xs
xsm
sm
md
lg

ปวดใจ! การตลาด “นมผง” ดักเหยื่อยัดความเชื่อ กิน “นมแม่” แล้ว “โง่-เตี้ย”!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



แพทยสภาจับมือเครือข่ายหมอเด็กเรียกร้อง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกฯ ควรครอบคลุมเฉพาะอาหารสำหรับทารก อายุแรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้นไม่ควรจะต้องนานถึง 3 ปี ย้ำบริสุทธิ์ใจ ไม่มีนัยซ่อนเร้น หรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทนม ไม่เคยขายนม! แต่ไฉนองค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ กลับมีคำแนะนำทารกควรได้รับนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น สังคมตั้งข้อสงสัย ทำไมองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ที่เป็นเสาหลักออกมาแถลงแบบนี้ แล้วทีนี้จะเชื่อฝ่ายไหนดี มึนไปหมดแล้ว!

พ.ร.บ.นมทำร้ายเด็กไทย จริงรึ?

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ครม.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ต่อประธาน สนช.เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกฯ ฉบับนี้ จะครอบคลุมเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี ถือเป็นการปกป้องสิทธิเด็กทุกคนให้มีโอกาสได้รับอาหารที่ดีที่สุด ด้วยการปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ หวังจะควบคุมการส่งเสริมการตลาดของบริษัทนม ไม่ให้อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ชักจูงให้แม่เข้าใจผิดว่านมผงดีเทียบเท่าหรือดีกว่านมแม่ โดยเฉพาะการควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่มาในรูปการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการจัดอบรมทางวิชาการ หรือใช้แพทย์พยาบาลเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า

ทว่า ปัจจุบันยังมีข้อมูลจากหลายแหล่ง ที่โต้แย้งเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา แพทยสภาา ร่วมกับเครือข่ายกุมารแพทย์ทั่วประเทศ แถลงข่าว “ แพทยสภา ร่วมกับเครือข่ายหมอเด็กออกโรง ชี้ พ.ร.บ.นมสุดโต่ง ทำร้ายเด็กไทย แนะแนวทางแก้ไขเหมาะสม” โดยรวมตัวออกมาเรียกร้องให้กฎหมายฉบับนี้ควรครอบคลุมเฉพาะอาหารสำหรับทารก อายุแรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้น ไม่ควรครอบคลุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กถึง 3 ปี เพราะแรกเกิดถึง 1 ปีเป็นช่วงอายุที่นมยังเป็นอาหารหลัก สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรรับประทานอาหารแข็งหรือกึ่งแข็งเป็นอาหารหลัก (เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ผักผลไม้) วันละ 3 มื้อ และดื่มนมวันละ 2-3 มื้อ เป็นอาหารเสริม

นอกจากนี้ ยังกลัวว่า การให้ทารกและเด็กบริโภคนมแม่นานมากเกินไปอาจจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาของทารกและเด็กได้

ขู่! กินนมแม่นานเสี่ยงเตี้ย แคระแกร็น ไม่ฉลาด!?

นอกจากนี้ ยังอ้างรายงานจากประเทศเนปาลพบว่าการได้รับนมแม่นานกว่า 12 เดือน เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเตี้ยในเด็กอายุ ต่ำกว่า 2 ปี 2.6 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเตี้ยรุนแรงในเด็กอายุต่ ากว่า 2 ปี 2.9 เท่า

ส่วนการศึกษาในเด็กไทยก็ได้ผลเช่นเดียวกัน เด็กที่ดื่มนมแม่นานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี จะมีภาวะเตี้ยร้อยละ 12.3 เด็กที่กินนมแม่นาน 13-24เดือนจะมีภาวะเตี้ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22.2 และเด็กที่กินนมแม่นาน 25-36เดือน จะมีภาวะเตี้ยเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 24.9จากโครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทยซึ่งติดตามเด็ก 4,245 คนในพื้นที่ชนบท 4 แห่งใน 4 ภาค และ กรุงเทพฯ พบว่าเด็กที่ได้รับนมแม่นานกว่า 12 เดือนมีความเสี่ยงของภาวะเตี้ยที่อายุ 2ปี เพิ่มขึ้น 2.7 เท่า

