“ไม่สั้น ไม่รัดรูป ไม่ฉูดฉาด ไม่ขาดวิ่น” ท่องจำให้ขึ้นใจในการแต่งกายไว้ทุกข์ แม้ไม่ใส่สีดำ แต่สีเรียบๆ ทั้ง ขาว,เทา,ครีม และกรมท่า ก็เป็นอีกทางเลือกในการสวมใส่ไว้อาลัยได้ ส่วนริบบิ้นดำจะไว้ที่อกซ้ายหรือแขนซ้ายก็ได้เช่นกัน หากใครไม่มีเสื้อดำ กศน.อำนวยความสะดวก ย้อมฟรีทั่วประเทศ
แม้ไม่ดำ แต่ก็ต้องรู้กาลเทศะ
“จะต้องสวมเสื้อผ้าสีดำ เป็นพื้นฐาน ใช้สีขาว และสีเทา สลับได้ เสื้อผ้าควรออกแบบ เสื้อผ้าควรออกแบบอย่างสุภาพ ไม่มีลวดลาย ในส่วนของเครื่องแบบของหน่วยงานให้ใส่ใช้ไว้ทุกข์ได้ เพราะถือว่าเป็นรูปแบบที่สงบ และสุภาพแล้ว สำหรับเสื้อสีดำตราสัญลักษณ์ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาวางขายก็ไม่สมควรนำมาร่วมใส่กับการไว้อาลัย และร่วมถวายสักการะพระศพ เนื่องจากไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ผิดกาลเทศะ ส่วนเสื้อสีเหลืองและชมพูตราสัญลักษณ์ ขอให้นำมาสวมใส่หลังจากออกทุกข์แล้ว”
นี่คือคำแนะนำสำหรับการแต่งกายไว้ทุกข์ของ อ.ธงทอง จันทรางศุ ที่เคยอ้างอิงไว้ในช่วงการจัดงานพระราชพิธีพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2550
ในขณะนี้ ช่วงเวลาแห่งความเสียใจได้หวนกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยอีกครั้ง ตามธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับไว้ทุกข์นั้น การแต่งกายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนค่อนข้างกังวล ว่าเสื้อผ้าของตนเองที่มีอยู่ในตู้ตอนนี้ เหมาะสมในการสวมใส่ไว้ทุกข์หรือไม่ ซึ่งไม่เพียงแต่โทนสีที่เหมาะสมเท่านั้น ต้องคำนึงถึงรูปแบบของเสื้อผ้าที่จะเลือกสวมใส่ด้วย
ในส่วนของการแต่งกายเพื่อเข้าร่วมพิธีถวายสักการะพระบรมศพหรือลงนามถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐาน แน่นอนว่าต้องเน้นความสุภาพเรียบร้อยเป็นสำคัญ เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม ควรเป็นเสื้อมีแขนที่ไม่รัดรูปหรือบางจนเกินไป หากเป็นไปได้ก็ควรสวมเสื้อผ้าที่ไม่มีลวดลายหรือมีลายแต่น้อยเป็นพอ
[ การแต่งการที่ถูกต้องให้การเข้าร่วมพิธี ]
หากเป็นกระโปรงก็ควรเป็นกระโปรงที่ยาวคลุมเข่าและไม่เข้ารูป สำหรับกางเกงก็ควรเลือกแบบที่สุภาพ ขายาวคลุมไม่เข้ารูปเกินไปเช่นกัน ส่วนรองเท้าก็ควรจะเป็นรองเท้ารัดส้นหรือหุ้มส้นสีเข้มหรือโทนสีสุภาพเช่นกัน
กาลเทศะและความสุภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เสื้อที่โชว์ผิวหนังมากเกินไปอย่าง เสื้อคอกว้าง สายเดี่ยว เปิดไหล่ เอวลอย กระโปรงและกางเกงขาสั้น ไม่เหมาะสมในการเข้าร่วมพิธีอย่างยิ่ง เก็บไว้ก่อนจะดีกว่า
[ เสื้อเอวลอยและกางเกงรัดรูป ไม่เหมาะสมในการเข้าร่วมพิธี ]
แต่หากเป็นการแต่งกายในชีวิตประจำวัน และมีเสื้อผ้าสีดำไม่เพียงพอจริงๆ เสื้อผ้าสีเรียบๆ อย่าง สีขาว สีเทา สีครีม สีกรมท่า และสีอื่นๆ ที่ไม่ฉูดฉาด ก็สามารถสวมใส่ได้เช่นกัน โดยเน้นความสุภาพเป็นหลัก และสามารถติดริบบิ้นดำ,โบดำ,ปลอกแขนขนาด 4 นิ้ว รวมถึงชิ้นผ้าขนาดเล็ก เพื่อแสดงถึงความอาลัยได้
[ ตำแหน่งในการติดริบบิ้นที่ถูกต้องคืออกข้างซ้ายและแขนซ้าย ]
[ ที่มา : เฟซบุ๊ก Padfoot and Moony ]
สำหรับตำแหน่งในการสวมปลอกแขนและผ้าชิ้นเล็กๆ จะอยู่ตรงแขนซ้าย ส่วนการติดริบบิ้นดำและโบดำนั้น จะติดเอาไว้ที่อกข้างซ้าย หรือจะเป็นแขนซ้าย ก็ตามแต่สะดวก
สุดท้ายนี้ แสดงความอาลัยอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่สีเสื้อ แม้จะไม่ได้สวมเสื้อสีดำ ก็แสดงออกถึงความอาลัยและรักพ่อหลวงได้เช่นกัน...
