แปลกไหม? จู่ๆ ศิลปินสาวมาดเซอร์ที่ไม่เคยชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว ก็ลุกขึ้นมาพูดเรื่อง “ความรัก-ความสัมพันธ์” หลังปล่อยซิงเกิล “นวด” ออกมาคลายเมื่อยให้แฟนเพลง จนยอดวิวถล่มทลาย ทะลุล้านภายใน 2 วัน ถึงเวลาแล้วที่เจ้าของเพลงเองจะต้องถูก “นวดเส้นกดจุด” ค้นมิติลึกๆ ที่หลายคนรอคอย มาดูกันว่าครั้งนี้เธอจะยอมปล่อยให้เราคลำหา “เส้นความรัก” กดจุด “เส้นความสัมพันธ์” ในตัวไปได้ลึกแค่ไหนกัน!!?
ค้น “เส้นความรัก” เส้นสุดลึกที่ไม่ยอมให้จับเจอ
["ป้าแดง" หมอนวดประจำตัวปาล์มมี่ มาเล่นเอ็มวี กดเส้นกันจริงๆ ไว้ในเพลง “นวด” ด้วย]
“ก็เพราะว่าเส้นความรักมันจับไม่เจอ” ก็เลยไม่เคยมีใครจับ “เส้นความรัก” ของเธอคนนี้ได้เลยสักราย ถ้าลองให้สื่อมวลชนหลายสำนักปลอมตัวไปเป็นมือนวด เพื่อกดจุดไปให้ถึงขั้วหัวใจ คงมีอันต้องยอมวางมือ ทยอยกลับบ้านกันไปกว่าครึ่ง หลังค้นพบว่า “ปาล์มมี่-อีฟ ปานเจริญ” ไม่ใช่คนเส้นตื้นๆ ที่จะยอมให้กดจุดนวดเค้นกันได้ง่ายๆ
โดยเฉพาะเส้นของความรู้สึกที่เรียกว่า “รัก” แต่แล้ววันนี้ เส้นลึกๆ เส้นนั้นก็กลับบันดาลใจให้เธอลุกขึ้นมาเปิดปากเล่ามันด้วยตัวเอง
“เท่าที่มี่สัมผัสและรู้สึก เรื่องของความสัมพันธ์ ทำยังไงไม่ให้ตึง-ไม่ให้หย่อน ก็คือเราต้องรู้จักธรรมชาติของคนนั้น และพยายามไม่ไปล้ำเส้นเขา มี่ว่าสำคัญมาก”
ตลอดช่วงเวลา 4 ปี ระหว่างที่ยังไม่มีผลงานเพลงใหม่ออกมาให้แฟนเพลงได้ยืดเส้นยืดสายอย่างในตอนนี้ นี่คือบทเรียนจากความรู้สึกจริงของเธอเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ที่ถูกหยิบขึ้นมาแปลงเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงในอัลบั้มนี้ เพื่อสื่อสารถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ควรให้ “ตึง” หรือ “หย่อน” เกินไป ไม่ต่างไปจากเส้นสายต่างๆ ในร่างกาย ถ้าปล่อยให้ขาดสมดุลจนเกินตัว ก็มีแต่จะสร้างความเจ็บปวดระหว่างกัน
“มานั่งคิดดู รู้สึกว่าเวลาไปหาคุณป้าที่ร้านนวด มันคล้ายๆ กับว่าป้าชอบหลอกเรา บอกว่าเดี๋ยวนวดแล้วเราจะหายปวดแน่นอน แต่พอผ่านไปอาทิตย์นึง มันก็ไม่เห็นหายเลย แต่เป็นเพิ่มอีกจุดนึงด้วย (หัวเราะ) เพราะคราวที่แล้วป้าก็จัดไว้หนักมาก มันให้ความรู้สึกเหมือนถูกป้าหลอก มาทำให้เราหลงรัก อยากมานวด ให้มาติดอยู่กับเขา เหมือนเลี้ยงไข้เราเอาไว้
มี่ก็เลยคิดว่าคอนเซ็ปต์นี้มันน่ารักดีนะ มันเหมือนความสัมพันธ์ของคนเรานี่แหละ เหมือนเรารักกันอยู่ดีๆ แต่บางทีเขาก็มีอารมณ์ไม่อยากเจอเรา หลอกเราบ้าง เราก็เชื่อบ้าง คือถ้าเป็นคนใสซื่อก็จะเชื่อ (ยิ้ม) ก็เหมือนเรื่องความสัมพันธ์ที่มันมีตึง-มีหย่อนสลับกันไป
เลยเอาคอนเซ็ปต์นี้มาคุยกับ "พี่แจ๊ป (วีรณัฐ ทิพมณฑล)" กับ "พี่เงาะ (พีระนัต สุขสำราญ)" วง The Richman Toy ดู บอกเขาว่าลองหยิบเรื่องนวดมาพูดเรื่องความสัมพันธ์กันไหม แล้วก็ช่วยกันแต่ง 3 คน (รวมปาล์มมี่) ค่อยๆ เพิ่มท่อนเข้าไป แล้วก็ให้ “พี่ต้าร์ Cyndi Seui (Cesar B. de Guzman เจ้าพ่อเพลง Electronic เมืองไทย)” เป็นคนเรียบเรียง จนกลายมาเป็นเพลง “นวด” เวอร์ชั่นที่ทุกคนได้ยินกัน
["แจ๊ป" และ "ต้าร์" ทีมปั้นเพลง "นวด" ร่วมกับปาล์มมี่ | ขอบคุณภาพ IG @japtrmt]
“เห็นหัวใจซึ่งกันและกัน ถ้าเราเห็นตรงนั้นปุ๊บ เราก็จะไม่ทำอะไรที่ทำร้ายเขา หรือไม่พยายามไปเปลี่ยนให้ใครโอนเอนมาหาใคร เพราะถ้าทำแบบนั้น มันทำให้อยู่แล้วไม่มีความสุขหรอกค่ะ”
ส่วนเนื้อเพลงมันก็พูดเปรียบเทียบเรื่องความสัมพันธ์กับการนวดว่า เวลาที่เราปวดเมื่อยเนื้อตัวแล้วไปนวด มันก็ช่วยคลายเส้นได้ แต่เวลาเราปวดที่หัวใจ เวลาใครทำให้เรารู้สึกไม่ดี ต่อให้ไปนวดยังไงมันก็ไม่หาย วิธีเดียวที่จะทำให้หายได้ก็คือ การเลือกที่จะไม่รักคนคนนั้น พอกันที ประมาณว่ากดที่ไหนมันก็ไม่หายหรอก ถ้าเราปวดที่หัวใจ”
ได้ยินแบบนี้ หลายคนคงตีความกันไปต่างๆ นานาว่า “ราชินีเพลงเศร้า” น้ำเสียงเรียกน้ำตาอย่างปาล์มมี่ ต้องมีอาการอกหักมาเป็นแรงผลักในการสร้างงานแน่ๆ ถึงคิดอะไรคมคายออกมาได้ขนาดนี้ แต่ถ้ารู้ตัวตนของเธอจริงๆ จะทราบว่า เรื่อง “คนรัก” ไม่เคยสร้างปัญหาให้ต้องเจ็บปวดใจเลย อย่างที่เจ้าตัวมักจะเปรยเอาไว้บางๆ ว่า คบกันมานาน ดูแลกันอย่างเข้าใจ และใช้ชีวิตเหมือนเพื่อนสนิท
ถ้าให้พูดถึงเคล็ดลับ “การนวดเส้นความรัก” ให้อยู่ในจุดที่พอดี ไม่ตึง-ไม่หย่อน-ไม่ต้องมาคอยพึ่งคุณป้ามือหนักๆ ให้ช่วยคลายเส้นหัวใจ สำหรับปาล์มมี่แล้วไม่มีอะไรมากเกินกว่าคำว่า “เข้าใจ” และ “ให้พื้นที่” ให้ต่างฝ่ายต่างได้เป็นตัวของตัวเอง
“มี่ว่าก็คงเป็นการเห็นหัวใจซึ่งกันและกันแหละ ถ้าเราเห็นตรงนั้นปุ๊บ เราก็จะไม่ทำอะไรที่ทำร้ายเขา..ถูกป่ะ ถ้าเราเข้าใจเขา และเราก็รู้ว่านี่คือธรรมชาติของเขา เราก็จะไม่ไปบีบบังคับอะไร หรือไม่พยายามไปเปลี่ยนให้ใครโอนเอนมาหาใคร เพราะถ้าทำแบบนั้น มันทำให้อยู่แล้วไม่มีความสุขหรอกค่ะ
เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขาก่อน ซึ่งบางทีมันก็ยากนะที่จะยอมรับให้ได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเรามีการเห็นใจซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา มันก็จะทำให้เราให้อภัยจุดนั้นไปได้ แต่มี่ไม่ได้ปลงอะไรจนเข้าใจโลกทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์หรอกนะ”
ศิลปินที่ถูกหลายต่อหลายคนขนานนามว่า “โลกส่วนตัวสูง” เอนหลังพิงพนัก วางศอกไว้บนที่เท้าแขน แล้วบอกเล่าความรู้สึกจากขั้วหัวใจ ผ่านน้ำเสียงราบเรียบและท่าทีสบายๆ จนผู้สัมภาษณ์อดนึกสงสัยในใจไม่ได้ว่า มันคือผลพลอยได้จากการนั่งนวดเฟ้นเส้นชีวิตกันมานานร่วมชั่วโมง หรือคืออิทธิพลจากเพลงนวดเส้นกดจุดของเธอเอง ที่ช่วยให้เจ้าตัวพูดถึงเรื่องความรักได้อย่างเบาสบายคลายกังวลกว่าที่เคยเป็น
