เขาคือคนหลังเลนส์ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหมายเลข “1” ในระดับโลก.. คือครีเอทีฟมือรีทัชภาพชั้นเยี่ยมแห่งวงการโฆษณาที่เมืองไทยไม่เคยมี ตั้งแต่ยุคกล้องฟิล์มยังไม่ล้าสมัย.. คือเจ้าของผลงาน “รูปที่มีทุกบ้าน” ที่ทุ่มเวลากว่า 1,000 วัน เพื่อบันทึกความจงรักภักดีจากใจพสกนิกร ส่งถึงองค์เหนือหัวล้นเกล้าชาวไทย...
เขาคือแกนหลักผู้สรรค์สร้างภาพแห่งความทรงจำให้แก่สยามประเทศ ในวันที่มหาชนพร้อมใจกันสวมเสื้อเหลือง เปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องไปทั่วทั้งแผ่นดิน.. คือผู้กำกับศิลป์ผ่านโลกหลังเลนส์ ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสุดความสามารถ.. คือผู้ก่อให้เกิดภาพความอลังการครั้งประวัติศาสตร์แห่งการครองราชย์ ให้ยังคงจารึกอยู่ในดวงใจปวงชนชาวไทยตราบนานเท่านาน...
ถวายงานรับใช้ “องค์ราชัน” รางวัลสูงสุดของชีวิต
[ช่างภาพเพียงคนเดียว ที่ได้เข้าไปฉายพระฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และตัวแทนพระองค์ทั้ง 25 ราชวงศ์ ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี 2549 | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
“การมีโอกาสในชีวิตได้ถวายงานพระองค์ท่าน คือที่สุดในชีวิตของผมแล้วครับ เป็นงานที่เครียดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ก็ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตด้วยเหมือนกัน ในตอนนั้น ผมคิดอย่างเดียวว่า ถ้าจะทำทั้งที ต้องนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ในแบบที่ไม่ค่อยมีคนเคยถ่ายให้ได้ และคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ ให้สามารถเอาวิชาความรู้ที่มีอยู่ในตัว มารับใช้พระองค์ท่าน มารับใช้แผ่นดินให้ได้มากที่สุด
ผมคิดเอาไว้เลยว่าผมอยากทำให้ภาพถ่ายสามารถเล่าเรื่องราวความอลังการในรัชกาลพระองค์ท่านให้ได้ เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมา ผมเป็นคนที่ชอบเก็บสะสมภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 และ 5 เอาไว้อยู่แล้ว ทำให้ได้เห็นพระราชพิธีที่อลังการในสมัยนั้นจนคุ้นชิน
พอมามีโอกาสรับใช้แผ่นดินในฐานะคนบันทึกภาพประวัติศาสตร์ตรงนี้ ผมจึงอยากให้ภาพเหล่านั้นเกิดขึ้นอีกครั้งในรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ผมรัก แต่นำเสนอในมุมที่ต่างออกไป ในแบบที่พยายามอย่างสุดความสามารถที่สุด เพื่อให้สมพระเกียรติของพระองค์ที่สุด เท่าที่ครั้งหนึ่งในชีวิตของผมจะทำได้ในฐานะช่างภาพคนหนึ่ง”
นุ-อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง ย้อนรอยความทรงจำในช่วงเวลาอันล้ำค่าของชีวิต ผ่านแววตาแห่งความปลื้มปีติระคนหม่นเศร้า เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังภาพประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดิน เมื่อครั้งมีโอกาสได้ถวายงานรับใช้องค์เหนือหัวในนาม “ช่างภาพพิเศษ”
