xs
xsm
sm
md
lg

#RiverNotRoad ได้โปรด..“หยุดทางเลียบบนเจ้าพระยา” ก่อนหายนะ!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“River Not Road!!” “ทางเลียบบนเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย!!?” เสียงตะโกนซ้ำๆ จาก “ลูกเจ้าพระยา” ประสานพลังคัดค้านดังกึกก้องบนกระแสธาร เพื่อปกป้อง “แม่” แห่งสายน้ำกลางกรุง ตั้งคำถามในเมกะโปรเจกต์ที่ใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” แต่กลับดูจะ “ทำลาย” มากกว่า “พัฒนา” อย่างที่อ้างไว้
พร้อมแนบคำเตือนเกี่ยวกับผลกระทบอีกยาวเป็นพรวน หากรัฐบาลยังไม่หยุดยั้งคำสั่งเร่งตอกเสาเข็ม สร้างทางเลียบ 57 กม.สองฟากริมฝั่งเจ้าพระยา มีหวังงบ 3 หมื่นล้านบาทจากภาษีประชาชนได้กลายเป็น “การลงทุนแห่งหายนะ”!!



หายนะเกิด! เมื่อ “ทางจักรยาน” กลายร่างเป็น “ทางมอเตอร์ไซค์”!!

[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Friends of the River"]
“ถ้าวันหนึ่งมีทางเลียบนี้เกิดขึ้นจริง เราสามารถห้ามได้หรือว่า นี่คือทางจักรยานนะ ไม่ให้มอเตอร์ไซค์มาวิ่ง ถามจริงๆ เถอะครับ ปัจจุบันที่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างวิ่งอยู่บนทางจักรยาน วิ่งอยู่บนฟุตบาธ เราห้ามกันได้ไหม ห้ามไม่ได้! ดังนั้น ทางเลียบนี้ที่บอกว่าจะทำไว้ให้จักรยาน แต่ผลในทางปฏิบัติมันจะกลายเป็นทางมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะกรุงเทพฯ รถติดมากขึ้น พี่วินของเราก็หาทางที่ไปรวดเร็วยิ่งขึ้น และถ้าสร้างทางตรงนี้มา นี่แหละครับคือทางสวรรค์ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างแน่นอน
 
ผศ.ดร.ปริญญา เทวาณฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมอุดมการณ์อนุรักษ์แม่น้ำ ขอเตือนเอาไว้แบบตรงไปตรงมา ผ่านงานเสวนา "นับถอยหลังปักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา" เพื่อให้เจ้าของโปรเจกต์ได้หันกลับมาตั้งสติดีๆ และมองเห็นให้ว่า ภาพที่วาดฝันเอาไว้อาจไม่ได้สวยหรูอย่างที่เข้าใจ แถมยังมีช่องโหว่อีกนับไม่ถ้วน

ในนาม “กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly: RA)” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ 65 องค์กร จึงขอแนะนำให้รีบเหยียบเบรกให้มิดด้าม อย่าเพิ่งใจร้อนฟันธงว่าจะสร้างภายในเดือน ต.ค.ปีนี้ และตอกเสาเข็มเริ่มสร้างในเดือน ม.ค.ปีหน้า อย่างที่วางแพลนเอาไว้

[ขอบคุณภาพ: www.friendsoftheriver-th.com]
เพราะ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” กำลังจะกลายเป็นปัญหาขนาดมหึมา เกินกว่าจะศึกษาหาผลกระทบเพียงแค่ 7 เดือน แล้วตัดสินใจทุ่มเงิน 30,000 ล้านบาท เพราะ “โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” กำลังจะวางตอม่อลงไปในลำน้ำเป็นพันๆ ต้น เพื่อสร้างทางเลียบสองฟากฝั่งยาว 57 กม. โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนแก่ประชาชน และไม่มีรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ ออกมาให้เห็นเลย



[ผศ.ดร.ปริญญา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์]
“เหตุผลประการหนึ่งที่อ้างกันในการทำทางเลียบนี้ก็คือ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้ ด้วยความเคารพเลยครับ ถ้าจะชมความงามของเจ้าพระยา ต้องมาลงเรือชมครับ ดังเช่นที่พวกเราล่องเรือกันอยู่นี้ ถึงจะเห็นความงามริมฝั่ง ไอ้จุดที่จะมายืนดู มีได้นะครับ บางจุดที่สมควรและเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว อาจจะสร้างให้คนมาเดินชม มาขี่จักรยานได้บ้าง แต่ว่าต้องไม่ใช่ตลอดทั้งแนวลำน้ำเจ้าพระยา

