xs
xsm
sm
md
lg

ติดเชื้อได้ จากการแชร์ของใช้ต่อไปนี้/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Health Insight โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

จากการทำงานให้กับเพื่อนแพทย์ในหลายสมาคมและโรงเรียนแพทย์จึงได้คุยกับคุณหมอแต่ละท่าน ก็พบว่าท่านมีไอเดียที่ดีต่างกันออกไปซึ่งถ้านำมาคุยกันเป็นวงใหญ่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ยิ่ง ดังเช่น สต๊าฟจากโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ไปเป็นพิธีกรให้ท่านทุกปี ก็มีแนวทางที่ดึงรัฐและสื่อเข้ามาช่วยคนไข้ “โรคหายาก” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งปัจจุบันวิชาการด้านอายุรวัฒน์หรือการแพทย์ที่ใช้เรื่องใกล้ตัวให้เป็นประโยชน์ ก็มีการใช้มานานแล้ว จึงควรที่จะกลับมาแนะกันในเรื่อง “สุขภาพดีใกล้ตัว” โดยมีเทคนิคคือ ให้คนตระหนักรู้ในเรื่องการใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันให้ดี แล้วจะช่วยลดความเสี่ยงสุขภาพได้มาก

โดยเฉพาะจากการติดเชื้อ

เพราะในทางอายุรวัฒน์นั้นการ Move forward คือ เดินหน้าสู่ความร่ำรวยสุขภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืนก็ต้องเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวก่อนเพราะบางทีเรื่อง “สามัญ” ก็อาจวิสามัญเราได้

เช่นการล้างมือเพื่อความสะอาดแต่ถ้าใช้สบู่ก้อนร่วมกัน ก็อาจกลายเป็นยิ่งหาเชื้อเข้าตัวมากขึ้นซึ่งก็มีรายงานไว้

อย่างไรก็ดีความรู้สึก “อยากสะอาดเกิน” ก็อาจทำร้ายสุขภาพเราได้ในอีกทางดังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากเมโยคลินิกว่านั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราเปราะบางแพ้นั่นนี่ได้ง่าย ดังนั้นในทางอายุรวัฒน์เราจึงแนะให้ใช้ชีวิตอยู่ในทาง “สายกลาง” ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป

โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลอนามัยส่วนตัวด้วยการเลี่ยงใช้ของต่อไปนี้ร่วมกันครับ

1) สบู่ก้อน ความรู้สึกในใจหลายคน (รวมถึงตัวผม) เคยรู้สึกว่าสบู่เป็นของสะอาดซึ่งแม้จะใช้หลายมือแต่ก็ไม่น่าจะเป็นไรนัก(จริงแล้วไม่แน่ครับ) ซึ่งเรื่องนี้ทาง CDC ได้ให้เทคนิคลดเสี่ยงรวมเชื้อจากการแชร์ไว้คือ ถ้าเป็นสบู่เหลวแบบเติมควรต้องล้างภาชนะที่ใส่แล้วปล่อยให้แห้งสะอาดก่อนค่อยเติม

นอกจากนั้นถ้าใช้กันหลายมือแนะให้ใช้เป็น “สบู่เหลว” มากกว่าสบู่ก้อน โดยการศึกษาในคลินิกทันตกรรมเมื่อปี 2006 ได้ยืนยันถึงการ “แชร์เชื้อ(Reinfection)” ผ่านก้อนสบู่ซึ่งเรื่องนี้พบในสบู่ที่ต้อง “เปียก” อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะผิวล่างที่วางไว้ติดพื้น อาจแฉะจึงเป็นแหล่งหมักหมมเชื้อโรคได้ ส่วนในเรื่องของสบู่ฆ่าเชื้อพวกแอนตี้แบคทีเรียทั้งหลายนั้นทางเมโยคลินิกชี้ว่าไม่จำเป็นและอาจเสี่ยงทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้

2) หมวกกันน็อคและหวี รวมถึงหมวกอื่นๆ และเครื่องประดับศีรษะอื่นๆ ด้วยต้องช่วยดูแลอย่าใช้ซ้ำกันจนเกินไป ด้วย CDC แห่งสหรัฐอเมริกาได้เตือนไว้ว่าข้าวของที่สัมผัสกับศีรษะมีสิทธิ์พา “เหา” ให้ติดได้อย่างกว้างขวางรวมถึงเชื้อราบนหนังศีรษะด้วย จึงควรใส่โดยของต่างๆ ที่ว่าอาจเป็นพาหะนำพาเชื้อได้เช่นเดียวกับปลอกหมอนและผ้าคลุมเตียงที่เราสัมผัสอยู่เป็นประจำ ก็ต้องทำความสะอาดแล้วตากแดดด้วยครับ

3) โรลออนลดเหงื่อ ฝรั่งเรียกแอนตี้เพอร์สไพแร้นท์เป็นของที่ฝรั่งคิดแต่คนไทยใช้กันมานาน โดยกลไกของโรลออนลดเหงื่อนี้ตรงไปตรงมาครับคือ เกลืออลูมินั่มที่ตัวโรลออนไปทำให้เกิดการ “บล็อก” ต่อมเหงื่อที่ผิว แต่ข้อที่ควรรู้คือมันไม่ได้มีฤทธิ์ “ฆ่าเชื้อ”

ดังนั้นการใช้โรลออนที่สัมผัสใต้วงแขนคนหนึ่งแล้วย้ายไปใช้กับอีกคนหนึ่ง จึงอาจนำสิ่งไม่พึงประสงค์ทั้งเศษซากเซลล์ตาย,เส้นขนและเหนือสิ่งอื่นใดคือเชื้อบนผิวคนหนึ่งไปติดอีกคนหนึ่งได้ครับ

4) ที่ตัดเล็บ เมื่อออกจากซาลอนกรูมมิ่งมาบางทีพารอยแผลเล็กๆจากการตัด,ตะไบหรือขูดตาปลาติดตัวมาโดยไม่ตั้งใจ ขอให้ลองนึกว่าถ้าคนก่อนหน้าเรามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีรวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้แล้วต้องมาใช้ของร่วมกันผ่านผิวหนังเราอีกก็มีสิทธิ์ทำให้ติดโรคตับอักเสบ,ฝีหนองเล็บขบหรือแม้แต่ “หูด” ก็ยังได้เลยครับ

5) เมคอัพ ตอนที่ผมทำงานเป็นพิธีกรรายการประจำช่องไทยพีบีเอสอยู่เป็นช่วงที่มีความสุขครับ ด้วยการทำงานในวงการสื่อมานานเลยพอจะเข้าใจพี่ๆ เมคอัพกับคนที่อยู่หน้ากล้องว่าต้องอยู่กับเครื่องสำอางค์ต่างๆแทบจะตลอดเวลา เลยอยากหาเคล็ดลับง่ายๆไว้ให้พิธีกร,ผู้ประกาศและนักแสดงที่ต้องเมคอัพว่ามีจุดสำคัญที่อ่อนไหวบนใบหน้าคือผิวและดวงตาครับ

ดังนั้นเครื่องสำอางค์ที่ใช้ใกล้ดวงตาจึงต้องระวังด้วยมีสิทธิ์นำเชื้อแบคทีเรีย,เยื่อบุตาติดเชื้อและฝีตากุ้งยิงที่เปลือกตามาได้

6) มีดโกน หนุ่มๆหลายคนเพื่อนเยอะมีของให้หยิบยืมได้แยะแต่หนึ่งในนั้นที่ต้องระวังคือ “มีดโกน” ที่ใช้กับหนวดของเรา โดยใบมีดที่ตวัดผ่านผิวหนังเพื่อตัดเอาหนวดออกไปนั้นทำให้เกิดรอยแผลเล็กๆได้ง่ายซึ่งไม่ใช่รอยบาดแต่เป็นรอยถลอก ดังนั้นการติดเชื้อที่น่ากลัวจากการใช้มีดโกนร่วมกันจึงมีได้ตั้งแต่รูขุมขนอักเสบ,ตุ่มฝีที่ใบหน้าและไวรัสตับอักเสบบี

