คลอดวันพลิกฟื้นพื้นที่สีเขียวให้ “เขาหัวโล้น” จ.น่าน ออกมาเรียบร้อยแล้ว! โต้-สุหฤท และ โจอี้ บอย สานต่อแก้ปัญหาประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่อง จับมือก๊วนคนหัวใจสีเขียว ตั้งกลุ่ม “ปลูกเลย!” แพลนเรียบร้อย ก.ค.นี้เอาจริง!!
ขณะที่ยังมีคนเห็นต่าง ฝากเสียงค้านลอยมาจากอีกฟากว่า “อย่าปลูกเลย!” จะดีกว่า ยิ่งทู่ซี้ปลูกแบบป่าเมือง จะยิ่งรุกรานมากกว่าฟื้นฟูอย่างที่ตั้งใจ เจ้าของโปรเจกต์น้อมรับความปรารถนาดีไว้ ประกาศขอทดลองทำ ไม่สำเร็จอย่าทับถมกัน ดีกว่าตั้งสมมติฐานอยู่หน้าคอมพ์แล้วไม่ได้ลุยอะไรเลย!!
ปลูกเลย! หรือ อย่าปลูกเลย!
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "ปลูกเลย”]
“พื้นที่ที่เรามองไว้ตอนนี้คือที่ อ.สันติสุข (จ.น่าน) ครับ เนื้อที่ประมาณ 400-500 ไร่ แลดูเล็กมากเมื่อเทียบกับปัญหา แต่เราอยากให้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะขยายผลได้
ขั้นตอนคือ การสรุปวิธีการปลูกป่าและพันธุ์ไม้ที่ถูกต้องตามหลักการ หลังจากนั้นจะทำการเวิร์กชอป ให้ทุกท่านได้ทราบวิธีการที่ถูกต้อง พร้อมทั้งประสานงานกับทางหน่วยงานราชการและประชาชนในพื้นที่ให้ชัดเจน จะมีการเตรียมการร่วมกับหน่วยราชการให้เรียบร้อย เพื่อดำเนินการปลูกป่าในเดือน ก.ค.ครับ อีกไม่นานแล้วครับ
ตอนนี้ เราได้ชื่อกลุ่มแล้ว ชื่อ 'ปลูกเลย!' และมีเพจของพวกเรา ที่ไม่ได้จะทำการปลูกป่าอย่างเดียว แต่ต้องการกระจายความรู้ต่างๆ และวิธีการออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราจะกระจายความรู้เรื่องระบบต่างๆ ที่ทำให้มันเป็นเช่นนี้ด้วย เพื่อให้เราเข้าใจมากขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น... ถ้าเราสำเร็จ ก็ขอให้ทุกท่านใช้รูปแบบนี้ไปดำเนินการต่อได้ มันยังมีอีกเป็นล้านๆ ไร่ครับที่เราจะช่วยกันได้”
สุหฤท สยามวาลา ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ปลูกเลย!” หนึ่งในแกนนำโปรเจกต์ปลูกป่ากลบเขาหัวโล้น จ.น่าน โพสต์รายละเอียดผ่านแฟนเพจ “DJ Suharit Siamwalla” เพื่อบอกเล่าความคืบหน้าล่าสุด ระบุชัดเจนว่า 9-10 ก.ค.ที่จะถึงนี้ คือวันลงพื้นที่ปลูกป่ากันจริงๆ ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาและเตรียมพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม ทั้งยังพยายามจุดกระแส ชักชวนให้ออกมาโพสต์ท่าสัญลักษณ์ “ชู 5 นิ้ว” ซึ่งมีความหมายตามภาษามือว่า “ต้นไม้” แล้วแฮชแท็ก #ปลูกเลย เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมหันมาตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังได้แล้ว!
สุหฤทชักชวนมาทำสัญลักษณ์ 5 นิ้ว หมายถึง “ต้นไม้” ในภาษามือ เพื่อกระตุ้นสังคม!!
ย้ำชัดว่าทั้งหมดที่พยายามทำอยู่ ไม่ใช่แค่การ “ปลูกป่า” เพียงอย่างเดียว แต่กำลังพยายามแก้ปัญหาระบบ “ประกันราคาข้าวโพด” ที่เน่าเฟะหยั่งรากลึกมานาน ซึ่งเป็นชนวนให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต้องยอมเผาทำลายต้นไม้ ปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดนี้ เพื่อแลกกับเงินประทังชีพ เหตุเพราะไม่มีทางออกในการทำกินอย่างอื่นบนพื้นที่ป่าสูงชัน จึงส่งให้พื้นที่ที่เคยเขียวกว่า 1 ล้านไร่ใน จ.น่าน กลายเป็นผืนดินสีน้ำตาล จากพื้นที่ป่าที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 6.4 ล้านไร่
“ผังเมืองทั้งจังหวัด เป็นสีเขียวอ่อนกับเขียวแก่ ไม่มีพื้นที่สีม่วงให้ทำอุตสาหกรรม ถ้าไม่ให้ปลูกข้าวโพด จะให้เขาปลูกอะไร เราจะลงทุนปลูกหรือปรับเปลี่ยนอาชีพให้ถูกต้องตามกฎหมายป่าไม้ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบ" สุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการ จ.น่าน เคยเผยเบื้องหลังเอาไว้อย่างนั้น เมื่อครั้งเกิดดรามาท้าปลูกป่า 5 แสนไร่กันไปตั้งแต่คราวก่อน ซึ่งสอดคล้องกับมิติความคิดของสุหฤท จากการลงพื้นที่สำรวจความเป็นจริง จนได้คำตอบออกมาว่า...
“ทุกอย่างมันเริ่มจากการประกันราคาข้าวโพด ข้าวโพดได้เงินง่ายสุด การทำลายล้างเร็วกว่าการควบคุมดูแล, ชาวนากำลังป่วยจากสารพิษ จนจากการกู้นอกระบบ วนเวียนไปทำลายเพิ่มวัฏจักรที่เลวทราม, ชาวนาไม่อยากปลูกข้าวโพด แต่ ณ เขาชัน ไม่มีน้ำ ข้าวโพดคือคำตอบ ได้เงินแน่ๆ, ชาวนาพร้อมเลิกปลูกข้าวโพด ถ้ามีอะไรที่มีรายได้สูงกว่า แล้วอะไรล่ะวะที่มันมีรายได้สูงกว่า และการปลูกป่าไม่ใช่คำตอบเดียว ไอ้ระบบกากๆ นี่แหละที่มันชั่วช้าของจริง ปลูกไปก็โดนทำลายหมด ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากชาวบ้าน”
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "ปลูกเลย”]
แม้หลายสายตาจะตัดสินไปว่า โปรเจกต์ปลูกป่าทดลองก่อน 500 ไร่ แล้วค่อยขยายผลออกไปถ้าได้ผลในครั้งนี้ของกลุ่ม “ปลูกเลย!” จะดูเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปเสียหน่อย แต่สุหฤทก็ยังคงเชื่อมั่นว่าการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ย่อมดีกว่าการนั่งทอดถอนใจ มองดูลมหายใจสีเขียวค่อยๆ หายไป แล้วได้แต่พิมพ์บ่นออกไปผ่านโลกสมมติ
“ผมมีความเชื่อว่า เราทำอะไรได้เท่าที่เราทำได้ก็พอแล้ว จะถูกว่าว่ามันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เดี๋ยวก็พัง ก็ไม่เป็นไรหรอก เวลาเราเห็นคอมเมนต์ เราก็ฟังแล้วก็เก็บมาคิด และพยายามไม่ให้มันเกิดอย่างนั้น ผมทำที่ปลายเหตุ ทำเท่าที่ผมจะทำได้ ก็คือการลุกออกไปทำ ออกไปดูว่าเราจะทำยังไงได้บ้าง เราปรับระบบอะไรได้บ้างไหม และเราจะช่วยเหลืออะไรได้บ้างหรือเปล่า เพราะผมทำเต็มที่ได้แค่นี้แหละ” เขาเปิดใจเอาไว้ผ่านรายการ new)talk
[คลอดแล้ววัน "ปลูกเลย!"]
“อย่าปลูกเลย!” และแล้วก็มีคนออกมาแสดงความเห็นต่างแบบสุดขั้วจริงๆ อย่างที่คาดเอาไว้เสียด้วย... สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บก.ลายจุด" ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของเขาหลังเห็นความเคลื่อนไหวกลุ่ม “ปลูกเลย!” ออกมา จึงขอออกมาค้านว่าอย่าปลูกเลย ปล่อยให้ระบบนิเวศน์มันฟื้นตัวด้วยตัวเองเถอะ
“คุณเคยไปดูสวนสักของ อ.อ.ป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) หรือป่าไม้ปลูกไว้ไหม? เขาปลูกต้นไม้เชิงเดี่ยว ยืนเข้าแถวเหมือนเด็กนักเรียนเคารพเสาธง ทุกฤดูแล้งต้นสักจะผลัดใบจนหมด เมื่อฝนมาเม็ดฝนจะกระทบดินและงัดเอาหน้าดินไปกับน้ำ หลายพื้นที่คุณไม่สามารถเดินเท้าเปล่าในสวนสักบนเขาได้ เพราะมันมีแต่หิน
ป่าไม่ต้องปลูกครับ เพียงมนุษย์เราไม่ไปรบกวนมัน ภูเขาหัวโล้นที่คุณเห็นจะฟื้นฟูตัวเองด้วยเริ่มจากไม้เบิกนำ ซึ่งได้แก่ หญ้า ไผ่ และกล้วย ภายในฤดูฝนเดียว ภูเขาทั้งลูกก็จะเขียวขจี หลังจากนั้น ต้นไม้ชนิดต่างๆ ก็จะกลับคืนมา
จริงๆ มีวิธีการอีกมากที่ชาวบ้านจะอยู่กับป่าได้โดยไม่รุกรานกัน แต่ผมรับประกันว่าไม่ใช่การไปปลูกป่า แล้วตะโกนให้ชาวบ้านตรงนั้นช่วยกันอนุรักษ์เพียงฝ่ายเดียว อย่าได้ตีความข้อความนี้เป็นการต่อต้านหรือหมิ่นความปราถนาดีที่คุณโจอี้บอยมีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมเพียงอยากร่วมกับคุณ เพื่อให้สิ่งนี้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด”
[บก.ลายจุด ขอสกัดฝัน ด้วยโพสต์ “อย่าปลูกเลย”]
ขอ “ปลูกเลย!” เพื่อ “บ้านของเรา”
[ลงพื้นที่ศึกษาอย่างถ่องแท้ก่อน "ปลูกเลย!"]
ถึงแม้ชื่อกลุ่ม “ปลูกเลย!” จะแลดูรีบเร่งและใจร้อนอยู่บ้าง แต่ความเป็นจริงแล้ว ทีมผู้ก่อตั้งและคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าที่เข้ามาประสานมือทั้งหมดนี้ ได้ศึกษาพื้นที่ป่าและทำการบ้านเกี่ยวกับ “การปลูกป่าที่เหมาะสม” เอาไว้เป็นอย่างดีแล้ว
ตอนนี้มีถึง 14 โมเดลที่กำลังพิจารณากันอยู่ว่า พื้นที่ไหนเหมาะกับแบบใด ในส่วนที่ บก.ลายจุด กังวลใจว่าจะเกณฑ์ “คนเมือง” ไปปลูก “ป่าเมือง” ให้ทำร้ายธรรมชาติซ้ำซ้อนไปอีกนั้น บอกเลยว่าหายห่วงไปได้เลย เกี่ยวกับเรื่องนี้ “โจอี้ บอย” หรือ อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ปลูกเลย!” ได้คอมเมนต์ตอบโพสต์ของอีกฝั่งที่เห็นค้านเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
“เรื่องที่พี่แนะนำตรงใจกับพวกเราเกือบทุกเรื่องครับ เป็นข้อมูลเดียวกันกับที่พวกเราได้รับรู้และหาหนทางแก้ไขร่วมกับทางพื้นที่ ซึ่งทางจังหวัดมีแผนดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งปลูก ทั้งสร้างฝาย และเกษตรรองรับถึง 14 โมเดล
ส่วนสิ่งที่เราทำเป็นโมเดลนึงในพื้นที่เล็กๆ เท่าที่กำลังเราทำไหวครับ เราเลือกจะ 'ปลูกเลย!' บนพื้นที่เขาที่บอบช้ำจากยาฆ่าแมลงที่ทำลายลึกลงไปในชั้นดิน กว่าจะรอมันเติบโตเองคงใช้เวลาพอสมควร บางพื้นที่ปล่อยขึ้นเองได้ครับ แต่พื้นที่เราเจอ เราอยากกระตุ้นให้คนเข้าช่วยพยาบาลธรรมชาติอีกแรง ดังเช่นที่อาจต้องขอแรงพี่อีกแรงช่วยพวกเรา 'ปลูกเลย!' ครับ”
[กลุ่ม "ปลูกเลย!" กับการนำเสนอความจริงของ "ระบบ" ที่เรื้อรังมายาวนาน]
เพื่อไม่ให้เกิดดรามาระหว่างกลุ่มสนับสนุนให้ “ปลูกเลย!” หรือ “อย่าปลูกเลย!” เพิ่มขึ้นมาอีก ความคิดเห็นจากคนกลางผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ไม่ควรถูกมองข้าม โดยเฉพาะโพสต์ของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปี 2550 ที่ช่วยให้เหตุผลเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit” ว่า ยังไงก็ต้อง “ปลูกเลย!”
“หากถามผมว่าเราต้องปลูกป่าหรือไม่ ผมขอตอบว่า 'ต้องปลูก' แต่ต้องปลูกอย่างถูกวิธี อิงข้อมูลทางวิชาการและเวลาในการฟื้นฟูป่าที่ดีที่สุดคือ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ส่วนเวลาที่ดีรองลงมาคือวันนี้ งานที่เร่งด่วนสุดๆ ยิ่งกว่าการฟื้นฟูเขาหัวโล้น คือการรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ให้ได้ มิให้ถูกทำลายเพิ่ม แม้เพียงกระเบียดนิ้ว และที่สำคัญต้องไม่ใช่การรักษาพื้นที่สีเขียว หรือวิวสวยๆ เพียงเท่านั้น แต่ต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสังคมป่าไว้ให้ได้ ป่าไม้ไทยจึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน”
[ลงพื้นที่ศึกษาโมเดลการฟื้นฟูป่าที่ได้ผลมาแล้ว และเทียบเคียงความเป็นไปได้]
ส่วนเหตุผลที่ต้องปลูกนั้น นายแพทย์ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ถ้าเป็นช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ป่าจะสามารถฟื้นตัวเองได้จากเมล็ดสะสม (seed bank) ในดิน หากมีสัตว์ช่วยเข้ามากัดแทะ และกระจายเมล็ดเหล่านั้นไปตามที่ต่างๆ ตามกระบวนการธรรมชาติ แต่หลังจากมนุษย์เข้าไปทำลายผืนป่า รวมถึงล่าสัตว์น้อยใหญ่จนหลายพันธุ์สูญสิ้น เมล็ดพันธุ์บางอย่างจึงไม่เหลือหนทางเติบโตอีกต่อไป จึงถึงเวลาแล้วที่สิ่งมีชีวิต 2 ขาอย่างพวกเราๆ จะทำหน้าที่ช่วยเข้าไปอุดช่องโหว่ของธรรมชาติด้วยการเข้าไปกระตุ้นและปลูกป่าอย่างถูกวิธี
“หากป่าถูกทำลายพร้อมกับสัตว์ป่า พันธุ์ไม้เหล่านี้ก็จะไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ มนุษย์เราต้องช่วยด้วยส่วนหนึ่งครับ มิเช่นนั้น ความหลากหลายพันธุ์ไม้ในป่าที่ฟื้นใหม่จะมีเพียงไม้เบิกนำบางชนิดที่กระจายพันธุ์โดยลมและนก หรือค้างคาวขนาดเล็กเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ แน่นอนการฟื้นฟูป่าให้สำเร็จ ต้องคำนึงถึงปัจจัยองค์ความรู้ด้านอื่นๆ อีกมากมายโดยเฉพาะด้านสังคมเศรษฐกิจ (ซึ่งผมไม่มีความรู้ใดๆ เลย) หากขาดมิติด้านนี้ไป ที่พูดมาทั้งหมดก็สูญเปล่า ในบริบทที่เป็นจริงของประเทศไทย งานนี้จึงต้องเป็นงานที่เกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกๆ ฝ่ายในสังคม”
[ว่ากันตามหลักวิชาการ คำตอบจากนักอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อดังคือ "ต้องปลูก!"]
...นี่อาจถึงเวลาแล้วที่จะเลิกดรามาว่าจะปลูกหรือไม่ปลูกอีกต่อไป ลองปล่อยให้กลุ่ม “ปลูกเลย!” เบิกทางความหวังบนภูเขาหัวโล้นทางตอนเหนือของประเทศดูสักตั้ง จากหัวใจสีเขียวของคนเหล่านี้...
โต้-สหฤท สยามวาลา อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ และน้องชายของเขา ดนุพล สยามวาลา, โจอี้ บอย-อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต แร็ปเปอร์หัวใจสีเขียว, อ.จุลพร นันทพานิช สถาปนิกและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีแนวคิดการออกแบบและใช้ชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติ,
สันติ โอภาสปกรณ์กิจ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ผู้กว้างขวางเรื่องคอนเน็กชัน, ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับหนังโฆษณาชื่อดังผู้คลั่งไคล้การปลูกป่า และเคยปลูกผืนป่ากว่า 100 ไร่บนพื้นที่ จ.เชียงใหม่ สำเร็จด้วยมือเขาเองมาแล้ว
ครั้งนี้ ยังมีความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองไทยอย่าง อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง มาช่วยเป็นที่ปรึกษากลุ่มด้วย บวกพ่วงมาพร้อมแรงสนับสนุนจาก สำรวย ผัดผล นายก อบต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ผู้ชำนาญเรื่องพื้นที่และการแก้ปัญหาด้านภัยแล้ง และความช่วยเหลือจาก สุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการ จ.น่าน ที่เคยออกมาโต้เถียงท้าปลูกป่า 5 แสนไร่กันไปก่อนหน้านี้
[งานท้าทายไม่ใช่แค่ปลูก แต่คือการทำความเข้าใจกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ทำกิน ให้เลิกดับลมหายใจสีเขียว]
...ด้วยพลังความสามัคคีจากทุกภาคส่วนที่มี เชื่อว่าเขาสีน้ำตาลคงเปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ในสักวัน ซึ่งเป็นความเชื่อชนิดเดียวกับที่สุหฤทบอกเอาไว้...
“ผมตั้งเป้าไว้อย่างเดียวว่า ขอให้การดำเนินการใน 500 ไร่แรกตรงนี้ ประสบความสำเร็จ หวังแค่นี้ก่อน และถ้ามันสำเร็จ มันจะพิสูจน์หลายอย่างมาก เช่น การต่อสู้กับระบบที่มันฝังมายาวนาน โดยการเปลี่ยนของคนธรรมดาที่เกื้อหนุนกัน การใช้หลักวิชาการจากอาจารย์ต่างๆ มากมายเข้าไปเพื่อปรับ
ถ้าผมล้มเหลวในเดือน ก.ค.นี้ ก็ขอให้อาจารย์ทุกๆ ท่านช่วยสอนต่อว่าเอ็งพลาดตรงไหน ระบบตรงไหนที่ยังไม่เวิร์ก ผมขอทำใหม่ อย่าเพิ่งทับถมกัน เพราะว่า 500 ไร่จากเป็นล้านๆ ไร่ มันยังเล็กมาก สิ่งที่ผมหวังคือถ้า 500 ไร่ตรงนี้มันเวิร์ก ชาวบ้านเริ่มดูแลและเราเริ่มเห็นการเติบโต เราก็จะไปเริ่มตามว่าต้นไม้มันโตไหม ผมว่ามันคงน่าตื่นเต้นดี
พอปีนึงหรือ 6 เดือนเรากลับไปดู จน 3 ปี เราอาจจะเห็นต้นไม้ขนาดครึ่งเอวโตขึ้นมา ความผูกพันมันจะเริ่มเกิดขึ้น และถ้าเราสามารถขยายสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ มันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศเราเอง กับลูกหลานของเราเอง"
[ได้ยินไหม? เสียงจาก "ลมหายใจสีเขียว"]
[กลุ่ม "ปลูกเลย!" พูดถึงที่มา และการลงพื้นที่ศึกษาระบบนิเวศน์ก่อนลุยปลูกจริง]
[ต่อ-ธนญชัย หนึ่งในกลุ่ม "ปลูกเลย!" ที่ปลูกป่ากลางเมืองสำเร็จมาแล้ว แถมยังปลูกอีกกว่า 100 ไร่ทางตอนเหนือเอาไว้ด้วย]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล: แฟนเพจ “ปลูกเลย” และ “DJ Suharit Siamwalla”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754