ถามว่าต้นทุนของเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ คืออะไร? คือความหลากหลายของชุมชนและวัดวาอารามริมฝั่งเจ้าพระยาครับ ท่ามกลางประเทศที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมืองหลวงทั้งหมด ผมเชื่อว่า 'เจ้าพระยา' ของเรา มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชุมชนมากที่สุด นี่คือต้นทุนที่ต้องรักษาไว้ ถ้าเราไม่รักษาไว้ ถ้ามันสูญเสียไปแล้ว ต่อให้มีเงินทุนกองท่วมหัวกี่หมื่นกี่แสนล้าน ก็เอาคืนมาไม่ได้ นี่คือภารกิจที่คนรุ่นพวกเราจะต้องรักษาเอาไว้ให้ได้!!

[ขอบคุณภาพ: www.friendsoftheriver-th.com]
นอกจากทางจักรยานที่อาจกลายเป็นทางมอเตอร์ไซค์แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นคำถามที่ “กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ” สงสัยและยังไม่มีวี่แววว่าทางภาครัฐจะออกมาตอบให้ชัดแจ้งได้ นั่นคือคำถามที่ว่า เมื่อสร้างทางเลียบขึ้นมาแล้ว ทัศนียภาพริมแม่น้ำสายวัฒนธรรมแห่งนี้จะยังน่าเที่ยวอยู่อีกหรือไม่? หรือจะกลายเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างเพิ่ม “ทัศนะอุจาด” ที่ทำลายระบบนิเวศ

และเมื่อแม่น้ำแคบลง จะส่งผลต่ออุบัติเหตุทางการเดินเรือหรือไม่? ด้วยความกว้างของทางเลียบกว่า 10 เมตร รวมสองฟากฝั่งคิดเป็น 20 กม. จะนำไปสู่ผลกระทบที่คาดไม่ถึงอีกมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่าง “เรือพระราชพิธี” ที่เคยเดินเรือผ่านท้องน้ำแห่งนี้ จะยังสามารถกลับลำเรือได้อีกหรือเปล่า?

[ขอบคุณภาพ: www.friendsoftheriver-th.com]

เอาแค่เฟสแรกก่อนก็ได้ ที่กำหนดเอาไว้ว่าจะเริ่มสร้างเป็นโมเดลตัวอย่างขึ้นมาก่อน โดยจะยาวตั้งแต่สะพานพระรามที่ 7 ไปจนถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ฟากละ 7 กม. รวมเป็นระยะทาง 14 กม. ด้วยงบประมาณ 14,000 ล้านบาทนั้น มันจะก่อให้เกิดการ “พัฒนา” มากกว่าการ “ทำลาย” จริงหรือ? และนี่คือคำถามที่ ยศพล บุญสม ตัวแทนเครือข่าย “Friends of the River: FOR” ขอฝากเอาไว้

“เขื่อนริมแม่น้ำปัจจุบันอยู่ที่ '+2.85' จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับกันน้ำท่วมของทาง กทม. เพียงเท่านี้ก็สร้างปัญหาให้แก่ชุมชน ทำให้เกิดน้ำขังและบดบังทัศนียภาพมากพอแล้ว แต่ต่อไป เขื่อนนี้จะสูงขึ้นอีก 45 ซม. คือ '+3.25' จากระดับน้ำทะเล เพราะฉะนั้น พี่น้องที่เคยอยู่หลังกำแพงมัสยิดบางอ้อ ในอนาคตก็จะมองไม่เห็นแม่น้ำแล้ว

[ยศพล ตัวแทน “Friends of the River: FOR”]

[ประกาศจุดยืนชัดเจน จากชุมชน "มัสยิดบางอ้อ"]
เขื่อนสูงขึ้นยังไม่พอ ยังจะมีโครงสร้างขนาดใหญ่ซึ่งเป็นทางเลียบแม่น้ำขึ้นมาอีก เบ็ดเสร็จคือเขาจะเสียพื้นที่แม่น้ำเพื่อการสร้างไปอย่างน้อยข้างละ 10 เมตร จากแม่น้ำทั้งหมดที่กว้าง 200 เมตร ในต่างประเทศ เขามีแม่น้ำเล็กกว่าเรา กว้างน้อยกว่าเราประมาณ 1 ใน 10 แต่เขาพยายามที่จะฟื้นฟูให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันเรากำลังจะทำให้แม่น้ำเรากลับกลายเป็นคลอง เป็นทางระบายน้ำดีๆ นี่เอง มันสมควรแล้วหรือ นี่คือสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามเพื่อหยุดยั้งโครงการนี้”



