xs
xsm
sm
md
lg

โง่มาตั้งนาน... “Service Charge” ร้านอาหาร ไม่จ่ายก็ได้นะ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทนไม่ไหวอีกต่อไป!! กับ “ค่าบริการมัดมือชก” ที่ร้านอาหารเรียกเก็บแบบเนียนๆ ผ่านคำว่า “เซอร์วิสชาร์จ” เจ้าของกิจการต่างอุบเงียบโกยเปอร์เซ็นต์เข้ากระเป๋าหน้าตาเฉย คนรู้จริงจึงขอเปิดกะลาที่ครอบหัวคนไทย ไม่รู้ก็ให้รู้เอาไว้ว่าลูกค้าทุกราย มีสิทธิปฏิเสธไม่ควักตังค์จ่ายค่าอะไรก็ตามที่นอกเหนือไปจากค่าอาหารได้ แล้วจะพบว่าเหลือแบงก์หนาๆ ติดกระเป๋าเพิ่มอีกเพียบ เมื่อไม่ต้องเสียค่าโง่ให้ค่าเสิร์ฟที่คิดขึ้นเอง!!



อย่าผลักภาระ! “เซอร์วิสชาร์จ” ไม่ใช่หน้าที่ลูกค้า!!

“ลูกค้ามีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่า service charge และทางร้านไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บ” ด้วยข้อสรุปแบบยิงหมัดฮุกตรงแบบนี้ จากเฟซบุ๊ก "Prasopchoke Bom Chantaramongkol" นี่เอง ที่ทำให้ประเด็นร้อนเรื่องการจ่ายค่าบริการร้านอาหารกลายเป็นเรื่องถกเถียงกันมันอย่างถึงพริกถึงขิง

ที่น่าสนใจคือนี่ไม่ใช่การออกมาแฉเบื้องลึกเบื้องหลัง “ค่าบริการมัดมือชก” ครั้งแรกของเขา แต่จริงๆ แล้วคนต้นเรื่องรายนี้เคยตั้งกระทู้ในพันทิปที่ชื่อ "ผมปฏิเสธการจ่าย service charge ในทุกๆ ร้านอาหาร ตามกฎหมายร้านอาหารไม่สามารถเก็บค่า service charge เราได้" แต่ถูกกดแจ้งลบให้เหลือแต่หน้าเปล่าพร้อมตัวอักษรบางๆ ที่ระบุทิ้งไว้ว่า “กระทู้นี้ถูกลบโดยระบบอัตโนมัติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศการสนทนาของเพื่อนสมาชิกโดยรวมค่ะ”

อาจหมายความว่าเรื่องราวรายละเอียดทั้งหมดจากคนคนนี้ น่าจะก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่เข้ากระทบฝั่งผู้ประกอบการร้านอาหารหลายๆ รายให้ต้องปั่นป่วน จนต้องระดมพลกันมากดร้องเรียนให้ลบ หรือก่อให้เกิดกระแสถกเถียงอย่างหนักในวงกว้างเกินกว่าเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งจะรับไหว และนี่คือข้อมูลที่บอกเล่าอย่างตรงประเด็นจนกลายเป็นที่น่าจับตามอง

[แฉเรื่อง "เซอร์วิสชาร์จ" เอาไว้เป็นที่แรก แต่ถูกลบ]

ทางร้านไม่มีสิทธิมาเก็บกับเรา เด็กเสิร์ฟคือลูกจ้างของร้าน และกฎหมายกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าจ้าง ไม่ใช่ผลักภาระมาให้ลูกค้าเป็นค่าจ่าย ถ้าวันนี้ผมไม่เป็นคนเริ่ม สังคมไทยต่อไปลำบากแน่ เพราะร้านอาหารมันจะได้ใจ และอาจขึ้นค่าบริการไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง ค่า service charge อาจแพงกว่าอาหาร เช่น ข้าวผัดกุ้งจานละ 80 ค่าบริการ 100 บาท