[จุดสูงสุดในชีวิต ได้เป็น “ช่างภาพพิเศษ” ถวายงานองค์เหนือหัว | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
ด้วยภารกิจอันหนักอึ้งในฐานะหัวเรือใหญ่ผู้ออกแบบและควบคุมการถ่ายทอดมิติอารมณ์ทั้งหมดผ่านภาพนิ่ง ภายในงาน “เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 60 ปี” ซึ่งถือเป็นงานอันทรงเกียรติที่สุดในชีวิต ซ้ำยังเป็นผลงานชิ้นแรกของเขาภายในรั้วในวังอีกต่างหาก
แม้จะเคยคิดฝันอยู่กับตัวเองเบาๆ ในใจว่า อยากใช้ความถนัดด้านการถ่ายภาพในฐานะ “มืออาชีพ” มารับใช้แผ่นดินให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่กลับไม่เคยคาดฝันแม้เพียงสักนิดว่า จะมีวันที่ได้ก้าวเท้าเข้ามารับใช้ “สำนักพระราชวัง” อย่างเต็มตัวจริงๆ
กระทั่งในวันที่ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูถัมภ์ในขณะนั้น เลือกนุให้เข้ามาถวายงานอาสาสมัครรับใช้แผ่นดิน ในตำแหน่งสำคัญที่สุดด้านภาพนิ่ง ด้วยความเชื่อใจในฝีมือมาตรฐานโลก จากชื่อเสียงที่ช่วยการันตีคุณภาพในวงการ หลังกวาดผลงานด้านการถ่ายภาพให้เป็นที่ประจักษ์ระดับโลกมาแล้วร่วม 300 รายการ
มีผลงานตีพิมพ์ในหนังสือ “200 Best Ad Photographers Worldwide 2006-2009” ทั้งยังได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Archive Magazine ให้เป็น “ช่างภาพอันดับ 1 ของโลก” ในปี 2547 และ “ช่างภาพอันดับ 1 ของไทย” ติดต่อกันนานถึง 5 ปี
[กวาดรางวัลระดับโลกกว่า 300 รายการ การันตีคุณภาพช่างภาพอันดับหนึ่ง]
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นุจะกลายเป็น “ตัวเลือกที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดของเมืองไทย” ที่ได้เข้ามาควบคุมมุมมองหลังเลนส์กล้องทั้งหมดกว่า 30 ตัว เพื่อบันทึกภาพครั้งจารึกประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น และอีกหลายต่อหลายครั้งในรั้วในวัง ผ่านการนำเสนอที่แฝงไปด้วยเทคนิคเฉพาะตัวอย่างที่หาไม่ได้ง่ายๆ จากช่างภาพรายอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคที่วิทยาการต่างๆ ยังไม่ล้ำหน้าอย่างในสมัยนี้
ต้องบอกว่าเขาคือที่สุดด้านการถ่ายภาพแล้ว ในยุคที่ยังไม่มีรีโมตแบบไร้สายไว้กดชัตเตอร์สำหรับกล้องมุมสูง ยังไม่มีสายเชื่อมสัญญาณเพื่อให้สามารถตรวจเช็กภาพได้บนจอแสดงผล และยังไม่มีกล้องพาโนรามาระบบอัตโนมัติ ที่ช่วยให้ถ่ายภาพได้เหมือนเล่นกล มีเพียงระบบ manual ควบคุมด้วย “มือ” และ “ฝีมือ” เท่านั้น ที่ช่วยบันทึกทุกความทรงจำอันล้ำค่าเอาไว้ได้อย่างไร้ที่ติ
กระทั่งเกิดกลายเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่พสกนิกรชาวไทยเห็นแล้วอิ่มเอมใจในทุกครั้ง คือวินาทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโบกพระหัตถ์พร้อมพระพักตร์ที่มีรอยพระสรวล ขณะเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางเสียงที่เปล่งจากทวยราษฎร์ดังกึกก้อง “ทรงพระเจริญ..ทรงพระเจริญ...”
