xs
xsm
sm
md
lg

ศึกดรามาข้อความบังคับบนพื้นถนน! ภาษา หรือความคิดคนที่วิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกิดเป็นดรามาระหว่างนักวิชาการฝ่ายการศึกษากับฝ่ายวิศวกรรมว่าด้วยเรื่องความปลอดภัย กรณีข้อความบังคับบนพื้นถนนของกรมทางหลวง เมื่อฝ่ายการศึกษาบอกว่า การเขียนกลับหัวกลับหาง ทำให้ภาษาวิบัติ ขณะที่ฝ่ายกรมทางหลวงบอกว่าเป็นการเขียนตามแบบแปลนที่ทางราชการกำหนดไว้ ทำให้เกิดกระแสถกเถียงในสังคม ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันกับทางหลวง อ่านแล้วก็เข้าใจดี ก่อนจวกอีกฝ่ายคิดเยอะไปหรือเปล่า

การเขียนข้อความภาษาไทยบนพื้นถนนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของกรมทางหลวง กลายเป็นดรามาถกเถียงสนั่นโซเชียลฯ หลังผู้บริหารการศึกษาใน จ.อำนาจเจริญ แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับการเขียนภาษาไทยลงบนถนนของกรมทางหลวง โดยเฉพาะคำว่า โรงเรียน เป็น เรียน-โรง หรือ ขับช้าๆ เป็น ช้าๆ-ขับ ซึ่งผู้บริหารการศึกษารายนี้มองว่า การเขียนกลับหัวกลับหาง ทำให้ภาษาวิบัติ

ร้อนไปถึง "กรมทางหลวง" ต้องชี้แจงแถลงไข โดย "สราวุธ ทรงศิวิไล" รองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายบำรุงทาง ยืนยันหลังตรวจสอบข้อมูลกับฝ่ายวิชาการกรมทางหลวงมาแล้ว พบว่า ไม่ใช่การใช้ภาษาไทยวิบัติ แต่เป็นการเขียนข้อความลงบนถนนตามแบบแปลนที่ทางราชการกำหนดไว้ตามคู่มือเครื่องหมายควบคุมการจราจร ภาค 2 เครื่องหมายจราจร (Markings) ฉบับปี พ.ศ. 2533 ของกรมฯ ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว และเมื่อตรวจสอบกับสำนักความปลอดภัย กรมทางหลวง ก็ยืนยันว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวจะช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้มีความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น


สำหรับข้อความที่อยู่บนท้องถนนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ สามารถอ่านเป็นคำได้ในการมองเห็นครั้งเดียวตามความเร็วที่กฎหมายกำหนด โดยมีระยะห่างของตัวอักษร 2.67 เมตรหรือไม่เกิน 4 เมตร เช่น โรง-เรียน หรือ ขับ-ช้าๆ คือจะเห็นทั้งคำว่า โรงเรียน หรือขับช้าๆ เป็นการอ่านโดยทั่วไป คืออ่านจากบนลงล่าง และ การมองเห็นได้ทีละคำตอนขับรถ เช่น ลด-ความ-เร็ว ในมาตรฐานจะมีระยะห่างแต่ละคำ 30-45 เมตร ผู้ใช้ทางตามระยะสายตาจะสังเกตเห็นคำว่า ลด ตามด้วยคำว่า ความ และคำว่า เร็ว จะไม่เห็นพร้อมกันทั้งประโยค



เมื่อไปดูความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ต่อประเด็นดังกล่าว มีสมาชิกเว็บบอร์ดพันทิปท่านหนึ่ง หยิบดรามาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นถกเถียงผ่านกระทู้ โดยมีการนำข้อความบังคับบนพื้นถนนมาเปรียบเทียบให้อ่านกันชัดๆ ระหว่าง "โรง" อยู่บน "เรียน" ล่าง (แบบกรมทางหลวง) กับ "เรียน" อยู่บน "โรง" อยู่ล่าง (แบบนักวิชาการ) ปรากฎว่าส่วนใหญ่เห็นตรงกันกับกรมทางหลวง เพราะเวลาอ่านจะเข้าใจง่ายกว่า ก่อนจวกอีกฝ่ายคิดเยอะไปหรือไม่

นอกจากนั้นยังมีความเห็นจากผู้ขับขี่บนท้องถนนว่า แบบเดิมดีอยู่แล้ว อ่านเข้าใจง่าย และการเขียนในลักษณะนี้ในต่างประเทศก็ใช้กันอยู่ ขณะที่บางคนบอกว่า ใช้ได้ทั้งสองวิธี แบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ตรงนั้นกับลักษณะการใช้ความเร็วของรถ แต่หลักๆ ขอให้อ่านรู้เรื่องก็เป็นใช้ได้


"เขียนจากบนลงล่างก็น่าจะถูก ถ้าเขียนจากล่างขึ้นบนคนก็จะงง"


"ผมก็อ่าน โรงเรียนนะ มันไม่ได้ห่างกันมากจนอ่านไม่ถูกขับผ่านก็อ่านเป็นโรงเรียนแหละครับ ไม่มีใครบ้องตื้น อ่าน เรียนโรงหรอก"


"เห็นด้วยกับกรมทางหลวงค่ะ ธรรมชาติคนเรา หลักการอ่านของภาษาไทยเราก็อ่านจากบนลงล่างอยู่แล้ว อ่านจากซ้ายไปขวา จากบนลงล่าง จังหวัดไหนๆ เขาก็เขียนแบบนี้กันทั้งนั้นนะ เราก็อ่านจากบนลงล่างทุกที่เหมือนกัน"

"ก็ดีอยู่เเล้วนะอ่านเข้าใจง่าย ในฐานะคนขับรถทุกวัน"

"จากจุดมุมโฟกัสสายตาเวลาขับรถ...เขียนแบบนี้ถูกแล้วครับ"

"บนถนน คนที่ขับรถมักจะมองไกลแล้วค่อยมามองใกล้ๆ นะ อีกอย่าง การเขียนลักษณะนี้ในต่างประเทศก็มีอยู่"

เป็นความเห็นบางส่วนที่รวบรวมมาจากโลกโซเซียลฯ แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการเขียนในแบบกรมทางหลวง เพราะอ่านเข้าใจง่ายกว่า แต่ทางหน่วยงานดังกล่าวก็พร้อมจะนำข้อท้วงติงดังกล่าวไปพิจารณาปรับใช้สัญลักษณ์ให้เหมาะสมกับทางกายภาพพื้นที่มากขึ้น อาทิ ทางหลวงที่มีเขตทางกว้างหลายช่องจราจร ในแต่ละด้านจะเขียนสัญลักษณ์เป็นคำตามแนวนอนได้หรือไม่ โดยจะนำไปหารือในที่ประชุมผู้บริหารต่อไป


ขอบคุณภาพจาก สมาชิกหมายเลข 3320005





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น