“ยังไม่มีใครบ้าลงทุนทำแบบนี้ในเมืองไทยเลย!!” หัวเรือโปรเจกต์ “คอนเสิร์ต Exclusive ระดับ Premium” อย่าง “พีธ-พีราวัชร์” แน่ใจว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้คือมิติใหม่ของความบันเทิง ด้วยสเกลการแสดงสดแค่ 450 ที่นั่ง แต่กลับทุ่มงบอลังการถึงหลัก 10 ล้าน เพื่อกรุยทาง-ประกาศเปิดตัวให้บริษัท ก้าวไปสู่ “เจ้าแห่ง Showbiz มือใหม่” ที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้!!
ประกาศศักดา! คอนเสิร์ตหรูสไตล์ Exclusive
[“GSB 2 Tone Concert” ตอน Magical Love Tunes “พีธ-พีระ พบ บุรินทร์”]
“เพราะถ้าไม่ทำคอนเสิร์ตแบบ exclusive ไปเลย เราก็จะมีคู่แข่งเยอะกว่านี้อีกครับ” นี่คือเหตุผลที่ทำให้ศิลปินในคราบนักบริหาร “พีธ-พีราวัชร์ อัศววชิรวิท” หรือ “พีธ-พีระ” ชื่อเดิมที่หลายคนคุ้นเคย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ขับเคลื่อนโปรเจกต์ใหญ่ในเครือ “บริษัท โมโน กรุ๊ป” ครั้งนี้
เพื่อกรุยทางสร้างทำเลทองบนอาณาจักรของตัวเอง พีธบอกว่าบิ๊กใหญ่ของบริษัท ถึงกับมีนโยบายลงมา ให้ทุ่มงบลงทุนหนักถึงหลัก 10 ล้าน เพื่อเนรมิต “สตูดิโอ Mono 29” ให้กลายเป็น “ฮอลล์คอนเสิร์ตที่เล็กแต่หรูที่สุดของเมืองไทย” โดยใส่เกียร์เดินหน้าให้เขาเป็นผู้ดูแลโปรเจกต์อย่างเต็มตัว
ประเดิมกันด้วยคอนเสิร์ตแรก “GSB 2 Tone Concert” ที่จับ “2 ขั้ว ศิลปินตัวพ่อ” มาเจอกันถึง 7 คู่ ซอยย่อยออกเป็น 7 คอนเสิร์ต คอนเสิร์ตละ 2 รอบ เริ่มตั้งแต่ “พีธ-พีระ กับ บุรินทร์”, “เบน-ชลาทิศ กับ วง B5”, “ป๊อป-ปองกูล กับ บอย-ตรัย”, “ธีร์-ไชยเดช กับ เล็ก Greasy Café”, “Polycat กับ วง Boom Boom Cash”, “ป๊อด โมเดิร์นด็อก กับ สิงโต นำโชค” และ “Room39 กับ สงกรานต์ The Voice”
จัดหนักจัดเต็มขนาดนี้ แอบกระซิบมาว่าหวังให้คืนทุนสถานที่ที่ทุ่มลงไปภายใน 1 ปีถัดจากนี้ คือถ้าสามารถจัดคอนเสิร์ตในฮอลล์ที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษนี้ได้ ไม่ต่ำกว่า 20 คอนเสิร์ตต่อปี แสงสว่างที่รออยู่ปลายอุโมงค์ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเกินไปนัก บนเส้นทางสาย showbiz ที่กำลังจะมุ่งไป
“ทางโมโนฯ มีสตูฯ ของตัวเองอยู่แล้ว จะทำยังไงให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ผมเลยเสนอไปว่าขอ 1 ฮอลล์ไปทำคอนเสิร์ตเลยได้ไหม เป็นฮอลล์เล็กที่จุคนได้ 450-500 คน แต่เนื่องจากโลเกชันมันค่อนข้างไกล ก็เลยคิดว่าจะทำคอนเสิร์ตตรงนี้ได้ คงต้องจัดแบบ exclusive เท่านั้น เลยสรุปกันว่าจะทำฮอลล์นี้ให้กลายเป็นฮอลล์คอนเสิร์ตแบบ exclusive ระดับ premium ของประเทศ
