เครือข่ายองค์กรและกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงค้านขยายเส้นทางหมายเลข 12 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ หลังกรมทางหลวงจ่อใช้เป็นทางคมนาคมเชื่อมแม่สอด-มุกดาหาร ซัด EIA ขาดความน่าเชื่อถือ ทำลายป่าน้ำหนาว สัตว์ป่าเสี่ยงถูกทำร้าย แถมเส้นทางยังลาดชันไม่เหมาะขนส่ง ชี้ส่อขัดมติ ครม.ปี 50 ด้วย วอนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชงรัฐยุติโครงการเพื่อทบทวนให้รอบด้านก่อน
วานนี้ (25 ธ.ค.) เครือข่ายองค์กรและกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา, มูลนิธิโลกสีเขียว, A call for Animal Rights, กลุ่มใบไม้, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ และกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างขยายเส้นทางหมายเลข 12 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์
โดยระบุว่า ตามที่กรมทางหลวงจะดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 บริเวณเส้นทางระหว่างหล่มสัก-ชุมแพ ซึ่งจะผ่านกลางอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อจะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย และมีเป้าหมายจะเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายทางเริ่มต้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถึงจังหวัดมุกดาหาร โดยกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB) มาดำเนินการ ปัจจุบันรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2559 นั้น
จากการที่เครือข่ายองค์กรและกลุ่มอนุรักษ์ฯ สำรวจพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างขยายเส้นทางดังกล่าว พบว่า ปัจจุบันมีช้างป่าจำนวนมากที่เดินข้ามถนนสายนี้เพื่อใช้เป็นแหล่งหากิน และเป็นที่อยู่อาศัยตลอดระยะทางของถนนที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะทางทั้งสิ้น 43 กิโลเมตร โดยตลอดเส้นทางดังกล่าว ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำป้ายเตือนอยู่เป็นระยะเพื่อบ่งบอกว่าเป็นทางที่สัตว์ใช้ข้าม ผู้ขับขี่บนท้องถนนควรใช้ความระมัดระวัง นอกจากนี้ ห่างทางหลวงหมายเลข 12 ระยะทางเพียง 2 กิโลเมตร ยังมีโป่งขนาดใหญ่ที่ฝูงสัตว์จำนวนมากใช้เป็นแหล่งหากินอยู่เป็นประจำ ดังนั้น การขยายถนนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่อย่างแน่นอน เครือข่ายองค์กรและกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงขอคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้
1. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่เปิดเผยข้อมูลการศึกษาผลกระทบและโครงการต่อสาธารณะได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะดำเนินการ อันขาดหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นการบริหารราชการแผ่นดินที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และกิจกรรมที่ทำไม่ควรสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าที่มีความสำคัญในฐานะเป็นต้นทุนธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน
2. การก่อสร้างขยายเส้นทางเป็นการทำลายป่าน้ำหนาวให้แยกออกเป็นสองส่วน นอกจากพื้นที่ป่าลดลงแล้ว ยังส่งผลให้ระบบนิเวศแยกขาดออกจากกันกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และเมื่อถนนมีขนาดความกว้างมากขึ้นกว่าเดิม โอกาสในการเชื่อมต่อระบบนิเวศในพื้นที่จึงเป็นไปได้ยากมากขึ้นเพราะสัตว์ป่าที่เดินทางข้ามไปมามีโอกาสถูกทำร้าย หรือเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ที่เดินทางผ่านไปมา แม้ใน EIA จะได้เสนอให้มีการจัดทำสะพานรถข้ามยกระดับสูงประมาณ 10 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 500 เมตร จำนวน 5 แห่ง เพื่อให้สัตว์ป่าลอดใต้สะพานได้นั้นยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมสำหรับการใช้งานจริงของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในพื้นที่
3. สภาพเส้นทางที่ผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวรวมถึงในหลายๆ ช่วงตลอดเส้นทางหมายเลข 12 มีความสูงชัน ไม่เหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันจะเลี่ยงใช้ทางหลวงหมายเลข 2216 ที่มีความลาดชันน้อยกว่า ดังนั้น การก่อสร้างขยายเส้นทางจึงเป็นการลงทุนที่ไม่เกิดประโยชน์และไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงควรศึกษาเปรียบเทียบประเมินความเหมาะสมใหม่ก่อนการตัดสินใจดำเนินการตามแบบเดิมๆ
4. การดำเนินการดังกล่าวขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 ข้อ 2.2 เส้นทางสาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้ขยายช่องจราจร โดยให้ปรับปรุงผิวจราจรหรือการชะลอความเร็วแทน
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายองค์กรและกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติระงับการพิจารณาข้อมูลรายงานการรวิเคราห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ชอบธรรมนี้ และเสนอให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อทบทวนการศึกษาในรายละเอียดข้อมูลให้ครบถ้วนและรอบด้านมากยิ่งขึ้น อันสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ รวมถึงแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการฟื้นฟู ดูแลรักษาผืนป่าที่เหลืออยู่น้อยเต็มทีในประเทศไทยต่อไป