คนไทยถูกเอาเปรียบจนคิดว่ามันคือเรื่องปกติ ถ้าใครมองว่าการจ่ายค่าบริการ 10% เป็นเรื่องปกติ และชอบด้วยเหตุผลแล้ว ผมแนะนำว่าคุณควรทบทวนตัวเองแล้วว่า คุณคงถูกเอาเปรียบจนกลายเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า เรื่องนี้ถึงอย่างไรก็ผิดกฎหมาย และเรามีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะไม่จ่าย


ที่เห็นว่ากล้าออกมาโพสต์ชักชวนให้ทุกคน “เลิกจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จ” ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ขนาดนี้ เพราะเจ้าตัวพิสูจน์กับตัวมาแล้วว่าทำได้จริง โดยตลอด 2 เดือนที่ไปนั่งกินอาหารที่ร้านต่างๆ เขาปฏิเสธที่จะจ่ายค่าบริการในส่วนนี้ทุกครั้ง และไม่มีร้านไหนที่ทำอะไรเขาได้เลย แถมยังฝากคำท้าไปยังผู้จัดการร้านหลายๆ แห่งให้ฟ้องร้องเสียด้วย ยิ่งกลายเป็นคดีดังยิ่งดี จะได้ช่วยเปิดหูเปิดตาคนไทยให้รู้กันจะจะไปเสียทีว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ไม่ใช่หน้าที่ที่ลูกค้าต้องแบกรับ!!

“ผมพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เราไปร้านอาหาร เราไปซื้ออาหาร หลังจากที่เราสั่งอาหาร ถือว่าการตกลงซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้ว และกระบวนการทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในการกินอาหาร ก็มีแค่พนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟให้เรา การเรียกเก็บค่า service charge 10% จึงไม่มีความเป็นธรรม เพราะไม่ได้มีบริการเสริมใดๆ ขึ้นมาจากการเสิร์ฟอาหารปกติ และต่อให้มีบริการอะไรที่เพิ่มเป็นพิเศษ ลูกค้าก็ต้องมีสิทธิเลือกว่าจะซื้อบริการนั้นหรือไม่


ผมได้ปฏิเสธการจ่ายค่า service charge มาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกร้านจะเรียกผู้จัดการร้านมาคุยกับผม ผมได้ตอบกลับไปทุกรายว่า คุณมีสิทธิอะไรมาคิดเงินผมเพิ่มอีก 10% นอกเหนือจากค่าอาหาร ผมท้าให้ฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างเลย ให้ศาลตัดสินเป็นคดีแรกของประเทศไทยไปเลย เพื่อจะได้ลงหน้า 1 ไทยรัฐ คนไทยทั้งประเทศจะได้เลิกถูกเอาเปรียบจากนายทุน

ปรากฏว่า ไม่มีร้านไหนกล้าเก็บค่า service charge ผมแม้แต่ร้านเดียว โดยทางผู้จัดการร้านบอกว่า ครั้งนี้จะอนุโลมให้เป็นพิเศษ ผมสวนกลับไปทันทีว่าพรุ่งนี้ผมก็จะมากินอีก แล้วก็จะไม่จ่ายค่า service charge เช่นเดิม ให้ทางร้านเตรียมทนายมาด้วยเลยก็ได้ ผมอยากให้ร้านอาหารฟ้องผมเหลือเกิน จะได้เป็นคดีตัวอย่างไปเลย และมั่นใจว่าผมชนะแน่นอน



ถูกท้าฟ้อง ดีกว่า ถูกมัดมือชก!!

ข้อมูลทุกอย่างที่คนต้นเรื่องนำเสนอ อ้างเอาไว้ในโพสต์ว่าเกิดจากการระดมสมองของกลุ่มทนายมือดีทั้ง 6 คน ที่ศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดีแล้ว จนได้คำตอบว่า “ลูกค้ามีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่า service charge และทางร้านไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บ”

เพื่อความแน่ใจ ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงต่อสายตรงไปขอความรู้จากทนายความอีกท่านหนึ่งเพิ่มเติม ทำให้ได้มุมมองจากทนายผู้ว่าความประจำ บริษัท สำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด “ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ” ให้มั่นใจขึ้นไปอีกว่า ข้อมูลที่ได้รับมามีที่มาที่ไปจริงๆ

