xs
xsm
sm
md
lg

"16 ราชวงศ์ 42 ประเทศ" น้อมถวายอาลัย ย้อนรอยพระราชไมตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พระองค์ทรงเป็นสุดยอดพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญสำหรับข้าพเจ้า” “ทรงให้ความกรุณา ใส่ใจดูแลราวกับพี่ชายที่แสนดี” “ทรงเป็นที่รักและจะทรงเป็นที่คิดถึงอย่างสุดซึ้งของหม่อมฉัน”

ความผูกพันในฐานะที่ทรงเคยเยี่ยมเยือน ผูกมิตรระหว่างกัน ยังคงตราตรึงอยู่ในพระราชหฤทัย “พระราชอาคันตุกะ” ทั้งหลาย พระมหากษัตริย์จาก 16 ราชวงศ์ 16 ประเทศ และผู้นำ-ผู้บริหารอีก 26 ประเทศ รวม 42 ประเทศ จึงพร้อมใจภักดิ์ ตั้งใจเดินทางมาถวายอาลัยแด่ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” ผู้จะทรงสถิตอยู่ในดวงใจตราบนานเท่านาน



“ผูกน้ำใจกันไว้” พระราชดำรัส พระราชานักการทูต

[เมื่อครั้งในหลวง ร.๙ เสด็จเยือนเบลเยี่ยม และทรงเดินเท้าร่วมกับ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง พระปิตุลาในสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปแห่งเบลเยียม พระราชาองค์ปัจจุบัน]
"การผูกน้ำใจกันไว้นั้น ธรรมดาญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์ซึ่งกันและกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ประชาชนนับแสนนับล้านจะไปเยี่ยมเยียนกันก็ยาก เขาจึงยกให้เป็นหน้าที่ของประมุขของประเทศ ในการเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ

ข้าพเจ้าก็จะแสดงต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้นว่า ประชาชนชาวไทยมีมิตรจิตมิตรใจต่อเขา และข้าพเจ้าจะพยายามเต็มที่ เพื่อให้ฝ่ายเขารู้จักเมืองไทย และเกิดมีน้ำใจที่ดีต่อชาวไทย

การไปต่างประเทศคราวนี้ ก็ไปเป็นทางราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะประมุขของประเทศ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในสมัยนี้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ ว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีด้วย"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเคยพระราชทานพระราชดำรัสดังกล่าวฝากเอาไว้ เมื่อครั้งเสด็จเยือนนานาประเทศในฐานะ “พระราชอาคันตุกะ” โดยทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ สานพระราชไมตรีกับบรรดากษัตริย์และผู้นำต่างสัญชาติเอาไว้ได้อย่างสง่างามและสมพระเกียรติ รวมถึงบทบาทต้อนรับผู้นำจากทั่วโลกที่มาเยือนไทย ก็ทรงทำได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์ถึง 70 ปี


["เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร" (เสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร)]
“เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก แห่งสหราชอาณาจักร” คือหนึ่งในตัวแทนราชวงศ์ ผู้เสด็จแทนพระองค์ “สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2" ซึ่งทรงเดินทางมาเพื่อย้ำรอยไมตรีที่เคยเกิดขึ้นให้ปรากฏชัดอีกครั้ง หลังเคยมอบมิตรไมตรีต่อกัน เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2503 ที่ในหลวง ร.๙ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และเมื่อคราวที่อีกฝ่ายเสด็จมาเยือนไทย ในวโรกาศพระองค์ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

["สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร" และพระสวามี ทรงรอต้อนรับการไปเยือนครั้งแรกของพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ]


["สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย]

หลักฐานชิ้นสำคัญ ช่วยแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองแผ่นดินก็คือ “พระราชสาส์นส่วนพระองค์” ที่พระราชินีแห่งประเทศอังกฤษ ทรงส่งมาแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.59 และทรงแสดงความห่วงใยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในฐานะพระสหายที่คุ้นเคย

["เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร" ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทยหลายครั้ง และทรงประจักษ์ต่อความจงรักภักดีของพสกนิกรไทยที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙]

เช่นเดียวกับ “สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน” ที่ทรงฝากพระสวามี “สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1” พระสหายสนิทของในหลวง ร.๙ ส่งพระราชสาส์นมาถวายอาลัย โดยทรงเขียนบรรยายความผูกพันเอาไว้ โดยมีใจความว่า

[สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน เสด็จมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว]
"...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ทรงเป็นที่รักและจะทรงเป็นที่คิดถึงอย่างสุดซึ้งของหม่อมฉันและพระราชินี หม่อมฉัน และพระราชินียังคงรำลึกถึงความทรงจำอันอบอุ่น เมื่อครั้งหม่อมฉันและพระราชินีมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.2549 อยู่เสมอ

