xs
xsm
sm
md
lg

9 จุดนิทรรศการ 3 ไฮไลต์ “พระเมรุมาศ” แนะเส้นทางอิ่มเอมใจ [มีแผนผัง]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จะเดินชมยังไงให้รู้สึกอิ่มเอมใจมากที่สุด ภายในเวลา 1 ชั่วโมง? พสกนิกรผู้ต้องการตามรอยอาลัย “พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙” บนมณฑลพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศจริง ต่างกำลังวางแผนเส้นทางเข้าชม และเพื่อให้หลายๆ คนเก็บภาพความทรงจำกลับไปให้ได้มากที่สุด ฝ่ายนำชมนิทรรศการและนักออกแบบพระราชพิธี มีเส้นทางแนะนำ!!


 

๙ จุดงานศิลป์ จุดสูงสุดงานสถาปัตยกรรม


๑.พระเมรุมาศ

“ผมมองว่าพระเมรุมาศของจริง เป็นจุดที่น่าชมที่สุดแล้วครับ” ธีรภัทร์ จิตประไพกุลศาล ผู้จัดการฝ่ายนำชมนิทรรศการ วัย 26 ให้คำแนะนำแก่ทีมข่าวผู้จัดการ Live พร้อมแนบรอยยิ้ม ก่อนอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่า “เพราะเป็นศิลปะชั้นสูงที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ และมีความประณีตในระดับที่เหนือคำบรรยายจริงๆ ครับ”
 


บุษบกองค์ประธาน, ช่าง, หอเปลื้อง, ฉากบังเพลิง, พระจิตกาธาน, เทวดายืนเชิญฉัตร, ราวบันไดนาค, เสาครุฑ, สัตว์หิมพานต์ ฯลฯ ทุกรายละเอียดองค์ประกอบพระเมรุมาศ เต็มไปด้วยความวิจิตรที่เหล่าช่างบรรจงสร้าง ช่างสมพระเกียรติใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
 

[ครุฑงามสง่า เฝ้าพระเมรุมาศ]

[ราวบันไดนาค]



แม้แต่รายละเอียดภายใน “สระอโนดาต” สระที่สรงน้ำของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สระในป่าหิมพานต์ ก็ถูกหยิบมาวางรายล้อมรอบพระเมรุมาศทั้ง 4 ทิศ ส่งให้บรรยากาศรายรอบเปรียบดั่งสรวงสรรค์ ยิ่งเดินวนยิ่งเพลิดเพลินไปกับสีสันและรูปร่างอันหลากหลายของ “สัตว์หิมพาน” เช่นเดียวกับความงดงามของ “เทพชุมนุม” ทั้ง 132 องค์ที่ประดับฐานพระเมรุมาศโดยรอบอย่างพร้อมเพรียง

["บัณฑุราชสีห์" หนึ่งในสัตว์หิมพานต์ ในสระอโนดาต]

["โคหง" อีกหนึ่งความสง่างามในดินแดนของพระพุทธเจ้า]

["โคบิล" หรือ "จงกล" โคกายสีแดงบริสุทธิ์ เขาโค้งเข้าหากัน ตาสีฟ้า]

๒.พระที่นั่งทรงธรรม

“ที่นี่คือหอแสดงเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เอาไว้ครับ” ฝ่ายนำชมรายเดิมกล่าวแนะนำเอาไว้สั้นๆ เมื่อได้เข้าไปท่องดินแดนทรงธรรม จนถึงกับฝังตัวอยู่ในพื้นที่แห่งนั้นอยู่นานสองนาน โดยเฉพาะ “จิตรกรรมบนฝาผนัง” ผืนใหญ่ๆ ในนั้นถึง 2 ผืน ซึ่งเต็มไปด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ขณะเยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริทั่วประเทศ

[จิตรกรรมบนฝาผนัง แสดงพื้นที่โครงการพระราชดำริ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ]