“พัฒนา” ตามแบบฝรั่ง = “ทำลาย” รากเหง้าแบบไทยๆ

“รู้ไหม เพื่อนผมที่เป็นฝรั่งมันถามว่า เฮ้ย! ทำไมรัฐบาลยูโง่จังเลย พยายามทำในสิ่งที่ทั่วโลกเขามีกันทั่วประเทศ ทำไมยูไม่พยายามเก็บในสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี ให้เป็นสิ่งสุดท้ายในโลก ให้คนทั่วโลกเขามาดูกัน นี่คือความคิดของฝรั่งที่ตรงข้ามกับรัฐบาลเราเลย เขาบอกว่ารู้ไหมว่าเสาตอม่อต้นหนึ่งที่ตอกลึกลงไปในน้ำ 50 เมตร มันจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรบ้างต่อระบบนิเวศ มันมหาศาลมากเลยนะ”

สรเทพ โรจน์พจนารัช ตัวแทนเครือข่ายต่อต้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จากทั้งหมด 33 ชุมชน พ่วงด้วยตำแหน่งเจ้าของร้าน “สตีฟ” ร้านอาหารไทยยอดนิยมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝากบทวิเคราะห์ร้อนๆ เอาไว้ ในประเด็นที่หลายต่อหลายคนอาจมองข้ามไป

นึกดูสิว่า 1,000 ต้นที่ลงไป มันดูดดินลงไปด้วย แล้วบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำทั้งหมดลึกเข้าไปประมาณครึ่งกิโลฯ จะต้องทรุดตามทั้งหมดไม่ช้าก็เร็ว นี่คือสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียนรู้มา เขาก็ถามว่าประเทศยูคิดได้ยังไง ผมก็บอกว่าผมไม่ได้คิด ใครก็ไม่รู้คิด แล้วมันก็ตอบแทนผมว่าผมเอา ผมยังไม่ทันบอกว่าผมจะเอา มันก็สร้างซะแล้ว

[สรเทพ ตัวแทนเครือข่าย "ต่อต้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา"]
แล้วเดี๋ยวพอทำเสร็จ ก็มีโครงการต่อเนื่อง ผมบอกเลย ที่เคยบอกว่าทำแล้วจะมีคนมาเที่ยว มาปั่นจักรยาน สุดท้ายแล้วยังไง ก็ต้องมีที่จอดรถ เวนคืนที่ให้ลึกเข้าไปอีกหน่อย ไปๆ มาๆ สองข้างทางนี้จะกลายเป็นสัมปทานนายทุนใหญ่ที่มีตระกูลในประเทศไทย การที่นายทุนจะลงทุนทำอะไรจากเงินของเขา ผมไม่ว่าเลย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นายทุนลงทุนโดยที่ไม่นึกถึงมรดกวัฒนธรรมของประเทศ ไม่นึกถึงรากเหง้าวัฒนธรรมของชุมชน ผมบอกเลยว่าไม่ต่างอะไรกับโจรที่มีสตางค์

โครงการนี้ทางรัฐบาลปักธง มาให้ทาง สจล. (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ลงมาทำการศึกษา 7 เดือนเท่านั้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้ว อภิมหาโครงการขนาดนี้ เขาใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 5 ปีนะครับ เพราะว่ามัน sensitive มากเรื่องวัฒนธรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง 5 ปีของเขาเป็นแบบมี 'ผังเมือง' แล้วนะครับ แต่ประเทศไทยเรา กทม.ของเรา ไม่เคยมีผังเมือง ยิ่งจะต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี อย่างน้อยๆ ต้อง 10 ปีด้วยซ้ำ