ถามว่ามัน premium ยังไง คือทั้ง 3 ด้านของคอนเสิร์ต (ยกเว้นด้านหลัง) ทั้งหมด 270 องศา จะล้อมด้วยจอ LED เป็นสเกลที่ยังไม่มีใครบ้าลงทุนทำในเมืองไทยเลย ภาพที่เห็นแต่ละคอนเสิร์ตก็จะแตกต่างกันไป แล้วแต่การออกแบบ ทำให้สามารถเสกเวทีออกมาให้เป็นอารมณ์ไหนก็ได้ ซึ่งก็ถือเป็นการทำฮอลล์ระดับ premium แบบถาวรเลยครับ นอกจากเอาไว้ใช้ในงานคอนเสิร์ตแล้ว ยังใช้จัดงานอีเวนต์อย่างอื่นได้ด้วย”
อะไรทำให้โมโนฯ เสนอตัวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในธุรกิจดนตรี ทั้งๆ ที่เส้นทางสายนี้มีส่วนแบ่งการตลาดมากยิ่งกว่ามากเสียอีก ในฐานะ “Music Creator” ของโปรเจกต์นี้ พีธตอบเลยว่ามันคือเรื่องความอยู่รอดของศิลปิน
“ไม่ว่าจะเป็น showbiz หรือ show live ในร้านอาหาร ตามผับ-ตามบาร์ มันคือ 90 เปอร์เซ็นต์ที่ทำให้ศิลปินอยู่ได้ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องการถ่ายแบบ-รับเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ นอกนั้น รายได้จากการดาวน์โหลดก็แทบจะเหลือ 0 พูดถึงรายได้ส่วนแบ่งจาก Youtube ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เว้นเสียแต่จะได้หลักล้านหรือ 10 ล้านวิวขึ้นไป แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าได้เงินเยอะด้วยนะครับ
เราไม่ได้มองแค่ทำคอนเสิร์ตเพื่อการขายบัตรอย่างเดียว เวทีนี้-ฮอลล์นี้ ผมได้ไอเดียมาจากการไปดูพี่ๆ วง “อินคา” จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่ร้านอาหารกึ่งผับร้านนึง ขายบัตร 1,000-1,500 รวมค่าโต๊ะ-ค่าเหล้า เฉลี่ยแล้วตกคนละ 2,000 บาท ในสเกลคนดู 200-400 คน ซึ่งถ้าเทียบกับการมาเช่าสตูดิโอที่ความจุเท่าๆ กัน ราคาบัตรก็ไม่ต่าง แถมยังจะได้ดูคอนเสิร์ตเฉพาะเลยจริงๆ ด้วย เลยคิดว่ามันก็น่าจะเป็นทางออกอีกทางของศิลปินที่อยากมีเวทีเป็นของตัวเอง เพราะถ้าเทียบกับแฟนคลับของศิลปินแต่ละท่าน จำนวน 400-500 ที่นั่งนี่มันเล็กน้อยมากเลย
เราเลยไม่มองว่ามันเป็นเรื่องน่ากลัวเลยครับ ที่ทางโมโนฯ จะผันตัวมาเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตอย่างเต็มตัวอีกราย เพราะเราไม่ได้กะมาแข่งขันกับใคร เราแค่เข้ามาร่วมแชร์ตลาดในสเกลที่ต่างจากเจ้าอื่นๆ เขา ถ้านับจากวันที่จะมีคอนเสิร์ตครั้งแรกครั้งนี้ไป คือวันที่ 11 มิ.ย.นี้ (“GSB 2 Tone Concert” ตอน Magical Love Tunes “พีธ-พีระ พบ บุรินทร์”) ผ่านไปปีนึง ก็น่าจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนแล้วว่า เราจะไปทางไหนต่อได้อีก”