[รายละเอียดภายในภาพ บอกเล่าเรื่องราวทุกพื้นที่]



[จิตรกรรมบนฝาผนัง แสดงพื้นที่โครงการพระราชดำริ ภาคกลางและภาคใต้]



[ภายใน "พระที่นั่งทรงธรรม" แสดงบรรยากาศการทรงงานของพระองค์ที่หลากหลาย รวมถึง "โต๊ะทรงงานจำลอง" ตัวนี้ด้วย]

[อุปกรณ์ที่ช่วยให้ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ทรงดูแลพสกนิกรไทยได้ในทุกพื้นที่]

["คุณโจโฉ" และ "คุณทองแดง" ประติมากรรมหน้าบริเวณ "พระที่นั่งทรงธรรม"]

๓.สมมติเทวพิมาน

[พระเมรุมาศจำลองที่ออกแบบไว้ก่อนสร้าง]
“ในส่วนนี้จะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระเมรุมาศครับ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะมีแบบจำลองของพระเมรุมาศที่ทางกรมศิลปากรจัดทำไว้ในช่วงออกแบบด้วย ซึ่งเป็นการออกแบบด้วยการตัดด้วยมือที่มีความละเอียดมาก” รวมถึงแบบจำลอง “พระจิตกาธาน” ที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน




๔.ตระการวิจิตรศิลปกรรม

จะรวมเอางานประณีตศิลป์ในพระราชพิธีมาจัดแสดง เช่น งานเครื่องสด ที่มีไฮไลต์เป็นรัดเกล้ามาลัยชั้นบนสุดที่อยู่บนพระจิตกาธาน (เชิงตะกอนหรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับถวายพระเพลิง) ซึ่งเป็นชิ้นงานที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงกรองไว้ และไม่ได้ไหม้เข้าไปในไฟด้วย จึงนำมาจัดแสดงในส่วนนี้ด้วยครับ”



๕.ยาตรากฤษฎาธาร

“คือนิทรรศการแสดงการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ซึ่งอยู่ในศาลาลูกขุน ๒ (หมายเลข ๕ ตามแผนผัง) ซึ่งจะมี "พระราชรถน้อย" มาจัดแสดงไว้ด้วยในนิทรรศการนี้ด้วยครับ”


๖.ประติมาสร้างสรรค์

“ศาลานี้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวของประติมากรรม ซึ่งจะมีประติมากรรมต้นแบบที่เป็นดินน้ำมัน ปั้นจำลองเอาไว้ให้ได้ดูกัน รวมถึงกรรมวิธีการทำงาน มาจนถึงขั้นลงสีเป็นแบบจริงแล้วมาจัดแสดงด้วย”




๗.วิธานสถาปกศาลา

[ผลงานศิลปินแห่งชาติ "อ.ประเวศ ลิมปรังษี]
“มีผลงานการแสดงแบบร่างขยายจำลอง ก่อนจะมาเป็นแบบก่อสร้าง โดยแสดงวิธีการออกแบบและขยายแบบ เพื่อนำมาสร้างให้ไม่ผิดเพี้ยนเรื่องอัตราส่วนจริง” ชิ้นงานในส่วนนี้เองที่จะช่วยให้เห็นถึงขั้นตอนความพยายามของเหล่าศิลปินที่ได้ฝากฝีมือเอาไว้





๘.สวรรค์บรรจงวาด

จัดแสดงฉากบังเพลิงแบบเดียวกับที่เราเห็นปรากฏอยู่บนพระเมรุมาศจริง แต่ในนิทรรศการนี้ จะวางให้ได้เห็นกันในระยะที่ใกล้ตาเลยครับ รวมถึงมีประวัติคร่าวๆ เกี่ยวกับที่มาของการวาดเส้นและเรื่องราวลงบนฉากบังเพลิงทั้งหมดด้วย ซึ่งจะเต็มไปด้วยรายละเอียดงานจิตรกรรมบอกเล่าโครงการตามพระราชดำริของในหลวง ร.๙