สรุปได้ว่าเด็กที่ได้รับนมแม่นานกว่า 12 เดือนเสี่ยงต่อภาวะเตี้ยโดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ยากจน และเมื่อศึกษา ระดับเชาวน์ปัญญาที่อายุ 8.5 ปี พบว่าเด็กที่ได้รับนมแม่นาน 5-11 เดือนมีระดับสติปัญญาสูงกว่าเด็กที่กินนมแม่ นาน 12 เดือนขึ้นไป 2.9 จุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ทว่า เพจเฟซบุ๊กชื่อดัง Drama-addict ได้ออกมาแย้งว่า งานวิจัยที่ว่าเกิดในประเทศเนปาลที่ยากจน ขาดแคลนอาหารกันมาก มีแต่เด็กแคระแกร็นเพราะขาดสารอาหารเยอะ เขาเลยศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ผลคือส่วนหนึ่งแม่ที่ยากจนมากแบบไม่ค่อยมีข้าวปลากินและให้มลูกนานๆเกินปี ซึ่งเป็นวัยที่ควรให้อาหาร 3 มื้อแล้ว แต่เพราะยากจนเลยไม่มีอาหารให้ลูกกิน ผลคือทำให้เด็กแคะแกร็นเพราะไม่มีโภชนาการเพียงพอ อีกอย่างการเลือกงานวิจัยใดๆ มาอธิบายเรื่องๆหนึ่งควรเลือกงานวิจัยที่กลุ่มประชากรมีความใกล้เคียงกัน คำถามคือสภาพสังคมไทยที่ขายนมผงกันเกร่อเต็มบ้านเต็มเมือง มันเหมือนกับสภาพสังคมที่ขาดแคลนอาหารของเนปาลมั้ย? แล้วเอามาเทียบกันได้ไง

ส่วนการศึกษาในเด็กไทยที่อ้างว่าดื่มนมแม่นานจะมีภาวะเตี้ยด้วยว่า เพจชื่อดังก็ชี้ว่า เป็นงานวิจัยที่เก่าหยากไย่ขึ้น ประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ปี 1996 ไม่มีใครเขามาอ้างอิงกันแล้ว เพราะงานวิจัยเขาอัปเดตข้อมูลกันปีต่อปี

“ที่ผ่านมาพอลูกอายุเกิน 1 ขวบ พ่อแม่ก็จะเปลี่ยนไปใช้นมสูตรนั้นสูตรนี้ตามที่ดูจากโฆษณา ถามว่าจำเป็นมั้ย ไม่! หลังเด็กอายุ 1 ขวบไปแล้ว นมเป็นแค่แอาหารเสริม เด็กจะเติบโตสูงใหญ่ขึ้นไหม ขึ้นอยู่กับอาหาร 3 มื้อเป็นหลัก นมเป็นแค่อาหารเสริม และนมผงราคาแพงๆ ก็ไม่ได้มีจำเป็นใดๆทั้งสิ้น ให้เด็กกินนมกล่อง หรือใส่แก้วกินตามปกติได้เลย แต่ที่ผ่านมาคุณๆ ทั้งหลายหลงคิดว่าไม่ได้ ต้องเปลี่ยนสูตรนม นั่นเป็นเพราะคุณตกเป็นเหยื่อโฆษณาไง และกฎหมายนี้ที่ครอบคลุมถึง 3 ปี จะเข้ามาควบคุมตรงนี้ แค่ปีเดียวไม่พอ!”

รู้เท่าทันการตลาดนมผง...นมแม่แน่ที่สุด

ล่าสุดเว็บไซต์ thailandunicef โดย นภัทร พิศาลบุตร เจ้าหน้าที่สารนิเทศเพื่อการพัฒนา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้นำเสนอข้อมูลในลักษณะ ถาม-ตอบ เพื่อให้ทุกคน สามารถเข้าใจคือประโยชน์ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และไขข้อข้องใจต่างๆ เช่น จะมีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการเด็กหรือไม่ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ทีมผู้จัดการ Live ขอคัดคำถามบางส่วน มาดังนี้

ถาม: ในประเทศไทย บริษัทใช้การส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีใดบ้าง?

