xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยพระราชศรัทธา... ข้ามทะเล-บุกป่า กราบนมัสการพระรัตนตรัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วชิราลงฺกรโณ" คือพระสมณนามของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกผนวชในปี พ.ศ.2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์, สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เป็นพระผู้ถวายอนุศาสน์ และมีพระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ระหว่างประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ความเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาของพระองค์ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงที่ผนวชอยู่ นพ.ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ ผู้ถวายงานใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษามูลนิธิมหาวชิราลงกรณ ช่วยเผยถึงเบื้องหลังพระราชหฤทัยตั้งมั่นของพระองค์เอาไว้ดังนี้

"ระหว่างที่ทรงผนวช ก่อนพิธีอุปสมบทจะต้องมีพิธีขานนาค พระองค์ทรงตรัสว่า คำกล่าวขานนาคเป็นเรื่องยาก ถ้านาคอื่นๆ ที่ยังไม่รู้ความหมาย อาจจะจดจำยาก จึงทรงรับสั่งให้แปลจากภาษาบาลี เป็นภาษาไทยให้ ทรงตั้งพระทัยเป็นอย่างมาก

พร้อมทั้งยังจดบันทึกทุกขั้นตอนของการอุปสมบท รวมถึงการปฏิบัติตนในฐานะเป็นภิกษุใหม่อย่างละเอียด ทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา"


ครั้นลาพระผนวชแล้ว พระองค์ก็มิได้เอาใจออกห่างจากหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ยังคงทรงช่วยทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติในส่วนนี้เอาไว้ด้วยพระราชหฤทัย ด้วยการใช้พระปรีชาสามารถในเรื่องที่พระองค์ทรงสันทัดอย่าง “การบิน” เข้ามานมัสการพระพุทธศาสนา

โดยทรงดำรงตำแหน่ง “กัปตัน” ขับเคลื่อนยานพาหนะบนน่านฟ้า “เที่ยวบินมหากุศล” หลายต่อหลายครั้ง เพื่อนำพาคณะพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าสักการะปูชนียสถานสำคัญในประเทศไทย ทั้งยังทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ต่อเติมแรงพระราชศรัทธาให้พระพุทธศาสนาคงอยู่สืบรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างต่อเนื่อง

ลองย้อนรอยกลับไปดูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการพระอริยสงฆ์ตามจังหวัดต่างๆ จะเห็นว่าหลายต่อหลายครั้งระหว่างทรงมีพระราชกรณียกิจ จะมีพระพักตร์ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ปรากฏอยู่ร่วมเหตุการณ์ ในฐานะเพื่อนผู้สนทนาธรรมร่วมกับองค์พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วย


กล่าวกันว่า เส้นทางที่ทั้งสองพระองค์ร่วมเสด็จพระราชดำเนินไป ส่วนใหญ่คือพระวัดป่าในเขตแร้นแค้น ซึ่งต้องทรงตรากตรำพระวรกายเป็นอย่างมากกว่าจะทรงดั้นด้นไปถึง แต่ด้วยพระราชหฤทัยแห่งศรัทธาที่มีอยู่เปี่ยมล้น อุปสรรคต่างๆ ระหว่างทางจึงไม่อาจเทียบเท่ากับหัวใจที่ทรงธรรม

ดังเช่นข้อความบางช่วงบางตอน ที่ตีพิมพ์เอาไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติหลวงพ่อทวี จิตฺตคุตฺโต วัดป่าอรัญญวิเวก (ป่าลัน) ต.ปงน้อย กิ่ง อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย” เพื่อเป็นหลักฐานย้ำชัดให้พสกนิกรได้ตระหนักว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระราชดำเนินไปเพื่อสนทนาธรรมโดยไม่ยี่หระต่อความเหนื่อยยากพระวรกายใดๆ เลย

“...อันนี้คือด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมที่เป็นพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ได้เข้าไปถึงประชาชนทุกที่ทุกแห่งหนตำบลใดก็ตาม มีพระเจ้าพระสงฆ์ที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่าในเขาที่ไหนๆ ก็ตาม ท่านก็ย่อมเข้าถึงที่ทุกๆ แห่ง...”

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาการอาพาธของ “หลวงปู่แหวน สุจิณโณ” ณ วัดดอยแม่ปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ก็มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ อยู่เคียงข้างกาย พร้อมทั้งทรงคอยช่วยประเคนจตุปัจจัยแด่พระอริยสงฆ์รูปนั้นๆ ด้วยพระเมตตาอย่างเห็นได้ชัดเจน

[เมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมอาการอาพาธของ “หลวงปู่แหวน” พร้อมในหลวงรัชกาลที่ ๙]

ด้วยแรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่พระองค์มี ก่อให้เกิดหลากหลายเรื่องราวน่าประทับใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องเล่าเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปนมัสการ “หลวงปู่ขาว” โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อครั้งทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาว บอกเล่าเอาไว้ว่า

ขณะนั้นหลวงปู่อยู่ร่วมกับ “หลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย และทั้งสองรูปเป็นพระวัดป่า ไม่เคยติดตามข่าวสาร และไม่ทราบว่าพระมหากษัตริย์หน้าตาเช่นไร จึงเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวน่ารักน่าจดใจขึ้น

เหตุอันเนื่องมาจากพระทั้งสองรูปทราบเพียงว่า ทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯ มานมัสการ แต่รออยู่นานสองนานก็ยังไม่มีขบวนเสด็จใดๆ ให้เห็น สุดท้ายจึงอดบ่นออกมาให้ได้ยินไม่ได้ว่า “ไม่เห็นมา มีแต่ทหารสองพ่อลูก มาคุยอยู่เป็นนานสองนาน”

ท้ายที่สุด หลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบ กลับมาทราบภายหลังว่า “ทหารสองพ่อลูก” ที่กล่าวถึงนั้นคือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙” และ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ที่ทรงประทับอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว พระครูทั้งสองท่านจึงได้แต่กล่าวแก้เขินว่า “ไม่เห็นมีขบวนแห่” และ “นึกว่าจะใส่ชฎา”

จึงกลายเป็นเรื่องขบขันที่เล่าต่อกันมา ผ่านงานเขียนของ คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเสด็จนมัสการของทั้งสองพระองค์ในทุกครั้ง เกิดขึ้นเพราะพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทรงย่ำไปถึงถิ่นไกลปืนเที่ยง ไปถึงพระวัดป่าจริงๆ เพื่อเสด็จฯ ไปสนทนาธรรม โดยไม่มีพิธีรีตองหรือถือตัวว่าเป็นพระมหากษัตริย์แม้แต่นิดเดียว




ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น