ใครอยากช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถเริ่มทำได้แล้วง่ายๆ ตั้งแต่ตอนนี้ เพียงแค่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย ถูกต้องตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ใช้เสร็จยังนำมารีไซเคิล ผลิตหลังคาช่วยโลกได้อีก บอกเลยว่ามีไม่กี่องค์กรที่ทำได้แบบนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือผลผลิตจากแคมเปญ “มองตรา” ที่น่าจับตามอง
“มองตรา” คือแคมเปญที่สนับสนุนให้ผู้บริโภครู้จักมองหาตราสัญลักษณ์ข้างกล่องบรรจุภัณฑ์ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์มีแหล่งที่มาจากการทำลาย หรือช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นการชักชวนคนที่อยากอนุรักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมง่ายๆ เพียงแค่ลุกขึ้นหันมามองตราสินค้าก่อนซื้อเท่านั้น
หากบนตัวกล่องมีสัญลักษณ์ “ FSC (Forest Stewardship)” นั่นหมายถึงบรรจุภัณฑ์ตัวนี้ได้มีการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ได้ตัดไม้ทำลายธรรมชาติ เพื่อนำมาทำบรรจุภัณฑ์กระดาษ แต่เป็นการผลิตจากป่าไม้ชดเชยซึ่งเป็นป่าที่ปลูกขึ้นมาใช้ในทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ถือเป็นการผลิตที่มีความรับผิดชอบ และมีการจัดการที่ไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตราสัญลักษณ์FSCที่ติดอยู่ข้างกล่องบรรจุภัณฑ์นั้น เกิดขึ้นจากการร่วมมือกับ WWF (World Wide Fund for Nature) และFSC (Forest Stewardship Council) รวมถึงบริษัทเต็ดตราแพ้คด้วย ซึ่งมี แพร-ปัณฑารีย์ ยอดศรี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสื่อสารบริษัท และเป็นหนึ่งในความร่วมมือหลักที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแพรมีความคิดเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่อยู่กับคนไทยมานาน คือการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมันส่งผลกระทบ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และวิกฤติการน้ำท่วม และสิ่งที่จะทำให้เราแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ก็คือ การมีคนมาปลูกป่าทดแทน แต่ถึงใช้เพียงแค่วิธีการนั้น คงไม่พออยู่ดี ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยให้สามารถอนุรักษ์ได้ยั่งยืนที่สุดก็คือ การปลุกจิตสำนึกการให้คนตระหนักรู้นั่นเอง
“เราอาจจะไม่ต้องเข้ามาปลูกป่าทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ง่ายๆคือ แค่เรารู้ว่าตรา หรือฉลากบนกล่องเครื่องดื่มและอาหารที่บริโภคนี้มีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมยังไง มาจากป่าและการรับผิดชอบอย่างไรก็ถือว่าเป็นการช่วยง่ายๆแล้ว หวังผู้บริโภคจะมีความตระหนักรู้ว่าเขามีทางเลือก เลือกที่มีประโยชน์ต่อตนเอง และสิ่งแวดล้อม”
แพร-ปัณฑารีย์ ยอดศรี
ผู้อำนวยการสื่อสาร รายเดิมได้พูดถึงบรรจุภัณฑ์ขององค์กรของเธอเอาไว้ว่า ใช้กระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่ใช้มาหมดไป แล้วเน้นไปที่การปลูกแทนมากกว่าใช้ ส่วนใหญ่แล้วส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ คือ เยื่อไม้,พอลิเมอร์ และอะลูมิเนียม