ตอบ: จากการติดตามและวิเคราะห์การส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย พบว่าแทบทุกบริษัทมีการส่งเสริมการตลาดและละเมิด Code (International Code of Marketing of Breast milk Substitutes หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ )อย่างแพร่หลาย เช่น โฆษณานมผงสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไปในโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณาอื่นๆ

แจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์และของขวัญฟรีแก่แม่ เช่น แจกของขวัญให้แก่ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานนิทรรศการที่จัดโดยบริษัทเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ และให้ของแถมผ่านตัวแทนขายในร้านขายส่ง ร้านค้าปลีก มีข้อความ รูป หรือสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ ที่สื่อว่าทารกและเด็กที่ใช้ผลิตภัณฑ์จะมีพัฒนาการที่ดี และสารอาหารที่เสริมในผลิตภัณฑ์มีส่งผลดีต่อสุขภาพ ติดต่อกับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และกลุ่มแม่โดยตรง ผ่านการอบรมในสถานประกอบหรือโรงงาน และใช้ฐานข้อมูลที่ได้รับจากการสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านกิจกรรมที่โรงพยาบาล เป็นต้น

จัดงานอีเวนต์ ทำการตลาดผ่านสื่อโซเชียล Call center ส่งจดหมายและเอสเอ็มเอส เพื่อติดต่อแม่และครอบครัว ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาลและคลินิก เช่น แจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ จัดกิจกรรมกับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ปกครองทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน แจกอุปกรณ์ที่มีตราหรือสัญลักษณ์อื่นๆของผลิตภัณฑ์ให้แก่สถานพยาบาลแจกของขวัญให้บุคลากรในโรงพยาบาล

ถาม :ข้อห้ามต่าง ๆ ตามกฎหมายนี้ จะส่งผลกระทบด้านโภชนาการกับเด็ก เพราะผู้บริโภคจะได้ข้อมูลไม่เพียงพอ จริงหรือไม่?

ตอบ: ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่าการโฆษณา ไม่ได้สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เหมาะสม และครบถ้วนเกี่ยวกับโภชนาการของทารก โฆษณาแต่ละชิ้นถูกออกแบบขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ซื้อสินค้า จึงยกข้อมูลแค่ส่วนเล็กๆส่วนเดียวมาเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดให้แม่และครอบครัวเข้าใจว่า นมผงยี่ห้อนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตและพัฒนาได้อย่างดีที่สุด แต่ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้น เช่น ภูมิคุ้มกัน หรืออธิบายว่าสารต่างๆที่เติมเข้าไป ไม่เหมือนกับสารอาหารตามธรรมชาติที่อยู่ในนมแม่

การดูแลด้านโภชนาการเด็กนั้น แม่และครอบครัวควรจะได้รับข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ควรเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลเหล่านี้ หากแม่และครอบครัวไม่สามารถให้นมแม่ได้ หรือตัดสินใจแล้วว่าจะให้ลูกกินนมผง แพทย์และบุคลากรก็จะแนะนำวิธีใช้นมผงอย่างถูกต้องให้ ไม่ต้องกลัวว่าแม่จะไปเลือกซื้อสินค้าอื่นที่ไม่เหมาะกับเด็ก เช่น นมข้นหวาน นอกจากนี้ ผู้บริโภคสามารถอ่านดูข้อมูลบนฉลากของผลิตภัณฑ์ หรือติดต่อไปที่บริษัทนมเพื่อขอข้อมูลได้

ถาม :หากปรับขอบเขตของร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้ครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับทารกแรกเกิดถึง 12 เดือนเท่านั้น โดยไม่ควบคุมผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบขึ้นไป ได้หรือไม่?

ตอบ: ร่าง พ.ร.บ. นี้ ต้องการคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด (Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม

ที่ผ่านมา แม้ว่า อย. จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย


ถาม :หากปรับขอบเขตของร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้ครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับทารกแรกเกิดถึง 12 เดือนเท่านั้น โดยไม่ควบคุมผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบขึ้นไป ได้หรือไม่?