“Festival” เสี่ยงน้อย แต่ขอลุย “Showbiz”
["เล็ก Greasy Cafe' ศิลปินสายติสต์ หนึ่งในคู่ 2 Tone ครั้งนี้]
“ต้องมองแยกกันก่อนนะครับ เพราะ festival (เทศกาลดนตรี) กับ Showbiz มันไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่แน่ว่าปีหน้า เราอาจจะมี festival ของโมโนฯ บ้างก็ได้ (ยิ้ม)”
ทันทีที่ถูกถามถึงคู่แข่งบนเส้นทางธุรกิจดนตรี โดยเฉพาะอีเวนต์และคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาอย่างมากมายทุกวันนี้ พีธก็เริ่มวิเคราะห์ผ่านมุมมองของเขา โดยมองว่าเทศกาลดนตรีที่จุคนเอาไว้ได้มากกว่า ดูเหมือนจะจัดการยากกว่า แต่แท้จริงแล้วกลับเสี่ยงน้อยกว่าการบุกตลาด showbiz อย่างที่กำลังเริ่มทำกับโปรเจกต์ exclusive คอนเสิร์ตระดับ premium ครั้งนี้เสียอีก
“ถ้ามองเรื่องธุรกิจ ทำ festival อาจจะง่ายกว่า เพราะลงทุนทำครั้งเดียวอาจจะคุ้มทุนไปเลย สมมติเราขายตั๋ว 1,500 คูณเข้าไป 10,000 คน ก็ได้เงินคืนแล้ว หักค่าใช้จ่ายก็จะเหลือกำไร เทียบกับการทำ Showbiz ในสเกลเล็กๆ แบบ exclusive แบบนี้ ถ้าไม่แน่พอ คุณเจ๊งตั้งแต่ครั้งแรกแน่นอน
อย่าลืมว่าระหว่างทำคอนเสิร์ตที่มีคนดู 1,500 กับ 450 คน ค่าจัดการทุกอย่างต้องออกพอๆ กัน ทั้งค่าลิขสิทธิ์เพลง, ค่าตัวศิลปิน, ค่าอุปกรณ์ทุกอย่าง ฯลฯ เพราะฉะนั้น ทำ festival มันเสี่ยงน้อยกว่าด้วยซ้ำครับ แต่ทำไมเราถึงเลือกทำตัวที่เสี่ยงมากกว่า เลือกทำ showbiz เพราะเรามองว่าควรจะเริ่มทำจากเล็กไปใหญ่ก่อน มันถึงจะไปได้
คือตอนนี้มีฮอลล์ของตัวเองแล้ว มีอุปกรณ์ มีทรัพยากรคน มีสื่อในมือครบ แต่สิ่งที่ขาดก็แค่ประสบการณ์ เราก็เลยต้องเริ่มทำจากเล็กๆ แล้วสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ปีนี้เรายังใหม่ แต่ปีหน้าเราอาจจะแข็งแรงไม่แพ้ที่อื่นแล้วก็ได้ ตัวผมเองก็อยู่ในฐานะศิลปินมานานพอสมควร มีโอกาสได้ขึ้นเล่น festival มาแล้วเยอะแยะมากมาย ทำให้รู้ว่าแต่ละจุดที่จะทำมันคืออะไร และเราจะทำมันออกมาแบบไหนเพื่อให้แตกต่าง”
