"บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" ชื่อนี้พูดไปใครๆ ก็รู้จัก เพราะเขาคืออดีตพระเอกพ่อพระที่หันมาทำงานจิตอาสาเต็มตัวจนตอนนี้เลิกคิดเรื่อง "ความรัก" ไปแล้ว (เขาเล่าไปยิ้มไป) เพราะตราบใดที่ยังมีเรี่ยวแรง "การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์" คือทางที่ใช่สำหรับเขา แม้ระหว่างทางจะทุกข์จากการเป็นผู้ให้ในครั้งคราว แต่ "ความสุข" จากการให้ก็เติมเต็มหัวใจให้พองโตอยู่เสมอ
ดังนั้น ตลอดเกือบ 1 ชั่วโมงที่ได้คุยกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือทัศนคติด้านดีในการใช้ชีวิต แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่มาก แต่ก็ทำให้รู้จักตัวตน และมองเห็นโลกในแง่บวกของเขาได้อย่างแจ่มชัด รวมไปถึงความอบอุ่น และเป็นกันเองในการเปิดบ้านพูดคุยครั้งนี้ ซึ่งบางเรื่องบางตอนไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
"พ่อพระ" ของคน (ชรา) ที่ถูกทิ้ง
"น้ำใจงาม 'บิณฑ์' ควักเงินส่วนตัว สร้างบ้านให้ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง"..คือพาดหัวข่าวที่ตอกย้ำความเป็น "พ่อพระ" ได้ดี เพราะหลังจากหันหน้าอุทิศตนเพื่อรับใช้สังคมมานานหลาย 10 ปี ล่าสุด "บ้านสุขสุดท้าย" คือความปรารถนาอันแรงกล้าของเขาที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยเขาควักเงินจากน้ำพักน้ำแรง รวมกับเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาเพื่อสร้างบ้านให้ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งด้วยการรับมาอุปการะเลี้ยงดู
"ตอนนี้ผมดูแลผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งตามที่ต่างๆ ไว้ที่บ้านมุทิตาประมาณ 10 คน และต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูรายละ 12,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งหมดผมต้องจ่ายเดือนละ 2 แสนกว่าๆ ผมจ่ายแบบนี้มา 4-5 ปีแล้ว ผมก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำเอง มีบ้าน มีห้องให้พวกเขาได้อยู่อาศัยโดยจ้างคนมาดูแลเป็นรายเดือน แม้จะจ่ายเท่าๆ กัน แต่ก็สามารถดูแลได้ถึง 20 คน 20 เตียง"
คำถามฉุกคิดเมื่อหลายปีก่อน นำมาสู่ความจริงในวันนี้ "บ้านสุขสุดท้ายตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ในอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ที่ตั้งชื่อนี้ ผมอยากให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่า มาอยู่ที่นี่ คุณไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น อยู่ดี กินดี มีคนดูแลจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต" บิณฑ์บอก "ผมอยากให้ทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้มในบ้านหลังนี้