ที่น่าสนใจก็คือ ทางบริษัทได้มีการนำกล่องบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไปรีไซเคิลเป็นหลังคา ซึ่งปกติแล้วต้องใช้จำนวนกล่องทั้งหมด 2,000 กล่อง ที่จะนำไปผลิตหลังคาได้ 1 หลังคา และปัจจุบันได้มีการนำไปรีไซเคิล เพื่อบริจาคให้ทางสภากาชาติไทยแล้วถึง 60,000 หลังคา
เจ้าหน้าที่กำลังสาธิตวิธีการตัดต้นไม้
การจัดการป่าอย่างรับผิดชอบ
จากการลงพื้นที่จริงๆ ในจังหวัดราชบุรีของ ทีมข่าวผู้จัดการLive ซึ่งอยู่ในการดูแลของ พนมศักดิ์ พรสุขสว่าง
เกษตรกรที่ได้ร่วมโครงการปลูกป่าทดแทนเพื่อนำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวน 190 ไร่ โดยปลูกยูคาลิปตัสเป็นหลัก และผสมผสานกับการปลูกอ้อย ส่งให้เกษตรกรรายนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งยังมีระเบียบแบบแผนในการปลูกมากขึ้นอีกด้วย
พนมศักดิ์ พรสุขสว่าง
จากสายตาของเกษตรกรอย่างพนมศักด์เองแล้ว เขารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมธุรกิจเกี่ยวกับแพกเกจจิ้งในโครงการนี้ ทั้งยังได้ยอมรับกับทีมข่าวว่า ตอนแรกตัวเองก็ไม่เชื่อและไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการเหมือนกัน แต่พอทางบริษัทเข้ามาอธิบายให้ฟัง เขาก็ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ในทันที
จากเมื่อก่อนที่เคยปลูกต้นไม้แบบไม่มีแบบแผน แต่พอได้เข้ามาทำตรงนี้ ชีวิตเขาดีขึ้น แถมยังรู้ว่าต้องปลูกอะไร แบบไหนจึงจะขายได้ และปลูกอย่างไรจึงจะทำให้มีเวลา เพิ่มรายรับมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าหลังจากทางบริษัทได้เข้ามาดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแลดิน รวมไปถึงการจัดการทั้งหมด ก็ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งตัวเขา และโลกของเราให้ดีขึ้นด้วย
“สุขภาพดี เพราะพอได้เลิกใช้สารเคมี ผมก็ไม่ต้องมานั่งดม สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลายเพราะผมไม่ได้ใช้สารเคมีแล้ว
ถ้าเทียบกับสมัยก่อนเราไม่ค่อยสนใจ ทำแบบไม่มีแผนงาน พอมีแผนงานเรารู้เลยว่าช่วงหน้าแร้งเราสามารถทำอะไรได้บ้างช่วงหน้าต่างๆเราทำอะไรได้บ้างเวลามีมากขึ้น”
หันกลับมามองในสายตาผู้บริหารสาวกันอีกที แพรยังคงเชื่อการเลือกซื้อของผู้บริโภคก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเลือกกล่องเครื่องดื่มเป็นหนึ่งใน ตัวเลือกหลัก เวลาเลือกซื้อ ถ้าเรารู้แหล่งที่ไปของตัวบรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ชัดเจน และสิ่งที่รับประทานปลอดภัยจริง ก็จะทำให้การตระหนักรู้ทำให้ทุกคนสนใจจึงไม่ใช่เรื่องยาก
เธอมองว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมมีประโยชน์ทั้งกับเรา และลูกหลานของเรา ทุกคนจะแคร์เพียงพอที่จะหันมามองตราและเลือกเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง, สิ่งแวดล้อม และลูกหลานในอนาคตหรือเปล่า
“การที่จะขอให้คนยุคนี้ทำอะไรสักอย่างมันต้องมีผลพอสมควรจะมีคำถามกลับมาว่าทำไมฉันต้องทำละ แต่ถ้าเขารู้พฤติกรรมเล็กๆที่เขาทำเขาใส่ใจ นั่นคือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ถ้าเรานำกลับมาใช้ใหม่ เราก็เป็นหนึ่งในคนสิ่งที่รักสิ่งแวดล้อม เป็นคนที่รักษ์โลก”