["ฉากบังเพลิง" แบบจำลอง ประดับด้วยภาพ "เทพชุมนุมถวายสักการะ และโครงการในพระราชดำริ]

["ต้นไม้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์" ใช้ตกแต่งฉากบังเพลิง]

[ฉากบังเพลิงที่พระเมรุมาศ]

๙.นำสัมผัสพระสุเมรุ

[พระเมรุมาศจำลองแบบสัมผัสได้ เพื่อผู้พิการทางสายตา ได้จินตนาการภาพเดียวกัน]
เป็นชิ้นงานโซนเดียวที่อนุญาตให้สัมผัสได้ครับ เพราะทำมาเพื่อผู้พิการทางสายตา ให้พวกเขาได้สัมผัสว่าพระเมรุมาศมีขนาดและมีประติมากรรมประกอบที่น่าสนใจยังไงบ้าง ผ่านการจับต้องด้วยมือของพวกเขาเอง”






 

3 แนวไฮไลต์ เดินยังไงก็อิ่มเอม


“ผมแนะนำให้เดินชมตามความสนใจของแต่ละคนเลย ภายใต้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการเข้าชมของประชาชนทั่วไป จะมีเวลาให้คนละ 1 รอบ รอบละ 1 ชั่วโมง โดยช่วง 15 นาทีแรก จะเปิดให้เข้าชมบริเวณด้านนอกของมณฑลราชพิธี จากนั้นอีก 45 นาที จะให้ทุกคนเดินชมได้แบบอิสระ
 

[ธีรภัทร์ จิตประไพกุลศาล ผู้จัดการฝ่ายนำชมนิทรรศการ]

สำหรับใครที่อยากทราบรายละเอียดของงานศิลป์ในนิทรรศการตรงจุดไหน ก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ติดตั้งอธิบายรายละเอียดเอาไว้ได้ หรือจะสอบถามเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ประจำ ณ จุดนั้นก็ได้ครับ ก่อนหมดเวลาเข้าชม 5 นาที ซึ่งจะมีสัญญาณกริ่งเตือน 1 ครั้งเพื่อให้เตรียมตัว


นี่คือบทสรุปคำแนะนำจากผู้จัดการฝ่ายนำชมนิทรรศการที่ช่วยฝากให้ไว้ โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมพร้อมที่แนะว่า “อยากให้เตรียมตัวมาก่อน” เพราะถ้าศึกษามาพอสมควร พอได้มาเห็นของจริงนอกจอทีวี แล้วจะรู้เลยว่ามันอิ่มเอมต่างกันแค่ไหน

“อยากจะให้มาดู ให้มาได้เห็นในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศนี้ ซึ่งเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 กว่าปีที่ผ่านมา งานที่ทำด้วยใจ มันสะท้อนออกมาผ่านชิ้นงานที่เราเห็น ก็อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสกับตาตัวเองครับ ถ้ามีเวลา

เพราะพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่แค่อาคารที่สร้างขึ้นมาแล้วรื้อถอนไป แต่คือจุดสูงสุดของงานสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารชั่วคราว คือการรวมเอาสรรพวิชาทุกแขนงที่รวมอยู่ในประเทศนี้ไว้ในงานงานเดียว คือสิ่งที่น่าประทับใจและสมพระเกียรติที่สุดสำหรับงานชิ้นนี้"


แต่ถ้าให้แนะนำผ่านสายตาของ “นักออกแบบพระราชพิธี” แล้ว เขามองว่าถ้าจะให้ดูครบทั้ง 9 จุดอย่างที่ว่านั้น อาจจะทำได้ยากไปสักหน่อยในคราวเดียว จึงอาจจะต้องแบ่งงานศิลป์ออกเป็น 3 ประเภท แล้วเลือกเสพให้ซึ้งอย่างที่ใจต้องการ และนี่คือคำแนะนำจาก พงศ์พิพัฒน์ ศรีวราลักษณ์ สถาปนิกชำนาญการ ดูแลในส่วนนอกมณฑลพิธี นอกเขตราชวัติ

