xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์ "ปล้นทางเท้า" สู่การทวงคืนความโล่งกลับคืนมา!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"กีดขวางทาง ทำสกปรก ขยะเกลื่อนเมือง" เสียงบ่นพึมพำที่มีมาตลอดสำหรับแผงค้าบนทางเท้าย่าน "สยามสแควร์" ซึ่งเป็นจุดที่ประชาชนชาวกรุงเอือมระอามากที่สุด แม้ กทม. ประกาศเส้นตาย หมดเขตตั้งแผงขายมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังดื้อรั้นดันทุรังขาย ล่าสุดแผลงฤทธิ์หนักหลังเจ้าหน้าที่เข้าไปทวงคืนทางเท้าให้ประชาชน แม้สุดท้ายดูเหมือนจะทวงคืนได้สำเร็จ แต่ก็คงต้องดูต่อไปยาวๆ เพราะไม่รู้ว่าจะ "เอาอยู่" อย่างถาวรหรือไม่ รวมไปถึงพื้นที่ในโซนจัดระเบียบอื่นๆ ด้วย

หยุดอ้างความจนปล้นทางเท้า

"ผิดกฎหมายก็ต้องจัดการ" เป็นเจตนารมณ์ที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้เคยให้คำมั่นเอาไว้ในการจัดระเบียบทางเท้ารอบกรุง แม้ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหากีดขวางทางเท้าจำนวน 53 แห่ง สำเร็จไปแล้วบางส่วน แต่บางส่วนกลายเป็นว่าไป "รังแกคนจน"


เช่นเดียวกับแผงค้าบริเวณ "ทางเท้าย่านสยามสแควร์" ซึ่งเป็นจุดที่มีประชาชนร้องเรียนถึงความไม่สะดวกในการสัญจรไปมาอย่างต่อเนื่องมากที่สุด แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า "ผิดกฎหมาย" เพราะกีดขวางทางเท้า สร้างปัญหาจราจร แถมยังเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากการถูกรถชน แต่ก็ยังดื้อรั้นอ้างความจน และความเดือดร้อนเพื่อขายต่อ


จริงอยู่ที่แผงค้าบนทางเท้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม้ขายผู้มีรายได้น้อย แต่สำหรับที่นี่ ไม่ได้น่าสงสารอย่างที่ใครหลายคนคิด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นความเหลืออดที่คนทางเท้าขอทวีตบ่นระบายอารมณ์เอาไว้ในทวิตเตอร์ พร้อมติดแฮชแท็ก #ทางเท้าสยามบอกเล่าเอาไว้


"เห็นหลายๆ ร้านมี Macbook/iPad/iPhone เล่นฆ่าเวลาด้วยนะครับ ไม่ได้ใช้ Samsung Hero แบบพ่อค้าในโฆษณา #ทางเท้าสยาม แถวสยามนี่พ่อค้าแม่ค้ารถเก๋งทั้งนั้นนะครับ ไม่ใช่รถกระบะ แท็กซี่ สามล้อ #ทางเท้าสยาม" @YYOOBBUUNN


ตรงกันกับเพจดังอย่าง "อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก" ที่เคยออกมาโพสต์จัดหนักผู้ค้าทางเท้า "สยามฯ" ในประเด็นเอาเปรียบสังคมแถมไม่ใช่คนจนอย่างที่กล่าวอ้าง 
"...แม่ค้าพวกนี้ไม่ใช่คนยากจนนะครับ แต่แม่ค้าพวกนี้เป็นคนที่เอาเปรียบสังคมแล้วหาประโยชน์จากการเอาเปรียบสังคม จนร่ำรวย หลายคนขับ CRV มาลงของ บางคนขับรถยุโรปราคาแพง สินค้าที่ขายบางร้านก็ขายของละเมิดลิขสิทธิ์ ของที่ขายก็ไม่ได้ราคาถูกๆเลย อย่าอ้างว่าเพราะมีคนซื้อเลยมีคนขายเลย มันไม่ใช่ ถ้าไม่มีของพวกนี้ คนซื้อเค้าก็ไปซื้อที่อื่นอยู่ดี..."