ล่าสุด เสร็จไปประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์แล้วครับ เหลือแค่เก็บรายละเอียดอีกนิดหน่อย หลังจากนั้นจะนำเตียงเข้ามาวาง โดยคาดว่าจะพาผู้สูงอายุทั้งในส่วนที่ผมดูแลประมาณ 10 คน และส่วนที่พิจารณาเพิ่มเติมเข้ามาอยู่ได้ช้าสุดประมาณเดือนมกราคมปี 2018 เพราะส่วนตัวอยากให้พร้อมทุกอย่าง ทั้งรถพยาบาล ระบบน้ำ ระบบไฟ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ประจำสำหรับคอยดูแลผู้สูงอายุทั้ง 20 คน"
สำหรับเจ้าหน้าที่ประจำบ้านจำนวน 6 คน "บิณฑ์" ในฐานะพ่อบ้านบอกว่า ต้องพิจารณา และคัดเลือก รวมถึงเช็กประวัติกันอย่างละเอียด เพราะงานดูแลผู้สูงอายุต้องใช้ประสบการณ์ และหัวใจบริการ
"แม้ในบ้านจะติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดต่างๆ แต่การคัดเลือกเจ้าหน้าที่มาดูแลก็สำคัญมาก ไม่ว่าจะจบอะไรมา เราจะดู และตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนว่า เคยผ่านงานในลักษณะนี้มาหรือไม่ คุณมีจิตใจเป็นอย่างไร ไม่ใช่เข้ามาดูแลแล้วเครียด หรืออารมณ์เสียใส่ผู้สูงอายุ ส่วนตัวยอมรับว่ากลัว เพราะเราเห็นคลิปในโซเชียลฯ ต่างๆ ดังนั้นเราต้องการคนทำงานที่มีใจรักจริงๆ มีความเสียสละ และความอดทนสูง ซึ่งเราไม่ได้ให้มาทำงานฟรีๆ นะ เรามีเงินเดือนให้พวกเขา
ส่วนในกลุ่มจิตอาสา ผมมองว่า ถ้าวันศุกร์เย็นๆ หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ คุณไม่ได้ไปไหน อยากมาช่วยเหลือ ผมยินดีอย่างมาก เช่น มาช่วยป้อนข้าว อาบน้ำให้ผู้สูงอายุ หรือมาทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในบ้านหลังนี้ โดยทางเราจะมีที่พักพร้อมอาหารเตรียมไว้ให้ รวมไปถึงรถรับ-ส่ง ซึ่งเราก็เตรียมไว้บริการทุกท่าน"
ดังนั้น แม้ไม่มีรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน "แต่เราก็ทำด้วยใจ" นี่คือสิ่งที่บิณฑ์บอก ก่อนจะเผยต่อไปว่า "ที่ผ่าน มีผู้ใหญ่ใจดี คุณสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ช่วยปิดทองอยู่หลังพระ คุณสันติบอกว่า ถ้าบ้านหลังนี้เสร็จเมื่อไรจะจัดข้าวสารถุงละ 5 กก. เดือนละ 100 ถุง รวมไปถึงน้ำดื่มมามอบให้ทุกเดือน และตลอดไป"
"คนอย่างบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ต้องมีคนดูแล.."
เป็นคำพูดที่เจ้าพ่อสิงห์ "สันติ ภิรมย์ภักดี" บอกผ่านเลขาฯ ให้ยกหูโทรศัพท์มาหา "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" และบอกว่า "ผมอยากดูแลคนแบบนี้" และนี่คือเรื่องราวที่เขาไม่เคยเล่าผ่านสื่อที่ไหนมาก่อน
"เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คุณสันติมอบรถตู้ให้ผมมา 1 คัน เพราะผมเคยบ่นในหน้าเฟซบุ๊กว่า การจะไปช่วยเหลือใครในแต่ละครั้งต้องเช่ารถตู้กันไป เมื่อได้ยินเสียงที่ผมบ่น (ยิ้ม) ทางคุณสันติก็ให้รถตู้ไปใช้ และบอกว่า ครบ 5 ปีเมื่อไรค่อยเอามาคืนแล้วเอาคันใหม่ไปใช้ หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็ได้มอบเงินให้ผมเอาไปช่วยเหลือเคสอีก 500,000 บาท และเมื่อไม่นานมานี้่ ให้เลขาฯ โทร.มาบอกว่า คนอย่างบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ต้องมีคนดูแล เพราะตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ต้องไปดูแลคนนั้นคนนี้ทั่วประเทศ แล้วใครดูแลบิณฑ์