[ภาพประวัติศาสตร์แห่งการครองราชย์ ที่จะจารึกอยู่ในดวงใจปวงชนชาวไทยไปตราบนานเท่านาน | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
“กว่าจะได้ภาพที่อลังการแบบนั้นออกมา ผมจำเป็นจะต้องขอติดตั้งกล้องในมุมสูงด้วยครับในตอนนั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบาก ด้วยข้อกำหนดที่ว่าห้ามมีสิ่งของที่วางอยู่สูงกว่าพระองค์ท่าน แต่ด้วยความมีวิสัยทัศน์ของ คุณแจ็ค-รัตนาวุธ วัชโรทัย หัวเรือใหญ่ผู้ควบคุมภาพรวมในพระราชพิธี รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่ไม่ได้ทรงทักท้วงว่าไม่ทรงโปรดอะไร จึงทำให้ความคิดนี้เดินต่อไปได้
คือทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะวัดผลกันจากงานในวันแรกเลยครับ เพื่อให้ได้คำตอบว่าพระองค์ทรงโปรดหรือไม่ทรงโปรด ถ้าหลังจากงานวันแรกแล้ว พระองค์ตรัสถามว่านั่นกล้องอะไร แสดงว่าเป็นที่รู้กันว่าต้องปลดกล้องนั้นลง เพราะเวลาพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงโปรดหรือไม่ทรงโปรดอะไร ท่านจะไม่ใช้ถ้อยคำธรรมดาเหมือนคนสามัญชนทั่วไป
สมมติว่า ถ้าเราถวายหนังสือแก่พระองค์ท่านไป ถ้าท่านทรงโปรด พระองค์จะทรงนิ่งเฉย แต่ถ้าไม่ทรงโปรด อาจทรงมีคำถามตามมาว่า ทำไมต้องทำเล่มใหญ่และหนา เพราะถ้าทำอะไรที่ดูเวอร์หรือเกินตัวจนเกินไป ท่านจะไม่ค่อยทรงโปรดเท่าไหร่ แต่ในเรื่องการติดตั้งกล้องมุมสูง ท่านทรงนิ่งเฉย ก็เลยทำให้ได้ภาพอย่างที่ไม่ค่อยมีใครเคยเห็นเกิดขึ้น อย่างที่เห็นกันตามสื่อต่างๆ ภาพที่ถูกส่งออกมาจากสำนักพระราชวังทั้งหมดนั้น คือชุดภาพจากการถ่ายและควบคุมของผมเองครับ
[ภาพแรกในประวัติศาสตร์ ฉายความงดงามของกระบวนเรือราชพิธีคู่วัดอรุณฯ ผ่านมุมอลังการอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
ชิ้นที่ผมภาคภูมิใจอีกหนึ่งงาน คือการถ่ายภาพพาโนรามา ในงานออกมหาสมาคมที่สามารถฉายภาพให้เห็นได้ครบทุกพระองค์เป็นครั้งแรก คือเห็นทั้งหมู่พระที่นั่ง เห็นพระองค์ท่าน เห็นพระบรมวงศานุวงศ์ เห็นข้าราชบริพารชั้นสูง เห็นคณะรัฐมนตรี ฯลฯ ครบองค์ประกอบทั้งหมดในภาพเดียว ซึ่งถือว่าเป็นงานถ่ายที่ยากมากสำหรับยุคนั้น เนื่องจากยังไม่มีกล้องถ่ายระบบพาโนรามาแบบออโตเมติกอย่างทุกวันนี้
[ภาพแห่งความภาคภูมิใจ พาโนรามาแห่งประวัติศาสตร์ ฉายให้เห็นครบทุกองค์ประกอบในภาพเดียวได้เป็นครั้งแรกของไทย | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
