"การเกิดเป็นเจ้าฟ้า ไม่ได้หมายความว่าจะสุขสบายแต่เพียงอย่างเดียว ต้องมีหน้าที่ที่จะทำให้ดี เหมาะสมแก่ฐานะอีกด้วย" พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะพระบรมราชชนก (ทูลกระหม่อมพ่อ) ที่พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้าทุกๆ พระองค์
แม้เจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์จะเจริญพระชันษาขึ้นมาก และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการที่สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ การย้อนกลับไปดูพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการทรงดูแลพระราชโอรส และพระราชธิดานั้นนับเป็นที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะสายใยรักที่มีต่อ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร"
เป็นลูก "พ่อ" ต้องรู้จักหน้าที่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นรากฐานของมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกับการดูแลพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงเป็น "พระบรมราชชนก" ที่มีทั้งความปราดเปรื่อง หลักแหลม มีความรัก ความเอาใจใส่ รวมไปถึงเป้าหมายที่ชัดเจน โดยทรงตั้งใจอบรมพัฒนาทูลกระหม่อมทุกๆ พระองค์ให้ดีในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง
เห็นได้จากการดูแล "ทูลกระหม่อมฟ้าชาย" ด้วยความรัก ความเอาใจใส่จนเจริญพระชนมวารเป็น "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" และทรงดำเนินพระราชจริยวัตรด้วยความสง่างาม ผ่าเผย เคร่งขรึม ตลอดจนสำรวมพระองค์ตามแบบอย่างชายชาติทหาร
สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดในการอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี คือหลักของ "หน้าที่และความรับผิดชอบ" ดังพระบรมราโชวาทที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า "การเกิดเป็นเจ้าฟ้า ไม่ได้หมายความว่าจะสุขสบายแต่เพียงอย่างเดียว ต้องมีหน้าที่ที่จะทำให้ดี เหมาะสมแก่ฐานะอีกด้วย"
ดังนั้น ทุกครั้งที่ "ทูลกระหม่อมฟ้าชาย" เสด็จกลับจากโรงเรียน เนื้อหาในหนังสือ "สี่เจ้าฟ้า" ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ ได้เขียนเล่าว่า ก่อนจะเสด็จเข้าบรรทมตอนหัวค่ำจะต้องเข้าเฝ้า "ทูลกระหม่อมพ่อ" และ "สมเด็จแม่" เพื่อรับพระบรมราโชวาท และทรงสวดมนต์ก่อน
โดยหลังการรับพระบรมราโชวาท ทูลกระหม่อมฟ้าชายมักทรงรำพันว่า "การเป็นเจ้าฟ้านี่ช่างลำบากเหลือเกิน จะทำอะไรก็ต้องระวังความรู้สึกของคนไปหมด ทำตามพระทัยไม่ได้" หรือบางครั้งที่ทรงสอบได้ที่ต่ำกว่าที่ควร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียนน้อยไป ก็ทรงได้รับการคาดคั้นให้ทรงศึกษาให้ดีขึ้น ซึ่งทูลกระหม่อมก็ทรงทำได้ แสดงให้เห็นว่าจะทรงทำอะไรก็ทรงทำได้ อยู่ที่จะทรงทำหรือไม่เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถยังทรงเข้มงวดในเรื่องของช่วงเวลาการทอดพระเนตรโทรทัศน์ ซึ่งทรงอนุญาตให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์ดูได้เฉพาะวันหยุดเรียน และถ้าบรรทมน้อยกว่า 9 ชั่วโมงก็จะไม่ได้ทอดพระเนตร ทำให้ทูลกระหม่อมฟ้าชายมักทรงรับสั่งตัดพ้อว่า "เป็นลูกแม่นี่ ไม่มีความสุขเลย เพื่อนๆ เขายังได้ดูทีวีมากกว่าชายเสียอีก"
ปล่อยเล่นอย่างมีความสุข
แม้ "ทูลกระหม่อมฟ้าชาย" และทูลกระหม่อมอีก 3 พระองค์ทรงได้รับการอบรมให้รู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมไปถึงความมีระเบียบวินัยมาตั้งแต่พระชันษาน้อยๆ แต่เมื่อถึงเวลาเล่น "ทูลกระหม่อมพ่อ" ก็ปล่อยให้เล่นอย่างมีความสุข โดยเฉพาะตอนเช้าวันเสาร์และวันอาทิตย์ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์เสด็จออกกลางแจ้งเพื่อให้ได้รับอากาศและแสงแดดให้มากที่สุด และให้ออกพระกำลัง เช่น ทรงฟุตบอล หรือว่ายน้ำจนถึงเวลาเสวย
