xs
xsm
sm
md
lg

วิธีใช้กล่องโฟม-แก้วกาแฟ-ภาชนะสไตโรโฟมให้ปลอดภัย/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Health Insight โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

บ้านเราเป็นแผ่นดินทองที่แสนปลอดภัยและร่มเย็น เป็นที่ๆไม่ว่าคนชาติไหนอาชีพใดเข้ามาก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันชุ่มเย็นเหมือนๆกัน สิ่งสำคัญก็คือเราเองได้ให้ “เมตตา” แก่ชีวิตต่างๆรอบตัวเราเช่นเดียวกับที่เราได้รับหรือยัง

คนที่เฝ้าสังเกต “เรื่องดี” รอบตัวแล้วทำตามนั้นคือคนที่จะมีความเจริญในชีวิต เช่นเดียวกับคนที่ให้ “ทางออก” ในปัญหาต่างๆไว้จะเป็นที่พึ่งของคนได้

ในสังคมเรามีคนดีที่พึ่งได้อยู่ครับ

การมองกันด้วยเมตตาบวกกับหลักวิชาการจะทำให้สังคมเราไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น เป็นการ “คืนความสุข” ในแบบง่ายๆ ที่ในฐานะนักวิชาการตัวเล็กๆอย่างผมจะพอทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ใช้ได้ในทุกเรื่องไม่ว่าจะเล็กเท่ามดหรือเป็นประเด็นใหญ่ระดับช้างชนช้าง ถ้าเราจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนก็ขอให้สร้าง “ความรู้” ชนิดที่เขาเอาไปใช้ตัดสินได้ด้วยตัวเอง

เพราะเชื่อว่าทุกท่านมีความตั้งใจดีเป็นทุนอยู่แล้ว

บางทีการบอกว่าปลอดภัยก็อาจทำให้หลายคนลืมระวัง ส่วนการห้ามมากไปก็พลอยทำให้หลายคนหมดพลัง

ขอแค่ทำหน้าที่แบบสื่อคือให้ข้อมูลทั้งด้านดีและด้านอื่นๆเอาไว้เพราะคนเรามีวิจารณญาณติดตัวอยู่บ้าง ซึ่งในการทำงานสื่อนั้นผมยึดพื้นฐานข้อนี้ไว้เสมอ ดังที่เคยคุยกันไปในเรื่องสุขภาพใกล้ตัวแบบที่ไม่ต้องเข้มงวดอดนั่นอดนี่จนเกินไปหรือให้หาของง่ายรอบตัวมาทดแทน ซึ่งในครานี้ก็จะขอเล่าเรื่องใกล้ๆในชีวิตประจำวันอีกคือเรื่องของ “โฟม” ที่ถูกนำมาทำเป็นภาชนะใช้สะดวกสารพัด

แก้วโฟมใส่กาแฟ, กล่องโฟมใส่ข้าวผัดกะเพรา, สลัดผักในถาดพร้อมกิน, บะหมี่ถ้วย, กล่องใส่ไข่ไก่, ห่อแพ็คถั่วลิสง ไปจนถึงเคสซิ่งของเครื่องคอมพิวเตอร์

โฟมชนิดที่เนื้อเบานั้นประกอบด้วยอากาศราว 95% ซึ่งตัวเนื้อโฟมนั้นทำมาจาก “โพลีเมอร์” ของสาร “สไตรีนโมโนเมอร์” ที่พูดให้เป็นภาษาไม่หนักวิชาการมากนักก็คือ เป็นสารสังเคราะห์ที่มาจากอณูของน้ำมันปิโตรเลียมที่เรียกว่า “เอทิลเบนซีน” แปลงร่างมาต่อกันในขนาดตัวเลโก้เล็กจิ๋วที่เรามองไม่เห็นจนได้มาเป็นเนื้อโฟมที่ว่าครับ

เนื่องจากมันเป็นสารพวกน้ำมันปิโตรเลียมนี้เองจึงต้องระวังเมื่อใช้ใส่ของที่มี “น้ำมัน” เช่นอาหารทอดและมัน

>>ของเหล่านี้ถ้าใครรู้เทคนิคง่ายๆ ก็จะช่วยให้ชีวิตปลอดภัยครับ ดังต่อไปนี้

1) ไม่ใช้ใส่ของร้อน พยายามเลี่ยงอาหารหรือกาแฟที่ร้อนจัดในภาชนะโฟมเหล่านี้เพราะแม้ว่าจะมีผู้ออกมาบอกว่ามันมีสาร “รั่ว” ออกมาน้อย แต่…ถ้าเป็นผมก็ขอไม่ประมาทไว้ก่อน เพราะลองคิดง่ายๆ ถึงมันออกมาทีละน้อยแต่วันหนึ่งอาจมีคนต้องประชุมเช้าจรดเย็นแล้วดื่มกาแฟนี้วันละ 4 แก้วบ่อยครั้งนานเป็นปี ฟังดูแล้วน่าเสี่ยงไหมล่ะครับ

นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ดร.ออลก้า ไนเดนโก ได้กล่าวว่าสารเคมีสไตรีนจากตัวโฟมเองและสารเคมีอื่นจำนวนน้อยหลุดออกมาปนในอาหารได้ ซึ่งผมเห็นว่าถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงดีกว่าแล้วถ้าจำเป็นก็แค่ใช้ให้ถูกวิธี---แค่เลี่ยงใส่ของร้อนเองครับ ใส่ของเย็นยังพอไหวอยู่

