xs
xsm
sm
md
lg

แบบนี้ก็ได้เหรอ? เพื่อประโยชน์สารสนเทศ โรงเรียนยอมให้เด็กอยู่ในอันตราย!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นเรื่อง!! เมื่อโรงเรียนคริสต์ชื่อดังใน จ.ฉะเชิงเทรา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อัปโหลด “ทะเบียนนักเรียน” ลงบนเฟซบุ๊ก ส่งให้ภาพและข้อมูลส่วนตัวของเด็กๆ เป็นพันๆ คน กลายเป็นข้อมูลสาธารณะไปโดยปริยาย ซ้ำร้าย “ภาพเด็กหญิงหน้าตาน่ารัก” ในนั้นยังล่อให้ “ขาหื่นออนไลน์” เอาไปแชร์และตามมาคอมเมนต์เชิงชู้สาวกันถึงที่

กระทั่งก่อให้เกิดดรามาลูกใหญ่ ทางโรงเรียนจึงยอมลบข้อมูลทั้งหมดออกไป ท่ามกลางความข้องใจของผู้ห่วงใยที่ตั้งคำถามเรื่อง “วิจารณญาณที่บกพร่อง” ขององค์กรสำคัญในสังคมที่เรียกว่า “โรงเรียน”


 

ตั้งใจเผยแพร่ข้อมูล แต่ดันล่อไอ้หื่นเข้ามา!!

[ตัวอย่างเบาๆ ของนักเลงคีย์บอร์ด ซึ่งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของโรงเรียน]
“ในมุมมองของเรา คิดว่ามันเสี่ยงและเป็นการเปิดโอกาสต่อคนไม่หวังดี มิจฉาชีพ หรือในกรณีที่แย่ที่สุด อาจมีคนไปที่โรงเรียนนั้น และแอบอ้างหรือลักพาตัวน้องนักเรียนได้
 
บางคนอาจจะคิดว่าเราคิดมากเกินไป แต่นี่เป็นเพียงมุมมองของเรา และอยากให้พี่ๆ น้องๆ ช่วยกันแชร์มุมมองของทุกคน และช่วยแชร์ความรู้เกี่ยวกับการที่ทางโรงเรียนนำรูปน้องๆ มาโพสต์บนอินเทอร์เน็ตนั้นผิดหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นรูปนักเรียนและทางเพจผู้โพสต์นั้นคือ เพจของทางโรงเรียน”
 
พลเมืองดีผู้ทนเห็นคำคอมเมนต์หื่นกามและการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของน้องๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของเด็กๆ ไม่ไหว ตัดสินใจตั้งประเด็นเอาไว้ผ่านกระทู้พันทิปในชื่อหัวข้อ “นำรูปนักเรียนขึ้นโพสต์บน FB แบบนี้ไม่เป็นไรเหรอคะ?” จนส่งให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนถกให้ว่อนโลกออนไลน์


เสียงส่วนใหญ่โหวตไปในทิศทางเดียวกันว่า การเผยแพร่รูปภาพ, ชื่อ-สกุล (ที่ปักอยู่บนอก) และห้องเรียนของเด็กๆ เป็นการตัดสินใจของสถาบันการศึกษาที่ไม่มีความรอบคอบเพียงพอ ยิ่งมีปฏิกิริยาตอบสนองออกมาจากผู้ดูแลแฟนเพจโรงเรียนในภายหลัง ยิ่งทำให้หลายคนรู้สึกเหนื่อยใจในทัศนคติของกลุ่มคนที่รับผิดชอบความปลอดภัยของเหล่านักเรียนในโรงเรียนนี้อยู่ในกำมือ...

“อัปเดตเพิ่มเติม ทางโรงเรียนทำการลบรูปน้องนักเรียนที่ถูกแชร์ไปมากกว่าหนึ่งพันออกแล้ว แต่เป็นเพียงรูปเดียวจากหลายสิบรูปในอัลบั้ม และทำการบล็อก ลบคอมเมนต์ผู้ปกครองน้องนักเรียน และคนอื่นๆ ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นให้ทางโรงเรียนลบทั้งอัลบั้ม และล่าสุด ที่เราเข้าไปทางเพจ โรงเรียนได้ทำการลบอัลบั้มทั้งหมดออกไปแล้ว แต่ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ ประกาศออกมา

มีเพียงโพสต์หลังจากนั้นที่ขึ้นภาพตัวอักษรประกาศเอาไว้ในหน้าเพจอย่างชัดเจนว่า... "ประกาศ ใครที่นำรูปนักเรียนไปทำการแชร์ หรือคอมเมนต์ในทางที่ไม่ดี ทางโรงเรียนจะขอแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย ได้เก็บหลักฐานไว้หมด รูปใช้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา เท่านั้น!"