ที่น่ารักไปกว่านั้น พระองค์ทรงเล่นกับทูลกระหม่อมทุกพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันก็จะพระราชทานความรู้ควบคู่ไปด้วย ทำให้ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงพระนิสัยใฝ่รู้ เมื่อทรงสงสัยสิ่งใดก็จะทรงตั้งปัญหาถาม และจะทรงถามจนกระทั่งได้รับคำอธิบายเป็นที่พอพระทัย
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือ "สี่เจ้าฟ้า" ยังระบุด้วยว่า ตอนบ่ายหลังเลิกเรียน ทูลกระหม่อมฟ้าชายมักทรงชวนมหาดเล็กถีบจักรยานไปเลือกมุมใดมุมหนึ่งของสวนจิตรลดา แล้วประทับเขียนรูปอย่างตั้งพระทัย แต่ภาพที่ได้ แทนที่จะเป็นภาพทิวทัศน์ในบริเวณสวนจิตรลดา กลับเป็นภาพภูเขาอยู่ในหมอก เหมือนภูมิประเทศที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ หรือบางครั้งก็เป็นภาพเรือรบจอดอยู่ในทะเล
นอกจากนั้น ยังทรงฝึกหัดทำสวนร่วมกับพระสหายที่ร่องผักแถวยาวๆ หลังโรงเรียนด้วย โดยผักที่ทรงปลูกร่วมกับพระสหายนั้นมีทั้งพริก มะเขือ บวบ ต้นหอม ผักกาด เป็นต้น และเมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น ทรงโปรดเล่นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน รถถัง เรือ รวมไปถึงทรงโปรดทอดพระเนตรหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการช่าง การก่อสร้าง รวมไปถึงทรงโปรดด้านการทหารเป็นอย่างมาก
เข้มงวดมาก แต่ก็รักมาก
ด้วยความเข้มงวดกวดขันเพื่อให้พระราชโอรส และพระราชธิดาไม่หลุดกรอบของความดีงาม แต่เมื่อถึงคราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต้องเสด็จไปศึกษาต่อในต่างประเทศหลายสิบปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะพระบรมราชชนกก็อดคิดถึงไม่ได้
บอกเล่าได้จาก หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ที่เผยประสบการณ์หลังได้เข้าเฝ้าฯ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ณ พระตำหนักภูพิงค์ จ.เชียงใหม่ เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า ก่อนร่วมโต๊ะเสวย หม่อมดุษฎีได้รับการกำชับจากท่านผู้หญิงมณีรัตน์ว่า "ห้ามพูดถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นะ" เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระราชโอรสมาก และคงไม่โปรดให้ใครพูดถึงเพื่อจะได้ลืมและคลายความคิดถึง แต่พอหม่อมดุษฎีเดินไปนั่งที่โต๊ะเสวย ก้นยังไม่ทันจะแตะที่เก้าอี้ พระองค์พระราชกระแสรับสั่งถึงพระราชโอรสอย่างยืดยาวติดต่อกันโดยไม่มีช่องว่างให้กราบทูลอะไรเลย (อ้างอิงจากหนังสือ "จงทำให้ได้ดั่งฝัน" โดย หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา"
ได้ฟังแง่มุมแบบนี้ก็ชวนให้ยิ้มตามไม่รู้ตัว เพราะกลายเป็นว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองที่คิดถึงพระราชโอรสจนอดที่จะตรัสถึงไม่ได้
ทั้งหมดนี้ คือ "ส่วนหนึ่ง" ในคำสอน และสายใยรักของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ซึ่งทรงเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่โดยให้ความสำคัญกับการรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความมีระเบียบวินัย
นอกจากนั้น ยังเป็นต้นแบบทั้งการทรงงาน การอุทิศพระวรกายเพื่อช่วยเหลือส่วนรวม บทบาทความเป็นพ่อ รวมไปถึงความกตัญญูกตเวที ส่งผลให้ "องค์รัชทายาท" ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน รวมไปถึงทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพระราชพิธีสำคัญๆ ด้วยทรงตระหนักดีว่า นอกเหนือจากแบ่งเบาพระราชภาระของพระบรมราชชนก และพระบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นการกตัญญูกตเวทีต่อแผ่นดินด้วย
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754