ดังนั้น 50,000 บาท คือเงินเดือนที่คุณสันติมอบให้ผม เขาฝากเลขาฯ มาบอกผมว่าจะดูแลผมตลอดชีวิต ตอนนั้นความรู้สึกมัน..โอ้โห ซาบซึ้งใจมาก หรือตอนผมนอนป่วยไทรอยด์เป็นพิษอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ตอนเคลียร์ค่ารักษา ทางโรงพยาบาลบอกว่า มีคนจ่ายให้แล้ว ผมก็อ้าว! ใครมาจ่ายครับ ทางนั้นก็บอกว่า คุณสันติ ภิรมย์ภักดี
นอกจากนั้น เขายังกำชับอีกว่า ไม่ต้องอะไรกับสิงห์ทั้งนั้น ไม่ต้องโฆษณาให้ผม ผมไม่ต้องการ เพราะสิ่งที่ผมให้คือความบริสุทธิ์ใจ และต้องการดูแลคนอย่างบินณ์ บรรลือฤทธิ์จริงๆ ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับตรงนี้ มันทำให้ผมเห็นคุณค่าในสิ่งที่ผมทำขึ้นมากเลยทีเดียว" บิณฑ์เล่า และอยากให้สังคมได้รับรู้ถึงหัวใจที่หล่อมากของผู้ชายคนนี้
ทั้งนี้ บิณฑ์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" บอกว่าจะเอาเงินเดือน 50,000 บาทที่ได้รับไปใช้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน "สุขสุดท้าย" แม้ผู้ใหญ่ใจดีท่านนี้จะมอบให้ใช้เป็นเงินส่วนตัวก็ตาม
ทั้งนี้ อนาคตของ "บ้านสุขสุดท้าย" อาจมีการขยับขยายจาก 1 ไร่ เป็น 6 ไร่เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งได้มากยิ่งขึ้น แต่ตอนนี้ 20 รายที่จะเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ "ผมจะดูแลให้ดีที่สุด" บิณฑ์บอกด้วยท่าทีมุ่งมั่น ก่อนจะเผยให้เห็นหัวใจอันอบอุ่นว่า "20 ท่านจะได้รับการดูแลประหนึ่งญาติของผมครับ" พร้อมกับฝากไว้ว่า บ้านแห่งนี้ไม่ใช่สถานที่ที่จะนำพ่อแม่ หรือญาติมาปล่อยทิ้งไว้ หากพบพฤติกรรม "บาป" ดังกล่าวนี้จะสืบหาตัวจนพบ และดำเนินคดีตามกฎหมาย
ร.๑๐ โปรดเกล้าฯ อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน
ไม่ถามไม่ได้ถึงกระแสชื่นชมอย่างล้นหลาม เมื่อมีการนำเสนอข่าว "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรให้เป็น "ผู้แทนพระองค์" นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปถวาย ณ วัดหัวลำโพง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ในข้อเท็จจริงดังกล่าวมีข้อผิดพลาดที่เจ้าตัวอยากจะชี้แจงให้ถูกต้อง
"ผู้แทนพระองค์ หรือตัวแทนพระองค์ต้องได้รับการแต่งตั้งจากองคมนตรีเท่านั้น แต่สำหรับผม เป็นการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ แต่เมื่อข่าวออกมาแล้ว ตอนนั้นจะออกมาชี้แจงก็คงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะอยู่ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙
สำหรับ การโปรดเกล้าฯ ในรัชกาลที่ ๑๐ นับเป็นครั้งแรกในชีวิต และความภูมิใจแก่ครอบครัวของผมอย่างหาที่สุดไม่ได้ แต่ก่อนหน้านี้ในรัชกาลที่ ๙ ผมได้รับการโปรดเกล้าฯ มาแล้ว 4 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งจะมีการเสนอชื่อผมขึ้นไปให้ทางสำนักพระราชวังพิจารณา ถ้าเห็นสมควรจึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นประธานอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานต่อไป"
กำเนิดเทวดาเดินดิน นายกฯ ของคนยาก
ถึงตอนนี้ใครๆ ก็รู้ว่า "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" ทำอะไรให้สังคมบ้าง แต่การย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น หรือจุดเปลี่ยนคือสิ่งที่ใครหลายคนอยากรู้
"ส่วนตัวมองว่ามันไม่ได้มีจุดเปลี่ยนอะไรนะ" เขาบอก "แต่มันคือนิสัยสันดานมากกว่า (ยิ้ม) เพราะสมัยเด็กๆ ผมเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว ตอนนั้นสุภาษิตเตี้ยอุ้มค่อมใช้กับผมได้ดี เพราะตอนนั้นฐานะผมก็ไม่ได้ดีอะไรมาก แต่ก็พร้อมจะช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าเรา อย่างเพื่อน ผมจะเข้าไปคุยเรื่องความเป็นอยู่ในบ้าน หรือถามไถ่เรื่องพ่อแม่ ซึ่งผมก็จะรู้ว่าเพื่อนคนไหนมีปัญหา
บางคนพอพักกลางวันไม่มีข้าวกิน ต้องรอเหลือจากเพื่อนคนนั้นคนนี้ ผมจะพยายามช่วยเหลือเพื่อนคนนั้น จำได้ว่าตอนอยู่ ป.1 ผมทำงานร้านก๋วยเตี๋ยวเพราะหวังจะกินฟรี เนื่องจากตอนนั้นฐานะทางบ้านไม่ได้ดีอะไร พอรู้ว่าเพื่อนคนนี้ลำบาก ที่บ้านยากจน ผมก็ขอเจ้าของร้านให้เพื่อนคนนี้ได้กินด้วย หรือเสาร์-อาทิตย์จะพากันไปเดินหาเหล็ก สายไฟมาขายหาเงินค่าขนม
กระทั่งจบ ม.ศ.3 และเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ผมหาเงินเรียนเองด้วยการเป็นกระเป๋ารถเมล์บ้าง เด็กส่งหนังสือพิมพ์บ้าง รับจ้างซักรีดเสื้อผ้าบ้าง ซึ่งอย่างหลังผมผ่านการฝึกฝนจากคุณแม่กับคุณพ่อมาเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการทำอาหาร ผมทำเป็นตั้งแต่ ป.4 จากนั้นไม่คิดไม่ฝันว่าชีวิตจะได้เข้ามาในวงการบันเทิง เริ่มจากเป็นตัวประกอบหนังได้เงินวันละ 80 บาท จากนั้นค่อยๆ ก้าวขึ้นมาถ่ายปกหนังสือ และเขยิบขึ้นแท่นเป็นพระเอก ช่วงนั้นเริ่มมีเงินเก็บ และมีเงินมาช่วยแบ่งเบาภาระในครอบครัว"
แม้ชื่อเสียงจะพัดผ่านเข้ามา และสร้างโอกาสที่ดีให้แก่ชีวิตมากมาย ทว่า ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมาว่า "ถ้าวันหนึ่งแก่ตัวไป เราจะทำอะไรดี"
"ตอนนั้นคิดแล้วคิดอีกก็ยังนึกคำตอบไม่ออก วันหนึ่งนั่งอยู่ที่บ้าน ดูข่าวตึกถล่มตรงข้ามโรงหนังเอเธนส์ มีการประกาศขอความช่วยเหลือเพื่อช่วยคนที่ติดอยู่ในซากตึกถล่ม ด้วยความที่อยากจะตอบแทนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเพราะสมัยอยู่ต่างจังหวัด คนกลุ่มนี้ช่วยเหลือผมกับเพื่อนๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย ผมจึงตัดสินใจไปช่วยเหลือทันที เพราะตอนนั้นเล่นกล้ามบึกบึนมาก (ยิ้ม) พอไปถึงเราเป็นบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ใครๆ ก็รู้จัก
