xs
xsm
sm
md
lg

เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่! ปั้น “เชฟขนมหวานทีมชาติไทย” โกอินเตอร์!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถ้า “ซิโก้” คือผู้กุมบังเหียนคนสำคัญที่ทำให้บอลไทยได้ไปบอลโลก สุดยอดเชฟรายนี้คงเปรียบเสมือน “โค้ชซิโก้เวอร์ชันก้นครัว” ที่ปั้นให้ขนมหวานฝีมือคนไทย ได้บัตรผ่านไปเฉิดฉายอยู่ในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกได้สำเร็จแล้ว
เหลือเพียงไม่กี่อึดใจเท่านั้น ที่เชฟทีมชาติไทยจะได้บุกลุยไปคว้าฝันในดินแดนต้นตำรับแห่งขนมหวาน ภายใต้การเคี่ยวกรำอุณหภูมิแห่งความพยายามจนได้ที่ของ “อิริค เปเรซ” สุดยอดโค้ชผู้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ไทยแลนด์!!




ปั้น “เชฟทีมชาติ” ต้องโค้ช “แก่ประสบการณ์”

[โค้ชอิริค สุดยอดโค้ชทีมชาติไทย]
“ถ้าคุณไม่เคยไปในฐานะผู้เข้าแข่งขันมาก่อน คุณจะไม่มีวันวาดภาพออกเลยว่า ควรจะวางกลยุทธ์เพื่อไปโกยแต้มจากคณะกรรมการที่นั่นได้ยังไง”

ผู้เชี่ยวชาญด้านรสชาติ เชฟมากประสบการณ์วัย 52 เริ่มวิเคราะห์ให้ฟังผ่านภาษาอังกฤษสำเนียงฝรั่งเศสว่า เขามีความพร้อมในฐานะ “โค้ชขนมหวาน” ประจำทีมชาติไทยมากน้อยแค่ไหนผ่านสายตาตัวเอง ซึ่งถ้าวัดจากบริบทที่ว่านี้ เชฟลูกทีมภายใต้การคุมของ “อิริค เปเรซ (Eric Perez)” ก็พอมีลุ้นไม่แพ้ตัวแทนจากทั่วโลกอีก 20 กว่าประเทศเช่นกัน

ย้อนกลับไปในสมัยยังหนุ่มๆ ตัวเขาเองเคยเข้าแข่งขัน “World Pastry Cup” เวทีระดับโลกรายการเดียวกันนี้มาแล้วถึง 2 ครั้ง แถมยังเคยรับหน้าที่เป็นโค้ชผู้ปั้น “ทีมชาติจีน” ให้สามารถคว้ารางวัลอันดับ 7 ของโลกมาครองได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่ส่งทีมเข้าแข่งขันอีกต่างหาก

“อันดับ 7 นี่ ถือว่าเป็นอันดับที่สูงมากแล้วนะคะ สำหรับทีมที่ลงแข่งครั้งแรกในระดับนานาชาติแบบนั้น” นก-นันทิดา ปัญญาบารมี เชฟลูกทีมชาวไทยวัย 36 ที่นั่งอยู่ข้างๆ กัน ช่วยเสริมรายละเอียดสำคัญ เพื่อให้คู่สนทนาค่อยๆ เข้าใจเส้นทางความหวานตามมาตรฐานสากลมากขึ้น

[เชฟนก-นันทิดา เตรียมคว้าฝันในรายการ “World Pastry Cup” เวทีระดับโลกด้วยความมุ่งมั่น!]

[ฝีมือเชฟนก ได้รับรางวัล Best Plated Desserts จากรายการ "Asian Pastry Cup"]

ส่วนเชฟขนมหวานทีมชาติไทยของเราทีมนี้ ยังไม่มีใครตอบได้ว่า พวกเขาจะคว้าอันดับระดับโลกที่เท่าไหร่มาครอง แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เราได้ “อันดับ 4” หรือติด 1 ใน 5 ทีมผู้ชนะรอบคัดเลือกโซนเอเชีย จากผู้แข่งขันทั้งหมด 11 ประเทศ เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นที่มาของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้รับสิทธิ์ให้เดินทางไปสานฝัน แข่งขันต่อในระดับเวิลด์ไวด์ ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะมืออาชีพ!