[นฤพร สถาปนิกปฏิบัติการ (ซ้าย) และ พงศ์พิพัฒน์ สถาปนิกชำนาญการ (ขวา) หนึ่งในทีมออกแบบพระราชพิธี]

“ผมขอแบ่งงานนิทรรศการออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ถ้าใครอยากศึกษาในประเด็นนี้ แนะนำให้มาที่ "พระที่นั่งทรงธรรม" (พื้นที่นิทรรศการหมายเลข ๒) จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับพระองค์ทั้งหมด

2.งานก่อสร้างสถาปัตยกรรม (พระเมรุมาศของจริง และพื้นที่นิทรรศการหมายเลข ๓ และ ๗)


และ 3.งานประณีตศิลป์-ศิลปกรรมประกอบ (พื้นที่นิทรรศการหมายเลข ๔, ๕, ๖, ๘ และ ๙)


ส่วนเรื่องความสมพระเกียรติในนิทรรศการ อันนี้อยากให้ทุกคนได้มาเห็นด้วยตาตัวเองจริงๆ ถ้าลองมาในสถานที่จริง จะได้รับบรรยากาศหลายๆ อย่างกลับไปจริงๆ ทั้งรอยลากของพระราชรถที่ยังคงปรากฏเหลืออยู่ให้เห็นที่พื้น หรือแม้แต่รอยมาร์กตำแหน่งของทหารผู้ร่วมขบวน นี่แหละครับคือสิ่งที่ไม่น่าจะได้เห็นจากที่ไหนอีกแล้ว”

นฤพร เสาวนิตย์ สถาปนิกปฏิบัติการรุ่นพี่ นักออกแบบในพระราชพิธีนี้อีกคนก็มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน คือแนะนำให้มาถึงแล้วใช้เวลาอยู่กับพระเมรุมาศก่อน ที่เหลือค่อยละเลียดเก็บไปความทรงจำที่เหลือกลับบ้านตามแต่เวลาจะอำนวย


“พิจารณาในทุกรายละเอียดของงานประติมากรรมตกแต่ง มองไปในฝ้าพระเมรุข้างในให้พอเห็นลิบๆ ก็มีความสุขแล้วนะผมว่า แล้วถ้ามีเวลาเหลือ ค่อยมาเก็บเพิ่มเติมในส่วนอาคารต่างๆ ที่จัดนิทรรศการเอาไว้

ภายในตัวนิทรรศการทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานจำลอง เช่น แบบจำลอง "พระโกศจันทน์" ก็เป็นชิ้นที่ฉลุเพื่อจะใช้จริงทั้งนั้น แต่ไม่ได้เอามาใช้ ก็จะมีการติดตั้งมาให้ดูกัน แต่ก็ยังไม่ใช่ประติมากรรมที่ติดตั้งอยู่บนพระเมรุมาศจริงๆ อยู่ดี


แต่ที่เราเห็นของจริงที่ตั้งอยู่กลางสนามหลวงตรงนี้ คือความวิจิตรที่ติดตั้งและได้ใช้ในพระราชพิธีจริงๆ ก็ไม่อยากให้พลาดโอกาสที่จะได้สัมผัสด้วยตาตัวเองเลยครับ ส่วนจุดเด่นของงานในนิทรรศการก็คือ เราได้เห็นงานศิลป์แบบเดียวกันแต่ชัดๆ ใกล้ๆ ซึ่งก็ถือเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ต้องมาลองดูเอง ยังมีเวลาให้ตลอดทั้งเดือนนี้ครับ ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม


ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
กำลังโหลดความคิดเห็น