“ถึงแม้เข้าไปในร้านแล้ว เขาจะเขียนระบุไว้ให้เห็นว่า มีค่าเซอร์วิสชาร์จกี่เปอร์เซ็นต์ ถามว่าเอากฎหมายตรงไหนมารองรับข้อกำหนดตรงนี้ นอกจากจะกำหนดมันขึ้นมาเอง เท่าที่ผมเคยศึกษากฎหมายมาทั้งหมด ผมยังไม่เจอว่าตัวไหนระบุเรื่องค่าบริการส่วนนี้เอาไว้ ยังไม่มีกฎหมายไหนระบุว่าคนไทยที่กินอาหารที่ร้าน ต้องจ่ายเงินค่าเซอร์วิสชาร์จตามอัตราเท่านี้ๆ ตามที่มาตราในกฎหมายได้ระบุเอาไว้

ผมยังไม่เคยเจอกฎหมายระบุไว้ว่า ถ้ามีพนักงานเดินมาให้บริการถึงโต๊ะอาหาร ลูกค้าต้องจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จ หรือถ้าเปลี่ยนเป็นเดินไปเอาเอง ไม่พึ่งพนักงาน จะไม่ต้องจ่ายหรือเปล่า มันไม่มีข้อมูลตรงไหนเขียนไว้ ผมเลยมองว่าค่าบริการตรงนี้คือส่วนที่ทางร้านเขาตั้งตามอำเภอใจมากกว่า


ดังนั้น กรณีปฏิเสธการจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จของลูกค้า ผมมองว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ครับ แต่ถ้าผู้ให้บริการ ตัวร้านอาหารมองว่าเขามีสิทธิที่จะเก็บค่าบริการส่วนนี้กับเราได้ ก็ต้องให้เขาไปดำเนินการฟ้องร้องกันเอา เรื่องแบบนี้มันต้องมีความกล้าที่จะเริ่มต้น มันถึงจะมีคนกล้าออกมาส่งเสียง

ถึงแม้จะอ้างว่าทางร้านอาหารได้ระบุรายละเอียดทุกอย่างเอาไว้ในเมนูอาหารเรียบร้อยแล้วว่า จะมีการเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ถ้ามองในมุมกฎหมายแพ่งแล้ว ข้อตกลงหรือสัญญาใดๆ ที่มีการเขียนข้อกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า เป็นการตกลงเพียงฝ่ายเดียวของทางร้าน โดยที่ทางฝ่ายลูกค้าไม่ได้แสดงตัวว่ายินยอมแต่อย่างใด ให้ถือว่าข้อกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย และจะทำให้ข้อตกลงฝ่ายเดียวที่เขียนเอาไว้ถือเป็น "โมฆะ" ทันที

ขอถามอีกสักที เพื่อยืนยันความมั่นใจอีกสักครั้งว่า ประชาชนตาดำๆ ในฐานะ “ผู้บริโภค” อย่างเราๆ มี “สิทธิที่จะปฏิเสธ” การจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จในร้านอาหารได้มากน้อยแค่ไหน? คนที่จะให้คำตอบที่น่าเชื่อถือได้ที่สุดอีกฝ่ายหนึ่ง คงหนีไม่พ้นผู้มีหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอย่าง “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)” ซึ่งคำตอบที่ได้รับจาก “เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย กองกฎหมายและคดี” ประจำหน่วยงานนี้ กลับไม่ค่อยสอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเท่าใดนัก


“การเรียกเก็บค่าบริการส่วนนี้ ถือเป็นหลักอย่างหนึ่งของบริษัทเอกชน 'หลักการแสดงเจตนาเรื่องการใช้บริการ' ถ้าได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึงเขามีป้ายติดแสดงราคาไว้ ระบุรายละเอียดลงในเมนู หรือแจ้งให้ทราบว่าจะมีค่าเซอร์วิสชาร์จตรงนี้ด้วย ทางผู้ประกอบการก็สามารถที่จะเรียกเก็บได้ แต่ถ้าเขาไม่ได้ระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ต้องดูว่าเขาเรียกเก็บกับลูกค้าท่านอื่นๆ เหมือนกันหรือเปล่า