รู้ไหมว่า ก่อนจะส่งทีมไปแข่งรายการ Asian Pastry Cup ที่สิงคโปร์ครั้งล่าสุด ผมต้องไปนั่งคุยกับเพื่อนที่เป็นเชฟในฮ่องกงก่อนนะ เพราะต้องการเก็บข้อมูลจากคนที่เคยเข้าแข่งรายการนี้มาแล้วจริงๆ ให้ได้คำตอบว่าคณะกรรมการจะตัดสินคะแนนจากจุดไหนบ้าง แล้วเอามาวางกลยุทธ์เพื่อเอาชนะใจพวกเขา”

[เชฟขนมหวานทีมชาติไทย ทีมประวัติศาสตร์แห่งการโกอินเตอร์]

“อันดับ 1 สิงคโปร์, อันดับ 2 มาเลเซีย, อันดับ 3 อินเดีย, อันดับ 4 ไทย และ อันดับ 5 อินโดนีเซีย” ทั้งหมดนี้คือเชฟทีมชาติ ผู้ชนะในรายการแข่งขันครั้งล่าสุดที่อิริคพูดถึง ลองเทียบกันดูแล้ว ครั้งนั้นกับการแข่งขันระดับเอเชีย ทีมไทยใช้เวลาเตรียมตัวกว่า 3 เดือน ส่วนครั้งนี้กับการแข่งขันระดับนานาชาติ เหลือเวลาเตรียมตัวอีกเกือบ 7 เดือน บอกเลยว่าโหดหินกว่ากันเยอะ

“ไหนจะเรื่องการขนส่งอุปกรณ์และวัตถุดิบต่างๆ ที่จะกลายมาเป็นอุปสรรคของเรา เพราะประเทศเราตั้งอยู่ไกลจากเขามาก ขนส่งลำบากกว่ากันเยอะมาก ไหนจะเรื่องภูมิอากาศที่ต่างกันอีก ทีมผู้เข้าแข่งขันก็มีมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว แรงกดดันมันมีมากกว่า เพราะเซตเมนูหลายๆ อย่างมันซับซ้อนและสเกลใหญ่กว่าเดิมเยอะ เดี๋ยวเราต้องหาสมาชิกมาร่วมทีมเพิ่มด้วยอีก 1 คนครับ เอามาเสริมในส่วนของการแกะสลักน้ำแข็ง, แกะสลักช็อกโกแลต แล้วก็ทำเมนูเค้กไอติม

[ผลงานระดับเทพที่ทำให้ได้บัตรผ่าน เป็นตัวแทนเอเชียไปชิงชัยที่ฝรั่งเศสต้นปีหน้า]

ส่วนที่ซับซ้อนไม่แพ้เซตขนมหวาน คงหนีไม่พ้นเรื่องอุปสรรคในการสร้าง “ทีม” ภายใต้บริบทของสังคมไทย ถ้าให้วิเคราะห์ผ่านสายตาโค้ชตะวันตกแล้ว บอกเลยว่าลูกทีมไทยคุมยากที่สุดแล้วตั้งแต่เคยเจอมา

“อาจจะเป็นเพราะคนไทยมีความซับซ้อนทางวัฒนธรรม มีมิติความต่างของระดับของคนที่แตกย่อยไปได้เยอะมาก มันเลยอาจจะทำให้แต่ละคนมีความเป็นตัวเองสูง พอถูกจับมารวมเป็นทีม เลยทำให้ปั้นให้เกิดคำว่าทีมได้ยากกว่าชาติอื่นๆ ที่ผมเคยเจอ แต่ข้อดีก็คือ ไอ้ความเป็นตัวของตัวเองสูงของคนไทยนี่แหละ ที่ทำให้แต่ละคนมีความเป็น artist อยู่ในตัว