ด้วยความที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบครัน ในขณะที่มูลนิธิร่วมกตัญญูต้องใช้แรงคน และมีจำนวนคนน้อยกว่า ผมจึงเข้าไปช่วยเหลือทางนี้ก่อน เพราะอย่างน้อยๆ ก็คือการช่วยเหลือเหมือนกัน พอไปถึงก็ถามเราว่า อ้าว! คุณบิณฑ์มาทำอะไร อ๋อ ผมมาช่วยครับ จากนั้นก็เอาเสื้อร่วมกตัญญูมาใส่ให้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นงานอาสาสมัครครั้งแรกในชีวิตของผม"
ถึงวันนี้กว่า 30 ปีแล้ว ผู้ชายคนนี้ผ่านงานช่วยเหลือสังคมมาแล้วหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิในไทย ปี 2547, เหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ปี 2552, เหตุการณ์อุทกภัย ปี 2554 เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากอีกจำนวนมาก
ดังนั้น มากกว่าความสุข และรางวัลต่างๆ ที่เขาได้รับก็คือ "หัวใจ" จากคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งถ้าใครได้ติดตาม เฟซบุ๊ก "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" จะเห็นแสงแห่งความหวังวิบวับอยู่ตลอด เพราะสื่อกลางตัวนี้เปรียบเสมือน "สะพานบุญ" สำหรับคนยากไร้ เพื่อเป็นช่องทางให้คนในสังคมช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่า ปัจจุบันมีคนติดตาม 7 ล้านกว่าคนแล้ว
"เพจนี้เริ่มจากมีคนติดตามไม่กี่ร้อยคนจนตอนนี้มีเป็นล้านคนแล้ว แรกๆ พอลงเลขที่บัญชีเพื่อขอความช่วยเหลือให้กับเคสๆ หนึ่ง ปรากฏว่ามีเงินเข้ามาช่วยเป็นแสน บางรายโทร.มาบอก พี่! ช่วยลบหนูออกจากเฟซบุ๊กเลยค่ะ เพราะมีเงินเข้ามาเยอะมาก หนูไม่รู้จะทำอะไร ตอนนั้นผมก็บอกไปว่า เราก็เอาเงินส่วนนี้ไปกระจายความช่วยเหลือต่อ หรือถ้าพี่ลงเคสไหน 500, 1000 บาทก็โอนเข้ามาช่วยได้นะ
มีอยู่รายหนึ่งน่าสงสารมาก ผมลงเลขที่บัญชีของเขาเพื่อขอความช่วยเหลือในแฟนเพจ ปรากฏว่ามีเงินจากผู้ใจบุญโอนเข้าบัญชีมากถึง 12 ล้านบาท ซึ่งช่วยต่อชีวิตให้เขาอย่างมาก ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ตรงนี้มันทำให้ผมมีกำลังใจ เพราะตัวผมคนเดียวไม่สามารถช่วยเหลือคนทั้งประเทศได้ ต้องอาศัยคนที่ติดตามในแฟนเพจด้วยอีกแรง เกิดเป็นพลังบุญต่อๆ กันไป"
ทำดีแทบตาย..สุดท้าย "โดนด่า"
"ทำดีไม่เห็นต้องบอกใคร ทำแบบนี้ก็แค่ดาราสร้างภาพคนหนึ่ง" เป็นความเห็นส่วนน้อยที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา แม้บางครั้งฟังแล้วชวนเศร้าใจ แต่ถ้ามองมุมกลับ ปรับมุมมอง "ผมไม่โกรธคนกลุ่มนี้นะครับ" เขาบอก "แต่สิ่งที่อยากให้ทำความเข้าใจก็คือ ถ้าผมไม่บอก การช่วยเหลือก็คงเข้าไม่ถึง เพราะเงินผมก็มีไม่มาก แต่ถ้าผมได้เป็นสะพานบุญให้คนหลายล้านคนที่อยากทำบุญ เงินช่วยเหลือก็พอจะต่อชีวิต สร้างอาชีพ หรือเป็นเงินเก็บในบั้นปลายชีวิตของพวกเขา หรือลูกหลานของพวกเขาต่อไปได้