[แฟนเพจโรงเรียนออกมาประกาศ หลังเกิดดรามาหนักมาก และได้ลบโพสต์นี้ออกไปเรียบร้อยแล้ว]

จุดนี้เองที่พลเมืองเน็ตเห็นตรงกันว่า ผู้ดูแลข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนมีความเข้าใจต่อ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ที่คับแคบและล้าสมัยเกินไป เพราะการที่โรงเรียนตัดสินใจนำข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบด้านความปลอดภัยของเด็กๆ มาเผยแพร่เองเช่นนี้ ถึงแม้ต่อให้พยายามออกมาประกาศดัก “ผู้ไม่ประสงค์ดี” บนโลกออนไลน์เอาไว้แค่ไหน มันก็ไม่เกิดประโยชน์เท่ากับไม่นำเข้าข้อมูลเหล่านี้มาตั้งแต่แรก


 

เท่าทันมิจฉาชีพออนไลน์ สถานศึกษาห้ามล้าสมัย!!

ถามว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่? ที่ทางโรงเรียนเผยแพร่ข้อมูลสำคัญของเด็กบนโลกออนไลน์เช่นนี้... ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 4 ระบุเอาไว้ว่า “เด็ก” หมายถึง “บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส” และนักเรียนในการดูแลของโรงเรียนนี้ทั้งหมด ก็ศึกษาในระดับอนุบาลไปจนถึง ม.3 ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เข้าข่าย

ส่วนมาตรา 27 ที่ระบุเอาไว้ว่า “ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ในข้อนี้จะอาจไม่ถึงกับเข้าข่าย เนื่องจากทางสถาบันการศึกษาไม่น่าจะเจตนาให้เกิดความเสียหาย

ดังนั้น คำแนะนำที่ชาวโซเชียลฯ บางรายผลักให้ผู้ปกครองฟ้องร้องเอาผิดกับทางโรงเรียน คงต้องพับไป หลงเหลือไว้เพียงการให้อภัย และใช้ความเลินเล่อในครั้งนี้เป็นกรณีศึกษา “บทเรียนบนโลกออนไลน์” เกี่ยวกับความปลอดภัยในข้อมูลของเด็กๆ จะดีกว่า และนี่ข้อเสนอแนะที่คือ อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เคยฝากเอาไว้ให้คนในยุคโซเชียลฯ กลับไปขบคิด


“ขอเรียกร้องให้สังคมทบทวนการอัปรูป ถ่ายคลิป โพสต์ แชร์ ที่ละเมิดสิทธิเด็ก ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะจะทำให้คนที่ไม่ประสงค์ดีได้รับรู้ข้อมูล ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรมองถึงอนาคตเด็ก เพราะเป็นทรัพยากรที่มีค่า ควรปกป้องรักษา ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็ควรนำสถานการณ์เหล่านี้ออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน

เป็นไปในทิศทางเดียวกับบทวิเคราะห์จากพลเมืองเน็ต ที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูลสารสนเทศ” เหล่านี้ ต้องหันมาทำความรู้จักความน่ากลัวของโลกโซเชียลฯ อย่างจริงๆ จังๆ ก่อนที่จะใช้วิจารณญาณที่บกพร่อง ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องอื่นๆ อีกในอนาคต

"บุคลากรด้านการศึกษา ไม่ค่อยมีความรู้ด้านอื่นนอกจากวิชาการล่ะมั้ง อาจจะล้าหลังเกินไป เรื่องที่ควรรู้กลับไม่รู้ เรื่องความรู้เกี่ยวความปลอดภัยต่างๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต บางคนมีความรู้เป็นศูนย์เลยนะ ควรอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการศึกษาให้ทันโลกมั่งเหอะ"