คิดดูว่าผมต้องกดชัตเตอร์ถ่ายแบบหมุนมือทีละเฟรม แล้วเอาภาพมาต่อกันอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ได้ภาพมุมกว้าง สะท้อนความอลังการในการออกสมาคมครั้งยิ่งใหญ่ในรัชกาลนี้ อย่างที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วครับว่า อยากนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
มิ่งขวัญปวงประชา “รูปที่มีทุกบ้าน”
[อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง ช่างภาพอันดับหนึ่ง ชาวไทยระดับโลก เจ้าของแนวคิด "รูปที่มีทุกบ้าน" ในเมืองไทย]
“ท่านบันดาลใจให้เราทำแต่สิ่งที่ดีๆ ฉันมีความสุขเวลาได้มองรูปในหลวง ฉันเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม”
“รูปในหลวงบ้านนี้แหละ เป็นขวัญและมงคลของบ้านที่ดีที่สุด ได้รูปในหลวงมาเมื่อไหร่นะ เงินก็ไม่มี แต่จะเอารูปในหลวงไปใส่กรอบบูชาจนได้”
“ใครเอารูปในหลวงมาชั่งกิโลขาย ผมจะไม่ซื้อเลย เจอรูปในหลวงที่เขาทิ้งตรงไหน ผมก็จะเก็บมาทันที นั่นไง ผมเอาไปติดไว้แบบนั้น”
“ในหลวงเป็นป้อใหญ่เนาะ เปิ้นก็เป็นที่นับถือของคนทั่วทั้งประเทศนะเจ้า ทุกๆ คนคงมีรูปป้อใหญ่เก็บไว้เหมือนกันนะเจ้า”
“บ้านเราน่ะอยู่ไกลมากๆ เลย จะไปมาก็ลำบาก แต่จะไกลสักแค่ไหนก็ดีใจที่ในบ้านเรามีรูปในหลวงเหมือนกัน จะหามาติดอีก”
“บ้านไหนที่ไม่มีรูปพระเจ้าอยู่หัว รูปพระเจ้าแผ่นดิน ลองสังเกตดูนะ บ้านนั้นมันจะดูยังไงก็ไม่รู้นะ มันไม่ชุ่มตา ก็คือเป็นบ้านที่ไม่มีขวัญ ไม่มีมงคล”
นี่คือถ้อยคำที่ส่งตรงมาจากใจ จากประชาชนของพระราชาในรัชกาลที่ 9 ที่ได้ฝากเงาความรู้สึกฝังเอาไว้ ในโครงการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านภาพถ่าย อีกหนึ่งผลงานแห่งความภาคภูมิใจของนุ ซึ่งใช้ชื่อว่า "ภาพเล่าเรื่อง พระเจ้าอยู่หัวในดวงใจ" นำเสนอเรื่องราวความรู้สึกโดยมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์เป็นแรงบันดาลใจ
อนุชัยบอกเล่าความผูกพันที่ลูกๆ มีต่อพ่อหลวง ผ่าน “รูปที่มีทุกบ้าน” จากชายคาทั้งหมด 76 จังหวัด สุ่มตระเวนเข้าออกตามบ้านทั้งคนเมืองและชาวชนบทไกลปืนเที่ยง ใช้เวลาถึง 3 ปี จึงช่วยให้นักเดินทางค้นหาคำตอบผ่านภาพถ่ายอย่างเขา ตอบข้อสงสัยในใจไปได้อย่างปลิดทิ้งว่า ทำไมคนไทยถึงต้องติดภาพพ่อหลวงไว้ในทุกๆ บ้าน ไม่ใช่เหตุผลเพียงเพราะว่าพระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณที่สถิตในหัวใจทวยราษฎร์อย่างไม่เคยเสื่อมคลายลง แม้เพียงสักวินาทีเดียว...