ในฐานะคุณพ่อลูกหนึ่ง โค้ชอิริคมองว่าวิธีการโค้ชของเขา ก็ไม่ต่างอะไรนักกับวิธีการสอนลูกของตัวเอง “คุณทำได้แค่ไกด์ให้ลูกเท่านั้นแหละว่า เขาน่าจะไปทางไหนได้บ้าง แต่คุณไม่สามารถไปบังคับให้เขาทำตามอย่างที่คุณต้องการได้หรอก ก็เหมือนกับการโค้ชทีมของผม ผมก็แค่มีหน้าที่แนะนำว่าไม่ควรทำแบบนี้ๆ นะ แต่ถ้าเขายังจะเลือกทำอยู่ ผมก็ต้องปล่อยเขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง พอผลออกมาแล้วมันพลาด นั่นแหละคือเวลาที่ผมจะต้องเดินไปหาเขาแล้วพูดว่า 'นี่แหละที่ผมเตือนคุณไปแล้ว' เพราะผมเองก็เคยทำพลาดแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน

แต่ผมว่าถ้าเทียบกันจริงๆ แล้ว บทบาทการเป็น 'เชฟที่ดี' มันง่ายกว่าการเป็น 'พ่อที่ดี' เยอะมากเลยนะ (ยิ้มบางๆ) ผมคงไม่สามารถเป็นพ่อที่สมบูรณ์แบบอะไรขนาดนั้นได้ เพราะผมไม่ได้อยู่ดูแลลูกตลอดเวลา และถ้าเลือกได้ ผมคงอยากเป็นพ่อที่ดีกว่านี้ แต่ในบทบาทการเป็นเชฟ ผมใช้เวลาอยู่ในครัว โฟกัสกับมัน และทำมันอย่างเต็มที่ในบทบาทนี้แล้วครับ”



ถ่ายทอดสดครั้งใหญ่ ยุทธศาสตร์ขนมหวานโกยคะแนน!!

[ลิสต์เมนูขนมหวานยาวเหยียด ที่ต้องทำให้เสร็จภายในเวลาจำกัด]
“เซตขนมหวานรายการที่เราไปแข่งที่สิงคโปร์ เขาจะมีลิสต์รายการขนมหวาน กำหนดไว้ชัดเจนเลยค่ะว่า ต้องมี chocolate showpiece 1 จาน, sugar showpiece 1 จาน, มีเค้ก 2 ก้อน แล้วก็มี plated dessert (ขนมหวานจัดจาน) อีก 18 รายการ ทั้งหมดนี้สมาชิกทีมทั้ง 2 คน ต้องทำให้เสร็จภายในเวลา 8 ชั่วโมง

ส่วนรายการแข่งขันที่กำลังจะเดินทางไปแข่งที่ลียง ประเทศฝรั่งเศส เขากำหนดว่าต้องมี chocolate showpiece 1 จาน, sugar showpiece 1 จาน, ice showpiece 1 จาน, ไอศกรีม 3 จาน, เค้กช็อกโกแลตอีก 3 จาน แล้วก็ plated dessert (ขนมหวานจัดจาน) อีก 12 รายการ ทั้งหมดนี้ สมาชิกทั้ง 3 คน ต้องช่วยทำให้เสร็จภายในเวลา 10 ชั่วโมงค่ะ

[สุดยอดผลงาน ที่ทำให้ทีมชาติไทย ได้อันดับ 4 ที่สิงคโปร์ครั้งล่าสุด]

รายละเอียดยาวเหยียดที่เชฟนกช่วยแจกแจงให้ไว้ ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ดูเป็นงานช้างสำหรับลูกทีมชาวไทยตัวเล็กๆ แค่ไม่กี่คนอยู่ดี แต่ถึงอย่างนั้นเธอและทีมก็ยังสามารถก้าวข้ามผ่านมันมาได้สำเร็จแล้ว ในเวทีการแข่งขันระดับเอเชียที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ เหลือเพียงการวัดใจอีก 1 เฮือกในเวทีระดับโลก ณ ประเทศฝรั่งเศสในปีหน้า ที่ต้องอาศัยพลังความสามารถจากสมาชิกใหม่อีก 1 คนมาช่วยเสริม รวมถึงแรงขับเคลื่อนจากโค้ชผู้เจนเวที มาช่วยเติมเชื้อไฟให้ทีมชาติไทย ถีบตัวเองไปสู่ปลายทางฝันให้ได้ไกลที่สุด