[มรดกเจ้าพระยา ความงดงามจากรากเหง้าวัฒนธรรมที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง]
โครงการนี้มันกระทบมากกว่าโครงการอื่นๆ ที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็น รถดับเพลิง, BRT เลียบช่องนนทรีย์, ตอม่อโฮปเวลล์, อุโมงค์ระบายน้ำ ฯลฯ ความคิดห่วยๆ เยอะแยะไปหมด ซึ่งสิ่งเหล่านั้นยังพอแก้ไขกันได้ แต่แม่น้ำเจ้าพระยาคือสายน้ำเส้นหลักเส้นสุดท้ายของประเทศ อย่าทำเลยครับ ช่วยกันเถอะ”

มันก็คงเป็นวิสัยทัศน์ของท่านประยุทธ์ ที่อยากเห็นความสวยงามเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา จากที่รถติดและสร้างสิ่งก่อสร้างทุกอย่างกันตามใจชอบจนแลดูรกมากอย่างทุกวันนี้ โดยหารู้ไม่ว่าเส้นทางริมแม่น้ำในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่เขาเป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางริมแม่น้ำในเมืองใหญ่ๆ อย่างบูดาเปสต์ (Budapest), ริมแม่น้ำดานูบ (Danube River แม่น้ำที่ยาวที่สุดในสหภาพยุโรป) หรือแม่น้ำแซน (Seine) ที่ฝรั่งเศสก็ตาม

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ช่วยยกตัวอย่างความงดงามในระดับสากลขึ้นมาเทียบ เพื่อให้เห็นภาพชัดว่าเจ้าพระยาของเรามีความแตกต่างในพื้นฐานหลายๆ ด้าน และถ้าไม่ระวัง ความซวยก็อาจมาเยือนเมกะโปรเจกต์นี้ได้เช่นกัน

[อ.ไกรศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร]
“ผมมองว่ารัฐบาล คสช. อยากจะสร้างประวัติศาสตร์ของความสวยงามให้แก่เมืองกรุงเทพฯ แต่หารู้ไม่ว่าจะกระทบกระเทือนต่อหลายชุมชน ทั้งพื้นที่ราชการ, วัง, วัดวาอาราม, โบราณสถาน ฯลฯ ซึ่งมีกฎหมายในตัวของมันเองที่จะต้องอนุรักษ์อยู่แล้ว ผมคิดว่าใครอนุมัติเรื่องนี้ไป ตอกตอม่อและสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็อาจจะคล้ายๆ โฮปเวลล์ (ปี 2533 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย) ที่สร้างไม่ได้ เผลอๆ จะถูกขึ้นศาลอีกด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่าอภิมหาโครงการในครั้งนี้ เป็นการ “พัฒนา” หรือ “ทำลาย” ปราชญ์เดินดินอย่าง “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” หรือ ส.ศิวรักษ์ จึงช่วยสรุปเอาไว้

“คำว่า 'พัฒนา' กับ 'ทำลาย' มันก็อันเดียวกันเลยครับ เราถูกฝรั่งล้างสมอง เพราะการพัฒนาตามแบบฝรั่งมันคือหายนะ คำว่า 'พัฒนะ' ในภาษาวรรณคดีแปลว่า 'รก' ทำให้เป็นคนรกโลก 'development' ในภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน หรือ 'progressio' ในภาษาละตินมันก็แปลว่า 'บ้า' ตอนนี้เรากำลังบ้าตามอย่างฝรั่งกัน เราถูกถอนรากถอนโคนจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา

[ปราชญ์เดินดิน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์”]
ตอนนี้เราถูกถอนรากถอนโคน ไม่รู้จักอดีตของเราเอง เราเดินตามฝรั่ง แต่ก็ไม่รู้จักฝรั่งที่แท้จริง มันเกิดขึ้นมาจากมิจฉาทิฐิครับ ถ้าจะแก้ เราต้องกลับไปหาสัมมาทิฐิ คิดให้ถูกต้อง ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตัว เคารพธรรมชาติ ไอ้เรื่องถนนสองข้างทางนี้ ไอ้คนที่ทำมันคิดจะเอาสตางค์กัน แค่จะหาเงินไปตั้งพรรคกัน ท่านได้ไปพอแล้ว พอได้แล้ว!! ผมเชื่อว่ามันจะยุติเพราะความดีของประยุทธ์มีอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าเราเอาจริง ท่านจะยุติชั่วคราว จากนั้นเราก็ต้องทำให้เลิกให้ได้!!



ขอค้านสุดวิถีทาง! เพื่อ "มรดกลูกหลานเจ้าพระยา”!!