แล้วถ้าไม่ใช่คนรัก ใครล่ะที่เป็นเจ้าของ “ความเจ็บปวด” ที่บันดาลใจให้ปาล์มมี่ต้องปั้นผลงานเพลงออกมา “นวด” คลายเส้นหัวใจให้ตัวเอง? คำถามนี้มีคำตอบซ่อนอยู่ในช่วงหนึ่งของบทสนทนา ระหว่างปาล์มมี่กับ ดีเจเปิ้ลหน่อย-วรัษฐา พงษ์ธนานิกร คลื่น Cat Radio ถึงแม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อระบุตัวบุคคลออกมา แต่ก็พอจะเดาได้ว่าน่าจะเป็นคนในชีวิตที่เคยสนิทกันมากๆ คนนึง
“จริงๆ เรื่องนี้เขียนขึ้นมาจากเรื่องของคนคนนึง มี่เจอเรื่องนี้มาตลอดหลายๆ ปี แล้วก็รู้สึกว่าทำไมเราถึงให้อภัย แล้วเราก็ต้องมาอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้อยู่ตลอดเวลา แต่พอถึงวันนึง เราก็รู้แล้วว่าเรายอมแพ้ดีกว่า และเราก็เลือกที่จะไม่รักคนคนนั้น ก็คือจบค่ะ ระหว่างที่ทำงานกับพี่แจ๊ป มี่ก็ต้องเล่าเรื่องคนคนนี้ให้เขาฟัง ทำให้เขารู้เรื่องนี้ละเอียดพอสมควร”
แต่เรื่องราวในอดีตก็เป็นแค่เรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกวันนี้ ปาล์มมี่ยืนยันว่าเธอมีความสุขดี “เพราะถ้าไม่มีความสุข เราทำอะไรแบบนี้ออกมาไม่ได้..ไม่ได้แน่นอน” ศิลปินสาวมาดเท่บอกเล่าผ่านน้ำเสียงหนักแน่น พร้อมกับชี้ไปที่โปสเตอร์ซิงเกิล “นวด” ซึ่งอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ขันอยู่เต็มอัตรา ก่อนถ่ายทอดวิธีสมดุลชีวิต ระหว่าง “เรื่องส่วนตัว” กับ “เรื่องงาน” เอาไว้ให้ ตามคำขอของคู่สนทนา
[คนบนเวทีกับคนบนพื้นดิน คนละพาร์ตกัน เวอร์ชั่นติดดินไม่จำเป็นต้องสวม “หัวขนนก”]
“จากเมื่อก่อนมี่จะเป็นคนเครียดมากๆ ทุกวันนี้ก็เป็นคนคิดเยอะๆ อยู่แล้วนะคะ ทีมงานจะทราบกันดี แต่เราก็จะพยายามผ่อนคลาย ไม่ไปโฟกัสจุดที่มันทำให้เราไปในพาร์ตเทาๆ จะพยายามเข้าใจในธรรมชาติกลไกของมันว่า มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เดี๋ยวเราก็คิดออก วันนี้เราก็ปล่อยไว้ก่อน ไปทำเพลงอื่นก่อนก็ได้ อันนี้ถ้าพูดถึงเรื่องงานนะ
แต่ถ้าพูดถึงสมดุลในเรื่องของการเล่นคอนเสิร์ตเสร็จ แล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติ เราก็ต้องสลัดให้ออกว่า คนบนเวทีนั้นกับคนที่ยืนอยู่บนพื้นดินตรงนี้ มันคือคนละพาร์ตกันแล้ว
มี่ก็ทำหน้าที่พลเมืองคนนึง เป็นประชาชนคนนึง เป็นเหมือนคนปกติ คงไม่ได้มาสวมหัวขนนกอะไรนอน ถึงแม้ว่าจิตวิญญาณเป็นอย่างนั้นก็จริง (ยิ้ม) แต่ก็พยายามจะทำทุกอย่างให้มันเรียบง่าย เพราะว่าเรื่องงานมันยุ่งยากมากพอแล้ว”
บ่ม “เส้นความแนว” แต่งเอง-ร้องเอง-ออกแบบเอง
“โอ้ว โอ โอ..เธอเข้ามาทำให้ฉันต้องเจ็บช้ำ โอ้ว โอ โอ..เธอเป็นคนเดียวที่เข้ามาตอกย้ำ โอ้ว โอ โอ..เธอเข้ามาทำให้ใจฉันออดแอด ปอดแปด เหยาะแหยะ เหลาะแหละ มันด่อกแด่ก ค่อกแค่ก กระตุกกระตัก มันหยุบมันหยับ... ที่ฉันต้องเจ็บเมื่อไหร่จะหาย”
ถ้าไม่ถามขึ้นมาเองด้วยความอยากรู้ว่า “ท่อนที่ฟังดูแร็ปๆ นี้ใครแต่ง?” ก็คงไม่มีวันได้รู้ว่าคือฝีมือการลุกขึ้นมา “ลองแต่งเพลงเอง” ของปาล์มมี่นี่แหละ เธอเรียกท่อนนี้ว่าเป็น “ท่อนบริดจ์ (Bridge)” หรือท่อนเชื่อมก่อนเข้าท่อนฮุค โดยบอกเล่าเบื้องหลังกระบวนการปลุกปั้นทุกอย่างขึ้นมากับมือเอาไว้อย่างละเอียด แต่ไม่ยอมเอ่ยปากบอกตั้งแต่แรกว่า เป็นคนเขียนท่อนนี้ทั้งท่อนด้วยตัวเธอเอง
“มี่บอกคอนเซ็ปต์กับพี่แจ๊ปและพี่เงาะไป เขาก็ไปขึ้นโครงมา แล้วก็มาหามี่ที่บ้าน มาลองเล่นให้ฟัง แล้วมี่ก็เป็นคนบอกว่า ท่อนฮุคแบบนี้ยังไม่เวิร์กนะ ต้องมาแก้เมโลดี้ฮุค แล้วก็เขียนเนื้อกันใหม่วันนั้นเลย ส่วนท่อนบริดจ์มาตอนหลังเลยค่ะ ตอนที่มี่อัดร้องไปหลายๆ รอบ แล้วรู้สึกว่ามันขาดอะไรสักอย่างไป ก็เลยทำท่อนนั้นขึ้นมาใหม่”
ปาล์มมี่ได้แต่ยิ้มรับเสียงปรบมือจากคู่สนทนาด้วยท่าทีเขินๆ แล้วมอบคำว่า “ขอบคุณค่ะ” ให้เป็นการตอบแทนคำชมในฝีไม้ลายมือ ถามตรงๆ ว่าทำไมถึงไม่ยอมเปิดเผยให้ใครต่อใครได้รู้กันชัดๆ ไปเลยว่า ท่อนที่ฟังๆ แล้วมันๆ กันอยู่ท่อนนั้น คือความพยายามของเธอเอง คนที่อยู่ตรงหน้าก็ได้แต่หัวเราะรับเบาๆ ด้วยท่าทีถ่อมตัว แล้วตอบกลับมาว่า “ถ้าบอกก็อาจจะติมี่ก็ได้”
“เวลาที่เราไม่ได้บอกว่าเราเขียน และไม่มีใครตำหนิอะไร คือนั่งอยู่บนโต๊ะ แล้วไม่มีใครพูดถึงว่ามันไม่ดี และเราก็ไม่ได้บอกว่าเราเป็นคนทำมันเอง (พูดไปยิ้มไป) ลองนั่งทดสอบอยู่เงียบๆ แล้วถ้าไม่มีใครพูดอะไร ก็แสดงว่ามันผ่านแล้วในสายตามืออาชีพที่เขาเป็นคนเขียนเพลง”
“เล่นคอนเสิร์ตเสร็จ แล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติ เราก็ต้องสลัดให้ออกว่า คนบนเวทีนั้นกับคนที่ยืนอยู่บนพื้นดินตรงนี้ มันคือคนละพาร์ตกันแล้ว ก็พยายามจะทำทุกอย่างให้มันเรียบง่าย เพราะว่าเรื่องงานมันยุ่งยากมากพอแล้ว”
ย้อนกลับไปค้นหาเครดิตชื่อ “ปาล์มมี่” ในฐานะคนแต่ง “คำร้อง” จะเห็นว่ามีติดอยู่ในเพลง “Rock Star Syndrome” จากอัลบั้มไฟว์ (5) ซึ่งได้รางวัล “Best Record of The Year” จากเวที Season Awards ประจำปี 54 และจะมีให้เห็นอีกที ก็ตั้งแต่เพลง "One Look, One Touch" ที่เคยแต่งเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษในเพลง “ใจหายไปเลย” ให้วง Mr.Team เอาไว้ตั้งแต่สมัยยังไม่มีอัลบั้มเป็นของตัวเองออกมา
นอกนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ปาล์มมี่จะมีส่วนร่วมในพาร์ตการคิดคอนเซ็ปต์เพลงและอัลบั้ม หรือมีเครดิตอยู่ในพาร์ตดนตรี เป็นคนแต่ง “ทำนอง” มากกว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้เป็นอย่างนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอค่อนข้างเซ็ตมาตรฐานเรื่องเนื้อร้องในอัลบั้มไว้สูง จนทำให้ต้องคัดลายมือของตัวเองทิ้ง แม้ว่าจะพยายามลองเขียนเนื้อเพลงเองอยู่ตลอดก็ตาม
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเท่าที่เคยทำงานมา มี่จะไม่ค่อยได้ทำเรื่องเนื้อเพลง จะมีนักแต่งเพลงเขียนเนื้อมาให้ แล้วเราจะลองร้อง ถ้าตรงไหนไม่ใช่ เราก็แค่ปรับแก้ไปนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่เคยต้องมาเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวอย่างการทำชุดนี้ อัลบั้มนี้มี่ได้ลงมือทำทุกสิ่งเองจริงๆ ไม่เคยต้องมาเขียนเนื้อก็ได้ลอง แต่มันก็ไม่ได้ดีทุกเพลงนะ เพลงที่แย่มากก็มี แต่มันถูกเก็บเอาไว้ ไม่ควรให้ใครได้ฟัง
อย่างเพลง “นวด” มี่จำโปรเซส (Process) ไม่ได้แล้วว่าใช้เวลาแต่งนานเท่าไหร่ คือมีเวลาเท่าไหร่ก็ทำ แต่รู้ว่าก็จะฟังวนๆ ดู พอรู้สึกว่าต้องเติมคำไหน ก็ลองปรับลองร้องไปเลย แล้วจู่ๆ มันก็แต่งออกมาได้เอง ไม่รู้เหมือนกัน (ยิ้มเขินๆ)… มันคงคล้ายๆ ท่อน “ติ๊กต่อก ติ๊ก ติ๊ก ต่อก...” (เพลง “Tick Tock”) มั้งคะ ที่จู่ๆ เราก็ร้องออกมาเอง แค่รู้สึกว่าอยากทำอย่างนี้ก็ทำ
ส่วนท่อนบริดจ์อันนั้น (ในเพลง “นวด”) มันแค่เป็นท่อนที่เกิดมาจากอารมณ์ขี้เล่นของมี่มากกว่า มี่คิดว่ามันเป็นความหงุดหงิดส่วนตัวด้วย ที่รู้สึกว่าทำไมเราถึงเขียนมันออกมาไม่ได้ ในเมื่อเราพูดมันได้ในบางที มันก็ไม่น่าจะต่างจากคำพูดไหม ก็เลยลองเขียนดู
แต่เรื่องคำศัพท์ มันก็จำกัดพอสมควร บางทีเราก็มีนึกไม่ออกบ้าง แต่มี่ก็แค่ว่างค่ะ มี่เลยแค่ลองทำ ถ้ามันจะช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น มี่ก็แค่อยากทำมันเอง... แต่ถ้ามีมืออาชีพที่เขาถนัด แล้วก็มาช่วยมี่ได้ ณ วันนั้น มี่ก็คงไม่ได้เขียน
ส่วนเรื่องการดีไซน์เสียงร้อง ส่วนใหญ่มี่ไม่ได้มีวิธีคิดอะไรซับซ้อนเลยค่ะ ก็แค่ลองร้องไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่ามันต้องเพิ่มเติมตรงไหน ก็ค่อยๆ จัดหาวิธี เหมือนแต่งบ้านน่ะ ถ้ามันยังไม่ลงตัวก็หามาเติม พอเติมแล้วมันพอดี ก็คือจบ..หยุด คืออย่างน้อยๆ ฟังรวมๆ แล้วต้องไม่ล้นเกินไป แล้วก็ไม่ใช่ว่าทุกความคิดมันจะต้องใส่ลงไปในเพลงเพลงเดียวทั้งหมด แต่ก็ทำอย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะคิดออกในวันนั้น”
รู้แล้วว่าทำไม ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ โปรดิวเซอร์อัลบั้มก่อน (อัลบั้มไฟว์) ถึงได้แต่งเพลง “คิดมาก” มอบเป็นเพลงประจำตัวให้ปาล์มมี่ เพราะเธอเป็นคนลงรายละเอียดและใส่ใจกับเรื่องที่ทำทุกเม็ดจริงๆ ถ้ายังไม่เชื่อ เรื่องราวเบื้องหลังเพลง “นวด” น่าจะเป็นบทพิสูจน์ที่ดีที่สุดแล้ว
“ทุกอาทิตย์ที่ไปเล่นคอนเสิร์ต มี่ไม่ได้ใส่รองเท้า ก็จะทำให้ปวดเท้าบ่อยๆ แล้วก็ปวดบ่าด้วย ก็เลยไปนวด แล้วก็เจอคุณป้าคนเดิม พอเข้าไปบ่อยๆ ก็รู้สึกสนุก ได้เห็นวิธีการของเขา ท่าของเขา หรือการอู้งานของเขา ที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพูดเรื่องนู้นเรื่องนี้ฆ่าเวลา แทนที่จะนวดเรา (ยิ้ม) มี่ก็มีแอบหัวเราะในใจบ้าง
บางทีเห็นท่านวดตลกๆ มี่ก็จะถ่ายรูปเก็บไว้ เอ้อ..ขอท่านี้อีกที (ทำท่ากดชัตเตอร์มือถือด้วยนิ้วโป้ง) ถ่ายภาพคนข้างๆ ไว้ โลโก้ที่มี่ดูแล้วมี่ชอบ มี่ก็จะถ่ายเก็บไว้ สีที่มี่ชอบ มี่ก็จะทำเก็บไว้ สมมติมี่กำลังนวดเท้า มี่ก็จะถ่ายส่งไปให้แจ๊ปดู แล้วเราก็จะขำกัน 2 คน แล้วก็มีหยิบไปคิดไปล้อเลียนคำกันในไลน์
อย่างท่อนที่ร้องว่า “นวดนวด หยุดหยุด นวดเส้น กดจุด” พี่แจ๊ปเขาก็เขียนมาเลยกับพี่เงาะ ซึ่งเราไม่แก้เลย เราฟังแล้วเรากรี๊ดมาก ชอบมาก และเราก็ค่อยๆ เก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน มันเหมือนเวลาเราโฟกัสกับอะไรมากๆ มองอะไรมันก็เป็น “นวด” ไปหมด นึกออกไหมคะ (ยิ้ม) มองอะไรมันก็เห็นว่าอันนี้มันน่าจะใช้ได้นะ หรือแม้กระทั่งผ้าไทยที่เราสะสมไว้ เราก็รู้สึกว่ามันเอามาใช้กับเพลงนวดได้เหมือนกัน
[ชุดคอนเซ็ปต์ตัดเย็บจาก "ผ้าไทย" ของสะสมที่ถูกหยิบมาใช้ในงานเพลง โดยออกแบบไว้ถึง 5 ชุด]
หรือแม้แต่ท่อนสปา (ท่อนเสียงดนตรีบรรเลงเนิบๆ คั่นซาวนด์มันๆ ของเพลง) มี่ก็ปิ๊งไอเดียที่เชียงใหม่ ตอนที่มี่ไปนวดแล้วสังเกตว่าจะมีเสียงเพลงสปาแบบนี้ตลอด เพลงเดียวกันเลย (ยิ้ม) แต่มันต้องเป็นร้านที่ไม่แพงนะ ต้องชั่วโมงละ 120-150 นะ เราก็นอนขำอยู่ว่าทำไมต้องเป็นเพลงนี้ตลอด ก็เลยหาวิธีประกอบให้มันมาอยู่ในเพลงนี้
เหมือนแค่อยากให้คนฟังแล้วนึกถึงบรรยากาศในร้านนวดน่ะค่ะ คิดว่าถ้าใส่ท่อนสปาเข้าไป มันน่าจะส่งกลิ่นอายของอารมณ์การนอนนิ่งสงบ ก่อนจะตัดกลับมาในพาร์ตชีวิตจริงที่พูดว่า “คิดถึงเธอขึ้นเมื่อไหร่ก็ปวดใจทุกที” มันก็เหมือนเวลาเรากำลังผ่อนคลายมากๆ แล้วคุณป้าคนนี้ก็มากดจุดสะท้อนที่มันจี๊ดมากๆ จนเราสะดุ้งตื่นขึ้นมาตามเนื้อเพลงท่อนนั้นเลย”
เฟ้น “เส้นความติสต์” เผยอัตลักษณ์ความเป็นมี่
[ชุดสกรีนลาย "กดจุดสะท้อนที่เท้า" ที่ปาล์มมี่ปิ๊งไอเดียหลังเข้าร้านนวดเป็นประจำ]
“หลายคนฟังแล้วก็บอก เพลงนี้โคตรจะมี่เลย” ปาล์มมี่ให้คำตอบสั้นๆ ปนเสียงหัวเราะเบาๆ หลังผู้สัมภาษณ์เปิดประเด็นเรื่อง “อัตลักษณ์ปาล์มมี่” ที่ใครหลายคนพูดถึงผ่านซิงเกิลใหม่ล่าสุดที่มาแรงแซงทุกโค้งอยู่ในขณะนี้ นักฟังเพลงตัวยงหยิบเพลง “นวด” ขึ้นมาเทียบกับเพลง “Tick Tock” แล้วบอกว่า เต็มไปด้วยความมันความโจ๊ะประมาณเดียวกัน ทำให้ฟังปราดเดียวแล้วรู้เลยว่า ปาล์มมี่กลับมาแล้ว!!