ดังนั้น "ทำดีไม่ได้ดี" หรือ "ทำดีแล้วโดนด่า" ในฐานะคนที่เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน บิณฑ์มีคำแนะนำว่า "เขาแค่มาลองใจเรา ถ้าทำดีแล้วโดนด่า รู้สึกท้อ ไม่อยากทำแล้ว สุดท้ายคนดีก็ไม่เกิด อย่างผมโดนด่าสารพัด ผมก็ยิ้มสู้ ยิ้มรับ เพราะมองว่า สักวันหนึ่งสิ่งที่เราทำโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำด้วยหัวใจบริสุทธิ์จริงๆ มันก็จะตอบแทนกลับมาหาเราเอง ทางที่ดี อย่าไปสนใจเสียงด่า เสียงวิจารณ์ มุ่งหน้าทำความดีต่อไป เพราะเป้าหมายของเราคือการได้ช่วยเหลือผู้อื่น อย่าให้คนเหล่านั้นมาทำให้เราท้อแท้ในการทำความดี
ผมนอนป่วยอยู่โรงพยาบาล มีผู้หญิงคนหนึ่งเอาเงินมาให้ผม 50,000 บาท ผมถามว่าเอามาให้ผมทำไม เขาก็บอกสงสารคุณบิณฑ์ คุณบิณฑ์ช่วยหนูให้ได้เงินตั้งหลายแสน ผมก็บอกว่าไม่เอา สุดท้ายก็ต้องรับไว้ และนำเงินตรงนั้นไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป หรือบางคนที่ได้เงินช่วยเหลือจำนวนมาก มีคนหนึ่งโทร.มาบอกผมให้ไปรับเงินจำนวน 200,000 บาท เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 30 ราย เพราะในวันที่เขาได้รับโอกาส ได้รับเงินช่วยเหลือจากผู้ใจบุญ วันหนึ่งเขาก็อยากเป็นผู้ให้เพื่อช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากเหมือนกัน"
เคย "ทุกข์" เพราะการ "ให้"
แม้ความสุขจะเกิดขึ้นจากการให้ แต่ความทุกข์จากการให้ก็มีเช่นกัน ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่สอนใจเขาได้เป็นอย่างดี
"มีอยู่ครอบครัวหนึ่งที่เราเข้าไปช่วยเหลือ ตอนแรกรักกันมาก แต่หลังจากมีเงินช่วยเหลือโอนเข้ามาเป็นจำนวนมาก สุดท้ายพี่น้องทะเลาะกัน ถึงกับฆ่ากันตาย บางรายได้เงินมามาก นำเงินไปซื้อรถจักรยานยนต์ ซื้อมือถือ ซื้อในสิ่งที่มันไม่จำเป็น พอคนเห็นก็มีคนโทร.มาบอกผม พอรู้แบบนี้ก็เกิดความทุกข์ขึ้นในใจ ทำไมต้องทำแบบนี้ ผมก็บอกทุกรายที่เข้าไปช่วยเหลือว่าเงินทุกบาทต้องใช้อย่างประหยัด ใช้ให้เกิดประโยชน์
พอเงินหมดมีโทร.มาร้องห่มร้องไห้ขอให้ช่วยอีกครั้ง ผมตอบเสียงแข็งบอกไม่ได้แล้ว เพราะเวลาคุณมี คุณไม่บริหารจัดการให้ดี อีกอย่างผมไม่อยากสนับสนุนให้พวกคุณทำแบบนี้ ผมรู้สึกผิดบาป ให้ผมเป็นสะพานบุญ แต่กลับนำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย หรือทะเลาะกันเรื่องเงิน บางรายใช้บัญชีสามี บอกว่าไว้ใจได้ สุดท้ายหอบเงินล้านหนีลูก หนีภรรยาไปใช้เงินคนเดียว
ดังนั้น ตัวเงินสำคัญ ถ้ามีเข้ามามากๆ มันสามารถเปลี่ยนจิตใจคนได้ ซึ่งหลังจากเจอเคสแบบนี้ การจะช่วยเหลือใครผมต้องตรวจสอบให้ลึกขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ช่วยอย่างเดียว"
มุมชีวิตในบ้าน "บรรลือฤทธิ์"
ลูกบิณฑ์กับคุณแม่ปรางทิพย์
ถึงวันนี้ ชื่อเสียง หรือความสำเร็จไม่ได้สำคัญสำหรับเขาอีกต่อไป แต่การได้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นคือความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า ทว่า บทบาท "ลูกชาย" ก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่องเช่นกัน
"ผมไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน เพราะผมมองว่า ผมอยากให้เวลากับที่บ้าน และคนใกล้ตัวผมมากกว่า อย่างวันไหนผมว่าง ผมจะอยู่กับแม่ หรือไม่ก็พาคุณแม่ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ใน 1 สัปดาห์อย่างน้อยต้องมี 2 วัน หรือพาทีมงานไปเลี้ยงข้าว จัดงานสังสรรค์ประจำปี เพราะพวกเขาคอยติดตามช่วยเหลือผมมาตลอดทั้งปี
ส่วนตัวผมเอง บางวันไปเล่นฟุตบอลบ้าง หรือไม่ก็เข้าไปช่วยทำขนม เช่น ขนมเปี๊ยะ คุกกี้ในร้านท็อป เบเกอรี่ อยู่ใน ซ.กิ่งแก้ว 14/1 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นร้านของผมเอง ถ้าใครแวะผ่านมาแถวนี้เข้ามาชิมและทักทายกันได้ครับ"
สุดท้าย การย้อนกลับไปค้นหายังสถานที่ที่สร้างเขาขึ้นมาอย่าง "ครอบครัว" เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจว่า สภาพครอบครัว และการอบรมเลี้ยงดูแบบใดที่สามารถสร้างให้คนคนหนึ่งสามารถมายืนอยู่ได้ ณ จุดนี้ ซึ่งมีทั้งความแข็งแกร่ง เต็มไปด้วยศักยภาพ และหัวใจที่หล่อมาก
พี่น้องคู่แฝด "-บิณฑ์ (ซ้าย)-เอกพัน (ขวา)"
"คุณแม่เป็นคนอรัญประเทศ ส่วนคุณพ่อเป็นคนกรุงเทพฯ มีคุณย่าทำงานอยู่ในวัง เป็นนางสนมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งนามสกุลบรรลือฤทธิ์ก็เป็นนามสกุลพระราชทาน คุณพ่อจะให้ความสำคัญกับมารยาททั้งการเดิน การพูด มีสัมมาคารวะกับผู้หลักผู้ใหญ่ ดังนั้น ระเบียบวินัยทั้งหมดผมได้มาจากคุณพ่อ ส่วนคุณแม่ผมได้ความอดทน ซื่อสัตย์ รู้บุญคุณคน ท่านมักจะสอนให้ลูกทำงานบ้าน ตั้งแต่ซักผ้า รีดผ้าจนครูที่โรงเรียนมักจะนำผมไปเชิดชูในเรื่องของเสื้อผ้าที่ขาวสะอาดเพื่อให้เพื่อนๆ ได้ดูเป็นตัวอย่าง"
นอกจากนั้น ครอบครัวยังเป็นโรงเรียนฝึกสอน และหล่อหลอมให้สมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะลูกๆ รู้จักหยิบยื่นความรักให้แก่ผู้อื่นด้วย แม้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่สังคมทุกวันนี้ยังขาดแคลนอยู่มากก็ตาม
"เรื่องสร้างครอบครัว ผมคงไม่คิดแล้วล่ะ (ยิ้ม) เพราะฟ้าส่งให้เรามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทุกวันนี้ผมมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ และตั้งใจจะทำตลอดชีวิตของผม" บิณฑ์ ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอันอบอุ่น แม้สีหน้าจะดูเหนื่อยล้าไปบ้าง แต่การนั่งสัมภาษณ์ตลอด 1 ชั่วโมง เรากลับมองเห็นประกายความสุขผ่านดวงตาของเขา รวมไปถึงพลังบวกที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และพร้อมจะมอบให้ผู้อื่นได้ทุกเมื่อ
เรื่อง : ปิยะนันท์ ขุนทอง
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช / FB : บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ / FB : Lucksaya Pongchaisrikul