เรื่อง “สคริปต์” ก็เป็นอีกช่องโหว่หนึ่งที่ศิลปินมาดนุ่มหนุ่มเนี้ยบรายนี้มองว่า ทำให้บางคอนเสิร์ตไม่ไหลลื่นหรือไม่ช่วยผลักอินเนอร์ในตัวศิลปินออกมาเท่าที่ควร “บางทีการเรียงเพลงหรือการเรียบเรียงของ Music Director อาจจะไม่ถูกใจเรานัก คือเวลาคนดูแฮปปี้ เราก็แฮปปี้นะ แต่บางครั้งศิลปินก็ต้องถูกจับไปวางในอะไรบางอย่างที่มันไม่ใช่ตัวตนของเรา ก็เลยถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่คนเป็นศิลปินจะได้เจออยู่บ่อยๆ”
เพื่อให้ปัญหาเดิมๆ ในใจศิลปินคลี่คลายลงไป พีธจึงสร้างระบบคอนเสิร์ตของตัวเองขึ้นมาใหม่ คือทำให้ทั้ง 3 มุมมองความต้องการ ตั้งแต่มุมของศิลปิน, ผู้จัด และคนดู มาเจอกันในจุดที่สมดุลที่สุด โดยยึดเรื่องความต้องการของศิลปินเป็นแรงผลักสำคัญที่จะทำให้โชว์ทุกอย่างออกมาเป็นตัวของเขาให้ได้มากที่สุด
“เราเลือกเอาผู้จัดมาคุยกับศิลปิน ให้รู้สึกแฮปปี้ทั้ง 2 ฝ่ายก่อน พอตกลงกันได้ ทำโชว์ออกมา ผมเชื่อว่าเดี๋ยวคนดูก็แฮปปี้ตามได้เอง ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่าเป็นจุดที่ทำให้เราต่างจาก showbiz อื่นๆ คือเราให้ศิลปินแต่ละท่านที่มา มีสิทธิออกไอเดียได้เต็มที่ว่าเขาอยากให้โชว์ของเขาเป็นยังไง แล้วค่อยหยิบมาเจอกับไอเดียจากฝั่งผู้จัดให้มันลงตัวที่สุด
["เบน ชลาทิศ" กับคอนเสิร์ตเพลง Side B เร็วๆ นี้!!]
ผมยกตัวอย่างคอนเสิร์ต “เบน-ชลาทิศ” กับ “B5” แล้วกันนะครับ เพราะเป็นคอนเสิร์ตการกุศลของโปรเจกต์นี้ อย่างตัวเบนเอง เขาบอกว่าเขาอยากทำ “คอนเสิร์ตเพลง Side B” ของเขา คือเพลงที่คนอยากจะฟังเขาร้อง แต่ไม่ค่อยได้ฟังจากที่ไหน ซึ่งเขาก็ถามแฟนๆ เขาแล้วประมาณนึง แล้วก็มาบอกเรา เมื่อเขาอยากได้แบบนั้น เราก็โอเค ให้เบนส่งเพลงมา จะได้ไปเตรียมทำ motion ทั้งหมดให้ถูกต้อง
เราให้เขาบอกไอเดียมา แล้วเราค่อยมาคิดกรอบต่างหากครอบอีกทีได้ แต่ที่สำคัญเราต้องฟังเขาก่อน แล้วค่อยมาตกลงกัน ถ้าลิสต์เพลงของเขามันสุดโต่งเกินไป ก็อาจจะต้องตกลงกับเบนว่าให้เขาลดๆ ลงมาหน่อยได้ไหม ให้มีเพลง Side A ให้มีเพลงฮิตเพิ่มขึ้นอีกนิดนึงได้ไหม (ยิ้ม) แต่ก็ยังพยายามยึดที่เขาแฮปปี้ที่สุดก่อน
หรืออย่างคู่ของ “พี่โอ๋ (ธีร์ ไชยเดช)” กับ “พี่เล็ก Greasy Café” เขาก็ติสต์กันทั้งคู่นะ (หัวเราะ) แต่เราก็หาทางออกกันได้ ผมให้โจทย์เขาไป แล้วสุดท้ายก็ให้เขาไปนั่งคุยกันเอง
จะมองว่ามันเป็นความได้เปรียบก็ได้ครับ เพราะเราก็เป็นศิลปินมาก่อน แล้วก็ยังเป็นอยู่ด้วย (ยิ้ม) เลยคิดว่าเพื่อนศิลปินที่เชิญมา ก็ไม่น่าจะคิดต่างจากเรามากนักหรอก เวลามาทำงานตรงนี้ ต้องมองแยกกันระหว่าง การจัดการในฐานะ “ผู้บริหาร” หรือจัดการแบบ “ศิลปิน”