[แรงบันดาลใจแรกเริ่มต้น เมื่อได้เยือน ร้านสล่ามองโอสถ จ.เชียงใหม่ | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
“รูปแรกที่ผมถ่าย คือร้านสล่ามองโอสถ ที่เชียงใหม่ วันนั้นไปเดินประตูท่าแพร ถือกล้องติดตัวไปด้วยตลอดเวลาตามปกติ พอเจอพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ติดอยู่ในร้านร้านนั้น ผมก็อยากจะถ่ายเก็บเอาไว้ พอได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้าน ก็เกิดอาการขนลุกตอนที่เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า รูปนี้ได้มายังไง
ผมได้คำตอบกลับมาว่า เตี่ยของเขาสั่งเอาไว้ว่าให้ติดไว้อย่างนี้ ห้ามเคลื่อนย้ายไปไหน เพราะท่านทรงมีบุญคุณต่อครอบครัวและแผ่นดินนี้ บรรพบุรุษของเขาที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีน อยากให้ลูกหลานของเขาสำนึกที่ต้นตระกูลได้พึ่งพิงพระบรมโพธิสมภารของพระองค์
เพราะฉะนั้น ผ่านไปกี่ปีๆ ภาพนี้ก็ยังติดอยู่แบบนั้น ไม่ว่าบ้านจะทาสีใหม่ไปกี่รอบก็ตาม มันก็เลยทำให้ผมขนลุก จนอยากจะทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา อยากจะลองตามหารูปที่มีทุกบ้านว่ามีเรื่องราวที่น่าค้นหาอีกมากน้อยแค่ไหนที่อยู่เบื้องหลังภาพเหล่านั้น”
[เบื้องหลังภาพ จ.สิงห์บุรี หนึ่งในเรื่องราวน่าประทับใจ จากการตามหาพระบรมฉายาลักษณ์ทั่วประเทศ | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
บ้านไม้โบราณในจังหวัดสิงห์บุรี คืออีกหนึ่งสถานที่ที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวหลังภาพที่มีความหมาย โดยบอกเล่าผ่านสายตาของ “คุณป้าสงวน คงสุข” สมัยวัยรุ่น วางจุดยืนเป็นสาวสมัยใหม่ หนีออกจากบ้านเกิดเพื่อไปทำตามความฝัน ไปลงเรียนในโรงเรียนสปัน สถาบันสอนตัดเสื้อผ้าที่โก้ที่สุดในยุคนั้น จนเป็นเหตุให้ต้องขัดแย้งกับครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ของคุณป้า
ดังนั้น ภาพที่คุณป้าสงวนเลือกติดเตือนใจเกี่ยวกับพระองค์ท่าน จึงเป็นฉบับที่ฉายภาพคู่กับองค์สมเด็จย่า พร้อมคำอธิบายที่ว่า “คุณดูสิ ท่านเป็นเจ้าของแผ่นดิน เป็นพระเจ้าอยู่หัวแท้เลย ท่านยังจูงสมเด็จย่าน่ารักมากๆ ก็เลยเก็บไว้ดู แต่ป้าสิ กลับยังไม่เคยจูงแม่อย่างที่ท่านทำเลย”
“เชื่อไหม ผมฟังปุ๊บ ผมร้องไห้ตามคุณป้าแกเลย (ยิ้มบางๆ) แล้วก็กลับมานั่งคิดถึงตัวเองว่า เออ..นี่เราลืมดูแลคุณแม่ของเราเหมือนกันหรือเปล่า... พอได้รู้ภูมิหลังหลายๆ อย่างเกี่ยวกับคุณป้าคนนี้ ยิ่งทำให้เราเข้าใจว่าทำไมท่านถึงต้องตัดภาพในหลวงทรงประคองสมเด็จย่าภาพนี้เก็บมาใส่กระด้งติดเอาไว้ ทั้งๆ ที่สมัยนั้นคุณป้าก็สามารถซื้อภาพอื่นมาแขวนได้อีกเยอะแยะ ถ้าสังเกตจากในภาพ ดูขวดน้ำหอมของท่านจะเห็นว่าไม่ได้ยากจนอะไร
