xs
xsm
sm
md
lg

กะเทาะมุมมองกวีซีไรต์ป้ายแดง “พลัง เพียงพิรุฬห์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลัง เพียงพิรุฬห์
ทันทีที่คณะกรรมการ มีมติให้รวบรวมบทกวี นครคนนอก ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2559 ซึ่งเล่มนี้ มีความโดดเด่นด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเป็นสากล วิธีการนำเสนอจากมุมมองที่เปลี่ยนใหม่ การใช้ภาษาที่สั้น กระชับ มีพลัง คมชัดทั้งเสียงและความหมาย ให้ภาพของผู้คนที่สังคมมองข้าม เนื้อหาครอบคลุมสังคมร่วมสมัย ชีวิตในเมือง ชีวิตชนบท และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ตามขนบและไร้ฉันทลักษณ์ผสมผสานกัน ใช้วรรณรูป ภาพวาด และสัญญะแสดงอารมณ์ สื่อเสริม เน้นความหมายให้ขบคิดและตีความ จินตภาพ และน้ำเสียงบ่งบอกว่าชีวิตเป็นทุกข์ มีปัญหา และต้องดิ้นรน แต่ในท้ายที่สุดให้ความหวังและกำลังใจ วันนี้เราขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกวีซีไรต์ป้ายแดง “พลัง เพียงพิรุฬห์” บนเส้นทางสายวรรณกรรมให้มากยิ่งขึ้น

พลัง เพียงพิรุฬห์ คือ นามปากกาของ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ นักทดลองชีวิต ที่วัยเยาว์ช่วยแม่หารายได้ด้วยการปั่นจักรยานขายผลไม้ดองย่าน จ.นนทบุรี ซุกซนตามภาษาเด็ก จวบจนกระทั่งเขาเรียนอยู่ชั้น ป.5 เมื่อป้าของเขาเดินทางมาจากภาคอีสาน และได้ชักชวนให้ไปเที่ยวที่นั่น การได้สัมผัสชีวิตธรรมชาติ ได้พบเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ส่งผลให้เด็กเมืองกรุงอย่างเขาเกิดความรู้สึก “ว้าววว...มีที่แบบนี้ด้วยเหรอเนี่ย?” เด็กหนุ่มตัดสินใจในทันทีเลยว่าไม่ต้องการที่จะกลับมาใช้ชีวิตอันแสนวุ่นวายในเมืองกรุงอีกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของ พลัง เพียงพิรุฬห์ จึงเกิดขึ้นนับแต่วันนั้น

“สมัยเด็กทุกวันตอนเช้าผมต้องหิ้วปิ่นโตไปโรงเรียนเขมาภิรตาราม เป็นโรงเรียนย่าน จ.นนทบุรี เชื่อมั้ยครับผมยืนบนรถเมล์ตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงโรงเรียนไม่มีใครลุกให้ผมนั่งสักคน ยืนจนขาแข็งกว่าจะถึงโรงเรียนประกอบกับปิ่นโตที่แม่ให้มาก็หนักมาก เพราะแม่กลัวผมจะอดและกินไม่อิ่มจึงอัดข้าวและกับข้าวมาแบบจัดเต็มแน่นปิ่นโต ในตอนนั้นผมรู้สึกว่า ทำไมผมต้องลำบากในการเดินทางไปโรงเรียนขนาดนี้? ทั้งๆ ที่ผมก็ยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่แค่ชั้น ป.5 แต่กลับไม่มีใครใจดีลุกให้ผมนั่งเลยสักคน เมื่อผมได้ไปเที่ยวกับป้าที่ภาคอีสาน ผมได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องรีบเร่ง วุ่นวาย ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ผมชอบชีวิตแบบนั้นมาก จึงตัดสินใจขอแม่มาอยู่กับป้าที่ภาคอีสาน”

หลังจากได้รับอนุญาตจากผู้เป็นแม่ พลัง เพียงพิรุฬห์ ใช้ชีวิตอยู่ชายขอบกับป้าที่ภาคอีสานไม่นานประมาณ 3 - 4 ปี เพื่อเรียนชั้นมัธยมที่นั่น จากนั้นจึงกลับมากรุงเทพอีกครั้ง เพื่อเรียนต่อด้านช่างกล เรียนจบจึงหอบอนาคตของตัวเองไปทำงานอยู่ปักษ์ใต้เป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า ติดใจ "ทะเล" ที่นั่น