การเรียกเก็บ ต้องไม่เรียกราคาสูงเกินมาตรฐาน เช่น ค่าอาหาร 1,000 บาท แต่เรียกค่าเซอร์วิสมา 2,000 บาท แบบนี้ก็ไม่ไหว ต้องดูว่ามีเด็กเสิร์ฟมาบริการไหม สถานที่เป็นสถานที่ที่เขาจัดแต่งเอาไว้ ให้ลูกค้าเข้าไปนั่งแล้วรู้สึกสบาย หรือสัมผัสได้ถึงความหรูหราของการบริการมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ แต่ในแง่มุมของการบริการ เรื่องเซอร์วิสชาร์จตรงนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเรียกเก็บได้อยู่แล้ว

ที่สำคัญ ถ้าลูกค้าไม่ประสงค์ที่จะจ่ายค่าบริการ จะต้องคัดค้านตั้งแต่แรก แต่ถ้าไม่พูด นั่งนิ่ง สั่งอาหาร แล้วค่อยมาโวยทีหลัง ก็แสดงว่าเรายินยอมและสมัครใจที่จะใช้บริการของเขาแล้ว จะอ้างว่าไม่ยินยอมหรือให้สัญญาเป็นโมฆะอาจจะไม่ได้ ดังนั้น ทางร้านค้าก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้อง และทางลูกค้าก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่ายได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์เรื่องการบริการออกมาตายตัว ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเซอร์วิสชาร์จ ถ้าคดีไปถึงชั้นศาลคงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป


เห็นทีว่าถ้าจะให้เรื่อง “การเก็บค่าบริการส่วนเกิน” ตรงนี้มีบรรทัดฐานและที่มาที่ไปที่ตรวจสอบได้ชัดเจน คงต้องให้มีคู่กรณีฟ้องร้องกันให้เป็นคดีเคสตัวอย่างดังๆ ดูสักราย คงจะจริงอย่างที่เจ้าของเรื่องได้ฝากทิ้งท้ายเอาไว้ว่าให้ทุกคนลอง “ท้าฟ้อง” ร้านอาหารต่างๆ วัดใจกันไปเลย

“หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่จบจาก อเบอดีน (แหล่งผลิตนักกฎหมายระดับท็อปของโลก) เขาให้เหตุผลไว้อย่างน่าฟังว่า ถ้าเรื่องนี้ศาลตัดสินให้ ผู้บริโภคแพ้คดี สิ่งที่ตามมาก็คือ ทุกๆ ธุรกิจจะหันมาเก็บค่าบริการบ้าง

เช่น ร้านถ่ายเอกสาร เก็บค่าบริการเพิ่มอีก 10% เพราะเขาต้องเอามือหยิบกระดาษจากเครื่องส่งให้คุณ ร้านขายของชำ จะเก็บค่าบริการเพิ่มอีก 10% เพราะเขาต้องให้พนักงานหยิบของใส่ถุงให้คุณ มันมีอะไรแตกต่างจากร้านอาหาร ที่แค่ยกอาหารมาเสิร์ฟให้ลูกค้า ถ้าร้านอาหารสามารถเก็บได้ ธุรกิจอื่นๆ ก็เก็บได้เช่นกัน


ช่วยกันแชร์ออกไปเยอะๆ และเริ่มที่ตัวคุณ ต่อไปให้ปฏิเสธการจ่ายค่าบริการในทุกๆ กรณี และถ้าร้านไม่ยอมก็ท้าให้ฟ้องเลย คุณชำระแค่ค่าอาหาร ส่วนค่าบริการไม่ต้องจ่าย

กฎหมายไม่เปิดช่องให้ร้านอาหารสามารถมาเรียกเก็บค่าบริการจากเราได้ ส่วนใครที่ประทับใจในการบริการ คุณสามารถให้เป็นทิปแก่พนักงานได้ เพราะทิปมันถึงพนักงานแน่นอน และเป็นการให้ด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกมัดมือชกแบบ service charge"

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: xetasale.com, thecavalryclub.blogspot.de, expatgo.com, democratandchronicle.com




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น