ตอบ: ร่าง พ.ร.บ. นี้ ต้องการคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด (Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม

ที่ผ่านมา แม้ว่า อย. จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย


งานวิจัยจากประเทศออสเตรเลียพบว่า การโฆษณานมผสมสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปในนิตยสาร แม่จะคิดว่าเป็นโฆษณาสำหรับนมดัดแปลงสำหรับทารกหรือนมสูตร 1 เพราะสามารถจดจำชื่อและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันได้ งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์แบบใด ก็ส่งผลต่อการรับรู้และความเข้าใจของแม่ทั้งสิ้น

ดังนั้น หากจะห้ามการส่งเสริมการตลาดของนมสำหรับทารก 0-1 ปีเพียงอย่างเดียว และปล่อยให้มีการโฆษณานมสำหรับเด็ก 1-3 ปีต่อไป กฎหมายก็จะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันนี้นัก ทำให้วัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.นี้ ที่ต้องการควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์นมผง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

..หรือการตลาดบริษัทนมกำลังทำลายกำแพงความเชื่อ “นมแม่” เปรียบเสมือน ‘วัคซีนหยดแรก’ ของลูกน้อย แต่กลับยัดเยียดความเชื่อใหม่ “นมผง” พิเศษกว่า “นมแม่” ทั้งๆที่ “นมแม่” อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น สร้างภูมิคุ้มกันนานาชนิดที่แสนวิเศษ สารอาหารที่มากกว่า 200 ชนิดจากแม่ โดยไม่ต้องเสียตังค์สักบาท!?

ล่าสุด (15 ธ.ค.)หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบต่อประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์ นายแพทย์ พิภพ จิรภิญโญ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาแถลงชี้แจงอีกว่า จากแถลงก่อนหน้านี้ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดต่อ “นมแม่” ย้ำทุกท่านที่ร่วมแถลงข่าวไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตนมแต่อย่างใด

ตามที่มีการแถลงข่าวของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ที่แพทยสภาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๙ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจสับสนในกรณี ของนมแม่นั้น ราชวิทยาลัยฯ ขอยืนยันว่านมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก เช่นเดียวกับที่รณรงค์มากว่า ๓๐ปี สอดคล้องกับคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และ องค์การอนามัยโลก(WHO)

ยกเว้นกรณีที่แม่หรือเด็กเล็กมีปัญหาสุขภาพ การใช้สารอาหารเสริม จึงมีความจำเป็น เช่นเดียวกับเด็กที่มีอายุมากกว่า ๑ ปีขึ้นไป ปริมาณของน้ำนมแม่แต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการ

การนำเสนอข้อมูลอีกด้าน เพื่อปรับปรุงกฎหมายและให้สังคมเข้าใจ ตลอดจนตระหนักว่า การรักษาที่ดีที่สุดต้องมีข้อมูลทางการแพทย์ทั้งสองด้านไม่ควรควบคุมให้ เหลือเพียงด้านเดียวจะเกิดผลเสียได้ และที่สำคัญ ราชวิทยาลัยฯ และ แพทยสภาไม่มีเจตนา ให้เลี้ยงลูกด้วยนมผงแทนนมแม่ แต่อย่างใด สาระที่แถลงข่าวไปนั้น เพื่อปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ของกุมารแพทย์กว่าสี่พันคนในประเทศไทยให้สามารถดูแลทารก และเด็กเล็กกว่า สองล้านคนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในนามของ ประธานราชวิทยาลัยฯ ต้องขออภัยที่ทำให้เกิด ความเข้าใจคลาดเคลื่อนทั้งในกลุ่มแพทย์และสื่อสังคม และต้องขอขอบคุณแพทยสภา ที่เป็นเวทีกลาง ในการแสดงความเห็น และให้ความรู้ต่อประชาชน ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมฯ มาตรา ๗(๔) ซึ่งอาจถูกทำให้เข้าใจผิดไปด้วย

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยฯ ขอย้ำว่า คณาจารย์ผู้ใหญ่ทุกท่านที่ร่วมแถลงข่าวไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตนมแต่อย่างใด





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น