ลองให้คนที่ถูกพูดถึงมองตัวเองดูสักทีว่า จริงๆ แล้วอะไรคือ “ความเป็นปาล์มมี่” ที่ชัดเจนจนทำให้คอเพลงจดจำได้ “อาจจะเป็นความขี้เล่นมั้งคะ ทั้งในภาพและในเพลง เหมือนมันสอดคล้องไปด้วยกัน อันนี้เท่าที่มี่รู้สึกนะ แล้วก็อาจจะเป็นแนวดนตรีแบบนี้ ที่มันฟิตกับการเพอร์ฟอร์ม (Perform) ของมี่” ศิลปินสาวตาโตพูดไปยิ้มไป ก่อนแชร์มุมคิดเบื้องหลังอีกมุมนึงออกมา
“มี่ถือว่าเป็นความโชคดีนะ ที่มี่ยังทัวร์คอนเสิร์ตอยู่แบบนี้ เพราะอย่างบางเพลงที่มี่ทำหลุดกรอบ หลุดโลกออกไปแล้ว พอมี่ได้กลับไปยืนบนเวทีอีกครั้งนึง ทุกครั้งที่มี่กลับบ้านมา มี่จะได้ความรู้สึกนึงคือ เพลงที่เราทำเก็บไว้อยู่ในสต๊อก ใครจะฟังเหรอ (ยิ้มบางๆ) มันจะมีอารมณ์นั้น มี่เลยจะวกกลับมาในจุดที่คนเขารอ และมันเอื้อกับการเพอร์ฟอร์มของมี่บนเวที คือเริ่มทำเพลงที่ไปตอบโจทย์นั้น และเพลงนี้ก็ไปตอบโจทย์นั้นค่ะ
แต่เพลงอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอารมณ์นี้ ก็จะอยู่ในพาร์ตของแต่ละอัน บางเพลงก็ซีเรียสมาก พูดถึงเรื่องจิตวิญญาณของเรามากๆ แล้วก็ยังไม่รู้ว่าเวลาเอาไปแสดงบนเวทีแล้วมันจะเป็นยังไง หลายๆ เพลงที่ทำออกมา หยิบไปเล่นบนเวทีแล้วมันอาจจะไม่ได้ถึงใจคนฟัง ทำให้คนไม่สามารถเต้นได้ แต่มันก็เป็นเพลงที่ออกมาจากความคิดที่เราอยากจะพูดถึง ในพาร์ตครีเอทีฟของการเขียน
ถ้าถามว่า “อัตลักษณ์ของมี่” เป็นยังไง รวมๆ แล้วก็น่าจะเป็นอะไรแบบที่เป็นปาล์มมี่แบบนี้แหละ (ยิ้ม) มันไม่มีคำจำกัดความ แต่ว่าคนฟังแล้วสัมผัสมันได้ มี่ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จในการผลิตงานเอง แล้วออกมาเป็นแบบนี้ได้แล้วค่ะ”
ด้วยความที่เป็นคนชอบทำอาหาร ปาล์มมี่จึงเลือกเปรียบเทียบ “การปั้นเพลง” ของเธอเป็นเหมือน “การปรุงรส” อาหาร วัตถุดิบที่ “เชฟมี่” เลือกมาทำเมนู แน่นอนว่าต้องเฟ้นหากันอยู่นาน กว่าจะเจอแหล่งที่ถูกใจจริงๆ และความรู้สึกแบบนี้แหละที่เธออยากเอามาใช้เป็นจุดเชื่อมสำคัญ สำหรับ “เมนูซิงเกิลใหม่” ทุกลำดับต่อไปจากนี้ เพื่อให้คอเพลงที่รอ “จานบรรเลง” มาเสิร์ฟที่โต๊ะ ได้ลิ้มลองรสอย่างที่เคยติดใจ
“มันเหมือนเราไปเดินซื้อของในตลาดน่ะ อันนี้ดูแล้วเหมือนจะดี ไปๆ มาๆ ร้านนั้นดีกว่า แต่พอมาเทียบกันดีๆ แล้ว ก็ยังไม่ใช่อีก แกงออกมาอาจจะไม่อร่อย ต้องเดินเลือกไปเรื่อยๆ ลองไปเรื่อยๆ พอมาเจอสูตรนี้แล้วมันใช่ ก็โอเค เรามาทำอาหารรสชาติพอดีๆ กันเถอะ อย่าเค็ม-อย่าหวานไป
จุดนี้แหละที่น่าจะทำให้เพลงกลุ่มนี้มาอยู่รวมกันได้ในอัลบั้มนี้ ส่วนเพลงที่เหลือมันอาจจะฟังแล้วหลุดโลกไปนิดนึง (หัวเราะเบาๆ) หมายถึงเพลงที่มี่เคยลองทำนะ มันอาจจะหลุดความเป็นมี่ไป”
[ชอบทำอาหาร จึงเปรียบ "การปั้นเพลง" เหมือน "การปรุงรส"]
ถึงแม้จะไม่ค่อยอยากกำหนดกรอบอะไรเอาไว้มากมายให้งานเพลงของตัวเอง แต่ปาล์มมี่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเองมี “นิยามความเป็นมี่” ตั้งเอาไว้บางๆ อยู่บ้างเหมือนกัน
“นี่พูดแล้วมันเหมือนจะกลายเป็นความกดดันในเพลงต่อๆ ไป หรืองานต่อๆ ไปของมี่นะ แต่มี่ชอบอะไรที่มันคิดมาแล้ว และมันตกตะกอนออกมาได้แบบมีที่มาที่ไป อะไรที่มันไม่ตื้นเขินจนเกินไป หมายถึงในเรื่องของเนื้อหานะคะ แต่มี่ก็ไม่ได้เป็นคนปลงกับชีวิตอะไรขนาดนั้นนะ (ยิ้ม) เนื้อหาอะไรที่ดูเข้าใจโลกไปหมดซะทุกเรื่อง มันก็อาจจะเกินขอบความเป็นมี่ไปนิดนึง
เพราะมี่อาจจะยังมีขั้วอะไรบางอย่างในตัวเอง เป็นขั้วที่ “สนุกมากๆ” กับอีกขั้วที่ “ลงลึกมากๆ” ก็อยากจะบาลานซ์ (Balance) จุดนี้ แล้วทำให้มันครอบคลุมได้ในทุกแอเรีย (Area) ที่มี่รู้สึก ส่วนอันไหนเกินขอบมี่ไปนิดนึง อาจจะรอให้สัก 45 แล้วค่อยพูดถึง (หัวเราะ)”
และด้วย “ความเป็นมี่” แบบที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ตอนนี้ด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้คนเคยร่วมงานจำนวนนึง ขอพักยกร่วมปรุงเพลงด้วยกันเอาไว้ก่อน? คนถูกถามได้แต่ยิ้มปลงๆ แล้วให้คำตอบผ่านน้ำเสียงเย็นๆ ว่า “ก็มีความเป็นไปได้ค่ะ”
“เพราะมี่ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ พอเราต้องการเวลาเยอะๆ บางคนที่ไม่ได้รู้เดดไลน์ (Deadline) พอมาร่วมงานกับเรา เขาอาจจะไม่สะดวก เพราะคนทำงาน เขาจำเป็นต้องรู้เดดไลน์ เพื่อจบโปรเจกต์นี้แล้วจะได้ไปทำโปรเจกต์นู้นต่อ มันเป็นเรื่องของรายได้และเรื่องอื่นๆ ตามมา มันจะไม่ใช่การทำงานตามฟีลแบบมี่
อย่างมี่จะประมาณว่า เอ้อ..วันนี้มาทำเพลงกัน หรือวันนี้พักไว้ก่อนนะ ยังไม่ทำ ยังคิดไม่ออก คือมี่ชอบทำวิธีนี้ไงคะ มี่ชอบใช้เวลาอยู่กับมันนานๆ..นานพอให้มี่รู้สึกว่า อืม..มันเติมอะไรได้อีกนะ เพราะมี่ไม่ได้เก่งพอที่จะมาคิดอะไรออก แล้วก็ต้องทำทั้งหมดให้ได้ภายในวันเดียว เรื่องของเรื่องมันเกิดจากความไม่เก่งของมี่เองนั่นแหละสรุปแล้ว มี่เลยต้องใช้เวลากับมัน
["อู๋ The Yers" อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในอัลบั้มนี้]