ในยามโทมนัสเช่นนี้ หม่อมฉันและพระราชินีขอส่งอ้อมกอดอันแนบแน่น และกำลังใจมายังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และพระราชธิดาทุกพระองค์ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม"



ขอถวายอาลัย “พี่ชายที่แสนดี”

[ทรงสานพระราชไมตรีกับ “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น” และ “สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ” พระอัครมเหสี]
แม้ว่าครั้งนี้ “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น” จะไม่สามารถเสด็จฯ มาได้ แต่ยังคงฝากความรู้สึกถวายอาลัย ส่งผ่านรัชทายาท “เจ้าฟ้าชายฟุมิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น” และ “เจ้าหญิงคิโกะ พระชายา” เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วย “เจ้าชายและเจ้าหญิงอากิชิโนะ”

[“เจ้าฟ้าชายฟุมิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น” และ “เจ้าหญิงคิโกะ พระชายา” เคยเสด็จมาเยี่ยมเยือน กระชับสัมพันธไมตรี]

น้อยคนที่จะทราบว่า พระประมุขของไทยและญี่ปุ่นนั้น ทรงผูกพันกันแน่นแฟ้นเพียงใด เพราะนอกจากการเสด็จฯ ไปเยือนอย่างเป็นทางการแล้ว สมาชิกของทั้งสองราชวงศ์ ต่างก็เสด็จฯ เยือนกันและกันในแบบไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง

หากถามว่าจักรพรรดิแห่งราชวงศ์นี้ ทรงสนิทสนมในฐานะพระสหายของในหลวง ร.๙ มากเพียงใด บทสัมภาษณ์ของ “สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ” อัครมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ที่ตรัสไว้ ผ่านหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน แห่งญี่ปุ่น เรื่องการสวรรคต น่าจะเป็นคำตอบได้ดีที่สุด

[เมื่อครั้ง "สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ" ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร]

“ในคืนวันที่ 13 ต.ค. ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวที่น่าเสียใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจากไปของพระองค์ พระองค์มีพระชนมายุมากกว่าข้าพเจ้า 6-7 ปี และทรงให้ความกรุณาใส่ใจดูแลข้าพเจ้ามาโดยตลอด ราวกับพี่ชายที่แสนดี นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าอายุได้ราว 20 ปี

ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้รับทราบข่าวการประชวรของพระองค์ และคาดหวังว่าจะมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์อีกครั้ง ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ไทยทุกพระองค์และปวงชนชาวไทยทั้งหมด”

และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกแห่งภูฏาน” ซึ่งเสด็จฯ มาพร้อม “สมเด็จพระราชินีเจตซุน เปมา วังชุก” เพราะเป็นกษัตริย์องค์ที่ทรงเทิดทูนในหลวง ร.๙ อย่างมาก ทั้งยังทรงเสด็จฯ มาเยี่ยมเยือนประเทศไทยบ่อยครั้ง ที่สำคัญ พระราชาแห่งภูฏาณรายนี้ยังประกาศให้วันที่ 14 ต.ค.ของทุกๆ ปี เป็นวันแห่งการไว้อาลัยของชาวภูฏาน แถมยังทรงให้จัดงานราชพิธีสวดมนต์พิเศษขึ้น ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ทั้งประเทศของพระองค์อีกด้วย

[“สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี แห่งภูฏาน” และ “สมเด็จพระราชินีเจตซุน เปมา วังชุก พระชายา” เสด็จถึงประเทศไทยแล้ว]



“ด้วยในหลวงรัชกาลที่ ๙ แห่งราชอาณาจักรไทย ทรงเป็นกษัตริย์ที่มิใช่ของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นของคนทั่วโลก ความรักและความผูกพันที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทยหลายล้านคน สะท้อนผ่านโครงการพระราชดำริในชนบทกว่า 4,000 โครงการที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม และยังประโยชน์ให้ประชาชนคนไทยถึงทุกวันนี้

ความสำเร็จ พระเมตตา พระราชวิสัยทัศน์ และความไม่เห็นแก่พระองค์เอง จะเป็นแบบอย่างของผู้นำ และแสงนำทางที่เป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ต่อๆ ไป” สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ทรงถ่ายทอดถ้อยคำเหล่านี้เอาไว้ ผ่านแฟนเพจของพระองค์เอาไว้เช่นนั้น หากอยากทราบว่าพระราชศรัทธาของกษัตริย์ต่างแดนพระองค์นี้ มีมากเพียงใด พระราชดำรัสที่เคยตรัสไว้เมื่อปี 2549 ในย่อหน้าต่อจากนี้คือคำตอบ


