xs
xsm
sm
md
lg

คำล้อเลียนฆ่าคนได้! “รัศมี แข” แชร์ประสบการณ์ โดนบูลลี่ "ผิวดำ-ตัวใหญ่"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
เพราะคำพูดสร้างคน ขณะเดียวกันก็ทำลายคน! จากปัญหาระดับโลกที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายด้วยคำเพียงไม่กี่คำ ดาราชื่อดัง “รัศมีแข” ผู้ถูกบูลลี่มาตลอดชีวิต เปิดใจ หยิบคำล้อเลียนมาเป็นแรงผลักให้ประสบความสำเร็จ จิตแพทย์ย้ำ ไม่นิ่งเฉยเท่ากับไม่ยอมรับความรุนแรง!

หยุดวัฒนธรรมบูลลี่ เพราะไม่ใช่เรื่องตลก

“คนเราต้องอยู่ในกรอบเกณฑ์ ในกฎของการอยู่ด้วยกันในสังคม การที่เราไปพูดให้อีกคนหนึ่งรู้สึกแย่ จริงๆ แล้วมันไม่ถูกต้องเลย มันไม่ยุติธรรมต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน”

“รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น” เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ผ่านเวทีเสวนา “Share Kindness คำพูดสร้างสรรค์ สังคมน่าอยู่” ซึ่งตนได้เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการถูกรังแกผ่านคำพูดมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยเรื่องที่ถูกล้อเลียนมากที่สุด คือเรื่องเกี่ยวกับสีผิว

“จริงๆ เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง “สีผิว” เราตกใจพอสมควร ด้วยความที่เราเกิดในเมืองไทย แต่เรากลับถูกล้อเลียนด้วยความแตกต่าง ซึ่งการที่พ่อเราเป็นอัฟโฟรอเมริกัน ไม่ได้ผิดนะ การที่มีผิวสี มันไม่ได้ผิดเลย เรื่องนี้อยู่กับเรามาตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้

เคยคิดบ้างว่าจะยังไงดี เราลองมาหลายวิธีแล้ว ทั้งวิธีตอบโต้ การเงียบ แต่สุดท้ายแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือทำความเข้าใจกับตัวเอง อย่าเงียบเลยทีเดียว ให้แสดงออกแต่ไม่ใช้อารมณ์ ให้รู้ว่าเราไม่ได้สนุกด้วยกับสิ่งที่พูดถึงอยู่ และเราก็รู้สึกเฉยๆ กับสิ่งที่เขาพูดมา มันไม่ได้ทำให้เราโอเค

เราค่อนข้างเป็นคนที่โชคดี ที่ผ่านตรงนั้นมาได้ แขได้ความรักจากคนที่รักแข ซึ่งโชคดีมาก เขารักเราในแบบที่เราเป็น อย่างคุณแม่ ถึงคนอื่นจะมองว่าเราดำยังไง แต่แม่พูดเสมอว่าชอบ เราน่ารัก ชอบผมหยิกของเรา แฮปปี้ในความที่เราเป็นเรา”

 
ที่ผ่านมารัศมีแขเล่าว่ามีน้องๆ อินบ็อกซ์เข้ามาปรึกษาปัญหาในชีวิตประจำวันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับการถูกล้อเลียนเรื่องสีผิว ซึ่งเจ้าตัวได้ให้คำแนะนำว่าชีวิตแต่ละคนต่างต้องมีเรื่องที่ยากลำบากกว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ได้ อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาการบูลลี่ในสังคมไทยขณะนี้ด้วยว่าถึงขั้นวิกฤติที่สุด

“วิกฤติที่สุดของที่สุด เป็นการไม่มีขอบเขต ทุกคนเอาแต่สนุก เห็นคนที่อ่อนแอกว่าและทำร้ายเขา มันไม่โอเคเลย หรือบางคนที่พลาดแล้วไปทำร้าย ไปล้อเลียนเขา เขาเดินเอามีดมาแทงคุณ มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ถามว่ามันคุ้มไหมกับสิ่งที่ได้ ทั้งสองแบบเลยไม่มีผลไหนที่คุ้ม