ถ้าเป็นนักบริหาร จะจัดคอนเสิร์ตขึ้นมาครั้งนึง เขาก็ต้องมองเรื่อง mass ไว้ก่อน ดูว่าต้องเลือกคนที่ขายได้มาเล่นคอนเสิร์ต แล้วค่อยมามองเรื่องความชอบของเราทีหลัง แต่ถ้าจัดการแบบศิลปิน เราจะเลือกคนที่เราชอบเท่านั้นมาขึ้นคอนเสิร์ต ซึ่งความชอบนั้นก็ไม่ใช่สำหรับผมคนเดียว แต่เป็นความชอบที่เกิดมาจากผมและทีมงาน แล้วก็คิดว่าหลายๆ คนก็น่าจะชอบด้วย
เช่น ถ้าเราชอบ พี่โอ๋, ชอบพี่เล็ก (Greasy Cafe'), ชอบฮิวโก้, ชอบปาล์มมี่ ฯลฯ เราก็จะไม่มองเรื่องความ mass หรือมองเรื่องการขายเป็นหลักเลย แนวทางคอนเสิร์ตที่เรากำลังทำ มันก็คือการรวมเอา 2 มุมมองไว้ด้วยกัน คือมองทั้งจากมุมนักบริหารและศิลปิน”
โละทิ้ง! ความผิดหวังในคอนเสิร์ตแบบเดิมๆ
“ซาวนด์” คือเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับการจัดคอนเสิร์ต แต่น่าแปลกที่ธุรกิจการแสดงสดในไทย กลับมีผู้จัดหลายๆ รายตกม้าตายในข้อสำคัญข้อนี้ ลองให้ศิลปินมากประสบการณ์อย่างพีธช่วยวิเคราะห์ถึงสาเหตุของข้อบกพร่องว่าเป็นเพราะอะไร เขาได้แต่ยิ้มรับบางๆ แล้วตอบว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ “สถานที่จัด” ที่ไม่รองรับระบบเสียงที่ดีที่สุด
“ที่ขาดไม่ได้คือ ต้องคำนวณเรื่องสถานที่ที่จัดงานด้วยครับ ยกตัวอย่างการจัดคอนเสิร์ตที่ “เขาใหญ่” ผมมองว่าพื้นที่ตรงนั้นมันล้อมด้วยภูเขา พอจัดหลายเวทีเข้า เสียงมันก็ตีกัน เพราะสถานที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้เสียงเคลียร์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
หรืออย่างบางงาน ช่วง 2-3 ปีแรก เขาเลือกจัดในแอ่ง เสียงมันก็ตีกลับไปมา แต่พอย้ายที่ไปอยู่ในที่ราบ เสียงก็ดีขึ้น คือทุกอย่างมันอยู่ที่การคำนวณและความใส่ใจของผู้จัด ไม่ใช่ว่าได้สถานที่ดีและถูก แล้วก็ทำเลย มันต้องคำนวณหลายๆ อย่าง
["สงกรานต์ The Voice" เตรียมปะทะ "Room39"]
ถ้าเทียบกับต่างประเทศ คอนเสิร์ตส่วนใหญ่เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องเสียงมาก เพราะถือว่าเป็นการให้เกียรติศิลปิน ให้เกียรติคนที่มาชม เขาจะมองคุณภาพมาก่อน ซึ่งก็จะต่างจากบางเจ้าในไทย แต่ส่วนใหญ่ ผมยังมองว่ามีที่ดีๆ มากกว่าไม่ดีนะ”
ที่เป็นปัญหามากในช่วงหลังๆ คือการจัด “คอนเสิร์ตรุกธรรมชาติ” ตระเวนหาที่ตั้งเวทีท่ามกลางป่าเขา หรือแม้แต่พื้นที่อุทยานในโซนต้องห้ามก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เกี่ยวกับเรื่องนี้โปรดิวเซอร์หนุ่มผมยาวมองอย่างเข้าใจและไม่อยากโทษใคร เพราะถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้จัดต้องพยายามเสาะหาสถานที่ใหม่ๆ เพื่อนำเสนอจุดขายที่แตกต่าง จนอาจทำให้ลืมนึกถึงผลกระทบต่อสังคมไป