"ขอให้ผู้ปกครองรวมตัวกันฟ้องได้ไหมเนี่ย ถ้าอ้างว่าสารสนเทศเพื่อการศึกษาคือห่วยแตกมากๆ เลยนะ เป็นไปไม่ได้เลยเหรอที่คนทำงานเกี่ยวกับข้อมูลนักเรียน เช่น แผนกไอที แผนกทะเบียน จะไม่รู้กฎหมายไว้เซฟนักเรียน เซฟโรงเรียน เซฟตัวเองในการทำงาน

ถ้าเราจำไม่ผิด ข้อมูลรายบุคคลแบบนี้มันต้องทำลงในฐานข้อมูลที่แน่นหนาพอประมาณ มีเว็บไซต์ มีพาสเวิร์ด ไม่ใช่เอามาลงตรงไหนที่ข้อมูลมันรั่วง่าย ใครเข้าถึงก็ได้ หรือเราเข้าใจอะไรผิดไป"

[ทะเบียนนักเรียน สมควรอยู่บนระบบปฏิบัติที่มีความปลอดภัย]

"เป็น 'แหล่งข้อมูล' ที่ดีอย่างที่ต้องการจริงๆ ค่ะ สมัยเราเด็กๆ มีปัญหาเด็กโรงเรียนดังโดนลักพาตัว โรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการไม่ให้เด็กปักชื่อ จะได้ยากขึ้นมานิดนึงในการระบุว่าใครเป็นลูกใคร

กรณีนี้ก็ตามที่บอกแหละค่ะ เป็นแหล่งข้อมูลอย่างดี เด็กคนไหนหน้าตาดี เด็กคนไหนลูกใคร ก็รู้แล้วว่าอยู่ที่นี่... รู้ชื่อ รู้หน้า รู้โรงเรียน สืบต่ออีกนิดก็มีข้อมูลอีกเยอะแยะเอาไว้ล่อลวงเด็กได้แล้วค่ะ ที่โรงเรียนแจ้งก็ถูกแล้ว เอาไว้ 'เผยแพร่ข้อมูล' จริงๆ"


คู่มือ: ปกป้องน้องน้อยจากภัยออนไลน์

นี่คือกฎการท่องเน็ตอย่างปลอดภัย (NetSmart Rules) จากองค์กรระดับสากล “ECPAT (End Child Prostitution, Child Pornography and Trafficking of Children for Sexual Purposes)” เขียนโดย Carol Livingston

1.ไม่ให้ที่อยู่ที่บ้าน เบอร์โทรศัพท์ หรือชื่อโรงเรียนกับใคร ก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

2.ไม่ส่งรูปภาพ รายละเอียดของบัตรเครดิต หรือบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลอื่นๆ โดยไม่ถามพ่อแม่หรือผู้ปกครองก่อน

3.ไม่บอกรหัสผ่าน (password) ให้แก่ใคร แม้แต่เพื่อนสนิทที่สุด

4.ไม่นัดกับใครโดยไม่ขออนุญาตจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และพาพ่อแม่ไปด้วยในการพบกันครั้งแรก ซึ่งควรเป็นการนัดพบกันในสถานที่เปิดเผย

5.ไม่อยู่ในห้องสนทนาหรือในการประชุมทางเน็ต ที่มีคนพูดหรือเขียนในสิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกไม่สบายใจหรือกังวล และแจ้งให้พ่อแม่รับทราบถึงเหตุการณ์เหล่านั้นเสมอ

6.ไม่ตอบโต้อีเมลหรือพูดคุยในห้องสนทนาที่มีลักษณะก้าวร้าว เชิญชวน หรือหยาบคาย

7.บอกพ่อแม่หรือผู้ปกครองเสมอ หากไปเจอภาษาที่ไม่สุภาพหรือภาพที่ไม่น่าดูระหว่างที่ใช้อินเทอร์เน็ต

8.เป็นตัวของตัวเองและไม่แกล้งปลอมเป็นคนอื่น

9.อย่าเชื่อถ้ามีคนเสนออะไรให้ที่ดูดีเกินจริง

ที่สำคัญ ทางโรงเรียนต้องช่วยกันรณรงค์ให้โรงเรียนสอนทักษะแก่นักเรียน ให้เข้าใจถึงประโยชน์และข้อจำกัดของข้อมูลในอินเทอร์เน็ต


ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น