“ข้าพเจ้ารัก เคารพ และชื่นชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก พระองค์ท่านทรงเป็นสุดยอดพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้ามีความศรัทธาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งในหลายๆ เรื่อง

พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่สำคัญสำหรับข้าพเจ้า พระองค์ทรงงานอย่างหนัก พระทัยดี ทรงมีความยุติธรรม ทรงเป็นบุคคลที่มีความพยายาม มุ่งมั่น ทำเพื่อประเทศชาติ ข้าพเจ้าอยากจะให้เยาวชนไทยและคนไทย ยึดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติตน เพื่อดำรงชีวิตตามที่พระองค์ปฏิบัติ”


รายพระนามพระราชวงศ์ ทั้ง 16 ประเทศ
1.สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 แห่งโลโซโธ และสมเด็จพระราชินีมาเซเนต โมฮาโต เซเอโซ่


2.สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เปมา วังชุก


3.สมเด็จพระราชาธิบดีทูโพที่ 6 แห่งตองกา และสมเด็จพระราชินีนานาสิปาอูอู ตูกูอาโฮ


4. สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน


5.สมเด็จพระราชินีแม็กซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์


6.สมเด็จพระราชินีมาธิลด์แห่งเบลเยียม


7.สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน


8.เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน


9.เจ้าฟ้าชายเฟรเดอริค มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก


10.เจ้าฟ้าชายฮากอน แม็กนุส มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์


11.เจ้าชายกีโยม ฌอง โจเซฟ มารี รัชทายาทแห่งลักเซมเบิร์ก


12.รองสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย สุลต่านนัซริน มูอิซซัดดิน ซาห์ แห่งรัฐเประก์ และตวนกู ซาร่า ซาลิม รายา ปะไหมสุหรี พระชายา


13.เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก แห่งสหราชอาณาจักร


14.เจ้าฟ้าชายฟุมิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น และเจ้าหญิงคิโกะ พระชายา พร้อมด้วย เจ้าชายและเจ้าหญิงอากิชิโนะ


15.เจ้าชายธานี บิน ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล-ธานี พระอนุชาของเจ้าผู้ครองรัฐแห่งกาตาร์


16.เจ้าหญิงมาร์กาเรตาแห่งลิกเตนสไตน์




รายนาม ผู้นำประเทศและตัวแทนพิเศษ ทั้ง 26 ประเทศ

1.ติน จ่อ ประธานาธิบดีเมียนมา และภริยา
2.บุนยัง วอละจิด ประธานประเทศแห่งสปป.ลาว และภริยา
3. ฮาลิมห์ ยาค็อบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ และคู่สมรส
4.ปีเตอร์ คอสโกรฟ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ แห่งออสเตรเลียและภริยา
5.มาดามจูลี พาแย็ต ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ แห่งแคนาดา
6.เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
7.โจเซฟ ไดสส์ อดีตประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิส
8.คริสเตียน วูล์ฟฟ์ อดีตประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
9.ดัง ธิ ง็อก ธินห์ รองประธานาธิบดีเวียดนาม
10.ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
11.บาร์นาบาส ซิบูซิโว ดลามินี นายกรัฐมนตรีสวาซิแลนด์
12.เจมส์ โบลเจอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์
13.ฌอง-มาร์ก อายโรลต์ อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส และภริยา
14.จาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีจีน
15.ฟีครี อึดชึค รองนายกรัฐมนตรีแห่งตุรกี
16.พัก จูซุน รองประธานรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
17.โอลกา อีพิฟาโนวา รองประธานสภาดูมาแห่งรัสเซีย
18.ลิม จ็อค เส็ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า คนที่ 2 แห่งบรูไน
19.เจมส์ แม็ตติส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา
20.อลัน ปีเตอร์ แคเยตาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ และภริยา
21.ทิลัก มาราพานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงนโยบายและแผนศรีลังกา และภริยา
22.ภิมเสน ดาส ปราธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งเนปาลและภริยา
23.อวาอิส อาห์เหม็ด คาน เลการี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานปากีสถาน
24.โมฮัมเหม็ด ชาห์ริอะร์ อะลาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งบังกลาเทศ
25.เอ็ม.เจ.อัคบาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
26.อาร์กบิชอป กิอัมบัตติสตา ดีควัตโตร เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำสาธารณรัฐอินเดีย และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล


ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
กำลังโหลดความคิดเห็น