“คราวที่แล้ว เรามีเวลาซ้อมกันตลอด 3 เดือนก่อนการแข่งขัน แต่ที่ซ้อมแบบจริงๆ จังๆ ซ้อมทุกวัน ก็จะเป็นช่วงก่อนแข่ง 1 เดือน ต้องฝึกทำขนมหวานแต่ละเมนูวนๆ กันไปให้ชินมือ ต้องมีกำหนดซ้อมใหญ่อาทิตย์ละ 2 วัน จับเวลาให้เหมือนกำลังแข่งขันจริงๆ ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายใน 8 ชั่วโมงอย่างที่เขากำหนด เพราะทุกวินาทีที่มันเกินออกมา เราจะโดนหักคะแนน ซึ่งเป็นโชคดีมากที่ทีมเราซ้อมกันมาประมาณนึง เลยทำให้เราไม่เคยเสียแต้มไปกับการทำงานหลุดกรอบของเวลาเลยค่ะ”

[เชฟศรีภูมิ เลาวกุล อีกหนึ่งสมาชิกผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ทีมชาติไทย]

[ชนะใจกรรมการด้วยขนมหวานธีม Alice in wonderland]

ส่วนการแข่งขันคราวหน้าที่ฝรั่งเศส ก็มีกรอบของเวลามาเป็นเครื่องปั่นฝันเช่นเดิม แต่ที่ต่างออกไปก็คือ ครั้งนี้ขยายกรอบความรับผิดชอบออกเป็น 10 ชั่วโมงที่มาพร้อมสเกลงานที่หนักอึ้งกว่าเดิมเป็นทวีคูณ

“งานแข่งครั้งนี้มันจะเทพอยู่อย่างนึงก็คือ เขาจะมีห้องขนาดแค่ 2 x 2 เมตร มาให้เรา หมายความว่าตลอดการแข่งขัน 10 ชั่วโมง เราห้ามเดินออกไปไหนเลย มีหน้าที่หยิบวัตถุดิบทั้งหมดในนั้นมาทำอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ของทุกอย่างที่เราจะใช้ เราต้องเรียงมันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากๆ เพื่อให้หยิบได้สะดวกๆ

ทุกทีมที่เข้าแข่งขันจะถูกตัดสินจากมาตรฐานเดียวกันหมด คือมีพื้นที่ให้ผลิตชิ้นงานเท่าๆ กัน อยู่ในสตูฯ เดียวกัน สตูฯ ใหญ่ๆ ที่เขาเอามาแบ่งให้แต่ละทีมอยู่ในโซนของตัวเองอีกที และในระหว่างที่ทำไป ก็จะมีคนดูเป็นพันๆ คนเลยค่ะ คอยยืนดูทุกขั้นตอนที่เราทำอยู่บนสแตนด์ แล้วก็จะมีรายการทีวีอีกประมาณ 25 สถานี มาถ่ายทอดสดการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย!!

[วินาทีแห่งความทรงจำ ทีมไทยได้อันดับ 4 จาก “Asian Pastry Cup”]
น้ำเสียงและแววตาของคนที่อยู่ตรงหน้า ช่วยสื่อสารให้คู่สนทนาได้รับรู้ถึงอัตราการเต้นของหัวใจที่ถี่กว่าระดับปกติของเธอได้อย่างชัดเจน แม้แต่คนที่กำลังทำหน้าที่รับฟังอยู่ตรงนี้ ยังอดตื่นเต้นล่วงหน้าไปด้วยไม่ได้ บอกเลยว่าการสานฝันครั้งนี้คือครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีเชฟไทยคนไหนบุกลุยไปถึงจริงๆ