แฟ้มภาพ
นอกจากนั้นยังมีข้อความทวีตบ่นถึงปัญหาอีกสารพัด โดยเฉพาะการตั้งแผงขายหารายได้บนความเอาเปรียบ และสร้างภาระให้สังคมที่เรื้อยังมานานหลายปี 

"แค่ขายของก็ลำบากคนเดินฟุตบาธจะแย่อยู่แล้ว นี่ยังจอดรถเอาของลง ไม่สนใจว่ารถติดยาวเหยียดเท่าไหร่ #ทางเท้าสยาม" @Nuboyja

"ก็จ่ายภาษีทุกปีนะ แค่จะขอทางเท้าเดินสบายๆ แค่นี้ไม่ได้เลยใช่ไหม ตกลงเบียดจนถ้าเสาไฟมันมีชีวิต มันคงเดินหนีไปเองแล้ว #ทางเท้าสยาม" @khaopan


"เคยทวีตถามผู้สมัครผู้ว่าฯ เรื่อง #ทางเท้าสยาม ส่วนใหญ่ตอบว่าจะเจรจา และหาจุดผ่อนผัน แต่ที่ผ่านมาก็เจรจาไม่สำเร็จทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง ก็หวังได้แต่รัฐบาลนี้ ที่ไม่ต้องแคร์คะแนนนิยม จะใช้อำนาจเด็ดขาดให้ถูกที่ถูกทาง ด้วยการจัดการปัญหา #ทางเท้าสยาม เหมือนที่ทำกับทางเท้าอื่นๆ แต่ตอนนี้ สิ่งที่พวกเราที่ไม่สนับสนุนให้มีการขายของบน #ทางเท้าสยาม ทำได้ง่ายที่สุด คือ #การไม่ซื้อ #ไม่สนับสนุนคนเหล่านี้" @koko_watt


ทวงคืนทางเท้า จริงจังแค่ไหน


ล่าสุด เมื่อถึงกำหนดจัดระเบียบทางเท้าอีกครา หลังจากผ่อนผันให้กลุ่มผู้ค้ามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะย่านประตูน้ำ และสยามสแควร์ แน่นอนว่ากลุ่มผู้ค้าหลายรายย่อมไม่พอใจ และไม่ยอมจนต้องรวมตัวกันก่อม็อบถือป้ายคัดค้านการจัดระเบียบทางเท้า โดยจุดที่แผลงฤทธิ์หนักสุดคงหนีไม่พ้น "แผงค้าสยามฯ" ที่ผู้ค้ารวมพลประท้วงกันให้วุ่น แถมยังขู่ห้ามใครถ่ายภาพ-ลงคลิป รวมไปถึงพยายามใช้กำลังกันด้วย


บอกเล่าได้จากผู้สื่อข่าวภาคสนามประจำสถานีโทรทัศน์์ช่อง NOW26 ที่โพสต์ข้อความ และวิดีโอคลิปหลังลงพื้นที่ไปทำข่าวผู้ค้าสยามประท้วง กทม. จัดระเบียบทางเท้า โดยระบุว่า ใครไม่ใช่กลุ่มผู้ค้าถ่ายคลิป ถ่ายภาพ หรือ Facebook Live ก็จะถูกกรูกันเข้ามาถามถ่ายอะไร พร้อมให้ลบภาพ ลบคลิป ก่อนจะเผยถึงชายคนหนึ่งที่โดนจับตัวหลังเข้าไปถ่ายภาพ โชคดีที่ตำรวจ และเทศกิจเข้าไปห้ามไว้ทัน




แม้ตอนนี้ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่จะทวงคืนทางเท้า "สยามฯ" สู่มวลชนได้สำเร็จ เพราะเห็นจากภาพทางเท้าชวนสะอาดตาจนหลายคนชื่นชมยินดีในผลงานของรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็คงต้องดูต่อไปยาวๆ เพราะไม่รู้ว่าจะ "เอาอยู่" หรือไม่ ซึ่งบางส่วนยังหวั่นๆ ว่าแผงค้าบนทางเท้าอาจผุดขึ้นมาเรียงรายเหมือนเดิม ล่าสุด (5 ต.ค.59) ยังคงมีกลุ่มผู้ค้าสยามปักหลักชุมนุมและรอตั้งของขาย และมีเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยคุมกำลังอยู่ห่างๆ

ด้านประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) "วัลลภ สุวรรณดี" ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่า แม้จะมีกลุ่มผู้ค้ารวมตัวถือป้ายคัดค้านการจัดระเบียบ พร้อมเดินหน้าร้องขอความเป็นธรรมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ทาง กทม.ยืนยันจะเดินหน้าดำเนินการตามกฎกติกาบ้านเมืองเพื่อคืนทางเดินให้ประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ย่านประตูน้ำ ราชประสงค์ สยามสแควร์ และสีลม โดยได้หาพื้นที่รองรับผู้ค้าไว้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ใต้ทางด่วนพงษ์พระราม เพื่อรองรับผู้ค้าสยามสแควร์ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 7 ไร่ สามารถรองรับเจ้าของแผงได้ถึง 620 ราย แถมยังมีพื้นที่ให้จอดรถได้อีก 60 คัน นอกจากนั้นจะยังไม่มีการเก็บค่าเช่าที่เพื่อผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้มีเวลาปรับตัว