ฉะนั้น สังคมเราตอนนี้โดยเฉพาะในโซเชียล มันเกินเหตุไปแล้ว ความคิดเห็นส่วนตัวคือความคิดเห็นที่อยู่กับตัวเอง ไม่ได้เผยแพร่ เราแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องใช้คำพูดที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกระทบกระทั่ง หรือพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช่ใช้คำพูดรุนแรง

อย่างมีน้องๆ มาปรึกษาเรื่องผิว เราก็จะแนะนำว่าอย่าไปซีเรียส ให้ลองไปหาอ่านประวัติดาราสีผิวทุกคน ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อย่าคิดว่าตัวเองย่ำแย่อยู่คนเดียว คนคนหนึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ยากลำบากมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทุกคนผ่านมาเหมือนกันหมด แล้วแต่ความยากที่เจอไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง”

สำหรับการแก้ไขปัญหาการรังแกกันในสังคม รัศมีแขกล่าวว่าส่วนสำคัญที่ช่วยลดความรุนแรงได้ เริ่มต้นจากครอบครัว การใส่ใจของผู้ใหญ่ และไม่ละเลยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับผู้ที่ถูกบูลลี่เองต้องอย่ามองว่าการถูกล้อเลียนเป็นปัญหาของตัวเรา

“จริงๆ เราก็ไม่ได้โลกสวยนะ แต่เราพยายามทำให้เด็กอยู่รอดด้วยกันได้ ให้เด็กรู้ว่ามีการล้อเกิดขึ้น การล้อคืออะไร ถ้าเกิดถูกล้อขึ้นมาจะทำยังไง ผู้ใหญ่สำคัญมาก เด็กคือหน้าที่ของผู้ใหญ่ เขาไม่ใช่ภาระสำหรับเราเลย แล้วคำว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก เริ่มจากพ่อแม่ก่อน พี่น้อง ครอบครัว
 
หลังจากนั้นสถานที่ที่เด็กต้องไปอยู่ คือ โรงเรียน คุณครู ทุกอย่างต้องใส่ใจกันมากขึ้น การที่เรานั่งถามเด็กคนหนึ่งว่าชีวิตโอเคไหม เจออะไรมาบ้าง บางทีเด็กก็อยากพูด อยากระบายบ้าง เราต้องแสดงความสำคัญให้เขาเห็น อยู่ในลักษณะเป็นเพื่อน รับฟังในสิ่งที่เขาอยากพูด

ส่วนตัว เราเป็นคนโชคดีที่เป็นคนที่เรียนรู้และทำความเข้าใจกับรากเหง้าที่กำเนิดมา เรามีพ่อเป็นอัฟโฟรอเมริกันตัวใหญ่ อีกอย่างคือทำความเข้าใจกับคนที่ชอบล้อว่าเพราะอะไร ว่าโลกเรามันมีคนแบบนี้ คนที่ต้องการทำร้ายเรา โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเขาเลย

เราต้องอยู่ยังไง ต่อสู้กับคนเหล่านี้ยังไง เราต้องอยู่ให้ได้ ไม่ได้ปลงนะ แต่ไม่รู้จะใส่ใจทำไม ด่าเราว่าไอดำ ใช่ครับ พ่อผมเป็นอัฟโฟรอเมริกัน
ด่าว่ากะเทยควาย ใช่ครับ พ่อแขสูง 190 ซ.ม. แขเลยตัวใหญ่ กระดูกใหญ่ด้วย ด่าว่าไออ้วน ใช่ครับ เรารักการกิน ซึ่งเราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครด้วย เราก็ยังสุขภาพดี

