xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกคนงบน้อย! เช็กชื่อ "ปลาไทย" ตัวไหนโอเมก้าสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชื่อว่าหลายคนรู้ ในขณะที่ใครอีกหลายคนก็ยังไม่รู้ว่า "ปลาน้ำจืดไทย" มีโอเมก้าสูง บางชนิดสูงกว่าปลาทะเลเสียอีก...

ล่าสุด มีข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า ปลาดุกมีโอเมก้ามากที่สุด รองลงมาคือปลาสวาย และปลาซ่อน ส่วนปลาทะเลไทย พบมากที่สุดในปลาจละเม็ด รองลงมาคือปลาสำลี และปลากะพงขาว ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนงบน้อยที่ต้องการรับประทานปลาดี มีประโยชน์แถมราคาไม่แพง

ขึ้นชื่อว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 คุณประโยชน์ที่ทราบกันดีก็คือ บำรุงสมอง บำรุงเส้นประสาทและสายตา ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังช่วยให้สมองทารกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ โดยเรื่องนี้คนไทยบางกลุ่มยังคงมีความเข้าใจผิดอยู่ว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 มีเฉพาะในปลาทะเลเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วปลาน้ำจืดก็มีโอเมก้า 3 สูงเช่นกัน โดยปลาน้ำจืดบางชนิดมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาทะเลเสียอีก

นักวิชาการโภชนาการ "สง่า ดามาพงษ์" เคยให้ความรู้โดยอ้างอิงจากข้อมูลตารางคุณค่าทางอาหารในปลาน้ำจืดของไทย "เรื่องกรดไขมันไม่อิ่มตัว" อย่างโอเมก้า 3 พบว่า "ปลาสวาย" เป็นปลาที่มีโอเมก้า 3 มากกว่าปลาอื่น ๆ โดยมีทั้งในเนื้อปลา และในไข่ปลา โดยเฉพาะในไข่ปลาจะพบมากที่สุด แต่ยังไม่มีการเปรียบเทียบกับปลาทะเลน้ำลึกอย่าง "ปลาแซลมอน" ว่ามีปริมาณโอเมก้าสูงกว่าหรือไม่

ไม่เพียงแต่ "ปลาสวาย" เท่านั้น ล่าสุดมีข้อมูลจาก พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เปิดเผยผ่านสื่อเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล ปลากราย ล้วนมีกรดไขมันโอเมก้าเช่นกัน


สอดรับกับข้อมูลการศึกษาของ รศ.ครรชิต จุดประสงค์ นักวิชาการประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยเรื่อง "ปริมาณไขมันทั้งหมด กรดโอเมก้า 6 และกรดโอเมก้า 3 ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดของไทย" ระบุว่า ปลาน้ำจืด และปลาทะเลของไทยหลายชนิดล้วนมีโอเมก้า เพียงแต่ปลาน้ำจืดต้องเป็นปลาเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งต่างจาก "ปลาแซลมอน" ที่จะสร้าง และสะสมไขมันจากการกินแพลงdNตอนทะเล

สำหรับปลาน้ำจืดไทย พบว่า ปลาดุกมีปริมาณไขมันทั้งหมด กรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 มากที่สุด รองลงมาคือ ปลาสวาย, ปลาช่อน, ปลาสลิด, ปลาตะเพียน, ปลากราย, ปลานิล และปลาไหล (ไม่มีโอเมก้า 6) ตามลำดับ ส่วนในปลาทะเลไทย พบว่า ปลาจาละเม็ดขาวมีปริมาณไขมันทั้งหมด กรดโอเมก้า 3 และ 6 มากที่สุด รองลงมาคือ ปลาสำลี (ไม่มีโอเมก้า 6), ปลากะพงขาว (ไม่มีโอเมก้า 6), ปลาอินทรี (ไม่มีโอเมก้า 6), ปลาทู, ปลาทูนึ่ง, ปลาจาละเม็ดดำ (ไม่มีโอเมก้า 6), ปลากะพงแดง (ไม่มีโอเมก้า 6) และปลาเก๋า (ไม่มีโอเมก้า 6) ตามลำดับ

ทั้งนี้ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะช่วยลดไขมันในเลือดได้ดี นอกจากในปลาบางชนิดแล้ว ยังสามารถพบได้จากน้ำมันที่สกัดมาจากถั่ว และพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันที่สกัดจากข้าวโพด เป็นต้น


สุดท้ายนี้ แม้จะเป็นทางเลือกดีๆ สำหรับคนงบน้อย แต่ปลาน้ำจืดก็มีไขมันในภาพรวมสูงเช่นกัน ดังนั้น การรับประทานต้องระวังด้วย นอกจากนั้น ควรบริโภคอาหารให้หลากหลาย และบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามคุณค่าทางอาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน


ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "กรมอนามัย"





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น