ถ้าวันหนึ่งทางโมโนฯ มีโอกาสจัดเทศกาลดนตรีของตัวเองบ้าง ถามว่าผู้ดูแลโปรเจกต์งานแสดงดนตรีสดของค่ายโมโนฯ อย่างพีธจะมีวิธีรับมืออย่างไร เขานิ่งคิดพักหนึ่งก่อนให้คำตอบด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ ว่า “ทะเล” คือสถานที่สุดท้ายที่เขาจะเลือกเป็นโลเกชั่น
“อันดับแรก ผมต้องเลือกที่ที่ไม่ใช่ริมทะเล เพราะมันควบคุมยาก ถ้าขยะลงไปในน้ำ มันก็เกยตื้นไปไหนก็ไม่รู้ เก็บไม่ได้ แต่ถ้าจัดอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว เช่น งาน Silverlake (Music Festival) ที่จัดบนไร่องุ่น ไม่ต้องขึ้นเขา ส่วนล่างก็เป็นพื้นที่ราบ จัดการได้ เสียงเคลียร์ ก็เป็นรูปแบบที่โอเคนะ
เราต้องดูหลายๆ อย่างประกอบกัน สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับระบบจัดการ ผมไม่ได้ต่อต้านการจัดคอนเสิร์ตนอกสถานที่ ถ้าการจัดการดี, ศิลปินดี, ไม่ทำลายธรรมชาติ ใครๆ ก็อยากไป..จริงไหม”
“คาดเดาได้ง่ายเกินไป” คืออีกหนึ่งองค์ประกอบที่พีธไม่อยากให้เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตภายใต้การดูแลของเขา “ปกติแล้ว เวลาคนดูคอนเสิร์ตผม ก็คงได้เห็นผมร้องเพลงช้าซะส่วนใหญ่ หรืออาจจะมีร้องเพลงคนอื่นอีกนิดหน่อย แต่ครั้งนี้ เราต้องการทำให้มันแตกต่างออกไป คือจับผมกับบุรินทร์มาเจอกัน แล้วให้มาทำอะไรที่จะไม่ได้เห็นได้ง่ายๆ จากที่อื่น
ผมอาจจะไปร้องเพลง “รักที่เพิ่งผ่านพ้นไป” ของพี่บุรินทร์ ให้เป็นโทนเวอร์ชันดรามาในแบบของผมก็ได้ หรือให้พี่บุรินทร์มาร้องเพลงผม อะไรก็เกิดขึ้นได้หมด อย่างที่บอกว่ามันคือความ exclusive ที่จะได้จากคอนเสิร์ตของเราเท่านั้น
ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากในฐานะผู้จัดครั้งนี้ แค่อยากให้คนที่มาดูคอนเสิร์ตรู้สึกมีความสุขและไม่เสียดายเงิน การเสียเงิน 2,000-3,000 บาท มันไม่ใช่ถูกๆ นะ มันแพงเหมือนกัน ผมก็เลยแค่หวังว่าจะทำให้เขารู้สึก “ไม่เสียดายเงิน” ให้ได้ก่อน อย่างน้อยแสง, เสียง, feeling, ความสนุกต้องได้ โดยเฉพาะเรื่องเสียงที่สำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้นจะเป็นคอนเสิร์ตได้ยังไง