“ตอนอยู่ปักษ์ใต้ผมทำงานเกี่ยวกับประกันภัยวินาศภัย เป็นพนักงานสินไหมทดแทน ทำงานอยู่ประมาณ 5 - 6 ปี กลับรู้สึกว่า...ชีวิตในการทำงานมีอยู่เท่านี้เองหรือ? จากนั้นจึงเริ่มค้นหาตัวเองด้วยการก้าวเข้าร้านหนังสือร้านหนึ่ง หยิบหนังสือถูกใจมา 2 เล่ม คือ บทกวี นาฏกรรมบนลานกว้าง ของ คมทวน คันธนู และ เรื่องสั้น เหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ หนังสือที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของผม”

แม้ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านศิลปศาสตร์ หรือด้านการแต่งบทกวี แต่กวีซีไรต์ป้ายแดงคนนี้กลับฝึกฝน และสร้างอุปนิสัยในการเขียนบทกวีอย่างมีวินัยและต่อเนื่อง

“ผมใช้วิธีสร้างอุปนิสัยในตัวเอง และทำอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก 0 ไป 1 ไป 2 เรื่อยๆ เป็นลำดับ ผมอ่านหนังสือให้เยอะที่สุดเท่าที่ผมจะมีเวลาและสามารถอ่านได้ จากนั้นจึงเริ่มลงมือเขียน เริ่มแต่งบทกวี ซึ่งแรกๆ ยังเขียนไม่เป็น แต่ก็พยายามฝึกฝนใช้เวลากว่า 3 ปี จึงมั่นใจได้ว่าตัวเองนั้นน่าจะแต่งบทกวีได้แล้ว โดยแรงบันดาลในการแต่งบทกวีของผมนั้น ผมสามารถเขียนได้ทุกที่ทุกแห่งโดยไม่จำเป็นต้องรอโต๊ะใครว่างแล้วค่อยไปนั่งสร้างอารมณ์ก่อนจะลงมือเขียน แต่ผมเขียนได้ทั้งในร้านกาแฟ บนรถ”

ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ ส่งผลให้ พลัง เพียงพิรุฬห์ สามารถเขียนได้หลากหลายแนวทั้ง การแต่งบทกวี การเขียนเรื่องสั้น โดยก่อนจะได้รับรางวัลซีไรต์ มีผลงานผ่านตานักอ่านมานับไม่ถ้วนทั้ง บทกวีตีพิมพ์บทแรกในชีวิต นรกเย้ยหยันสวรรค์รันทด (เมษายน ๒๕๔๓), รวมบทกวีเล่มแรกในชีวิต อาศรมพระจันทร์ (๒๕๔๗), เรื่องสั้นตีพิมพ์เรื่องแรกในชีวิต สุ่ม (ตุลาคม ๒๕๔๙), เรื่องสั้นรางวัลชมเชยพานแว่นฟ้า ผู้รับผิดชอบ (๒๕๔๙), รวมบทกวี ปรากฏการณ์ (๒๕๕๒), บทกวีรองชนะเลิศรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด วิทยาศาสตร์กถา (๒๕๕๑), เรื่องสั้นรางวัลชมเชยพานแว่นฟ้า ปีกแห่งเสรีภาพ (๒๕๕๑), เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผู้กุมชะตา (๒๕๕๔), เรื่องสั้นรางวัลสุภาว์ เทวกุล เงือก (๒๕๕๖), รวมบทกวี โลกใบเล็ก (๒๕๕๖), รางวัลรองชนะเลิศอันดับสองเซเว่นบุ๊คอะวอร์ดรวมบทกวี โลกใบเล็ก (๒๕๕๖), เข้ารอบ ๗ เล่มสุดท้าย รางวัลซีไรต์ รวมบทกวีโลกใบเล็ก (๒๕๕๖), รวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิต เรากำลังกลายพันธุ์ (๒๕๕๘) และรางวัลชนะเลิศซีไรต์ รวมบทกวี นครคนนอก (๒๕๕๙)

เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจในการได้รับรางวัลซีไรต์ ประเภทบทกวี ประจำปี ๒๕๕๙ พลัง เพียงพิรุฬห์ กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับตนเองนั้นการได้รับรางวัลซีไรต์ในครั้งนี้ ถือเป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” เท่านั้น หากแต่ในวันข้างหน้ายังต้องลุยกันต่อ ต้องอย่ายอมแพ้ อย่ากลัว ที่สำคัญ ต้องมีความเพียรพยายามที่จะเขียนงานต่อไปแม้จะมีแรงกดดันรอบข้างก็ตาม...




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น