2) เลี่ยงของกรด ระวังอย่าใช้ใส่ของที่เป็นกรดเช่นแกงเผ็ดเปรี้ยวจี๊ด, ไขมันสูงหรือแอลกอฮอล์เพราะอาจทำละลายมันได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับความร้อนที่ให้ระวังการสัมผัสกับภาชนะสไตโรโฟมที่ว่าประเภทเทแกงร้อนๆ โครมลงไปหรือใส่ผัดเผ็ดร้อนน้ำมันเยิ้มลงไปอย่างไม่แคร์

เช่นเดียวกับการรินกาแฟร้อนๆ ลงไปและไวน์ที่อาจทำละลายสาร “สไตรีน” ออกมาปนในของกินเราได้ ซึ่งเรื่องนี้นิวส์วี้คก็ได้รายงานไว้ละเอียดโดยอ้างอิงจากแฟ็กท์ชี้ทข้อเท็จริงของ Northern Illinois University

3) ใช้ภาชนะอื่นบ้าง ก็รู้ว่าใช้โฟมที่ได้คุณภาพก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่เปลี่ยนสลับมาใช้ของอื่นบ้างจะเป็นไรอย่างแก้วกระดาษ, แก้วแท้เนื้อใส, กระเบื้องหรือถ้วยกาแฟเซรามิก ที่เป็นภาชะที่ทำจากวัตถุดิบที่ค่อนข้างเฉื่อยต่อปฏิกิริยาทางเคมี ยกเว้นชนิดที่มีสีฉูดฉาดและเก่าจนสีลอกก็ต้องระวังปนเปื้อนอาหารด้วยครับ

4) ซื้อของที่บรรจุรวบกล่องใหญ่ ถ้ามีเหตุให้จำเป็นต้องใช้ภาชนะโฟมจริงก็ไม่เป็นไรครับ ขอให้ซื้อไซส์ใหญ่ที่จะได้พื้นที่ผิวสัมผัสกับของกินของเราไม่มากเท่าภาชนะขนาดยิบย่อยเล็กๆ นอกจากนั้นก็ยังช่วยประหยัดปริมาณโฟมที่ไม่จำเป็นอีกด้วย

เพราะอย่าลืมว่าเรื่องโฟมแม้จะคุยกันในเรื่องสุขภาพแต่เรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ก็จำเป็นเพราะแม้โฟมจะรีไซเคิลได้ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบเป็น closed circuit ทั้งร้อยโดยไม่ต้องใช้ตัวช่วยที่มีผลกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

5) วิธีสังเกตสไตโรโฟม ข้อนี้จะช่วยติดเรดาห์หาภาชนะโฟมชนิดที่ว่านี้คือ ประเภทที่คณะกรรมการ National Toxicology Program ได้ให้ความเห็นว่าสารสไตรีนนี้ “มีเหตุที่คาดการณ์ว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในคน”

ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่ชาวโลกได้รู้กันไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น จึงถือว่าเป็นคำเตือนที่ควรฟังไว้ เพราะองค์กรนี้เขาก็เป็นหน่วยงานระดับชาติที่ทำเพื่อสุขภาพของประชาชนเช่นกัน โดยเทคนิคดูภาชนะนั้นไม่ยากขอให้หาตัวเลขที่อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมถ้าเป็นเลข “6” ก็ใช่โฟมชนิดนี้ครับ

เรื่องโฟมนี้ประเทศใหญ่ๆ เขาก็เคลื่อนไหวกันไม่ได้อยู่นิ่งนะครับ อย่างในอเมริกาก็มีนิวยอร์กซิตี้ที่ผู้คนออกมาผลักดันให้ออกกฏหมายควบคุมภาชนะโพลีสไตรีนโฟม ส่วนองค์กรใหญ่อย่าง National Institute of Environmental Health Science(NIEHS) ที่มีศูนย์บัญชาการใหญ่ของ National Toxicology Program ตั้งอยู่ ก็เป็นองค์กรที่สนับสนุนการศึกษาด้านสารเคมีอันตรายที่มีผลต่อต่อมไร้ท่อของมนุษย์เช่นบีพีเอในพลาสติก

ส่วนคณะกรรมการของ National Toxicology Program ก็ได้สรุปดังที่เราทราบกันว่าสไตรีนนั้น “มีเหตุที่คาดได้ว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ได้” ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ฟันธงลงไปแต่ก็ถือว่า “ไม่ธรรมดา”

ด้วยเรื่องอย่างนี้มันเกี่ยวพันกับสุขภาพอันมีค่าของเราซึ่งนั่นก็หมายถึง “ชีวิตอันเป็นที่รัก” ด้วย---แล้วคุ้มที่จะนั่งเฉยทำชิลหรือครับ? มีผู้ที่ฉลาดหลายท่านบอกว่าแม้มันจะหลุดปนออกมาน้อยๆ แต่ถ้าใช้กันบ่อยเข้าดังที่เห็นกันเกลื่อนทุกวันนี้จะสบายใจได้แน่ละหรือ? คนที่รอบคอบย่อมรู้ดีว่าป้องกันไว้คือดีเลิศ เพราะเมื่อเกิดเหตุ (ร้าย) ต่อสุขภาพขึ้นมาคนที่ต้องรับผลคือตัวเราไม่ใช่ใคร

ไม่ต้องรอให้หินกร่อนก่อนก็ได้



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น