ในตอนแรก ผมแค่ตั้งโจทย์เอาไว้จากความรู้สึกว่า อยากบันทึกเรื่องราวในฐานะคนทำงานศิลปะ ผมอยากจะเก็บรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์จากทุกๆ บ้านเอาไว้ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศนี้รักพระเจ้าอยู่หัวจริง และอยากให้ได้คำตอบที่มากกว่าคำว่ารักที่เคยได้ยินกัน อยากได้คำตอบที่มันมีเรื่องราวที่ฟังแล้วขนลุกแบบนี้ และยิ่งเดินทางไปถ่ายมากขึ้น ก็ยิ่งได้คำตอบที่ไม่คิดว่าจะได้มากขึ้นเรื่อยๆ
[พสกนิกรชาวไทย ล้วนมีที่พึ่งทางใจแหล่งเดียวกันตลอดมาและตลอดไป | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
สิ่งที่ผมทำ มันไม่ใช่สิ่งใหม่นะ ทุกคนอาจจะเคยถ่ายรูปที่มีทุกบ้านแบบนี้เก็บไว้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้รวบรวมออกมาเป็นเรื่องเป็นราว ผมแค่หยิบเอาเหตุการณ์ที่คนคุ้นชินเหล่านั้นมาให้พวกเขาได้ซึมซับมากขึ้นว่า คนในบ้านแต่ละหลังสะท้อนความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวงของเขาได้มากขนาดไหน และทั้งหมดนี้เป็นเพราะท่านทรงมอบหลายสิ่งหลายอย่างให้แก่ประชาชนของท่านอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จึงทำให้เกิดความรักที่หยั่งรากลึกขยายวงกว้างออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในตอนนั้นที่ทำ ผมไม่เคยคิดเลยว่า การถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่มีอยู่ในทุกบ้าน จะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ประเมินค่าไม่ได้แล้วในวันนี้ ผมแค่อยากเก็บภาพและเรื่องราวมาบอกเล่าให้คนในเมืองได้เห็นว่า ดูสิคนตามชนบทเขารักท่านจริงๆ นะ ไม่ใช่แค่การติดรูปแบบผิวเผิน
[กลายเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ "ภาพเล่าเรื่อง พระเจ้าอยู่หัวในดวงใจ"]
นี่เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ผมภาคภูมิใจ ทั้งที่เคยจัดนิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้ไป และที่ออกหนังสือรวมภาพประกอบถ้อยคำความรู้สึกของชาวบ้านในโปรเจกต์นี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำเรื่องที่สุดยอดไปแล้ว เพราะถึงตอนนี้ ต่อให้มีใครไปลงพื้นที่ ไปถ่ายรูปที่มีทุกบ้านอย่างที่ผมทำอีกที อารมณ์กับบรรยากาศหลายๆ อย่าง มันก็ไม่มีวันได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว...”
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
[©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง]
รอยยิ้มที่แสนมีค่า เมื่อท่านหันมาแย้มพระสรวล [©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง] ทำงานตรงนี้ เหมือนต้องขโมยถ่ายรูปท่านนะถึงจะได้ (พูดไปยิ้มไปในระหว่างรำลึกความหลัง) เพราะจะบอกให้ท่านหันมาแย้มพระสรวลให้กล้องก็ไม่ได้ เราต้องจับจังหวะเอาเอง และตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมก็ไม่เคยได้รูปที่ท่านทรงทอดพระเนตรมองกล้องสักที จนวันหนึ่งที่ผมสะพายกล้องใหญ่ตามไปเก็บภาพเหมือนทุกๆ วัน แต่วันนั้นต่างกันตรงที่ท่านทรงหันมาแย้มพระสรวลให้ผมด้วย (ยิ้มกว้าง) โชคดีที่กดชัตเตอร์ได้ทัน ผมเลยเอาช็อตนั้นของพระองค์ มาอัดรูปขึ้นโต๊ะทำงานจนถึงทุกวันนี้ เป็นภาพที่มองดูกี่ทีๆ ก็ทำให้ผมรู้สึกอิ่มเอมใจได้จริงๆ |