เสื้อดำไม่พอ กศน.ย้อมให้ฟรี
จากความต้องการเสื้อสีดำในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น จนเกิดปัญหาขาดตลาดแล้ว ซ้ำร้าย บางแห่งยังโก่งราคา ฉวยโอกาสเอาเปรียบคนไทยด้วยกันเองในช่วงกำลังเศร้าโศก ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ กศน.ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์ย้อมผ้าฟรี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเสื้อสีดำขาดตลาดและประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดให้บริการย้อมผ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ ทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ รวมถึงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นบริเวณสนามหลวงฝั่งตรงข้ามวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมี กศน.จากเขตดุสิต มาสาธิตการทำย้อมผ้าและสอนทำริบบิ้นติดแก่ประชาชนที่สนใจ โดยจะมีการดำเนินการเบื้องต้นประมาณ 30 วัน
หลังจากที่มีการประชาสัมพันธ์ข่าวนี้ออกไป บริเวณซุ้มย้อมผ้าของ กศน.เขตดุสิต ก็มีประชาชนทยอยเดินทางกัน นำผ้ามาย้อมกันอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกันทำริบบิ้น ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 20 ล้านชิ้น เตรียมไว้สำหรับแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการอีกด้วย
ส่วนใครที่ไม่สะดวกเดินทางมาย้อมกับทาง กศน. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Thasanut Love Imm ได้ฝากวิธีย้อมผ้าง่ายๆ ด้วยตนเอง อีกทั้งประหยัดเงิน ผ่านการวาดภาพประกอบอย่างละเอียดเอาไว้ให้ได้ทำตามกัน ตามบรรทัดต่อจากนี้
1.ซื้อสีเคมีย้อมผ้าฝ้ายเป็นซอง ซองละ 5 บาท (หาซื้อไม่ได้ลองเปิดหาในกูเกิล สั่งในอินเตอร์เน็ตได้ ในกรุงเทพฯ อาจหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียน, ศึกษาภัณฑ์ แต่อาจจะไม่ขายแยกซอง) ลองศึกษาวิธีการย้อมที่ระบุมาที่ซอง หรือทำตามวิธีดังต่อไปนี้
1 ซองย้อมผ้าได้น้ำหนัก 1 ขีดต่อน้ำ 2 ลิตร เพราะฉะนั้นถ้าผ้าที่จะย้อมน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ก็ใช้สีจำนวน 10 ซอง น้ำประมาณ 20 ลิตร สามารถใส่น้ำเยอะได้ ซึ่งดีต่อการย้อมลักษณะของผ้าก็จะไม่ค่อยด่างในกรณีที่ไม่ค่อยได้กลับผ้าตอนย้อม
ผ้าที่ใช้ย้อมชั่งน้ำหนักตอนผ้าแห้ง จากนั้นนำไปแช่น้ำ ทำความสะอาด หรือจะไปใส่เครื่องซักผ้าปั่นให้หมาดๆ แล้วจึงนำมาย้อม เพื่อผ้าจะได้มีความชื้นเสมอกัน ความสม่ำเสมอช่วยให้เวลาย้อมจะไม่ด่าง ไม่มีเครื่องซักผ้าก็ใช้มือบิดเอา ช่วยกันจับหัวท้ายก็ได้นะจ๊ะ
** ข้อควรระวัง** ผ้าที่เป็นผ้าเทโรหรือผ้าโพลีเอสเตอร์ ผ้าใยสังเคราะห์และผ้าที่ไม่ใช่ผ้าฝ้ายแท้ หรือสังเกตจากข้างซองย้อมผ้าได้เลยว่าระบุไว้สำหรับย้อมผ้าอะไร ผ้าพวกนี้ต้องใช้สีย้อมเฉพาะของเขา
2.ให้ละลายสีด้วยน้ำร้อน คนจนสีละลายให้หมด จากนั้นเทสีที่ละลายแล้วลงในภาชนะที่เราจะใช้ย้อมผ้า เติมเกลือ ใช้เกลือ 20 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร คนให้ละลายจนทั่ว การเติมเกลือนี้ก็เพื่อช่วยชะลอการยึดติดสี ทำให้สีไม่ด่าง แล้วก็ยังช่วยทำให้สีติดดีอีกด้วย
3.เสร็จแล้วยกขึ้นตั้งไฟแล้วใส่ผ้า, เสื้อหรือกางเกงที่เราจะย้อมลงไป ช่วง 20 นาทีแรก หมั่นกลับผ้าบ่อยๆ ใช้เวลาต้มทั้งสิ้น 60 นาที
4.เสร็จแล้วยกผ้าขึ้น ผึ่งอากาศและรอให้หมาดน้ำสัก 5 นาที สุดท้ายก็นำไปซักน้ำเปล่าให้สะอาด เราก็จะได้เสื้อผ้าสีดำ เพื่อใส่ในช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งนี้
วิธีการย้อมผ้าข้างต้นนอกจากจะเป็นการประหยัดเงินแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการน้อมนำคำสอนของพ่อหลวงเรื่องของ “ความพอเพียง” มาปรับใช้ได้อีกด้วย
ขอบคุณภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก Padfoot and Moony , Thasanut Love Imm และ Charles Patnett
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754