“ตอนนี้ เราหาสมาชิกใหม่ของทีมได้แล้วครับ” แม้จะยังไม่เผยโฉมตัวละครลับรายใหม่ให้ได้เห็นอย่างเป็นทางการ แต่คนทำหน้าที่เสาะแสวงหา “คนที่ใช่” สำหรับทีมอย่างโค้ชอิริค ก็ช่วยเผยกลยุทธ์การเดินหมากในเกมการแข่งขันครั้งนี้เอาไว้ให้อย่างน่าสนใจ

“ถึงจริงๆ แล้ว ทีมเราจะยังขาดคนมาอุดช่องโหว่เรื่องชิ้นงานแกะสลักน้ำแข็ง แต่เราก็ตัดสินใจเลือกคนที่ไม่ได้ถนัดด้านนี้เข้ามาเพิ่มในทีมอยู่ดี เพราะเรามองว่าถ้าเราเลือกคนที่สามารถแกะสลักน้ำแข็งได้ แต่ไม่สามารถทำขนมหวานได้ ทำเค้กไม่เป็น มันอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่า การเลือกคนที่รู้ดีว่าจะทำขนมหวานยังไง แต่ไม่มีความรู้เรื่องการแกะสลักน้ำแข็งเลย เพราะคะแนนในส่วนแกะสลักน้ำแข็ง เทียบกับส่วนของขนมหวานแล้ว มันถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เราเลยขอเลือกคนที่รู้ดีเรื่องการทำขนมหวาน แล้วค่อยมาช่วยๆ กันเรียนรู้เรื่องแกะสลักน้ำแข็งด้วยกันทีหลังดีกว่าครับ

เพราะเวลาในการแข่งขันมันกระชั้นมาก เราจำเป็นต้องหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องขนมหวานเป็นอย่างมากมาช่วยกัน และคุณสมบัติที่สำคัญไม่แพ้กันที่ลูกทีมทุกคนต้องมีก็คือ ต้องเป็นคนที่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ด้วย ตอนนี้เราก็กำลังพยายามทำให้ทีมของเราแข็งแกร่งที่สุด เพื่อให้เราพร้อมที่สุดภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่กี่เดือน ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น”

เรียกได้ว่าการแข่งขันรายการนี้คือเวทีปราบเซียน เพราะถือเป็นรายการเดียวที่รวมเอาทุกศาสตร์เรื่องขนมหวาน งัดออกมาประชันกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการทำไอศกรีม, ทำเค้ก หรือแม้แต่งานสร้างสรรค์ทางศิลปะบนขนมจัดจาน แบบเดียวกับที่ร้านอาหารมาตรฐานโลกต้องมี ทั้งยังเป็นรายการเดียวที่มีการจับเวลาการแข่งขันและยิงสัญญาณถ่ายทอดสดระดับบิ๊กเบิ้มไปทั่วประเทศแบบนี้


“กลยุทธ์สำคัญในการโกยคะแนนจากคณะกรรมการ หลักๆ แล้วมาจากเรื่องรสชาติ (taste), รสสัมผัส (texture), ความคิดสร้างสรรค์ (creativity), รูปลักษณ์ของอาหาร (apprerance) และความสะอาด (sanitation) ครับ เขาจะมีคณะกรรมการคอยเดินตรวจ เดินดูทุกขั้นตอนในการทำขนมของแต่ละทีมอยู่ตลอด ว่าเราทำถูกต้องตามหลักสุขอนามัยหรือเปล่า

ส่วนเรื่องของรสชาติ เราต้องทำให้ออกมาตรงตามมาตรฐานสากลที่สุด คือเราไม่สามารถใส่รสที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้าไปได้ ยกตัวอย่าง ถ้าทำเค้กรสมะขาม คณะกรรมการที่มาจากหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่เคยลิ้มรสนี้มาก่อน ก็จะชิมแล้วงงๆ ไม่สามารถเอาไปเทียบกับมาตรฐานรสชาติที่เป็นสากลตรงไหนได้ ที่สำคัญ เวลาในการชิมมันมีอยู่แค่สั้นๆ เขาให้โอกาสเราแค่คำเดียวในแต่ละจาน เพราะฉะนั้น เราต้องทำยังไงก็ได้ ให้เขาชิมแล้วนึกขึ้นได้ทันทีว่า นี่คือรสชาติที่เตะลิ้นแบบออริจินัลจริงๆ