[ส่งเสียงคัดค้าน ตั้งคำถาม หวังส่งถึงท่านนายกฯ]
“ศาลปกครองได้วินิจฉัยออกมาแล้วว่า สิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชนที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนนั้น เป็นสิทธิที่ประชาชนชาวไทยยังมีอยู่ ถึงแม้ตอนนี้จะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 แล้วก็ตาม แต่มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคุ้มครองสิทธิตรงนี้ของเราอยู่ครับ

ฉะนั้น การที่รัฐบาลจะทำโครงการและลงไปพูดคุยกับชุมชนต่างๆ จะต้องไม่ใช่แค่แจ้งให้ทราบเท่านั้น แต่ต้องมีการไปรับฟังจริงๆ และถ้าหากมีการตัดสินล่วงหน้า มันจะขัดรัฐธรรมนูญครับ เพราะมาตรา 67(2) ระบุไว้ว่า ก่อนการตัดสินใจต้องฟังให้รอบคอบ การมีธงล่วงหน้าแล้วค่อยไปแจ้งให้ทราบ จะทำให้โครงการนี้เป็นโมฆะทั้งโครงการในอนาคต

อาจารย์ปริญญา ยืนยันด้วยน้ำเสียงแน่นหนัก ถึงความหวังที่กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการจะยังสามารถคัดค้านโปรเจกต์มัดมือชกในครั้งนี้ได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับหนทางที่ รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค แนะเอาไว้ให้ ยิ่งทำให้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์มากขึ้นไปอีก

[รสนา นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ฝากอีกหนึ่งเสียงค้าน]
นอกจากสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว สิ่งที่จะทำได้ก็คือ 'ฟ้อง สจล.' เพราะเขาไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีใบประกอบวิชาชีพที่จะมาให้คำปรึกษาหรือออกแบบตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้น การที่เราจะหยุดยั้งมติ ครม.ได้ ต้องมีประชาชนตื่นตัว และถ้าเกิดคนกรุงเทพฯ และอีกหลายๆ จังหวัดร่วมมือกัน มันมีโอกาสต่อต้านได้แน่นอน

จากที่เขาปักหมุดว่าร่างทุกอย่างจะต้องเสร็จเดือน ต.ค. และจะลงเสาต้นแรกเดือน ม.ค.ปี 60 ซึ่งมันเร่งด่วนมาก ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำได้ในเบื้องต้นก็คือการฟ้อง สจล. เพื่อให้เห็นว่าเป็นหน่วยงานที่ไม่มีคุณสมบัติในการให้คำปรึกษาหรือออกแบบสองฝั่งแม่น้ำ อย่างน้อยก็ทำให้โครงการหยุดและให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมา เมื่อประชาชนตื่นตัวขึ้นมา เราก็เชื่อว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์จะฟังเสียงของประชาชน และถ้ามีการคัดค้านที่หนักแน่นเพียงพอ ท่านก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน”

[ขอบคุณภาพ: www.friendsoftheriver-th.com]

ชอบคิดแทนคนอื่น... นี่คือปัญหาของสังคมไทยที่ มาโนช พุฒตาล นักร้อง นักดนตรี และนักจัดรายการวิทยุ บอกเอาไว้ ซึ่งไม่ได้ต่างไปจากวิธีการรวบหัวรวบหาง เร่งสร้างโครงการบนลำน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้เลยแม้แต่นิดเดียว

“ยกตัวอย่างการตัดถนนใหม่ก็ได้ ก่อนหน้านี้หมู่บ้านหนึ่งเคยอยู่กันมาอย่างสงบ จากเดิมถนนเล็กๆ คนข้ามไปมาหาสู่กันได้ หมาข้ามไปหาเจ้าของได้ อยู่มาวันหนึ่ง กรมทางหลวงบอกว่าเราต้องตัดถนนสี่เลนในหมู่บ้านนี้ แต่ไม่เคยถามหมู่บ้านเลยว่าเขาพร้อมจะรับมันไหม สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านไม่สามารถข้ามถนนมาหากันได้อีกต่อไป ต้องไปยูเทิร์นไกลหลายกิโล หมาวิ่งข้ามถนนก็ถูกรถชนตาย

