ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รอท่าที พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติบังคับใช้ ก่อนออกไปชี้แจงประชาชน ชี้ อาจต้องขออนุญาต คสช. ให้เจ้าหน้าที่ไปคุ้มกัน หลังพบสัญญาณสองพรรคใหญ่คว่ำ บุคคลไม่พึงประสงค์ป่วนแน่ พบวิชามาร - อ่านไม่ละเอียดว่อนโซเชียล แจงพยายามอธิบาย เล็งสร้างครูต้นแบบให้ความรู้แบบลูกระนาด พร้อมชี้แจงจุดสำคัญ
วันนี้ (14 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของ กรธ. ในการลงพื้นที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กรธ. คงต้องรอจนกระทั่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะมาศึกษาดูว่าจุดโหว่อยู่ตรงไหนบ้าง ที่ กรธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เวลาไปชี้แจงจะได้ไม่ถูกรบกวน ก่อกวน หากในกฎหมายมีไม่ครอบคลุมถึง กรธ. เราก็จะเสนอแนะให้แก้กฎหมายนี้ ซึ่งต้องรอให้บังคับใช้และศึกษาควบคู่กับกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายอาญา หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อที่จะได้ดูว่า มีช่องทางอื่นอีกหรือไม่ นอกจากที่เขียนเอาไว้ในกฎหมายประชามติ
เมื่อถามว่า มีการเตรียมแนวทางให้รัฐบาลคุ้มครองความปลอดภัยในระหว่างการลงพื้นที่แล้วหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังมีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเวลาที่ กรธ. จะลงพื้นที่เราก็ต้องขออนุญาตจาก คสช. และอาจจะขอความร่วมมือให้มีเจ้าหน้าที่ช่วยไปดูแล อำนวยความสะดวก และป้องกันไม่ให้เกิดการก่อกวนขึ้น อาจจะต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง
เมื่อถามว่า มีการประเมินความรุนแรง และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากพรรคการเมืองใหญ่แสดงจุดยืนไม่รับร่าง นายมีชัย กล่าวว่า เราก็ต้องเตรียมใจไว้เหมือนกันว่า ถ้าพรรคการเมืองไม่ได้เล่นตามกติกา คือ ไม่มีคุณธรรมในการทำการเมือง เราก็อาจจะอยู่ในฐานะที่เสี่ยงไปได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองเขามีคุณธรรมเขาก็ไม่ทำอย่างนั้น ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า พรรคการเมืองเขาทำการเมืองกันโดยวิธีไหน ส่วนในเรื่องของความปลอดภัยนั้น เราก็ยังเชื่ออยู่ว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาเข้าใจดีว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของการจะสร้างกติกาของบ้านเมือง ผู้ร่างก็ร่างดีที่สุดเท่าที่ผู้ร่างจะทำได้ พร้อม ๆ กับรับฟังความคิดเห็นของคนทุกภาคส่วน เอามาผสมผสานกัน มันก็ได้อย่างที่เห็น เพราะฉะนั้นประชาชนก็คงอยากรู้ว่า ในนั้นมีอะไร เพราะถ้าคงไม่รู้แล้วไปลงคะแนนก็คงยาก ก็เชื่อว่า ประชาชนคงจะมารับฟังด้วยดี มากกว่าที่จะมาก่อกวน แต่ก็อาจจะมีบ้างสำหรับบางคนที่ไม่ค่อยตรงไปตรงมา ก็อาจจะมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ ตรงนี้ก็ต้องเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ต้องดูแล
เมื่อถามว่า กรธ. มีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของวิชามาร นายมีชัยกล่าวว่า ขณะนี้ กรธ. มีคนคอยรวบรวมสิ่งที่ปรากฏในสื่อหรือโซเชียลมีเดีย และก็จะพยายามหาคำอธิบาย ซึ่งมี 2 อัน นอกจากวิชามารแล้วก็จะยังเข้าใจผิด เพราะอ่านไม่ละเอียด หรือมีวิธีคิดที่ผิดแปลก และเผยแพร่วิธีคิดนั้นออกไป ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ บางทีก็มาจากนักวิชาการด้วยกันเอง ซึ่ง กรธ. ต้องติดตามและคอยชี้แจง
เมื่อถามว่า กรธ. มีการวางแผนการลงพื้นที่อย่างไรบ้าง นายมีชัย กล่าวว่า เท่าที่คณะอนุประชาสัมพันธ์ได้คิดไว้ คือ 1. กรธ. จะไปชี้แจงให้กับครูต้นแบบก่อน ซึ่งหมายถึงเครือข่ายต่างๆ แล้วให้ครูต้นแบบค่อย ๆ ทยอยชี้แจงเป็นลูกระนาดตั้งแต่ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อชี้แจงกับประชาชนเป็นแบบดาวกระจาย เพราะลำพังคน 21 คน คงไม่สามารถไปได้หมด ซึ่งขณะนี้ กรธ. กำลังประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงกลาโหม เพื่อสร้างครูต้นแบบให้มากขึ้น จะได้กระจายให้ทั่วถึง 2. กรธ. จะชี้แจงในจุดสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค เพื่อไปให้ถึงตัวชาวบ้านโดยตรง ไม่ได้ไปมุ่งเน้นที่พื้นที่ที่มีการโต้งแย้งหรือขัดแย้งสูงอะไร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการวางแผนว่าจะลงไปที่ไหนเมื่อไรบ้าง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจเป็นที่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ภาคเหนือก็อาจเป็นที่เชียงใหม่ เป็นต้น