เรื่องคะแนนความคิดสร้างสรรค์ตรงนั้น เราอาจจะใช้เรื่องการมิกซ์รสชาติที่มีอยู่ให้ออกมาอร่อยและแตกต่างก็ได้ เพราะในเค้กฝรั่งเศสชิ้นหนึ่งมันไม่ได้มีแค่รสเดียว เรายังสามารถมิกซ์หลายๆ รสให้ออกมากลมกล่อม สามารถใส่ความสร้างสรรค์เข้าไปในรสสัมผัสได้ อาจจะให้กัดเข้าปากแล้วรู้สึกถึงเนื้อขนมที่นุ่มละมุนไม่เหมือนใคร หรือจะใส่ไอเดียเก๋ๆ ลงไปในการออกแบบจัดจานเพื่อดึงดูดสายตาคณะกรรมการก็ได้ บางทีของที่ดูธรรมดาๆ ก็ทำออกมาให้ดูดีที่สุดได้ยากที่สุดเหมือนกัน

การแข่งขันแบบนี้ เราต้องทำให้ทุกจานมันออกมาดีเท่าๆ กันหมด ต้องพยายามรักษามาตรฐานไม่ให้ตกหล่นลงไป คือไม่ใช่ว่าทำเค้กช็อกโกแลตออกมาได้คะแนนสูงเชียว แต่พอทำเค้กไอติม ผลคะแนนก็ดิ่งลงเหว แบบนั้นก็ถือว่าสอบไม่ผ่าน ยิ่งเรารักษามาตรฐานในทุกจานให้ได้มากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าเรายิ่งมีสิทธิ์โกยแต้มให้ทีมชาติไทยได้มากเท่านั้นครับ



จากเด็กชายก้นครัว สู่สุดยอดเชฟข้ามโลก

“work hard, work harder and work smarter” คือคติประจำใจที่ทำให้อิริคฝ่าฟันบนเส้นทางความฝันสายหวานมาได้ไกลขนาดนี้ จากเด็กชายชาวฝรั่งเศสที่มีความสุขอยู่กับการขลุกอยู่ในก้นครัว เป็นลูกมือทำเค้กช่วยคุณแม่มาตั้งแต่ 9 ขวบ จุดประกายให้เขาค้นพบตัวเองตั้งแต่วัย 14 ว่าต้องพุ่งมาเล่นสนุกบนเส้นทางสายนี้

ถึงแม้จะมีอุปสรรคเรื่องทุนเพื่อสานฝันการเป็นเชฟ เนื่องจากสถานะทางการเงินของครอบครัวที่ต้องหาเช้ากินค่ำเลี้ยงปากท้อง แต่ด้วยใจรัก เด็กชายอิริคจึงไปทำงานแลกเงิน ส่งเสียตัวเองเรียนและฝึกงานในโปรแกรมพิเศษนาน 1 เดือน ก่อนย้ายไปลิ้มรสขนมหวานสัญชาติอเมริกัน ทำงานเป็นเชฟประจำที่นั่นจนได้กรีนการ์ด ได้เป็นเชฟขนมหวานทีมชาติอเมริกา ตระเวนแข่งอีกกว่า 10 รายการข้ามประเทศ แล้วผันตัวมาเป็นโค้ชให้ทีมชาติจีน และล่าสุดมาปักหลักปั้นฝันให้ “เชฟขนมหวานทีมชาติไทย” ในที่สุด


“ถ้าไม่มีเงินเรียน คุณก็ต้องแค่ต้องไปทำงาน หาเงินมาเรียน หรือจริงๆ แล้ว มันอาจจะไม่สำคัญเลยด้วยซ้ำว่า คุณจะได้เรียนในสิ่งที่คุณอยากเรียนไหม แค่คุณหาทางฝึกฝนและทำมันอย่างสม่ำเสมอ คุณก็จะได้เรียนรู้มันไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ไม่ว่าจะทำงานสายไหนก็ตาม คุณจะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้เลย ถ้าไม่ลงมือทำมันจริงๆ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ต้องฝึกฝนให้หนัก, ฝึกมันให้หนักขึ้น แล้วก็ทำมันให้ฉลาดกว่าเดิม เพราะถึงคุณจะทำงานหนักสักแค่ไหน แต่ถ้าเลือกทำงานผิดที่ เลือกทำงานในสถานที่ที่คุณไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลย การงานของคุณก็จะไม่มีวันก้าวหน้า และมันจะไม่มีวันทำให้คุณประสบความสำเร็จ

มันไม่สำคัญหรอกว่า เราจะทำงานนั้นมานานแค่ไหน อาจจะแค่ 3 เดือนหรือเป็นปีๆ มันอยู่ที่ว่าคุณได้ก้าวไปข้างหน้า ได้พัฒนาตัวเองมากน้อยแค่ไหนแล้วต่างหาก ถ้ารู้จักเลือกอยู่ให้ถูกที่ คุณจะกลายเป็นคนที่โชคดีที่สุด


ด้วยนิสัยชอบลิ้มลองความแปลกใหม่และไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้นักผจญภัยทางรสชาติอย่างเขา ตัดสินใจย้ายจากถิ่นฐานไปทำงานในอเมริกาตั้งแต่ตอนอายุไม่ถึง 20 ปี “ผมแค่คิดว่ามันคือหนทางที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้เร็วกว่าอยู่ที่ฝรั่งเศส เพื่อที่ผมจะได้มานั่งพูดคุยสื่อสารภาษาอังกฤษกับคุณอย่างวันนี้ไง” รอยยิ้มที่มอบให้บวกกับประกายความซนที่ยังคงปรากฏในแววตา แอบทำให้เผลอคิดไปว่า กำลังย้อนเวลากลับไปคุยกับนายอิริควัยหนุ่มอยู่อย่างไรอย่างนั้น

“ตอนนี้ สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ก็คือ การปักหมุดเริ่มต้นให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องขนมหวานกันมากขึ้น เหมือนอย่างที่ผมเคยทำได้มาแล้วในจีน ในตอนปั้นทีมชาติจีนไปแข่งรายการเดียวกันนี่แหละครับที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2003 หลังจากการแข่งขันครั้งนั้นเป็นต้นมา ประเทศจีนก็สร้างทีมของเขาขึ้นมาเพื่อแข่งรายการนี้ตลอด ถึงแม้ผมจะไม่ได้เป็นโค้ชให้เขาแล้วก็ตาม


ที่น่าชื่นใจก็คือ มันทำให้วงการเบเกอรีในจีนบูมขึ้นมา มีกลุ่มคนที่คลั่งไคล้ในเรื่องนี้จนถึงขั้นตั้งเป็นแฟนคลับ เดินทางตามไปเชียร์ทุกครั้งที่ทีมชาติจีนไปลงแข่งขันในรายการไหนก็ตาม ส่วนในไทย ผมก็ได้แต่หวังว่าจุดเริ่มต้นในครั้งนี้ มันจะช่วยจุดประกายอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้น และไม่มอดดับไป ถ้ามีคนช่วยกันจุดประกายไฟสานต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ

ผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจเรื่องขนมหวาน ไม่หยุดอยู่แค่การเปิดร้านเบเกอรีของตัวเอง แต่อยากให้เชื่อมั่นว่าเขามีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ให้ไปถึงจุดที่จะได้รับการยอมรับในระดับโลกได้เหมือนกัน เพราะการเปิดร้านเบเกอรี มันไม่ได้ทำให้คุณเป็นเชฟขนมหวาน แต่มันแค่ทำให้คุณกลายเป็นนักธุรกิจขนมหวานเท่านั้นเอง