แต่เขาก็บอกว่าเราทำเพื่อประเทศ ทำเพื่อส่วนรวม เพราะว่าต้องมีการขนส่ง ทำเพื่อนักท่องเที่ยว เพื่อการเดินทาง แต่มันดันเป็นประโยชน์ของคนที่อยู่ไกลออกไป เป็นประโยชน์ของคนที่ไม่ได้อยู่ตรงนี้ เราไม่ถามหัวใจของคนในพื้นที่เลย ทั้งๆ ที่คนในพื้นที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า 'ส่วนรวม' เหมือนกัน แต่สังคมไทยชอบตัดสินแทนคนอื่นไงครับ เช่นเดียวกับคนที่จะมาตัดสินแม่น้ำสายนี้ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำจริงหรือเปล่า เขารู้จักแม่น้ำเพียงพอหรือเปล่า หลายคนไม่เคยมีชีวิตริมแม่น้ำเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่เขาไปเห็นแม่น้ำสายอื่นที่ดูสวยงามเท่านั้นเอง

[มาโนช พุฒตาล แชร์อีกหนึ่งมิติแห่งประสบการณ์]
ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ ควรจะต้องมีการพูดคุยให้มากก่อนที่จะมีการตัดสิน เราก็ไม่รู้ ไม่แน่ว่าสร้างแล้วผลลัพธ์มันอาจจะดีก็ได้ แต่สิ่งที่รู้ได้คือเราต้องถามทุกๆ คน ให้เขามีสิทธิได้แสดงความคิดอย่างแท้จริง และให้ความคิดของทุกคนมีน้ำหนักเท่าเทียมกัน ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์อยากให้สร้างถนนสายนี้ ก็ยังไม่แน่ว่าจะสร้างได้ เพราะบางครั้งคน 40 คนคิดถูกต้องกว่าคน 60 คนก็มี

เพราะฉะนั้น ประเด็นมันจึงไม่ใช่แค่เสียงส่วนใหญ่อย่างเดียว แต่ต้องหันมาถามว่าความจริงที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดคืออะไร ถามว่าถนนสายนี้มันถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ เราต้องหาความจริงข้อนี้ให้เจอเสียก่อน เมื่อเจอแล้วจึงค่อยมาตัดสินว่า ควรจะมีถนนเส้นนี้หรือไม่?


“ผิด” บอกเลยว่าวิธีคิดแบบนี้ผิด!! อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ช่วยยืนยันอีกแรงด้วยสีหน้าเคร่งขรึมว่า โครงการเมกะโปรเจกต์เร่งด่วนตลอดแนวลำน้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้มีแต่จะทำให้เกิด “ทัศนะอุจาด” บนผืนน้ำสายวัฒนธรรมของประเทศไทย

“ถ้ามีตัวโครงสร้างกว้าง 10 เมตรตัวนี้ขึ้นมาจริงๆ รับรองว่าคุณต้องช็อก ถ้าเข้าฝันให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันได้ ผมจะทำแล้ว และวันนั้นเราจะรู้ชัดแจ้งเลยว่าเราได้สูญเสียอะไรไป ผมยังเคยคุยกับทาง Greenpeace เลยว่า มาลองทำตัวอย่างให้คนเห็นดีไหม ใช้ผ้าขึงเป็นแนวยาวเท่ากับตัวโครงการเลยก็ได้ แล้วมาดูซิว่าคนจะเอาไหม? รับรองว่าถ้าโครงการนี้สร้างขึ้น เจ้าพระยาจะเสียหายมาก 

[อ.ขวัญสรวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง]
เพราะฉะนั้น อย่าทำเลยครับ เจ้าพระยาของเรายังมีโอกาสพัฒนาไปในทิศทางที่ดีกว่านี้ได้อีกเยอะแยะ ถ้าทำขึ้นมาเมื่อไหร่ ประกาศเอาไว้เลยครับว่าจะเรียกถนนเส้นนี้ว่า ถนนจันทร์โอชา


[แบบจำลอง ของสิ่งที่กำลังจะเกิด]


[เสียงจากชุมชน แสดงจุดยืนฝากไว้]









[ขอบคุณภาพ: www.friendsoftheriver-th.com]





ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณข้อมูล: แฟนเพจ “Friends of the River” และ www.friendsoftheriver-th.com
ร่วมลงชื่อยับยั้งการสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา: chn.ge/1tlD153

ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- ลบคำครหา! ดัน “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” สู่มรดกโลก!!




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น