แต่ตอนนี้มี่ก็ได้ทำงานกับคนที่ฟีลคล้ายๆ กันแล้วนะ คือเขาเข้าใจในความเป็นเรา ให้เกียรติในความเป็นมี่ “แล้วแต่พี่มี่” เขาจะอารมณ์นั้นกัน (ยิ้ม) อย่างทำงานกับพี่แจ๊ป (วง The Richman Toy) กับพี่อู๋ (ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ วง The Yers) มี่แฮปปี้มากนะ เพราะว่าทั้ง 2 คนนี้เป็นประเภทรักในเสียงเพลง ทำงานแบบไม่ต้องมีเดดไลน์อะไร ก็แค่ตามฟีลกันไป วันไหนว่างก็นัดกัน เหมือนเข้ามาทำงานศิลปะกันน่ะ มันเหมือนเรามารวมกลุ่มวาดรูปเดียวกัน
ตอนนี้มี่แฮปปี้กับทีมที่มี่มีทุกวันนี้มากเลยนะคะ คือทุกทีมที่เคยทำงานผ่านมา มี่ก็แฮปปี้แหละในความเป็นไปของมัน ณ เวลานั้น แต่ครั้งนี้มันเหมือนมี่ผลิตงานเอง แล้วมีน้องมาช่วยเติมในส่วนที่มี่ไม่ถนัด มี่รู้สึกว่าเหมือนมี่ผลิตของนี้ที่โรงงานนรกของมี่เอง (หัวเราะ) มี่ควบคุมมันเอง ควบคุมทั้งขั้นตอนการผลิตเอง มี่เลยรู้สึกสนุกกับมัน”
เรียกได้ว่าตั้งแต่งานเพลงอัลบั้มไฟว์ มาจนถึงอัลบั้มใหม่ที่กำลังปลุกปั้น ทุกรายละเอียดที่เห็นกันอยู่ตอนนี้ ล้วนกลั่นมาจาก “ความเป็นปาล์มมี่” แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเธอเริ่มมันด้วยตัวของเธอเองจริงๆ ซึ่งถ้ามองในแง่การตลาดแล้ว ถือเป็นเรื่องยากมากเหมือนกันที่ศิลปินคนหนึ่งจะคงความเป็นตัวเองได้อย่างคงเส้นคงวาขนาดนี้ เมื่อถามตรงๆ ว่าตัวเธอเองเคยกังวลเรื่องการขายบ้างไหม หรือทำทุกอย่างออกมาจากอินเนอร์ล้วนๆ จึงได้คำตอบตรงๆ จากศิลปินสาวสุดติสต์กลับมาตอบแทน
“อืม...มันก็มีแว้บๆ บ้างค่ะ อย่างที่บอกว่าเวลาทำเพลงอะไรที่เป็นส่วนตัวมาก แล้วเวลามี่ไปเล่นคอนเสิร์ตกลับมาครั้งนึง มี่จะรู้สึกได้เลยว่าเพลงแบบนี้ทำไปใครฟังเหรอ หรือถ้ามีก็อาจจะน้อย
การที่มี่มาเข้าอยู่ในระบบค่ายแล้ว ค่ายเขาก็ต้องมีกำไร ต้องเอาสตางค์นั้นมาหมุนเวียนเพื่อเป็นมิวสิกวิดีโอตัวต่อไปของมี่ ถ้ามี่ทำงานแล้วไม่ได้ผลเข้าเป้า มี่อาจจะมีวิดีโอแค่ 2 ตัวก็ได้ นึกออกไหมคะ คือถ้ามี่จะยังทำตามระบบในค่ายอยู่ มี่ก็ต้องคิดถึงจิตใจเขาบ้างเหมือนกัน
เพราะถ้ามี่ทำของมี่เอง มี่ก็ไม่ต้องกังวลจุดนี้ มี่ก็แค่ทำเพลงแล้วก็ปล่อยให้พวกคุณฟังในเฟซบุ๊กก็ได้ใช่ไหม (หัวเราะ) ซึ่งมันก็เป็นอีกแบบนึง มันเลยไม่ใช่ว่ามี่ไม่คิดอะไร (เรื่องการขาย) เลยขนาดนั้น แต่แค่พยายามจะไม่เอามันมาเป็นตัวตั้งในการทำเพลงแค่นั้นเองค่ะ”
กด “เส้นความเครียด” ย้ำ “เส้นความเศร้า”
“เวลาที่มี่แต่งเพลงไม่สำเร็จน่ะค่ะ มี่จะเศร้า” คือคำบอกเล่าที่ปาล์มมี่ให้ไว้ในงานแถลงข่าวเปิดตัวซิงเกิล “นวด” หลังถูกโยนคำถามขึ้นมาให้ตอบว่า ช่วงเวลาแบบไหนที่จะทำให้รู้สึกเฟลกับตัวเองมากที่สุด “เวลาที่เรายังไม่มีงานใหม่ จะรู้สึกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เหมือนคนที่ทำอะไรแล้วไม่สำเร็จ คว้าน้ำเหลวตลอดเวลา มันก็มีจุดตกต่ำของจิตใจ คิดว่าเราทำมันไม่ได้ เราไม่เก่งพอ ทำไมเราไม่เก่ง มันก็จะเราทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง”
“แต่เวลามี่ไปเล่นคอนเสิร์ต ไปเจอชาวบ้านหรือเวลาไปเที่ยว มันทำให้เราได้เห็นชีวิตที่แสนธรรมดา ทำให้รู้สึกว่าเราจะมามัวแบกเรื่องเล็กๆ แบบนี้ไว้ทำไม คนอื่นเขาเดือดร้อนกว่าเรามาก แต่เรากลับมาคิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด งั้นเราก็ไม่ต้องคิด แล้วก็มาทำงานต่อ ทำไปเรื่อยๆ เดินเหมือนเต่าน่ะค่ะ (ยิ้มบางๆ) เดินช้าๆ เดินไปเรื่อยๆ ในวันที่คนบอกว่าเราคงเลิกทำไปแล้ว คงแก่แล้ว เลิกร้องเพลงไปแล้ว”
คงไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเกินไปนัก ถ้าจะตั้งสมมติฐานว่า “เส้นความเครียด” ในตัวปาล์มมี่ น่าจะเชื่อมโยงกับ “เส้นความเศร้า” อยู่บ่อยๆ คงเพราะเธอเป็นคน “จริงจัง” กับทุกเรื่องที่ทำเกินร้อย จึงทำให้อดที่จะคาดหวังกับตัวเองไม่ได้ และในหลายๆ ครั้งก็หยิบเอาความคาดหวังจากแฟนเพลงไปกดดันตัวเองเพิ่มด้วย แต่ทุกวันนี้ปาล์มมี่ก็พยายามจะแปลงแรงผลักเหล่านั้นให้เป็น “พลังบวก” ให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีแรงเดินหน้าต่อไป
“พลังบวกส่วนใหญ่ก็ได้มาจากมิตรรักแฟนเพลงนี่แหละค่ะ ที่เขาขับเคลื่อนเราแบบหนักๆ เลย คือเจอเราทีไรก็ถามตลอด “เมื่อไหร่มีเพลงใหม่ๆ” จนรู้สึกเหมือนเราทำอะไรผิดน่ะ (หัวเราะ) เหมือนเราไม่ออกเพลงแล้วเราผิดนี่หว่า (ยิ้ม) เราก็เลยอยากจะขยันมากๆ เลย แล้วก็อยากจะบอกให้ทราบว่า มี่ทำอยู่ตลอดนะคะ ไม่เคยหยุดเลย แต่ว่าบางทีทำแล้วมันล้มเหลว เราก็จะทำใหม่..ทำใหม่ อยู่อย่างนั้น อยากให้มันดี”
[การท่องเที่ยว พูดคุยกับชาวบ้าน ช่วยให้ชีวิตมีความสุขแบบง่ายๆ ได้อีกครั้ง]
“8 เดือน” คือระยะเวลาของความพยายาม “อยากให้มันดี” ที่ปาล์มมี่ทุ่มให้กับเพลง “นวด” อย่างที่ได้บอกไว้ หลายคนอาจสงสัยว่าเพลงแค่เพลงเดียว ทำไมต้องใช้เวลาบ่มเพาะอะไรขนาดนั้น แต่ถ้าได้รู้ว่าปาล์มมี่เป็นคนปลุกปั้น ทดลองทำมันเองในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นยันจบจริงๆ ก็คงจะหมดข้อสงสัย
“วันแรกที่มี่เริ่มต้นลงมือทำงาน มี่ทำมันด้วยความไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรสักเท่าไหร่ เหมือนกับว่าประสบการณ์ในการทำงานชุดนี้ของมี่ มี่เริ่มต้นเองซะไปส่วนใหญ่ เริ่มจากว่ามี่แค่อยากจะได้หูฟังดีๆ สักอันนึงมาฟังเพลง แล้วก็เริ่มมีลำโพง มีคอมพ์ มีอุปกรณ์ทำเพลง เริ่มแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ ที่บ้านมี่สามารถทำงานเพลงได้แบบเต็มออปชั่นเลยค่ะ (พูดไปยิ้มไป)
