xs
xsm
sm
md
lg

ร้องไห้จ้า หม่าม้าเจ็บ!! โถ...หลอกเด็กมันไม่ฮานะรู้ไว้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ม้าครับ..ใครทำ..ทำไมหม่าม้าทำแบบนั้น..หนูกลัว” หนูน้อยเสียขวัญ ร้องไห้สะอึกสะอื้นสลับคำพูดติดขัด เพราะคิดว่าคุณแม่ถูกตะปูแทงนิ้วจนเลือดอาบตามภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าจริงๆ ที่ไหนได้ เป็นแค่การจัดฉาก สร้างแผลตะปูแทงนิ้วแบบปลอมๆ ขึ้นเพื่อลองใจลูก อยากเห็นความรักความห่วงใย คาดไม่ถึง กระทบพัฒนาการเด็กในระยะยาว



กลายเป็นคลิปน่าสงสารปนเอ็นดูที่แชร์กันสนั่นเน็ต เมื่อคุณแม่รายหนึ่งนึกสนุกอยากลองใจลูกชายตัวน้อยขึ้นมา จึงทำทีว่าถูกตะปูแทงนิ้ว เลือด(ปลอม)อาบให้ต้องร้องโอดโอย เพื่อรอดูว่าหนูน้อยจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์สมมติที่เกิดขึ้น ตามคำถามที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นคลิปว่า “เดี๋ยวเราจะดูว่าลูกเป็นห่วงเราไหม?”

ผลที่ได้ออกมาเกินคาดไปมาก คือนอกจากจะได้เห็นความเป็นห่วงเป็นใยของหนูน้อยที่ร้องไห้จ้า กระโดดโหยงๆ ด้วยความตกใจ อยากช่วยให้คุณแม่หายเจ็บแต่ทำอะไรไม่ถูกแล้ว ยังกลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์ออกไปในวงกว้างมาก จนส่งให้เกิดกระแสตอบรับกลับมาทั้งมุมยิ้มๆ และมุมมืดๆ จาก “ความไม่รู้” ของผู้ปกครองด้วย

“อย่าคิดว่าความกลัวของเด็กเป็นเรื่องตลก” คือหัวข้อที่แฟนเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” จิตแพทย์เด็กบนโลกออนไลน์ หยิบเอาไปสะท้อนมุมคิดจากคลิปร้อนที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองอีกหลายๆ คนได้ฉุกคิดถึงพฤติกรรมการใช้ “ความกลัว” เข้าหยอกเย้าเด็ก ไม่ว่าจะทำไปด้วยความเอ็นดูหรืออยากเพียงสนุกสนาน ก็ส่งผลร้ายต่อเด็กได้ไม่ต่างกัน

“ความกลัวมีความหมายเสมอ ไม่มีใครชอบความรู้สึกกลัวหรอก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ยิ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้น และระยะยาวหากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่ แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วมจะถูกดูดลงไปในโถ เด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็ก ขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อเดี๋ยวแม่จะหนีออกจากบ้าน ตั้งแต่นั้น เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป


ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็กๆ ฝันร้าย นอนไม่หลับ ถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้ง จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งหมอเชื่อว่า ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กคนไหนตั้งใจอยากให้เด็กเป็นแบบนั้น

หยุดแกล้งให้เด็กกลัว จนทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจเลย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่เด็กรักและเชื่อใจ”
ถ้าเด็กน้อยในวันนี้ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ขี้กลัว โปรดจงรู้ไว้ว่าคุณคือหนึ่งในคนที่มีส่วนช่วยปลูกฝัง “ความรู้สึกกลัวอย่างไร้เหตุผล” ในตัวเขา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เคยบอกไว้อย่างนั้น

"การหลอกเด็กเป็นการสร้างนิสัยให้เด็กขาดการใช้ความคิดไตร่ตรอง ไม่หาความจริงด้วยเหตุผล ยิ่งไปกว่านั้น หากลูกมีความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อต้องอยู่ในภาวะเช่นนั้นนานๆ อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้ เช่น เด็กที่กลัวความมืด หากให้อยู่ในห้องมืดคนเดียว จะเกิดความเครียด นอนไม่หลับในเวลากลางคืน หัวใจจะเต้นเร็ว สมองจะจินตนาการไปต่างๆ นานา และสามารถหวีดร้องได้ แค่มีใบไม้ใบหนึ่งปลิวมาปะทะหน้าต่าง ทั้งๆ ที่ในความมืดนั้น ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

ดังนั้น การช่วยให้เด็กเลิกกลัวอย่างไม่มีเหตุผลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยพัฒนาการใช้เหตุผลของเด็ก ให้รู้จักพิสูจน์ความจริงก่อนตอบสนอง เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเป็นคนที่มีเหตุผล ไม่กลัวสิ่งใดง่ายๆ ช่วยทำให้เด็กไม่หลงเชื่อสิ่งใดอย่างง่ายๆ เพียงเพราะรู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล"

"ถ้าไม่เชื่อ เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ” "รีบนอนได้แล้ว เดี๋ยวผีมาหลอก" "ห้ามเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืน เดี๋ยวผีมาเอาตัวไป" ฯลฯ ถ้าไม่อยากให้เด็กๆ หลงกลัว ไปกับเงื่อนไขไม่สมเหตุสมผลที่ใครต่อใครตั้งขึ้น ก็ต้องเริ่มสื่อสารอธิบายความจริงกับเขาเสียตั้งแต่ตอนนี้ ให้เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังที่แฝงมากับการหยอกเย้า จะได้ไม่ต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ผิดปกติ เพราะฝังใจจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น