริม เพื่อให้ตัวนี้มันชัดเจนมากขึ้น” อ.บุญรุ้ง เปิดเผยรายละเอียด
“สิ่งที่เราเตรียมให้เขาคือ อาหาร และที่นอนที่พัก อาหารมังสวิรัต 3 วัน อันนี้อร่อยมาก อาหารที่ไร่เรา ทีมงานครัวของเรา เป็นทีมงานที่ตั้งใจ นอกจากมีฝีมือแล้ว ใส่ใจ และกับข้าวเราก็เปลี่ยน ไม่ได้ซ้ำๆ เราเปลี่ยนทั้ง 6 มื้อที่เราเตรียมไว้ให้ ทุกคนกลับไป เราก็หวังว่าทุกคนจะติดใจในอาหารมังสวิรัต กินผักมากขึ้น เบียดเบียนสัตว์น้อยลง ที่สำคัญ เบียดเบียนตัวเองน้อยลงด้วย”
เกษตรอินทรีย์ ทางรอดมนุษย์
นอกจากนี้ หากถามว่า สิ่งที่ได้รับกลับมาคืออะไร เพราะไม่ใช่ตัวเงินแน่นอน
“ความสุขไงคะ ความสุขมากๆ สุขที่ได้เดินตามในหลวง รัชกาลที่ 9 วันที่เราพูดว่า ขอเดินตามรอยบาท ตอนนี้เราเดินอยู่ เราไม่ได้พูดแค่นั้น เพราะเราศรัทธาที่พระองค์เป็น พระองค์ทำ พระองค์สอน ในสิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้ให้ มันเป็นทางรอดของสังคมไทย สังคมของมนุษย์ สังคมโลกด้วยซ้ำ ท่านมีพระปัญญาสูงมาก สอนแม้กระทั่งเรื่องละเอียดเล็กน้อย สอนเรื่องใหญ่ๆ สอนทุกอย่างเลย
ถ้าวันนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ สามารถอ่านหนังสือออก สามารถเข้าใจภาษาได้ สามารถเข้าใจสิ่งที่ท่านทิ้งไว้ให้ได้ ทำไมเราไม่น้อมนำมาใช้ น้อมนำมาทำ น้อมนำมาชวนคนอื่นทำ”
สัมภาษณ์โดย รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **