xs
xsm
sm
md
lg

เปลือยใจ "น้องโม" สวยจนชะนียอมยกมดลูกให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"สวยอะไรเบอร์นั้น" เป็นวลีที่เหมาะกับ "โม-จิรัชยา ศิริมงคลนาวิน" มากที่สุด

ถ้าไม่บอกว่าได้ตำแหน่ง "มิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส ปี 2016" เกือบทุกคนคงคิดว่าเธอเป็นผู้หญิงแท้ เพราะสวยเป๊ะ สวยเนียนไปทุกสัดส่วน ทั้งรูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณ โดยเฉพาะเรียวปากที่ได้รูปเป็นกระจับชวนหลงใหล แถมยังเอวบางร่างน้อยจนชายแท้ๆ ยังต้องแพ้ทาง..
ส่วน "หญิงแท้" นอกจากจะเสียหลัก อ้าปากค้าง และยอมยกธงขาวให้แล้ว บางคนถึงกับเอ่ยปากว่า "สวยขนาดนี้พี่ยอมยกมดลูกให้เลย"

ไม่เพียงแต่ชื่อของ "โม-จิรัชยา" จะถูกจารึกไว้ในทำเนียบสาวงามประเภทสองที่สวยที่สุดของปีนี้ "ไฟเตอร์-มิลลนานิน แสนเทพ" รองชนะเลิศอันดับ 1 และ "อาลี่-รณัณฎา วัฒนาศิริวิไลกุล" รองชนะเลิศอันดับ 2 ยังสวย และปังในแบบของตัวเองภายใต้คอนเซ็ปต์ "Life Spiration" เช่นกัน

กว่ามงจะลง "โม จิรัชยา"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปีนี้ มงลงไม่ผิดหัวจริงๆ เพราะ "โม-จิรัชยา" ออร่าแรงตั้งแต่วันสมัคร กระทั่งวันเปิดตัวผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย ซึ่งเธอคือหนึ่งในผู้เข้าประกวดที่ฮอตมากๆ เห็นได้จากยอดไลค์ ยอดแชร์ถล่มทลายในโลกออนไลน์ แต่ทำไมในปี 2014 เธอกลับพลาด และดูไม่เปรี้ยงเหมือนครั้งนี้



"โมว่าโมพร้อมแล้วนะ" เธอเอ่ยขึ้น "แต่จริงๆ โมพร้อมแค่คำพูด ซึ่งโมไม่ได้เตรียมตัวอย่างจริงจังเพื่อการประกวด พอทางประกวดเปิดรับสมัครก็ไปยื่นใบสมัคร ซึ่งตอนนั้นคิดแค่ว่า ฉันสวยแล้ว ฉันมั่นแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่เลย โมไม่พร้อมทั้งบุคลิกท่าทาง การพูด รวมไปถึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวด้วย เพราะการเป็นนางงาม นอกจากความสวยของใบหน้าแล้ว การเดินอย่างไรให้สวย พูด และคิดอย่างไรให้ดูฉลาดก็สำคัญค่ะ

นอกจากนั้น เราไม่ได้มาประกวดคนเดียว การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ระหว่างการประกวด กรรมการจะดู และคอยให้คะแนนตลอด นี่คือสิ่งที่โมต้องกลับไปพัฒนาตัวเองเพื่อให้พร้อมทั้งภายนอก และภายใน"


ดังนั้น การกลับมาในปีนี้ เธอจึงไม่ได้มาเล่นๆ ซึ่งนอกจากความเป๊ะปังของรูปร่างหน้าตาแล้ว ยังมีบุคลิกท่าทาง การเดินที่โดดเด่น และน่าจับตามอง แต่ทว่า "การพูด" กลับยังดูไม่เป็นที่น่าพอใจจนสร้างความหงุดหงิดให้แก่ "กรรมการ" ในรอบคัดเลือก 30 คนสุดท้าย 

"โมเป็นคนพูดแล้วเหมือนเสียงอยู่ในลำคอค่ะ คนอื่นฟังก็จะรู้สึกว่าดัดเสียงหรือเปล่า ทำไมไม่พูดให้เป็นธรรมชาติ กรรมการก็เลยให้โมพูดให้ชัดๆ และน่าฟังขึ้น หนูก็พยายามที่สุดแล้วนะคะ เพราะเรื่องเสียงมันกำหนดไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า กรรมการปีนี้โหดมากๆ ค่ะ ซึ่งในปีนี้เน้นความเป็นตัวเอง และธรรมชาติของใบหน้า บางคนรวบผมมาก็ต้องแก้ผม หรือบอกให้ลบเครื่องสำอางออกก็มีค่ะ" มิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์สปีล่าสุดเล่าถึงความเข้มข้นในการคัดเลือกผู้เข้าประกวดเพื่อเฟ้นหาสาวประเภทสองที่สวย และปังที่สุด





แม้ด่านการคัดเลือกจะโหด และหินขนาดไหน แต่ด้วยความน้อมรับในทุกคำติชม และพร้อมนำกลับไปพัฒนาตัวเอง ทำให้เธอสามารถเอาชนะใจกรรมการจนคว้าตำแหน่ง "มิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส" คนที่ 19 ไปครองได้ตามคาด แถมยังกวาดอีก 3 รางวัล คือ ขวัญใจสื่อมวลชน ตามมาด้วยมิสซิลกี้ สกิน และรองอันดับ 1 มิสฟิต แอนด์ เฟิร์มในรอบชุดว่ายน้ำ ซึ่งเป็นรางวัลแรกในการประกวดของเธอ

กำเนิด "ด.ช.อัครพล"


เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อได้ย้อนกลับไปยังสถานที่ที่สร้างเธอขึ้นมาอย่าง "ครอบครัว" โม บอกว่า "อัครพล" คือชื่อจริงที่พ่อแม่ตั้งให้ ส่วน "โจ้" คือชื่อเล่นที่เปลี่ยนมาเป็น "โม" เพราะอยากให้เข้ากับตัวเอง ก่อนจะเผยต่อไปถึงความตั้งใจของพ่อแม่ที่แม้จะประสบปัญหามีลูกยาก แต่ก็ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้เธอเกิดมาเป็นลูกที่สอง และคนสุดท้องของบ้าน


"โมมีพี่ชาย 1 คนค่ะ พอถึงโม พ่อกับแม่บอกว่าตอนนั้นมีโมยากมาก ท่านเข้าไปปรึกษาหมอ และทำสารพัดวิธีเพื่อให้โมเกิดมา แต่ก็ยังไม่ได้สักที หมอบอกว่า ถ้ายังไม่ติดจริงๆ ก็ต้องทำกิฟต์ สุดท้ายท่านก็สามารถมีโมขึ้นมาได้โดยไม่ต้องทำกิฟต์ค่ะ" แววตาที่ดูเศร้าๆ กลับมาเป็นประกายอีกครั้งเมื่อสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่หวนกลับมา แต่กว่าจะเป็นโมในวันนี้ก็สร้างความกังวลให้แก่พ่อแม่เหมือนกัน




"พ่อคงรู้พฤติกรรมของโมตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ แต่เขาแค่อยากให้โมอยู่ในลู่ในทาง หรือในกรอบที่เขาวางไว้ ซึ่งพ่อไม่อยากให้อยู่กับเพื่อนที่กระตุ้งกระติ้ง เพราะกลัวจะเสียความเรียบร้อย อย่างตอนเข้าม.1 โมติดเพื่อนมาก แอบซื้อเสื้อผ้าผู้หญิงเพื่อจะไปสวนสนุกดรีมเวิลด์กับเพื่อน พอทางโรงเรียนจับได้ก็ให้ความสนใจกับโมเป็นพิเศษ ส่วนพ่อก็เริ่มจับโมไปเรียนเทนนิส เนื่องจากไม่อยากให้มีเวลาว่างไปเที่ยวกับเพื่อน

สิ่งที่ทำให้โมเสียน้ำตาก็คือ พ่อยื่นคำขาดว่า ถ้ายังทำตัวแบบนี้อีก จะให้ย้ายโรงเรียนไปอยู่โรงเรียนประจำ พอได้ยินแบบนั้น โมร้องไห้เลยค่ะ คิดถึงเพื่อนๆ ที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นาน ด้วยความที่ไม่อยากย้ายโรงเรียน โมยอมทำตามพ่อทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรียนเทนนิส หรือว่ายน้ำ


หลังจากผ่านไปสักเดือน สองเดือน โอ้ย! แดดร้อนอ่ะ เหนื่อยก็เหนื่อย ไม้เทนนิสก็หนัก (ทำเสียงให้ดูเชื่อว่าเหนื่อยจริงๆ) แต่ตอนนั้นบ่นไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรค่ะ ส่วนวันไหนถ้าไม่มีเรียนเทสนิสพ่อจะมารับที่โรงเรียนตามเวลาเป๊ะๆ เพราะไม่อยากให้โมเอาเวลาว่างไปอยู่กับเพื่อนๆ พอกลับถึงบ้านก็อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว เล่นคอมพ์แล้วก็เข้านอนค่ะ ชีวิตก็มีอยู่เท่านี้จริงๆ ค่ะ" เธอเล่าถึงกิจวัตรประจำวันในช่วง ม.ปลาย


อิสรภาพในรั้ว "มหา'ลัย"




ด้วยการถูกปลูกฝังให้อยู่ใน "กรอบความดีงาม" ทำให้เธอสามารถเข้าเรียนในรั้ว มศว ประสานมิตร และได้เรียนในคณะที่ตั้งใจไว้อย่าง "ศิลปกรรมศาสตร์" สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ เอกออกแบบแฟชั่น และความเป็นนักศึกษานี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้แต่งหญิงเต็มตัว

"พอขึ้นปีหนึ่ง โมต้องไปอยู่ มศว องครักษ์ ด้วยความไกลบ้าน โมก็เลยได้มีโอกาสแต่งหญิงเต็มตัว พอกลับมาเรียนที่ มศว ประสานมิตร โมตัดสินใจคุยกับพ่อแม่ว่าจะแต่งหญิงเรียน ท่านก็ให้นะ ให้กันง่ายๆ โดยไม่ได้ว่าอะไรโมเลย พ่อบอกเห็นพฤติกรรมโมมาตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนั้นโมก็ถามทั้งพ่อและแม่ว่า ทำไมในช่วง ม.ปลายต้องเปลี่ยนพฤติกรรมโมขนาดนี้ พ่อก็บอกว่า อยากให้อยู่ในลู่ในทาง อยากให้เป็นเด็กเรียบร้อย

นับเป็นการเปิดใจครั้งแรกกับครอบครัวถึงสิ่งที่โมเป็น ซึ่งพอย้อนกลับไป มันเป็นภาพที่ประทับใจมากค่ะ เพราะได้คุย ได้ทำอะไรตามใจเรา โดยไม่ต้องโกหกพ่อแม่ หรือแอบทำ พอได้คุยเปิดใจ และท่านอนุญาตให้แต่งหญิง วันรุ่งขึ้นแม่ซื้อเฟิร์สบาร์มาให้ใส่เลยค่ะ (ยิ้มปลื้ม) ตอนนั้นรู้สึกเป็นน้องนี (ผู้หญิง) มากเลย แบ๊วมาก (ลากเสียงยาว) ความรู้สึกเหมือนลูกผู้หญิงที่พอเริ่มมีหน้าอกแล้วแม่ก็ซื้อชุดชั้นในมาให้ อารมณ์ประมาณนั้นเลยค่ะ (พูดไปยิ้มไป)



ป๊า-ม๊า ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ

หลังจากนั้นโมขอแม่ทำหน้าอกค่ะ ซึ่งแม่ออกเงินให้หมดเลย (ยิ้ม) แปลงเพศ 120,000 พ่อก็ออกให้หมดเลย มันเป็นชีวิตที่มีความสุขมากๆ โมกลับบ้านแล้วไม่เป็นทุกข์ พ่อกับแม่ก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะเราเข้าใจกันแล้ว ยอมรับกันได้แล้ว เมื่อก่อนนี่ต้องลบหน้าก่อนเข้าบ้าน ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่า รู้สึกเหนื่อย และน้อยใจมากค่ะ แต่วันนี้กลับบ้านแบบสบายใจ ไม่ต้องลบหน้า หรือทำอะไรหลบๆ ซ่อนๆ นับเป็นชีวิตที่มีความสุขที่สุดแล้วค่ะ" พูดจบก็ยิ้มแก้มปริเผยให้เห็นแววตาที่สดใสเป็นประกายบ่งบอกว่าชีวิตเธอนั้นดูมีความสุขจริงๆ

หนูไม่ใช่ "ลูกคุณหนู"


ดูสวย และแพงขนาดนี้ หลายคนมองว่า "โม" ต้องลูกคุณหนูชัวร์ ทั้งหน้าตา ผิวพรรณ รวมไปถึงเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่เธอมักจะชอบเลือกใส่ พอได้มีโอกาสเจอกับเจ้าตัวก็เลยถามชัดๆ ถึงประเด็นนี้ "หนูไม่ใช่ลูกคุณหนูค่ะพี่" เธอตอบด้วยท่าทีแห่งความนอบน้อม และถ่อมตน "เพราะลูกคุณหนูในความคิดของโม อาจจะต้องมีคนใช้ ใส่แต่แบรนด์เนมทั้งตัว หรือมีรถหรูๆ ขับ และที่สำคัญคือ มีบ้านหลังใหญ่โต


แต่สำหรับตัวโม พอกิน พอใช้ พอมีค่ะ ส่วนลุคที่ออกมาดูแพง โมเลือกให้เป็นแบบนั้นมากกว่า เพราะด้วยการทำงานที่เกี่ยวกับแฟชั่น และต้องเจอผู้คนหลายกลุ่ม โมจึงให้ความสำคัญกับการแต่งตัวมาก โดยเฉพาะการเลือกเสื้อผ้าที่เราพอจะมีความรู้อยู่บ้างว่า เสื้อผ้าแบรนด์เนมต่างจากเสื้อผ้าทั่วไปอย่างไร




เสื้อผ้า 10,000 บาทกับเสื้อผ้า 1,000 บาท มันมีความต่างอยู่แล้วค่ะ ทั้งเนื้อผ้า ดีไซน์ ความลงตัวและพอดีกับรูปร่าง ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่หากต้องจ่ายเงินซื้อเสื้อผ้าในราคา 10,000 บาท ตัวโมคิดว่าคุ้มนะ เพราะซื้อปีนี้ใส่ได้นานหลายปี ส่วนเสื้อผ้าทั่วไป โมก็ซื้อสลับกันไปค่ะ แต่การเลือกใส่จะอยู่ที่โอกาสมากกว่า"

ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านแฟชั่น และประกอบอาชีพดีไซเนอร์แบรนด์ดังที่มีดีกรีเป็นถึงมิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส ปี 2016


"พ่อจะเตือนโมตลอด ตั้งแต่ตอนโมเริ่มมีชื่อเสียง และมีกระแสในการประกวดมิสทิฟฟานี พ่อก็จะเตือนว่า มีคนรู้จักมากขึ้นแล้วนะ ทำอะไรให้ระวัง มือไม้อ่อนเข้าไว้ พูด 'สวัสดีค่ะ' กับ 'ขอบคุณค่ะ' ให้ติดปาก ส่วนวันที่โมได้รับตำแหน่ง พ่อไม่ค่อยชมโมเท่าไร เช่น เก่งมาก ทำได้ดีมาก แต่จะเน้นย้ำให้วางตัวดีๆ ระวังการพูด การกระทำให้มากที่สุด เพราะสังคมกำลังให้ความสนใจ และจับจ้องมาที่ตัวเรา" เธอพูดถึงคำสอนของคุณพ่อ






"สเปก" ไม่สำคัญเสมอไป

หลายคนอาจจะจำเธอได้จาก ผู้สมัครในสงครามนางงาม 2 และ I can See Your Voice รวมไปถึงรายการ Take Me Out Thailand ที่ทำเอาสาวๆ น้ำตาคลอกันเป็นแถว เมื่อวีเจหนุ่มหน้าตาดี ขี้เล่น "สอง-นพเก้า โกเจริญกิจ" ตัดสินใจปิดไฟใส่ "หญิงแท้" และเลือก "สาวสอง" อย่าง "โม"


สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ "วีเจสอง" โมบอกว่า "ห่างๆ กันไปค่ะ" ก่อนจะเผยถึงสถานะหัวใจตอนนี้ว่า "ก็เรื่อยๆ ค่ะ มีคนคุยบ้าง แม้สเปกจะต้องสูง หล่อ นายแบบ แต่สุดท้ายแล้วสเปกก็ไม่สำคัญเท่ากับการคุยกันแล้วเข้ากันได้หรือเปล่า ถ้าคุยกันแล้วสปาร์กมันก็เป็นอะไรที่สุขใจมากกว่าสเปกค่ะ"


5 ที่สุดในชีวิต "มิสโม"


ชีวิตหลังได้รับมงกฎ จาก "โม" ที่เพื่อนๆ เรียกกัน ตอนนี้มีคำว่า "มิส" นำหน้าไปแล้ว และนี่คือ 5 เรื่องราวความเป็นที่สุดในชีวิต "โม" ซึ่งจะทำให้รู้จัก และเห็นแง่มุมชีวิตของเธอกันได้ดียิ่งขึ้น ส่วน 5 เรื่องความเป็น "ที่สุด" จะมีอะไรบ้างนั้น อยู่ในบรรทัดด้านล่างนี้


- ภูมิใจที่สุด




"คือตอนที่โมเริ่มทำงานหาเงินเองโดยไม่ต้องรบกวนเงินพ่อกับแม่ค่ะ มันเป็นอะไรที่ภูมิใจสุดๆ แล้ว หลังเรียนจบ โมก็ได้งานเป็นดีไซเนอร์ประจำให้กับเสื้อผ้าแบรนด์คร็อคโคไดล์ (Crocodile) ตอนนี้คุยกับเจ้าของขอพักช่วงไปก่อน ส่วนเงินก้อนแรกที่ได้มา นอกจากเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว โมจะให้แม่ทุกเดือน

แม้ว่าเงินที่ให้จะน้อย อย่างน้อยๆ โมก็ยินดีที่จะให้ วันไหนมีงานเดินแบบ หรืองานโฆษณาก็จะให้เยอะหน่อย ครั้งหนึ่งโมเคยได้เงินจากงานโฆษณา 20,000 บาท โมก็แบ่งให้แม่ไปเลย 10,000 บาท บางทีแม่ก็ปฏิเสธ บอกเก็บไว้เถอะ แต่โมก็บอกท่านว่า เก็บไว้เถอะม๊า จากนั้นก็แซวกันเล่นๆ ว่า ให้ม๊า 10,000 บาท หนูได้กลับมา 100,000 บาทแน่นอน" พูดจบก็หัวเราะยาว ก่อนจะเสริมขึ้นมาว่า"พระในบ้านคือสิ่งที่ลูกๆ ต้องกราบไหว้ค่ะ เวลาโมจะไปไหน แคสต์งานหรือไปประกวด โมก็ให้ท่านอวยพร เป่ากะโหลกเพื่อความเป็นสิริมงคล"


- ซ่าที่สุด




เธอก้มหน้านิ่งคิด ก่อนจะเงย และเอ่ยขึ้นว่า "เคยมีเรื่องกับเพื่อนผู้ชายค่ะ" แม้จะเป็นความทรงจำเก่าๆ ที่ไม่น่าประทับใจเท่าไร แต่เธอก็จำมันได้ไม่รู้ลืม "โมเป็นคนโกรธง่ายหายเร็ว แต่ถ้าโกรธ และเกลียดใคร คือคนนั้นต้องซวยมากๆ และเพื่อนผู้ชายที่โมกำลังพูดถึงก็คือคนที่โมไม่ชอบนิสัยเอามากๆ โมไม่ชอบเขาตั้งแต่ม.4 ยันม.6 เพราะชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน ชอบเผือกเรื่องของโม อย่างตอนนั้นโมนั่งหยอกล้อกับเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งอยู่ และแซวเล่นๆ ว่า มาขอหอมแก้มหน่อยนะ

เพื่อนคนนั้นก็หันมาแล้วตะโกนใส่โมกับเพื่อนผู้ชายที่กำลังหยอกล้อกันอยู่ว่า เฮ้ยๆๆ! (ทำน้ำเสียงผู้ชาย) เอาแล้วๆ ตุ๊ดมันเอาอีกแล้ว พอได้ยินดังนั้น โมก็จะหันไปบอกด้วยสีหน้านิ่งๆ เลยว่า 'เสือก' คือโมไม่ได้ปากร้ายนะคะ แต่เขาทำให้โมปากร้าย ซึ่งจริงๆ ถ้าเห็นขี้ ไม่จำเป็นต้องไปเขี่ยมัน แต่โมดันไปเขี่ยมันให้มีกลิ่นเอง มันก็เลยลุกลามบานปลาย



จากการตอบโต้ด้วยคำว่า 'เสือก' ในครั้งนั้น นำไปสู่เรื่องราวทะเลาะกันครั้งใหญ่ ตอนนั้นโมเล่นเกมกับเพื่อนผู้ชายในห้อง เพื่อนก็ถามว่า ทำไมไม่ชอบเพื่อนคนนั้น โมก็บอกว่า มันชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน กระทั่งเรื่องไปถึงหูเพื่อนคนนั้น วันหนึ่งเขาก็เดินมาถามว่า เมื่อวานเอ็งพูดว่าอะไร ตอนนั้นหนูก็งง จำไม่ได้ หลังจากด่าๆ กันเสร็จ เขาก็ผลักโมไปโดนประตูตู้ไม้ที่อยู่ด้านหลังจนหัก ในใจตอนนั้นคือ หนูต้องสู้ จึงลุกขึ้นไปต่อย แต่ต่อยไม่เป็น ใช้เล็บยาวๆ นี่แหละข่วนรัวๆ ไปที่หน้า

สุดท้ายเพื่อนก็จับแยก ส่วนหนูก็ร้องไห้หนักมาก ที่ร้องไม่ได้เจ็บอะไรนะคะ แต่มันโมโหที่ต่อยไม่เป็น สู้เขาไม่ได้ หลังจากจบม.ปลายก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปเรียนค่ะ นับเป็นเรื่องที่ซ่าๆ ปนกล้า แต่ก็แอบมีความน่าสงสารตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะถูกเล็บตัวเองข่วนหน้าจนเลือดไหล" พูดจบก็ทำหน้าเศร้าๆ ให้กับเรื่องราวในอดีต


- เศร้าที่สุด




"เป็นช่วงที่ครอบครัวรับในตัวเราไม่ได้ค่ะ ตอนนั้นเศร้ามาก เศร้าปนๆ กับอารมณ์เซ็งๆ เห้อ! อีกละ แล้วก็มีคำถามผุดขึ้นมาว่า ทำไม ทำไม ทำไม อีกแล้วเหรอ ทำไมต้องตีกรอบให้เราตลอด ทำไมไม่เข้าใจเรา และให้เราลองออกจากกรอบมาวาดกรอบใหม่ที่ไม่ใช่สี่เหลี่ยม ขอเป็นสามเหลี่ยม หรือวงกลมได้มั้ย

ส่วนอีกเรื่องเศร้าสุดๆ ก็ตอนที่คุณยายเสียค่ะ คุณยายเลี้ยงโมมาตั้งแต่เด็ก แล้วโมก็ติดท่านจนกลายเป็นหลานรัก ถ้าคุณยายอยู่ก็คงได้เห็นโมในวันนี้ วันที่โมเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ที่เสียใจคือ โมยังไม่ได้ตอบแทนอะไรให้ท่านเลย"


- รู้สึกผิดที่สุด




"เรื่องที่โมเป็นเด็กดื้อ และเอาแต่ใจค่ะ โมเอาแต่ใจมาก (ลากเสียงยาว) ตอนนั้นคงสร้างความหนักใจให้แก่ครอบครัวอย่างมากเลยทีเดียว โมเคยใช้คำพูดไม่ดีกับคุณยายด้วย ตอนนั้นจำได้เลยว่าอยู่ป.1 เพราะได้ยินคำด่าทอจากบ้านฝั่งตรงข้ามที่ชอบต่อว่าลูก และหลานของตัวเอง แม่เล่าให้ฟังว่า โมตื่นมาก็จะมานั่งเกาะประตูหน้าบ้านฟังเขาด่าทุกวัน เช่น ไอ้บ้า โมจะพูดตามว่า ไอ้บ้า

พอค่อยๆ โตขึ้น มันทำให้โมรู้ว่า การพูด การกระทำไม่ดีของผู้ใหญ่มันทำให้เด็กเลียนแบบได้จริงๆ นะ อย่างโมไม่ได้เป็นเด็กร้ายกาจอะไร แต่ฟังเขาด่าทุกวันมันก็เลยซึมซัมแล้วเอาไปพูด โดยเฉพาะกับคุณยายที่โมรู้สึกผิดมาก และถ้าย้อนกลับไปได้โมจะไม่พูดแบบนั้นกับท่าน"


- โกรธที่สุด




"คงจะเป็นเรื่องผับที่บางแห่งไม่ยอมให้สาวประเภทสองเข้าไปค่ะ ตอนนั้นโมโกรธนะ ตรวจบัตรแล้วไม่ให้เข้า ซึ่งโมมองหน้าพนักงานตรวจบัตร และพูดขึ้นทันทีว่า พี่คะ หนูอยู่ในระดับไหนโปรดเช็กด้วย หนูไม่ใช่คนที่มาขอพี่กิน หนูเป็นลูกค้านะ พี่ต้องดูแลหนูสิ

ตอนนั้นโมพูดแบบนี้เลยค่ะ เพราะโมมั่นใจในการกระทำ และการแต่งตัวของโม เราไม่ได้เข้าไปทำให้ร้านเขาเสื่อมเสียแน่นอน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้คุยกับเจ้าของผับ ซึ่งส่วนตัวรู้จักกันอยู่แล้ว โมก็บอกไปเลยว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ มันเป็นการเหยียดเพศอย่างรุนแรง"


Q&A กับมิสทิฟฟานี 2016


สุดท้ายนี้ การพูดคุยกับ "โม-จิรัชยา" นอกจากการนั่งคุยเป็นการส่วนตัวแล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้แฟนเพจ MRGonline Live ได้มีส่วนร่วมในการฝากคำถามเข้ามา ผ่านหัวข้อที่ว่า ถ้าคุณได้มีโอกาสนั่งคุยเป็นการส่วนตัวกับ "โม-จิรัชยา" มิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส ปี 2016 คุณอยากถาม หรือรู้อะไรเกี่ยวกับเธอ




- อยากถามว่า สังคม และคนรอบข้างยอมรับเพศสภาพแค่ไหน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์

"ถ้าสังคมรอบข้างของโม ไม่มีปัญหาเลยค่ะ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เขารับในตัวโมได้ ทั้งคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และที่ทำงาน แต่สำหรับสังคมที่ไม่รู้จักโม ตรงนี้โมก็ไม่มั่นใจค่ะ ส่วนใหญ่ที่เจอจะมีการตกใจในด้านดีค่ะ

อย่างครั้งหนึ่งไปสั่งอาหาร พนักงานก็ตกใจเสียงที่มันขัดแย้งกับรูปร่าง หน้าตาของเรา แต่ถ้าตอนเด็กๆ ที่ยังไม่ได้เป็นผู้หญิงเต็มตัวก็จะถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามนิดนึงค่ะ ทำให้โมเข้าใจน้องๆ ที่ผมยังไม่ยาวแต่ลุกขึ้นมาแต่งหญิง เพราะมักจะโดนมองในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะการ
มองว่าเป็นตัวตลกของสังคม"

- หมอคนไหนทำหน้าให้คุณ เพราะสวย และหวานมาก


"เรื่องนี้ โมขออนุญาติไม่พูดนะคะ (ยิ้ม)"




- หากคุณมีโอกาสทำเพื่อโลกใบนี้คุณจะทำอะไร เพื่อใคร และอย่างไร

"ถ้าโมทำได้ อย่างแรกต้องช่วยคนไทยก่อน โมจะเสกฝนลงมา หรือไม่ก็ทำฝนเทียมเยอะๆ เพื่อให้ป่าไม้เมืองไทยไม่แห้งแล้งค่ะ"

ปล. ขอขอบคุณคำถามที่ฝากคำถามเข้ามา แม้ใจจริงอยากจะยกมาถามทุกคำถาม แต่บางคำถามได้สอดแทรกอยู่ในบทสัมภาษณ์ในข้างต้นแล้ว


เรื่อง : ปิยะนันท์ ขุนทอง

ภาพ : รวิทย์ พานิชนันท์

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Miss Tiffani's Unnivers, jiratchaya sirimongkolnawin และอินสตาแกรม @mojiratchaya_official





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น