คนที่ล้อ มันชอบล้อจุดตำหนิที่อยู่บนร่างกายเรา แต่บางทีจุดตำหนิบนร่างกายเรา เรารู้ดีที่สุดว่ามันเกิดอะไรขึ้นมา เราใช้วิธีนิ่มนวล เฉยๆ แต่มีความเย็นชาอยู่ในนั้น ให้รู้ว่าเราไม่ได้สนุก ไม่ได้โอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย”

 
นิ่งเงียบ = ยอมรับ

“หลายคนมักตั้งสมมุติฐานว่าการบูลลี่ มันอยู่เฉพาะในบางชุมชนเท่านั้นแหละ มันอยู่แค่ในโรงเรียนวัด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ มันเกิดขึ้นในทุกสังคม ซึ่งหลายครั้งเราจะชอบคิดว่าไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว แต่มันเกิดขึ้นได้จากเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ แค่เจอหน้ากันแล้วทักทายด้วยคำพูดที่ไม่ดี นั่นก็ถือเป็นการบูลลี่แล้ว”

“พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์” ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ สะท้อนถึงความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่มองว่าการบูลลี่มักเกิดขึ้นแค่ในบางกลุ่ม หรือบางชุมชน ผ่านเวทีเสวนาที่หยิบยกปัญหาระดับโลกมาพูดถึง โดยได้อธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการบูลลี่ว่า ไม่ใช่แค่จากคำพูดเท่านั้น แต่ที่ร้ายแรงกว่าคือสีหน้าและท่าทาง

“ในคอนเซปต์ของความรุนแรง มันเป็นเรื่องของคำพูด แต่สิ่งที่เราเจออีก 70% ที่ทำลายความรู้สึก คือ เรื่องของสีหน้า ท่าทาง แววตา การใช้น้ำเสียง หรือการมีท่าทีบางอย่าง เชื่อไหมว่าบางทีความเงียบ มันเจ็บปวดเหมือนกันนะ

ยกตัวอย่าง ครอบครัว ชุมชน สังคม โรงเรียน มีการด่าว่า หยาบคาย ตบตี ตรงนี้เรารู้ว่าเป็นความรุนแรง แต่ขณะที่บ้านนั้นมีความเมินเฉย ห่างเหิน ต่างคนต่างเดิน

สิ่งนี้ในทางจิตวิทยาถือว่ามีความรุนแรง และทำให้คนๆ นั้นรู้สึกได้ว่า เขาถูกกระทำ ซึ่งสำคัญคือพวกเราต้องย้อนถามตัวเองว่าเคยอยู่ในประสบการณ์เหล่านี้ไหม

แล้วเรากำลังทำอะไร การที่เราเห็นความรุนแรงไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง แล้วเราเงียบ ในเชิงจิตวิทยาหมายความว่าคุณกำลังตอบเขาว่าฉันอนุญาตและยอมรับ ตรงนี้อันตรายมากนะ”

จากการมองเห็นปัญหาตรงนี้ นี่จึงนำมาสู่การคิดโครงการ Dek Talk By BDMS “Shared Kindness” โดยมี “รศ.อัจจิมา เศรษฐบุตร” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด เป็นผู้ผุดไอเดียสร้างสังคมน่าอยู่ด้วยคำพูดที่สร้างสรรค์ 

“เราเห็นว่าสังคมตอนนี้มีความเสี่ยงหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับคุณพ่อ คุณแม่ ตรงนี้จึงเป็นไอเดียในการทำโครงการ “Shared Kindness” ขึ้นมา

โดยนำเด็กๆ จากชุมชน 4 แห่งด้วยกัน นั่นคือ ชุมชนคลองเตย ชุมชนอ่อนนุช ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ และชุมชนสามัคคีพัฒนามาร่วมกิจกรรมกัน
นพ.กมล, รศ.อัจจิมา, รัศมีแข และ พญ.อภิสมัย
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
 
