หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยมีวันต้นไม้แห่งชาติ ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี)
“วันต้นไม้แห่งชาติ” กำเนิดขึ้นก็เพื่อกระตุ้น ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นวันพิเศษให้ผู้คนช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่ม เพียงคนละไม้ละมือ ปลูกกันแค่คนละต้นเดียว ก็ถือว่าช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่สืบไปสู่รุ่นลูกหลานในวันข้างหน้า โดยเฉพาะปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ รวมถึงการเกิดภาวะเรือนกระจก (ภาวะโลกร้อน) ทำให้มนุษย์เผชิญหน้ากับอากาศแห้งแล้ง การเสื่อมสภาพของผิวดิน เกิดพายุลมที่รุนแรง เป็นต้น
จริงอยู่ว่า แทบไม่มีการประเมินอย่างเป็นรูปธรรมมากนักสำหรับผลลัพธ์จากการปลูกป่า หรือคืนพื้นที่สีเขียวเพียงแค่ในวันปลูกต้นไม้แห่งชาตินั้นจะไปสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักมากมาย แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการกระตุ้นเตือนว่า ป่าไม้เป็นสิ่งที่มีอยู่มานานคู่กับมนุษย์ แต่พอปล่อยนานวันการรุกรานป่าไม้ของมนุษย์ ยิ่งทำให้พื้นที่สีเขียวลดลงไปอย่างน่าตกใจ
วันต้นไม้แห่งชาติ จึงเป็นวันที่ย้ำเตือนให้ผู้คนทุกวัย ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาธรรมชาติ อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวนี้ไปสู่เยาวชนรุ่นใหม่ให้ตระหนักรักษาต้นไม้ของประเทศชาติ
ที่จริงแล้วการปกป้อง หรือพัฒนาป่าไม้ให้คงอยู่ยาวนาน อย่างที่หลายภาคส่วนรณรงค์ให้ลดการทำลายพื้นที่สีเขียวจนเกิดผลลัพธ์อย่างที่คาดหวังนั้น จำเป็นจะต้องทำกันให้เป็นระบบ นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็มีภาคเอกชนนี่แหละควรจะเข้ามามีส่วนร่วมมือมากกว่านี้
เรื่องการรณรงค์รักษาธรรมชาติ ป่าไม้ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของทุกชุมชนในประเทศไทย จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่คนไทยควรพูดถึง พร้อมให้มีแนวทางปฏิบัติที่สามารถทำได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มากกว่าการออกมาร่วมรณรงค์ในวันนี้เพียงวันเดียว พอเสร็จงานแล้วก็แยกทางไปอีกปี
กิจกรรมปลูกต้นไม้ ส่งเสริมกันมานาน แต่ป่าไม้กลับหดหาย
ที่จริงแล้ว การส่งเสริมประชาชนให้ปลูกต้นไม้ในประเทศไทย ริเริ่มมานานตั้งแต่ปีพ.ศ.2481 โดยกรมป่าไม้ได้ชักชวนข้าราชการและประชาชนให้ร่วมกันปลูกในวันชาติ ซึ่งก็คือวันที่ 24 มิถุนายนในยุคสมัยนั้น เป็นการทำตามแบบอย่างในต่างประเทศเรียกว่า Arbor Day แล้วจึงเริ่มมีพัฒนาการ ขยายขอบเขตออกอย่างเป็นระบบออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในปีพ.ศ.2494 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้มีการตั้งมติให้ประเทศสมาชิกจัดเทศกาลปลูกต้นไม้ประจำปี
สำหรับประเทศไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันไป ตามความเหมาะสม ก่อนหน้านี้ วันต้นไม้ประจำชาติไทย ตรงกับช่วงเข้าพรรษา แต่ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศของเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ฝนเริ่มไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเป้าหมายดั้งเดิมที่เปลี่ยนให้มาตรงกับช่วงเข้าพรรษาก็เพื่อจะให้อยู่ในฤดูฝน แต่พอสภาพอากาศเปลี่ยนไปมากขึ้น การปลูกต้นไม้ช่วงเข้าพรรษาจึงทำไม่ได้ผลเท่าใดนัก หลายปีหลังที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่รวมกับปีที่ไทยประสบน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลจึงได้เปลี่ยนแปลงมาให้ตรงกับวันวิสาขบูชาแทน โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา
ป่าไม้ที่มีอยู่กำลังจะหมดลงไปทุกที ในวันวิสาขบูชานี้ นอกจากตัวเราจะออกไปเข้าวัด ทำบุญ ทำทาน ร่วมเวียนเทียน ตั้งอธิษฐานจิตแล้ว สิ่งที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้ ก็คือการร่วมกันปลูกต้นไม้คนละต้นสองต้น อย่างน้อยภายในวันนี้ก็ยังดี