มี่ทำไปเรื่อยๆ เก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ เพลงเพลงนึง มี่จะฟังแล้วฟังอีก เอ๊ะ! ทำไมฟังแล้วไม่โอเค หูฟังไม่ดีหรือเปล่า เลยไปซื้อหูฟังมาใหม่ จากวันที่เริ่มผลิตงานจนถึงวันนี้ มี่มีหูฟังอยู่ 7 อันได้แล้วค่ะ (ยิ้ม) ขยับตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ปรับไปเรื่อยๆ จนทำเพลง “นวด” ออกมา 5 เวอร์ชั่นได้ แต่ก็มาสุดที่เวอร์ชั่นนี้ที่ทุกคนได้ฟังกัน
คือทุกครั้งที่ได้ทำแต่ละเวอร์ชั่น เราก็จะนึกอะไรใหม่ขึ้นมาได้เรื่อยๆ บางอันก็เวิร์ก บางอันก็ไม่เวิร์ก จนมาจบที่อะเรนจ์เมนต์ (Arrangement) ของพี่ต้าร์ Cyndi Seui เขาอะเรนจ์ออกมาจนเป็นริฟฟ์ (Riff) กีตาร์ที่เปรี้ยวมาก มี่ฟังแล้วชอบเลย มันมีกลิ่นความเป็นไทย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นสากลปนอยู่ด้วย”
ที่บอกว่ามีตัวเลือกอยู่ถึง 5 เวอร์ชั่น หนึ่งในนั้นคือเวอร์ชั่นดนตรีแนว “อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Music)” แต่สุดท้าย ความรู้สึกก็บอกกับปาล์มมี่ว่ายังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเพลงนี้ จึงถูกคัดทิ้งไป “มันอธิบายออกมาเป็นคำพูดค่อนข้างยากนะว่าแบบไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก มันแค่เราฟังแล้วรู้สึกว่าใช่ เหมือนเลือกเสื้อผ้า แค่รู้สึกว่าเสื้อตัวนี้สวย ผ้าอันนี้สวย แต่เราบอกเหตุผลไม่ได้ว่าชอบมันทำไม”
[“โรงงานปาล์มมี่” เปิดแล้วที่บ้าน เริ่มเองคุมเองทุกขั้นตอน]
ถ้าจะให้เล่าเรื่องราวเบื้องหลัง “ความจริงจัง” ของปาล์มมี่ บอกเลยว่าคงต้องใช้เวลาเล่ากันเป็นวันๆ ถึงจะแจกแจงได้หมด เพราะเธอลงรายละเอียดไปจนถึงเรื่องการเลือก “ไมโครโฟน” กันเลยทีเดียว เพื่อให้มู้ดแอนด์โทนที่ได้แตกต่างจากอัลบั้มก่อน จากเสียงร้องที่ฟังดูขุ่นๆ เน้นเสียงรูมเยอะๆ ตามสไตล์ยุค 60s ก็เปลี่ยนมาเป็นแนวเสียงใสคมชัดด้วย “บลูไมค์ (Blue Mic)”
“มี่รู้สึกว่าไมค์ตัวนี้ซัปพอร์ตเสียงมี่ได้โอเคค่ะ เพราะมี่เป็นคนเสียงบางๆ หน่อย รู้สึกว่ามันช่วยเก็บรายละเอียดได้ดี ช่วยหนุนเสียงได้หนาดี มี่ชอบ” ถามด้วยความสงสัยว่ามันเป็นหน้าที่ของศิลปินหรือเปล่า ที่ต้องพิถีพิถันถึงขั้นเลือกไมค์เองขนาดนี้ เธอได้แต่ยิ้มรับ แล้วให้คำตอบในแบบที่เป็นตัวเองที่สุด
“มี่ไม่ทราบว่าคนอื่นเป็นยังไง มันแล้วแต่เราแหละ แต่เป็นเพราะมี่ผลิตงานเองไงคะชุดนี้ มี่เลยเพิ่งมาเรียนรู้ว่ามันมีอะไรให้เลือกอีกมากมาย มี่ถึงกับนั่งรถไปบ้านพี่เจ (มณฑล จิรา) เพื่อไปลองไมโครโฟนอีกตัวนึง อยากดูว่าเราชอบไหมก่อนที่จะซื้อ เพราะตัวนึงมันก็ไม่ใช่ถูกๆ (ราคาหลักแสน) อย่างตัวที่มี่ใช้อยู่ ทาง ProPlugin เขาให้มี่ขอยืมมา และสุดท้ายเดี๋ยวมี่คงซื้อแหละ เพราะมี่ยืมมานานมากแล้ว”
ตั้งแต่เรื่องปั้นเพลงไว้ถึง 5 เวอร์ชั่น มาจนถึงเรื่องทำเพลงเสร็จแล้วต้องลองเอาไปเช็กทุกลำโพง ทั้งลำโพงเครื่องเสียงฟังในบ้าน, ลำโพงในรถ หรือแม้แต่เสียงออนแอร์ผ่านคลื่นวิทยุในวันปล่อยซิงเกิล ปาล์มมี่ให้เหตุผลสั้นๆ สำหรับความละเมียดทั้งหมดนี้เอาไว้ว่า “มันเป็นความบ้าส่วนตัวของมี่เอง โรคจิตเองแหละ (หัวเราะ)”
“มี่แค่อยากตอบแทนคนฟังด้วยสิ่งที่ดีที่สุด มี่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาให้มี่มามันเยอะมาก ให้มี่ดำเนิน “กิจการปาล์มมี่” มาถึงทุกวันนี้ คือ 16 ปีแล้วนะ (ยิ้ม) ถ้ามี่ทำอะไรที่จะตอบแทนตรงนั้นได้ มี่ก็อยากทำ ก็อยากให้รู้ไว้ว่าเสียงที่ได้ยินได้ฟังกัน มันผ่านหูมี่หลายรอบมากค่ะ ก่อนที่จะถูกปล่อยออกไป”
กระตุ้น “เส้นความสนุก” ลุกขึ้นมาทำเรื่องใหม่ๆ
["พรประภา” มิติใหม่ปาล์มมี่ผ่านละครเวที “หมู่ วาไรตี้โชว์”]
“มันช่วยให้เราชาร์จพลังบางอย่างขึ้นมาได้นะ” วัดจากประสบการณ์ตรง หลังยอมสวมบทบาทสาวผมม้า เล่นละครเวทีแนวคอมเมดี้ตามคำเชิญชวนของ “โน้ต-อุดม แต้พานิช” ใน “หมู่ไมโครโฟน วาไรตี้โชว์ อุดมและผองเพื่อน” จนทำให้ผู้คนหลงรัก “พรประภา” กันอย่างหัวปักหัวปำ ปาล์มมี่มองว่าการเปิดประตูบานใหม่ไปสู่โลกของการแสดงในวันนั้น โลกที่เธอไม่คิดอยากแตะต้องมันมาก่อน กลับกลายมาเป็นตัวช่วยสร้างสีสัน เปิดมุมมองให้ชีวิต อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้รับ
“มันทำให้เราได้ทำงานกับทีมงานกรุ๊ปใหญ่ขึ้น จากเมื่อก่อนจะทำกันอยู่ในวงแคบๆ แล้วก็ไม่ได้รู้จักใครนอกเหนือจากคนในวงการดนตรี แต่พอรู้จักกับพี่โน้ต ก็ได้รู้จักกับคนในวงการบันเทิงจริงๆ ถามว่าทำแล้วได้อะไร คงทำให้เรามีมุมมองที่ฉีกออกไปอีกเส้นทางนึงค่ะ
มี่ตัดสินใจไปทำ “หมู่” ด้วยความไว้วางใจพี่โน้ต เพราะมี่ก็ตามผลงานพี่โน้ตมาตลอด เป็นคนนึงที่ชอบฟังเขาเล่นเดี่ยวไมโครโฟนอยู่แล้ว พอวันที่เขามาชวน เราก็ตอบรับไปโดยที่ไม่ได้คิดอะไรลึกเลย คิดแค่ว่าเขาต้องทำออกมาได้ดี แค่นั้นเองค่ะ
