ผู้บริโภคสุดช็อก!กับผลสุ่มตรวจคุณภาพทางจุลชีววิทยาการจากการเก็บตัวอย่างน้ำส้มคั้นในเขตกรุงเทพฯ และนนทบุรี อึ้ง! ผลตรวจน้ำส้มคั้นจากทั้งหมดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน พบจุลินทรีย์ ยีสต์และรา เกินในทุกตัวอย่าง คำถามคือ แล้วน้ำส้มคั้นที่เราซื้อดื่มกันอยู่ทุกวันนี้ พ่อค้าแม่ค้าเขาใส่อะไรลงไป ทำไมต้องโกหกว่า แท้ 100% เรากำลังดื่มอะไรลงท้องกันล่ะ!?
ถ้ายังจำกันได้กับการแชร์ภาพสุดสะพรึงของคู่สามีภรรยาชาวเวียดนาม ขณะกำลังผสมน้ำส้มบรรจุลงในขวดพลาสติก พร้อมโพสต์ข้อความระบุว่า ชาวเวียดนามกำลังทำการผสมน้ำส้มปลอมกับน้ำประปา โดยมีการแต่งรสหวานจากสารขัณฑสกรหรือสารใช้แทนน้ำตาลและสีส้ม บรรทุกใส่รถเข็นออกเร่ขายไปทั่วเมือง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
ทว่า ไม่ใช่แค่คู่ผัวเมียน้ำส้มปลอมกับน้ำประปาคู่นี้เท่านั้น แต่ยังมีการแชร์ภาพพ่อค้าขายน้ำส้มคั้นในเมืองกรุงบริเวณแยกเกษตร ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายขายน้ำส้มปลอมเช่นเดียวกัน โดยพ่อค้าคนนี้ทำทีคั้นน้ำส้มสด ๆ แต่บางจังหวะมีการนำขวดเปล่าไปกรอกน้ำส้มจากอีกขวดหนึ่งมาวางขาย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นน้ำส้มแท้หรือไม่อีกด้วย
ภาพดังกล่าวทำให้ร้านขายน้ำส้มคั้นสั่นคลอน! เพราะผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มไม่ไว้วางใจน้ำสีส้มที่อยู่ในขวดอีกต่อไปแล้ว ซ้ำร้ายผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจ ยังคอนเฟิร์มอีกว่า ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง!
….แล้วน้ำส้มคั้นที่ผู้บริโภคหลายคนเชื่ออย่างสนิทใจว่าที่ซื้อและดื่มไปมันคือน้ำอะไร?
จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำส้มที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สระบุรี เก็บจากคู่สามีภรรยาชาวเวียดนามลอบผลิตน้ำส้มคั้นปลอมจำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ว่า ตรวจพบซัคคาริน และ สีสังเคราะห์ในทุกตัวอย่าง แต่สีที่ตรวจพบเป็นสีสังเคราะห์ที่อนุญาตให้ใช้ ได้แก่ Tartrazine, Sunset yellow FCF, Ponceau 4R อย่างไรก็ตาม มี 1 ตัวอย่างที่ใช้ปริมาณสีเกินเกณฑ์กำหนด โดยพบว่า มีการใช้ Tartrazine 50.1 ร่วมกับ Ponceau 4R 5.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีสี Tartrazine รวมกับ Ponceau 4R ได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
สำหรับตัวอย่างน้ำส้มคั้นสดในภาชนะปิดสนิท ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เก็บจากสถานที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ และนนทบุรี จำนวน 12 ตัวอย่างนั้น ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี จากทั้งหมด 15 ตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13 พบว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย จำนวน 6 ตัวอย่าง ซึ่งมีเพียง 1 ตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยพบปริมาณกรดเบนโซอิค 312 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และกรดซอร์บิค 228 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิค รวมกับกรดซอร์บิคในเครื่องดื่มได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ชนิดซัคคาริน จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ อยู่ในช่วง 13 - 32.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
“การตรวจคุณภาพทางจุลชีววิทยา จากทั้งหมด 15 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง เนื่องจากตรวจพบจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะเกินมาตรฐาน คือ ตรวจพบปริมาณยีสต์และราเกินในทุกตัวอย่าง พบโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน 9 ตัวอย่าง และพบอีโคไล 6 ตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ”
ทว่า อย่าตื่นตระหนกสะพรึงไปเพราะเชื่อว่ายังมีพ่อค้าแม่ค้าที่ยังห่วงใยใส่ใจลูกค้าด้วยการคั้นน้ำส้มแท้ๆ เพียงแต่ต้องสังเกต ดมกลิ่น ตามที่ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะวิธี
“โดยปกติน้ำส้มคั้นสด ๆ ถ้าตั้งทิ้งไว้จะมีตะกอนเนื้อส้มอยู่ด้านล่าง หากไม่มีตะกอนเลย เป็นน้ำสีส้มใส ๆ อาจเป็นน้ำส้มผสม เมื่อเปิดขวดแล้วให้ลองดมกลิ่น ถ้าเป็นน้ำส้มคั้นสดจะมีกลิ่นส้มธรรมชาติ หากไม่มีกลิ่นอะไรเลย หรือกลิ่นจางมาก ๆ ไม่ใช่น้ำส้มคั้นสด เพราะน้ำส้มคั้นสดทั่วไปต้องมีสี กลิ่น รสตามธรรมชาติของส้ม และหากดื่มแล้วรู้สึกว่ารสชาติแปลก ๆ ควรทิ้งไป”
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำการเลือกซื้อน้ำส้มคั้นโดยเเสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า สิ่งที่ควรทำคือ ระมัดระวังในการซื้อน้ำส้มคั้นที่ไม่มีที่มาที่ไปแบบนี้ควรซื้อที่มียี่ห้อ มี อย.ชัดเจน หรือถ้าจะซื้อตามรถเข็น ก็ควรจะเป็นแบบที่คั้นสดๆ เห็นกากส้มปนอยู่ ไม่ใช่บรรจุขวดมาขายเป็นน้ำใสๆ อย่างน้อยก็จะได้ระวังเรื่องเชื้อโรคปนเปื้อนหรือผสมน้ำตาลจำนวนมาก
ทว่า หากอยากให้มั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ ว่าน้ำส้มแท้ชัวร์ การซื้อส้มมาคั้นเองก็เป็นอีกวิธีที่เราจะได้ดื่มอย่างปลอดภัยและไม่ระแวง!
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754