มุมยิ้มๆ เมื่อได้ใกล้ชิดพระองค์ [©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง] สิ่งที่ผมภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ ถือเป็นรางวัลในชีวิตสูงสุดแล้วก็คือ ท่านทรงพระราชทานอนุญาตให้ถ่ายรูปร่วมกับพระองค์ ในงานวันราชประชานุเคราะห์ที่ผมไปเก็บภาพ พอถ่ายรูปหมู่เสร็จ ท่านก็ทรงกวักพระหัตถ์เรียก ผมเห็นก็ตกใจ หันหน้าหันหลังอยู่นานดูว่าพระองค์ทรงเรียกใคร จนองครักษ์กระซิบบอกว่าเจ้านายเรียกคุณ (ชักสีหน้าไม่เชื่อ) แล้วผมต้องทำยังไง เขาก็บอกให้เดินไปหาท่าน ไปกราบฝ่าพระบาทท่าน ผมเข้าไปกราบแทบฝ่าพระบาท ในขณะที่พระองค์ทรงประทับอยู่บนพระที่นั่ง แล้วท่านก็ตรัสถามว่า “มาคนเดียวรึ” ผมพยักหน้ารับตอบกลับไปว่า “คนเดียวพระพุทธเจ้าข้า” ท่านตรัสถามต่อ “เป็นช่างภาพจากที่ไหน” ตอนนั้นผมประหม่ามาก พูดไม่ออกเลย ต้องมีคนช่วยรายงานให้ท่านทรงทราบแทน ท่านตรัสว่า “เก่งนะ..เป็นช่างภาพก็ไปถ่ายภาพสิ” ผมได้ยินตอนแรกก็นั่งมึนอยู่สักพักว่าท่านหมายความว่าอะไร (หัวเราะเบาๆ) เพราะผมเพิ่งถ่ายภาพเสร็จ หรือท่านทรงโปรดให้ถ่ายภาพเพิ่มตรงไหนอีกหรือเปล่า พอมีคนอธิบายว่าพระองค์พระราชทานให้ถ่ายรูปร่วม ผมถึงได้เข้าใจ ตอนแรก ผมนั่งอยู่แทบพระบาทท่าน ซึ่งมีแท่นไม้บังอยู่ ทำให้หัวผมโผล่ขึ้นมาได้หน่อยเดียว เหมือนกับท่านทรงรู้มุมกล้อง ท่านจึงตรัสบอกอีกสั้นๆ ว่า “ข้างล่าง” หมายถึงให้ขยับลงไปนั่งต่ำกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง ตอนแรกผมนึกว่าโดนไล่ (ยิ้ม) และได้ทรงเรียกคุณขวัญมานั่งอีกด้านหนึ่งด้วย ภาพจะได้ดูสมดุล พอภาพปรากฏออกมาผมถึงได้เข้าใจว่า ที่พระองค์ทรงรับสั่งให้ลงไปนั่งข้างล่าง เป็นเพราะท่านทรงทราบมุมกล้องว่า ถ้าผมนั่งถ่ายรูปตรงจุดแรก จะถูกแท่นบังให้เหลือแต่คอ และจะได้ภาพออกมาไม่สวยเท่าที่มีอยู่ทุกวันนี้ |
พระผู้เป็นแรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน [1 ใน 6 ภาพจากโปรเจกต์ | ©ภาพ: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง] ตอนที่ทำโปรเจกต์ “ภาพเล่าเรื่อง พระเจ้าอยู่หัวในดวงใจ” ตามถ่ายรูปที่มีทุกบ้านให้ครบทุกจังหวัดในประเทศไทย ผมใช้เวลานานถึง 3 ปี มีช่วงหนึ่งทำจนล้า จนไม่สบาย เพราะต้องขึ้น-ลงรถอยู่ตลอด เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว จนผมบ่นกับตัวเองว่า เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที ไม่อยากทำต่อแล้ว หรือช่วงก่อนจะลงพื้นที่ภาคใต้ ผมยังลังเลเลยว่าจะไป-ไม่ไปดี บอกตรงๆ ไม่กล้าเหยียบ “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพราะกลัวตาย (ยิ้มปลงๆ) แต่พอผมหลับ ผมเห็นพระองค์ท่านในฝัน ทำให้ผมคิดถึงเรื่องพระมหาชนกที่ผมเคยอ่าน