แต่กลายเป็นว่าพอเราไม่ได้คาดหวังอะไร แล้วฟีดแบ็กกลับมาอย่างนั้น มีคนมาพูดเข้าหู เรียกมี่ว่า “พรประภา” หลังจากนั้นมาอย่างยาวนาน มี่ก็รู้สึกว่าเราตัดสินใจไม่ผิดจริงๆ ที่ไปทำงานนั้น พอได้อ่านบทที่เขาอยากให้ลองเล่น พอได้เริ่มทำก็เริ่มสนุก เริ่มไปหาผมบ๊อบมาใส่เอง แล้วก็เริ่มลามไปเรื่อย (หัวเราะ)
[ครั้งแรกของปาล์มมี่ กับการสวมบทบาท ลุยละครเวที]
“ถ้าเปิดแล้วเจอคนที่พอดีกัน ช่องทางลมเดียวกัน พูดจากันรู้เรื่องก็ดีไป แต่ถ้าบังเอิญเปิดไปเจอคนที่เรารู้สึกไม่คอนเนกต์ด้วยเนี่ย มันก็ชีวิตพังได้เหมือนกันนะ มันไม่มีกฎตายตัว”
ตอนแรกพี่โน้ตไกด์มาก่อนว่า เป็นผมม้าดีไหมมี่ มี่ก็บอกโอเคเลย เดี๋ยวลองดู ไปคุยกับพี่ช่างผมว่าให้ช่วยติดผมม้ามาให้หน่อยสัก 3-4 อัน มีสีหลายๆ แบบให้เลือก พอใส่อันนี้แล้วรู้สึกว่า “ใช่..คนนี้แหละคือพรประภา” มี่ก็เริ่มเอาตุ้มหูมาใส่เพิ่ม ใส่อะไรที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเป็น เอาให้น่าเกลียดที่สุดที่เราจะไม่มีวันซื้อของแบบนี้ (หัวเราะ) มันเหมือนเราได้ก้าวออกมาเป็นคนอีกคนนึงจริงๆ ก็ต้องขอบคุณเขาที่ทำให้เราได้เปิดประตูบานนี้ และก็ได้ลองทำอะไรสนุกๆ แบบนั้น”
การตกลงรับเป็น “ผู้ช่วยโค้ช The Voice” #ทีมสิงโต (นำโชค) ในซีซั่น 4 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสนุกที่ปาล์มมี่ยินดีอ้าแขนรับ ด้วยเหตุผลที่ไม่ซับซ้อนอะไรนัก แค่ไปทำเพราะคนที่ชวนคือคนคุ้นเคยเท่านั้นเอง
“ถ้าไม่ใช่สิงโตชวน มี่ก็อาจจะตัดสินใจอีกแบบนึง (ยิ้ม) พอดีมี่คุ้นกับสิงโต ตั้งแต่ตอนเราไปเล่นคอนเสิร์ตด้วยกันที่ซิดนีย์แล้วไงคะ มี่รู้สึกว่าการที่จะไปทำงานร่วมกับใคร ถ้าไม่รู้จักกันมาเลย มันจะอึดอัดนิดนึง แต่พอเรารู้จักกับเขามาก่อนหน้านั้นแล้ว เขาเคยมาเล่นคอนเสิร์ต Barefoot (Acoustic Concert) ของมี่ด้วย มันมีการคลุกคลี ซ้อมกัน จนเรารู้ลักษณะนิสัยของเขา รู้วิธีการพูดจาของเขา และเราก็รู้สึกว่าเราร่วมงานกับเขาได้แน่ มี่ก็เลยไปค่ะ”
ถ้าให้วัดจากความรู้สึกจริงๆ ของศิลปินสาวมาดเท่คนนี้แล้ว เธอไม่ได้มองว่าการเปิดรับเรื่องใหม่ๆ ให้แก่ชีวิตจะเป็นผลดีเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและคนที่อยู่เบื้องหลังประตูบานใหม่บานนั้นมากกว่า
“ถ้าเปิดแล้วเจอคนที่พอดีกัน ช่องทางลมเดียวกัน พูดจากันรู้เรื่องก็ดีไป แต่ถ้าบังเอิญเปิดไปเจอคนที่เรารู้สึกไม่คอนเนกต์ด้วยเนี่ย มันก็ชีวิตพังได้เหมือนกันนะ มันไม่มีกฎตายตัวหรอกค่ะ มันขึ้นอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ อาจจะเป็นแร่ธาตุ อากาศอะไรสักอย่างหรือเปล่า”
[สนิทกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กับ "สิงโต นำโชค"]
เจ้าของคำตอบแนบรอยยิ้มบางๆ ปิดท้ายประโยค ก่อนพูดถึงอีกหนึ่งมิติที่เธอกำลังสนุกที่จะเรียนรู้ นั่นก็คือเรื่องราวของ “โลกออนไลน์” ที่ศิลปินในยุคนี้จะปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งซิงเกิล “นวด” ถูกพูดถึงอย่างล้นหลามผ่านคำว่า “ยอดวิว” ด้วยยอดเข้าชมทะลุ “1 ล้านวิว” ภายใน 2 วัน และกำลังจะทะลุ 5 ล้านวิวหลังปล่อยเพลงไปได้ 3 สัปดาห์ ยิ่งทำให้ศิลปินสาวที่ไม่ค่อยถนัดโลกโซเชียลฯ เท่าไหร่อย่างปาล์มมี่ต้องพยายามปรับตัว
“ตั้งแต่มี่ทำอัลบั้มมา มี่ไม่เคยคิดว่าเรื่องยอดวิวมันสำคัญอะไรนะ และจริงๆ แล้ว มี่ก็ไม่ได้ชอบเพลงจากยอดวิว มี่ฟังเพลงเพราะมี่ชอบเพลง มี่ไม่ได้สนใจว่าเพลงนี้ยอดวิวเยอะแล้วเราต้องไปชอบ มีบางเพลงที่มี่ชอบมากแล้วคนดูหลักหมื่นเอง แต่พอมีเรื่องนี้เข้ามาในยุคนี้แล้ว มี่ก็กลายเป็น “วันนี้กี่วิวแล้วเนี่ย” (หัวเราะ)
ก็ดีใจค่ะที่กระแสตอบรับท่วมท้น คือมี่พอใจแล้วก็ชอบเพลงนี้มาก แล้วก็จั๊กจี๋ทุกครั้งที่เพลงมันยังไม่ออกไป เพราะเราอยากให้คนฟังเหลือเกิน พอเพลงออกมาแล้วยิ่งเห็นว่าเขาชอบแค่ไหน ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีแรงอยากจะไปทำเพลงที่เหลือให้เสร็จ (ยิ้มกว้าง) และมี่เริ่มรู้สึกว่ามี่เริ่มเสพติดจุดนี้แล้วด้วย ที่ทำแล้วเขาพอใจ มี่จะแบบ..โอเค เดี๋ยวมี่ทำอีก!! (ชูกำปั้นปลุกใจตัวเอง)”
“การไลฟ์ (Live)” บนเฟซบุ๊กก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่นักร้องสาวโลกส่วนตัวสูงกำลังพยายามหาจุดสมดุลอยู่ ถึงแม้ใจจริงจะไม่ค่อยถนัดการต้องมานั่งเปิดเผยตัวตนต่อหน้าสาธารณชนสักเท่าไหร่ แต่สุดท้ายเธอก็ยอมทุบกำแพงของตัวเองบางส่วนลงไป
“ใจจริงแล้ว มี่ก็อยากจะขืนจุดนี้เอาไว้ เพราะว่าเราก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่ก็พยายามนะคะ เพราะมี่ก็เห็นว่าการไลฟ์มันทำให้คนที่อยู่ต่างจังหวัด หรือคนที่เขาไม่ได้มาอยู่ใกล้ๆ เรา ไม่ได้ตามมาดูคอนเสิร์ต เขาสามารถมาเจอเราได้ ถ้าเราสามารถทำให้เขาอุ่นใจได้ มี่ก็รู้สึกดี”
เห็นได้ชัดว่า “การเติมความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน” คือเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่ปาล์มมี่ให้น้ำหนักในชีวิต เพลงให้กำลังใจจึงเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวในงานเพลงชุดใหม่ที่เธออยากนำเสนอ โดยเปรยเอาไว้เบาๆ ว่าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ซิงเกิลที่ 2 ที่กำลังจะปล่อยในอีกประมาณ 5 เดือนถัดจากนี้ จะพูดถึงพาร์ตความรู้สึกลึกๆ เหล่านั้นที่เธออยากถ่ายทอด