ทั้งเรื่องโปรเจกต์คอนเสิร์ตในครั้งนี้ และโปรเจกต์ “Pitchs Music” ที่ผมกำลังปลุกปั้น ชวนศิลปินหลายๆ คนมาทำเพลงแนวใหม่ๆ ชวน “น้องหมิว” วง Boom Boom Cash มาทำแนว Adele, ชวน “โทนี่ ผี” มาทำเพลงให้แว้นกว่าเดิม เอาให้มันสุดทางไปเลย แล้วก็ชวน วง “Mocca Garden” แนวเรกเก้สกา มาทำให้เป็นแนว Bruno Mars ให้เพลงมันดูมีชั้นเชิงมากขึ้น
ผมกำลังพยายามทำสิ่งที่แตกต่างให้กับวงการนี้อยู่ครับ แต่มันต้องใช้เวลา ผมแค่อยากเดินไปข้างหน้า ถึงจะเดินช้าหน่อย แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่ามันจะไม่ใช่การเดินถอยหลังอย่างแน่นอน”
ความสุขของ “เพลง Side B” ผมเชื่อว่าศิลปินหลายๆ คน เขาก็อยากร้องเพลง Side B ของตัวเองนะ เพียงแต่ศิลปินกับผู้จัดเป็นคนละคนกัน ผู้จัดเคยฟังแต่ Side A ขอเหอะ ร้องเพลงนี้ ชอบเพลงนี้ ก็เลยทำให้ศิลปินขัดไม่ได้ อันนี้เป็นจุดสำคัญเลย เพราะผู้จัดหรือลูกค้าขอมา ปฏิเสธก็ไม่ได้เพราะเขาเป็นเจ้าของเงิน เว้นเสียแต่ว่าศิลปินจะตกลงกับผู้จัดได้ ทำคอนเสิร์ต Side B เลยสิ ราคาไม่ต้องแพงมากก็ได้ แต่มาคุยกันได้ว่าราคาเท่าไหร่ มาในสเกลเล็กๆ แต่ได้คุณภาพ ได้เวทีที่ดีที่สุดไม่แพ้ใคร นี่แหละที่จะเริ่มสร้างความแตกต่างได้ ถ้าให้พูดถึงเพลง Side B ของตัวเอง น่าจะเป็นเพลง “ความรักไม่ใช่ทุกสิ่ง” ครับ มันจะคล้ายๆ เพลงเพื่อชีวิตของผม (ยิ้ม) ผมชอบเพลงนี้มาก เคยเอาไปร้องงานจ้างอยู่จังหวัดนึง จำไม่ได้แล้ว ก็ร้องกันไม่ได้ทุกคนหรอกนะ แต่มีบางกลุ่มที่ร้องได้ ทำให้เรารู้สึกว่าประทับใจจังเลย มันก็ไม่ใช่เพลงฮิตติดหู ไม่ใช่เพลงดัง แต่ยังมีคนร้องได้และชอบตั้งแต่ต้นจนจบ ในฐานะศิลปิน ผมว่ามันโคตรมีความสุขเลยที่ได้ร้องเพลง Side B ของตัวเอง โคตรมีความสุขเลยเวลาเห็นคนร้องเพลงของเราด้วยแววตาแบบนั้น กับเพลงที่ไม่ใช่เพลงฮิตของเรา มันเหมือนความตื่นเต้นครั้งใหม่ ไม่ใช่แค่สำหรับศิลปินนะผมว่า แต่สำหรับคนดูด้วยเหมือนกัน |
“2 Tone” ปรากฏการณ์ “ตัวพ่อ” ปะทะกัน!! [บุกตลาด showbiz ด้วยโปรเจกต์แรก “GSB 2 Tone Concert”] คำว่า “ทูโทน (GSB 2 Tone Concert)” คืออะไร มันก็คือ 2 ขั้วที่แตกต่างมาเจอกันครับ ครั้งแรกจะเป็นการมาพบกันระหว่างผมกับพี่บุรินทร์ (บุญวิสุทธิ์) ซึ่งเป็นคนละแนว พี่บุรินทร์จะเป็นแนวดิสโก้มาเลย ส่วนผมจะเป็นแนว Drama Song พอมาเจอกัน มันก็จะเกิดอารมณ์ต่างขั้ว แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เราเป็น “เจ้าพ่อเพลงรัก” เหมือนกัน (ยิ้ม) ครั้งต่อไปเป็น “เบน (ชลาทิศ ตันติวุฒิ)” กับ “B5” ซึ่งครั้งที่ 2 นี้จะพิเศษตรงที่รายได้ทั้งหมดทั้ง 