7) แก้วน้ำ การดื่มร่วมสาบานหรือการกินอาหารแล้วใช้แก้วน้ำร่วมกันแม้ปัจจุบันจะน้อยลงมากแล้วแต่ในบางจังหวะก็ยังอาจพบเจอได้ โดยการดื่มน้ำร่วมปากแก้วเดียวกันหรือแชร์หลอดอันเดียวกันอาจมีเชื้อจาก “น้ำลาย” ผ่านเข้าตัวได้

โดย “เชื้อจากน้ำลาย” ที่ว่ามีตั้งแต่แบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัสที่ทำให้เจ็บคอมีไข้,ไวรัสเริม,ไวรัสอินเฟ็กเชียสโมโน ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตมีไข้,เชื้อคางทูม และแม้กระทั่งเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีสิทธิ์ติดได้ผ่านการดื่มน้ำเพียงแค่อึกเดียว

8) แปรงสีฟัน ขออย่าคิดว่าไม่มีใครใช้ร่วมกันนะครับ มีจริงๆ และแปรงสีฟันนี้มีสิทธิ์พาเชื้อโรคมหาศาลเข้าสู่ตัวคนใช้ด้วยเพราะในปากคนเรามีทั้งเชื้อเหงือกอักเสบและเชื้อโรคปริทนต์ซึ่งเชื้อที่ว่าทำให้เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้

นอกจากนั้นเชื้อจากการกินอาหารต่างๆยังมีอีกสารพัด โดยเชื้อโรคเหล่านี้ทาง CDC บอกว่าสามารถผ่านขนแปรงสีฟันขนาดจิ๋วเข้าไปด้วยได้ ขอให้ลองคิดดูว่าเวลาแปรงฟันแล้วมีเลือดออกง่ายเช่นจากเหงือกอักเสบแล้วและถูกนำแปรงที่ปนเปื้อนนั้นไปใช้จะมีโอกาสติดเชื้ออะไรได้บ้าง อย่างในเลือดก็มีเชื้อที่ติดผ่านเลือดอยู่พอดูแล้วครับ

9) หูฟัง การใช้หูฟังอยู่ในหูของเราช่วยให้มี “โลกส่วนตัว” แต่ถ้าหูฟังนี้เอื้ออาทรจากหูเราไปหูเขาแล้วก็กลับมาหูเราอีกก็เป็นได้อีกอย่างว่าจะได้ “โรคส่วนตัวสูง” ด้วยเหตุจากที่ว่าหูคนเราทุกคนมีเชื้อแบคทีเรียครับ

ดังในการศึกษาเมื่อปี 2008 ที่พบว่าเชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่ไปติดหูอีกคนหนึ่งได้ยิ่งกว่าเพลงติดชาร์ทก็ด้วยหูฟังที่แชร์กัน โดยเทคนิคแก้เรื่องนี้ไม่ยากแค่ทำความสะอาดให้ดีก่อนใช้กับหูเรา ซึ่งคุณหมอนีล ชูลซ์ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าแม้หูฟังแบบโอเวอร์ดิเอียร์คือแบบครอบหูก็อาจพาเหามาได้ครับ

การแชร์บางอย่างก็เป็นสิ่งดีครับ เช่นแชร์ความรู้ดีๆ ที่มีเหตุผลหรือทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน แต่ถ้าเป็นการแชร์ของที่ใกล้ชิดต้องสัมผัสกับตัวเราให้กับคนอื่นใช้ก็ต้องระวังว่าเขาอาจพาเชื้อมาให้เราหรือในทางตรงกันข้าม ซึ่งบางครั้งการไม่ยอมใช้ของร่วมกับคนอื่น ก็ใช่ว่าจะเป็นการตั้งป้อมรังเกียจ แต่เป็นเพราะความ “รอบคอบ” ในเรื่องของสุขอนามัยมากกว่า โดยถ้าไม่ใช่ของที่ต้องรีบใช้หรือราคาแพงหนักหนาก็หาไว้เป็นของตัวเองจะสะดวกที่สุด แต่ถ้าเป็นของธรรมดาที่คนทั่วไปเขาก็ใช้กันไม่น่าวิตกกังวลอะไรมากอย่างคอมพิวเตอร์,เก้าอี้หรือห้องน้ำก็ใช้ไปเถิดครับ

สะอาดเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น