“เพลงที่ 2 ที่มี่จะปล่อย มันพูดถึงเรื่องเนื้อลึกของจิตใจ มันเป็นอะไรที่ถ้ามี่ไม่พูดถึง มี่คงแย่ (ยิ้มบางๆ) เพลงนี้ใช้เวลาเขียนนานเหมือนกันค่ะ ประมาณ 2 ปีได้ แล้วก็ใช้คนเขียนค่อนข้างเยอะ ถ้ารวมมี่ด้วยก็เป็น 4 คน ถือเป็นเพลงที่เป็นแรงขับเคลื่อน เป็นประกายไฟที่ใหญ่ที่สุดในการเคลื่อนชุดนี้ไปข้างหน้า
ที่อยากสื่อสารเรื่องนี้ เพราะมี่คิดว่าชีวิตทุกคนต้องการกำลังใจและการสนับสนุน นอกจากครอบครัวที่เป็นกองหนุนหลักสำคัญ มี่ว่าเพลงมันก็สามารถไปแตะจิตใจตรงนั้นของคนอื่นได้เหมือนกัน มี่มีหน้าที่สื่อสาร มี่ก็อยากจะพูดเรื่องนี้ อยากมีเพลงที่เอาไว้ปลอบใจใครได้บ้าง
หรือเอาไว้ปลอบใจตัวเองในวันที่เราต้องการ ในวันที่เราร้องเพลงนี้อยู่ วันที่เราคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เราก็สื่อสารออกไปได้จริงๆ ว่าเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว มันคือการกลั่นกรองเอาส่วนหนึ่งของจิตใจมี่ไปอยู่ในเพลงนั้นด้วยเหมือนกัน”
ซิงเกิล VS อัลบั้ม ถ้าให้พูดถึงการปล่อยเพลงตามระบบซิงเกิล มี่มองว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียเลยค่ะ ข้อดีก็คืออย่างครั้งนี้ ฟีดแบ็กดี มี่ก็ได้กำลังใจเยอะมาก พอจบงานแถลงข่าว มี่ไม่ออกจากบ้านเลย นั่งทำเพลงต่อไป (ยิ้ม) พอทำอะไรออกมาด้วยความตั้งใจมากๆ แล้วคนสัมผัสได้ เราจะมีแรงขับเคลื่อนให้รู้สึกว่า เราคิดเราทำมันถูกต้องแล้วล่ะ แต่ข้อเสียที่มี่รู้สึกก็คือ มี่รู้สึกกดดัน (สีหน้าครุ่นคิด) แล้วถ้าเพลง 2 (ที่จะปล่อยตามมา) มันไม่ได้ตอบโจทย์คล้ายๆ กับเพลงแรก เขาจะรู้สึกอะไรไหม ผิดหวังหรือเปล่า... แต่ก็พยายามไม่เอามาแบกให้ทิศทางอัลบั้มของมี่มันเฉไฉไปเรื่อย ก็พยายามจะยึดอารมณ์เดิมว่าแกนหลักของมันคืออะไร ส่วนเรื่อง “Hidden Track” ที่อยู่ในอัลบั้มมันก็ไม่ได้หายไปค่ะ การมีระบบซิงเกิลไม่ได้หมายความว่าเขาจะโปรโมตทั้งหมด 10 เพลงในอัลบั้มถูกไหมคะ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายด้วยซ้ำ เพราะเพลงทุกเพลงเราก็ตั้งใจทำเหมือนกันหมดแหละ บางเพลงเราอยากหยิบขึ้นมานำเสนอด้วยซ้ำ อย่างเพลง “Butterfly” (ในอัลบั้มไฟว์) แต่มันก็ไม่ได้ถูกเอามาทำมิวสิกวิดีโอ ไม่ได้ถูกเอามาแชร์เยอะๆ ให้รู้ว่าเราอยากพูดถึงการให้กำลังใจคนที่กำลังผิดหวัง [เพลง "Butterfly" กับเรื่องราวการให้กำลังใจที่ปาล์มมี่พูดถึง] มี่คิดว่าระบบซิงเกิล ข้อดีที่มี่จะได้เปรียบก็คือ เพลงจะถูกหยิบออกมาวางเอาไว้แบบให้ความสำคัญเท่าๆ กัน แต่สุดท้ายพอมันออกมาเป็นอัลบั้ม ก็จะมีบางเพลงแหละที่คุณต้องไปหาฟังเอาเอง จากการที่คุณตามนักร้องหรือวงไหน และสนใจที่จะซื้ออัลบั้มนั้นเก็บไว้ มันก็จะมีบางเพลงที่พูดเรื่องบางเรื่องที่มันส่วนตัวมากๆ ซึ่งแฟนเพลงก็จะยังได้รับจุดนั้นอยู่ แต่สุดท้ายแล้ว ยังไงมี่ก็ต้องทำออกมาเป็นอัลบั้มอยู่ดี เพราะมี่โตมากับการทำอัลบั้ม ยังไงมี่ก็ต้องโหยหาการทำให้มันจบเป็นอัลบั้มไป มี่คิดว่าการออกเป็นอัลบั้มมันจะทำให้ชิ้นงานถูกพูดถึงได้ในหลายๆ แง่มุม ในหลายๆ เลเยอร์ (Layer) ที่มันอยู่ในหัวใจของเรา |
“Genie Records” ค่ายนี้เลือกไม่ผิด! ["นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล" เจ้าของบ้านหลังใหม่ของปาล์มมี่ ภายใต้ชายคาแกรมมี่] ขอบคุณ “พี่นิค (วิเชียร ฤกษ์ไพศาล)” มากค่ะที่ชวนมี่มาอยู่จีนี่ มี่คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเลย ณ วันนี้นะ ทีมงานที่นี่อบอุ่น ย้อนกลับไปให้นึกถึงบรรยากาศของชุดแรก (ยิ้ม) มีทีมซัปพอร์ตในพาร์ตที่เราไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ในเรื่องของการโปรโมตที่อยู่ไกลตัวมี่พอสมควร พอมีคนดูแลหลังมี่ให้ได้ ก็ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจค่ะ ตั้งแต่วันที่เข้ามาอยู่ พี่นิคและลูกทีมในบ้านทั้งหลังดูแลมี่ดีมากแบบครอบครัวเลย มีอะไรก็พูดคุย พยายามสื่อสารกับมี่มากที่สุดในทุกๆ เรื่อง ให้ความรู้สึกว่าเราเป็นทีมเดียวกัน ทำงานกันแบบแมนๆ คุยกันแล้วก็ลุยเลย ที่สำคัญ เขาให้อิสระเราในการทำเพลงแบบเต็มที่ ศิลปินในค่ายนี้ส่วนใหญ่ เท่าที่พี่นิคเล่าให้มี่ฟัง ทุกคนจะดูแลผลงานของตัวเอง ทำเสร็จแล้วค่ายก็มีหน้าที่ผลักในสิ่งที่เราเป็นนั่นแหละออกไป มี่เลยคิดว่ามันก็ตรงกับสิ่งที่มี่กำลังทำอยู่ และพี่นิคเองก็ซัปพอร์ตมี่ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องงาน แต่ยังมาพูดคุย มีการเล่าความคืบหน้าของความเป็นไปในยุคนี้ด้วยว่า เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้แล้วนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่มี่ไม่ทราบ ก็รู้สึกดีค่ะ รู้สึกสนุกที่ได้ทำงานเป็นทีม |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่องและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร, กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพ: fb.com/PALMY5, fb.com/genierecords และ IG @palmy.ig
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754