2 รอบ มอบให้ “องค์การเอดส์โลก” เป็นการกุศล 100 เปอร์เซ็นต์เลย ซึ่งเบนเขาเป็นทูตของทาง UN ตรงนี้อยู่ด้วย ความเป็นทูโทนรอบนี้เลยพิเศษหน่อยตรงที่เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ “2 Give (for people)” ถามว่ามันพิเศษตรงไหน ถ้าลองสังเกตให้ดีจะรู้ว่าเป็นคอนเสิร์ตที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะวง “B5” ปกติแล้วจะดูได้ ต้องเป็น BEC Tero เท่านั้นเป็นคนจัด เพราะมีเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ครั้งนี้จัดได้เพราะเป็นการกุศลทั้งหมด เลยเป็นครั้งที่จะได้เห็นเพลงหาฟังยากจากพวกเขาอยู่ในคอนเสิร์ตนี้แน่นอน [โฉมหน้าศิลปินที่จะได้ประเดิม “ฮอลล์หลัก 10 ล้าน” ก่อนใครเพื่อน] ส่วนรอบถัดไปก็เป็น “ป๊อบ (ปองกูล สืบซึ้ง)” กับ “บอย (ตรัย ภูมิรัตน์)” ซึ่งเป็น 2 ขั้วไซส์ใหญ่มาเจอกัน เป็น entertainer คนละยุค คือป๊อบเป็นตัวแทนจากยุคปัจจุบัน ส่วนพี่บอย อย่าลืมว่าเขาเคยเปิด talk show ของตัวเองด้วย คู่นี้ก็เลยเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก จะมีทั้งการคุยและการร้องเพลง ถัดจากนั้นจะเป็นรอบของ “พี่โอ๋ (ธีร์ ไชยเดช)” กับ “เล็ก Greasy Cafe’ (อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร)” เป็นการมาเจอกันของโลกสายสีเทาในซาวดน์แตกต่าง ต่อด้วยรอบของ “Polycat” กับ “Boom Boom Cash” ซึ่งจะเป็นการมาเจอกันของซาวนด์ยุคเก่ากับยุคใหม่ จะมีจุดเท่ๆ ของเขาที่เชื่อมกันอยู่ที่ยังบอกไม่ได้ แล้วก็เป็นรอบ “พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก (ธนะชัย อุชชิน)” กับ “สิงโต (นำโชค ทะนัดรัมย์)” ที่จะมาเจอกันด้วยความร็อค ใครที่เคยมองว่าสิงโตไม่ร็อก ก็ลองมาพิสูจน์กันดู เพราะคนที่รู้จักสิงโตตัวจริงเท่านั้นที่จะรู้ว่า เขามีมุมมันๆ กับกีตาร์ไฟฟ้าด้วย ส่วนคอนเสิร์ตสุดท้ายของโปรเจกต์นี้ จะเป็นการเจอกันของ “Room39” กับ “สงกรานต์ The Voice (สงกรานต์ รังสรรค์)” อันนี้คงไม่ต้องอธิบายเยอะ เพราะเขาก็คือ “The Mask Singer” ด้วยกันทั้งคู่ แต่รอบนี้อาจจะจัดใหญ่หน่อย เปลี่ยนเป็นจัดฮอลล์ใหญ่แทน เพราะแฟน Room39 เยอะมากจริงๆ |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @peet_pilavat
ขอบคุณสถานที่: ร้าน "Coco Chaophraya" บ้านเจ้าพระยา ถ.พระอาทิตย์
รายละเอียดคอนเสิร์ต: ticket.mthai.com/concert
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754