แค่ได้สิทธิ์เข้าไปแข่งขันในเวทีขนมหวานระดับโลกในครั้งนี้ได้ก็เกินความคาดหมายแล้ว ทั้งเชฟนกและโค้ชอิริคบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “จริงๆ แล้ว ถ้าแค่ติดอันดับ 7-10 กลับมาได้ ก็ถือว่าหรูมากแล้วนะครับ สำหรับการแข่งขันครั้งแรกระดับทีมชาติ แต่ไหนๆ ก็ไปแข่งแล้ว เราก็ต้องหวังให้มันสูงที่สุด เพราะทุกการแข่งขัน มันต้องมีผู้ชนะแค่ทีมเดียว ส่วนที่เหลือก็จะถูกเรียกว่าผู้เข้าร่วมการแข่งขัน”


“จากมุมมองของนก นกคิดว่าถ้าเราไปแข่งแล้วได้อันดับดีๆ กลับมา ทั่วโลกจะเข้าใจว่าเราเป็นหนึ่งในชาติที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกับระดับนานาชาติ ถ้าเราได้รับการยอมรับแล้ว หลังจากนั้น ถ้าเราจะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาที่เป็นเอกลักษณ์ของขนมหวานไทย คนก็จะฟังเรา แต่ตอนนี้ ถ้านกนั่งทำอะไรขึ้นมา คนก็คงมองมันเป็นแค่ก้อนอะไรสักอย่างแค่นั้นเอง และถ้าทำได้สำเร็จ เราก็จะได้เป็นคนที่คอยสอนน้องๆ รุ่นต่อๆ ไปได้ด้วยค่ะ”

การที่คนสัญชาติไทยพยายามต่อสู้เพื่อคำว่า “ทีมชาติไทย” ยังเป็นเรื่องที่พอคาดเดาได้ แต่อะไรคือแรงผลักที่อยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้คนสัญชาติฝรั่งเศสคนหนึ่ง อยากลุกขึ้นมาเป็นฟันเฟืองสำคัญ ลุกขึ้นมาปั้นความฝันอันหอมหวาน ในฐานะสุดยอดโค้ชแห่งประวัติศาสตร์ไทย? คนถูกถามได้แต่ยิ้มรับบางๆ ก่อนเผยมิติที่น่าสนใจ ผ่านอดีตอันเจ็บปวดของเขาเอาไว้เพื่อปิดบทสนทนา

“คนมักจะถามผมด้วยความไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณต้องพยายามทำอะไรแบบนี้ด้วย ทำไมต้องส่งทีมไปแข่งขันทีมชาติ ผมก็แค่อยากจะโปรโมตสิ่งที่เราพยายามสร้างสรรค์ ผมอยากจะลบภาพที่เคยถูกสบประมาทเอาไว้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ คนที่เคยมองว่า ที่ผมตัดสินใจมาเรียนทำขนมหวาน ก็แค่เพราะไม่มีปัญญาไปเรียนอย่างอื่นแล้ว เพราะที่ฝรั่งเศส เด็กที่เรียนทำขนมมักจะถูกมองว่าครอบครัวยากจน และไม่มีทางออกอื่นแล้ว ทั้งที่จริงๆ ผมแค่อยากเรียนเพราะผมรักที่จะทำมัน

ผมแค่อยากให้คนอื่นๆ ได้เข้าใจว่า อาชีพเชฟขนมหวานมันไม่ใช่สิ่งที่แค่ใครมาทำก็ได้ หรือถูกมองว่าเป็นแค่อาชีพที่ไม่ต้องใช้หัวคิดอะไร แค่มีสองมือกับแรงกายก็ทำได้แล้ว แต่มันคืออาชีพที่ต้องฝึกฝน ต้องใช้ความสามารถ ใช้ทักษะทุกอย่าง รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ และต้องเป็นคนที่มีศิลปะอยู่ในตัว มีความเป็น artist ถึงจะทำแบบนี้ได้ ผมอยากให้คนที่รักในเส้นทางนี้ มีกำลังใจและรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ



สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น