ทำให้คิดได้ว่าพระองค์ท่านทรงทำเรื่องนี้ และอีกตั้งหลายเรื่องด้วยความเพียรอย่างหาที่สุดมิได้ ที่เราทำแค่นี้มันแค่ขี้ผงเท่านั้นเอง เปรียบกับสิ่งที่พระองค์ท่านทรงงานเพื่อแผ่นดินไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว สุดท้ายผมก็ลุกขึ้นมาฮึดทำอย่างดีที่สุดจนสำเร็จออกมาได้ ด้วยแรงผลักตรงนี้แหละครับที่ทำให้ผมมีแรงสร้างผลงานออกมาอีกชุดหนึ่งเมื่อปีก่อน ใช้ชื่อว่า “พระผู้เป็นแรงบันดาลใจของแผ่นดิน” เป็นภาพชุดทั้งหมด 6 ภาพ สื่อความหมายโดยใช้เทคนิคถ่ายภาพและตัดต่อ เพื่อสื่อสารให้คนไทยทุกสาขาอาชีพได้เห็นว่าประเทศเราโชคดีแค่ไหนที่มีกษัตริย์พระผู้ทรงพระปรีชาสามารถขนาดนี้ ยิ่งได้ถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน ยิ่งทำให้เราได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านเยอะ จนเป็นที่ประจักษ์ว่าในหลวงท่านทรงพระปรีชาสามารถมาก พระองค์ท่านทรงสร้างต้นแบบเอาไว้ให้เราครบทุกด้านแล้ว แต่เราไม่หยิบมาเรียนรู้กันแบบจริงจังเอง ไม่ว่าจะเป็นครูต้นแบบด้านการถ่ายภาพ พระองค์ท่านก็ทรงศึกษาอย่างจริงจังจนเข้าใจและทรงถ่ายรูปออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ด้านดนตรีก็ทรงเรียนรู้จนเกิดแรงบันดาลใจ และสามารถพระราชนิพนธ์บทเพลงออกมาได้ วันดีคืนดีก็ทรงลุกขึ้นมาวาดภาพสีน้ำมัน เขียนจนมีสไตล์ มีลายพู่กันที่สามารถเทียบเท่ากับสากลได้ ด้านกีฬา พระองค์ท่านก็แล่นเรือใบจนได้รางวัลเหรียญทอง เป็นเรื่องที่หลอกสายตาใครไม่ได้อยู่แล้วเพราะพระองค์ท่านแข่งกับต่างชาติจริงๆ ส่วนพระปรีชาสามารถด้านงานช่าง พระองค์ท่านทรงต่อเรือเองด้วย ด้านเกษตรกรรม ทรงเป็นต้นแบบของการจัดสรรที่ดินโดยใช้หลักความพอเพียง หรือแม้แต่ด้านวิทยาศาสตร์ พระองค์ท่านก็ทรงคิดค้นฝนเทียม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าทั้งหมดที่พระองค์ท่านทรงสร้างสรรค์ คือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดิน และทรงสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ทุกสาขาอาชีพในแผ่นดินนี้ได้จริงๆ เวลาใครอยากรำลึกถึงพระองค์ท่านนับจากวินาทีนี้ไป ผมอยากให้นึกถึงแง่มุมที่ทรงเป็นแรงบันดาลใจของพระองค์ท่านเหล่านี้ ที่จะช่วยผลักให้เรามีแรงก้าวเดินไปข้างหน้าและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในแต่ละสาขาอาชีพของตัวเองต่อไป |
[เบื้องหลังการรับใช้พระองค์อย่างสมพระเกียรติ]
[พระบรมฉายาลักษณ์ ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานมากว่า 10 ปี และจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่านาน]
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา
ภาพพระบรมฉายาลักษณ์: อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง (fb.com/anuchai.secharunputong)
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754