เพจดังจัดหนัก "ที่นี่ไม่ต้องการคุณ"

อย่างไรก็ดี นอกจากเพจที่ติดตามปัญหานี้มาโดยตลอดอย่างเพจ "กลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่ แผงลอย" หรือเพจ "เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์" และอื่นๆ ด้านแฟนเพจ "อวยไส้แตกแหกไส้ติ่ง" ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นระเบียบของทางเท้าย่านสยามสแควร์มาโดยตลอด ก็โพสต์เฟซบุ๊กจัดหนักจัดเต็มในการประท้วงของผู้ค้าบนทางเท้าด้วยความเอือมระอา โดยระบุให้เลิกพยายามประท้วง แล้วตั้งหน้าตั้งตาไปหาสถานที่ขายของที่ทาง กทม.จัดให้แบบถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนจะลงท้ายด้วยความสุดทนว่า "ไปเสียเถอะครับ ที่นี่ไม่ต้องการคุณ"




"...ผมเคยเดินบนสะพานลอยข้ามจากพารากอน ผมเห็นรถเมล์กำลังมาจากแยกอังรีดูนังต์ ผมวิ่งลงมาขึ้นรถเมล์ แต่ผมวิ่งลงมาขึ้นไม่ทัน เพราะผมติดแผงขายของของพวกคุณ คุณคิดว่าพวกคุณเป็นปัญหาสังคมไหมครับ

การขายของของพวกคุณไม่ได้เบียดบังแค่ทางเท้า แต่มันยังลามไปถึงถนนเลนแรกด้วย เพราะคุณเอารถหรู ๆ ของคุณมาลงของ กินเลนถนนไปอีก 1 เลน แล้วปัญหาคือคนที่เดินบนทางเท้าไม่ได้ เค้าต้องลงมาเดินถนน ถ้าเค้าโดนรถชน คุณจะมารับผิดชอบชีวิตเค้าไหมครับ..."


เช่นเดียวกับเพจ "Drama-addict" ที่ติดตามสถานการณ์ข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากข้อความจิกกัดแสบๆ คันๆ ที่พยายามส่งสารไปถึงผู้ค้าที่ออกมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรม


"หยุดเรียกร้องสิทธิในสิ่งที่คุณไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของเสียที ไปเช่าที่ในตลาด เช่าที่ในห้าง หรือบน BTS จุดที่เขาเปิดพื้นที่ให้เช่าแล้วเปิดร้านขายของกันเป็นกิจจะลักษณะก็ได้เพราะพวกคุณมีสิทธิขายของบนทางเท้ากันมานานมากแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่ประชาชนจะได้สิทธิในการเดินบนทางเท้ากลับคืนมาละ"

นอกจากนั้นยังตั้งคำถามย้อนกลับไปอีกว่า "สิทธิของแม่ค้าที่จะขายของบนฟุตปาธ? แล้วสิทธิของประชาชนที่จะเดินบนฟุตบาทล่ะ?"



สุดท้ายแล้ว คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการจัดระเบียบทางเท้าในหลายพื้นที่เรื้อรังครั้งนี้จะคืน "ทางเท้า" ให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมแค่ไหน แม้กลุ่มพ่อค้าแม้ขายหลายคนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะรายได้ และฐานลูกค้าที่เสียไป แต่ "ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย" นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ

ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรี "พล.อ.ประยุทธ์" ได้เคยพูดไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ซึ่งพอจะนำมาสรุปทิ้งท้ายได้เป็นอย่างดีว่า "...ก็รู้ว่าจนนะ แต่ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ไม่งั้นก็ไม่เท่าเทียม คนทำผิดกฎหมายก็ขายไม่ได้ยังไง เพราะว่าเคารพกฎหมาย คนไม่เคารพกฎหมายก็ขายได้ แล้วบอกว่าจน แล้วจะเท่าเทียมไหมในกิจการแบบเดียวกันนะ เพราะคนไทยทั้งคู่
ผมต้องการให้คนในกลุ่มเดียวกันนี่ เคารพกฎหมาย ไม่เคารพกฎหมาย ร่วมมือกัน เผื่อแผ่แบ่งปันกันบ้าง เดี๋ยวรัฐบาลก็จะไปหาที่ขายให้ก็หลายๆ ที่นะย้ายไปก็ดีขึ้นนะ คลองถม เห็นเขาบอกว่าขายดีขึ้น ใหม่ๆ ก็ธรรมดา เคยชินมาเป็น 10-20 ปี ก็ขอร้องอย่ากลับมาที่เดิมแล้วกัน..."

ขอบคุณภาพบางส่วนจากเพจ กลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่ แผงลอย, อวยไส้แตกแหกไส้ติ่ง และเฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น