เพื่อสร้างทักษะให้เด็กๆ ได้คิดอย่างมีระบบ ให้กล้าคิด กล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง ซึ่งในระหว่างที่ทำกิจกรรมได้สำรวจพฤติกรรม และรวบรวมเสียงสะท้อนของเด็กๆ ก็พบมุมมองถึงปัญหาในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดกันถึงปัญหาการทำร้ายกันด้วยคำพูด ทั้งคนในครอบครัว หรือเพื่อนในโรงเรียน และคนในสังคมที่เด็กๆ พบเห็น

ซึ่งการรังแกผู้อื่นด้วยการกระทำ หรือคำพูดเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เราเห็นสื่อต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เรื่องของการฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทนคำพูดที่รุนแรงในโซเชียลมีเดีย ตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นเลยว่าแค่คำพูดมันมีผลต่อสุขภาพจิตมากมายเลยทีเดียว”

ขณะที่ “นพ.กมล แสงทองศรีกมล” ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้กล่าวถึงวิธีการรับมือกับการถูกบูลลี่ในสังคมไทยด้วยว่า อยากให้คนในสังคมไม่เพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ รวมถึงเสนอแนะว่าในองค์กรหรือแม้แต่สถาศึกษาควรมีนโยบายต่อต้านความรุนแรงให้เป็นรูปธรรม

“อยากให้โรงเรียนในไทยมีนโยบายต่อต้านความรุนแรง ต้องไม่มีการบูลลี่ไม่ว่าประเภทใด หรือถ้ามีก็จะมีคนที่แอคชั่นทันที ต้องมีใครสักคนที่มีหน้าที่ตรงนี้ เพราะคนที่เป็นเหยื่อการบูลลี่ เขาอัดอั้นตันใจ บางคนซึมเศร้าไปเลย บอกใครก็บอกไม่ได้ จะขอความเห็นใจก็โดนหัวเราะกลับมา สังคมของเราจึงต้องมีนโยบายที่ช่วยเหลือตรงนี้”

สอดคล้องกับวิธีรับมือของ พญ.อภิสมัย ได้เผยเทคนิคไว้ว่าการสื่อสารสำคัญที่สุด แต่ข้อควรระวังคือการสื่อสารแบบสั่งให้ทำ แต่ควรเริ่มจากเปิดเผยความรู้สึกส่วนตัวก่อน เพราะหากสื่อสารด้วยความโกรธ แน่นอนว่าอีกฝ่ายไม่มีทางรับฟัง

“อย่างแรก การที่เราไปบอกเขาว่าอย่าทำแบบนี้ หรือคุณควรจะทำอย่างนั้น มักจะไม่เวิร์ก หลักการคือต้องบอกความรู้สึกก่อนว่าคุณรู้ไหม วันนั้นที่พูดแบบนั้น เราเสียใจ และบางทีเราอาจสามารถเสนอได้ด้วยว่า “เรารู้ว่าที่พูดเพราะอยากให้เป็นคนที่ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นไปได้..” จะเสนอด้วยอะไรก็ได้ แต่คีย์เวิร์ดคำแรกคือการบอกความรู้สึก
ส่วนคนในสังคม การที่มีความรุนแรงมันเกิดขึ้นทุกที่ เราต้องเป็นหูเป็นตา อย่าไปคิดว่าความรุนแรงเกิดขึ้นในชุมชนนั้นเป็นเพราะว่ามีเรื่องของฐานะ หรือการศึกษา มันไม่เกี่ยวนะคะ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกที่

เมื่อเห็นแล้ว ต้องช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง บอกว่ามันไม่โอเค แต่วิธีการไปบอกให้ใช้การบอกด้วยสายตา บอกว่าเราเสียใจนะ เราไม่โอเคเลยนะ พูดโดยน้ำเสียง สิ่งสำคัญของการสื่อสารเพื่อหยุดพฤติกรรม คืออย่าใช้อารมณ์ ถ้าเราไปบอกว่าอย่ามาทำแบบนี้นะ! เขาจะไม่มีวันได้ยินสิ่งที่เราอยากบอก”

ข่าวโดย MGR Live




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น