สร้างข่าวฉาว โชว์กร่างโชว์ถ่อย อัดคลิปอ่อย โชว์เนินเรียกไลค์ สร้างกระแสแย่ๆ ให้คนแชร์เพื่อหวังโด่งดัง ฯลฯ นี่คือพฤติกรรมยอดฮิตของคนที่ถูกติดดาวว่าเป็น “เน็ตไอดอล” สมัยนี้ เรียกได้ว่าแทบไม่เหลือชิ้นดีให้ควรติดตามเอาเป็นแบบอย่าง และดูช่างขัดแย้งกับชื่อตำแหน่งที่ถูกเรียกขานเสียเหลือเกิน เพจดังทนไม่ไหว ลุกขึ้นมารณรงค์ให้เลิกเรียกคนเหล่านี้ว่า “เน็ตไอดอล” ชาวเน็ตร่วมโหวตมอบศัพท์ใหม่ให้ รุมเรียก “เน็ตอีเดียต” ให้รู้กันไปว่า คนดังสายนี้ ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง!!
เน็ตไอดอล VS เน็ตอีเดียต
“ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ คำว่า 'เน็ตไอดอล' ความหมายเปลี่ยนจนเละเทะมาก สมัยก่อนต้องประมาณว่า เป็นคนที่เก่ง มีความสามารถ ความประพฤติดี คือดีในหลายๆ ด้านนั่นแหละ สังคมถึงจะยกคนๆ นั้นเป็นเน็ตไอดอลได้ แต่หลายปีที่ผ่านมา นี่มันเชี่ยอะไรกัน
บางคนแค่อัดคลิปโชว์นม แหก..ลงเฟซ หรืออัดคลิปพลอดรักโชว์ชาวบ้าน บางคนก็โพสต์เรื่องเถื่อนๆ ถ่อยๆ หรือทำเรื่องผิดกฎหมายแล้วอัดคลิปมาลงเฟซ พอมีเด็กที่ยังแยกแยะไม่ออกว่า อะไรผิดอะไรถูก ไปติดตามเข้าหน่อย สื่อก็ยกว่าคนๆ นั้นเป็น เน็ตไอดอลซะแล้ว มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอวะ
อันนี้สำคัญนะครับ เพราะหากเน็ตไอดอลกลายพันธุ์พวกนี้ มันทำเรื่องแย่ๆ ตามวิสัยมันออกมา เด็กๆ ที่ยึดถือมันเป็นไอดอล ก็มีโอกาสที่จะเอาพฤติกรรมของมันไปลอกเลียนแบบได้ แล้วเป็นปัญหาสังคมในระยะยาวต่อไป
ทางนึงที่ช่วยได้คือ เลิกเรียกคนกลุ่มนี้อย่างยกย่องว่า 'เน็ตไอดอล' ครับ ส่วนจะเรียกมันว่าอะไร นั่นคงต้องไปคิดกันต่อไป”
แฟนแพจ “Drama-addict” เพจที่โด่งดังจากการนำเสนอปัญหาสังคม โพสต์แสดงจุดยืนเอาไว้อย่างชัดเจน ชวนให้สังคมหันมาพิจารณาคำว่า “เน็ตไอดอล (Net Idol)” กันเสียใหม่ว่าควรใช้กับคนที่ควรค่ากับตำแหน่งจริงๆ ไม่ใช่ “เน็ตไอดอลกลายพันธุ์” ที่โด่งดังจากการสร้างกระแสห่ามๆ ให้ตัวเองในยุคหลังๆ มานี้ แม้เจ้าตัวจะยังนึกศัพท์ใหม่ไม่ออกว่าควรเรียกแทนกลุ่มคนกลุ่มนี้ว่าอะไรดี แต่ชาวเน็ตก็คิดศัพท์ใหม่มาให้ แถมยังกดไลค์มอบคะแนนโหวตกันอย่างสะใจสำหรับคำว่า “เน็ตอีเดียต (Net Idiot)”
"ด้านดี = Net Idol, ด้านชั่ว = Net Idiot ใช้กันตามนี้นะครับ"
"Net Idol = เน็ทไอดอล = ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี, Net Idiot = เน็ท อีเดียต = ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี
ป.ล. Idiot (n.) คนโง่เง่า (คำหยาบ), คนทึ่ม, คนปัญญาอ่อน, คนบ้องตื้น"
“ทุกวันนี้นี่ น่าจะมี 'เน็ตไอดอล' จริงๆ ไม่เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็น 'เน็ตอีเดียต' นี่แหละ 55555”
“สื่อน่าจะเอาคำนี้ไปใช้”
“สนับสนุนคำนี้”
แยกแยะให้ได้! คือสิ่งที่คนในสังคมต้องการ เพราะถ้าแยกไม่ออกระหว่าง “เน็ตอีเดียต” กับ “เน็ตไอดอล” ก็อาจนำไปสู่การยกย่องคนผิดประเภท และนี่คือความหมายที่แตกต่างระหว่างคน 2 ประเภท ตามความหมายที่ Cambridge Dictionaries online ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า “ไอดอล” หมายถึงผู้เป็นที่นิยมชมชอบและได้รับการนับถืออย่างมาก ส่วน “อีเดียต” หมายถึงผู้ที่ถูกตราหน้าว่าโง่หรือมีพฤติกรรมหนักไปในทางงี่เง่านั่นเอง
“Idol (n.) someone who is admired and respected very much.”
“Idiot (n.) a stupid person or someone who is behaving in a stupid way.”
เมื่อหันกลับมามองคำว่า “เน็ตไอดอล” ไทยทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะโด่งดังจากการกระทำที่หนักไปทางประเภทหลังมากกว่า และนี่คือความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่วิเคราะห์พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เอาไว้ได้อย่างชัดเจนที่สุดแล้ว
“ผู้ชาย - สักลายเต็มตัวเหมือนตุ๊กแก+เจาะหูให้ดูเถื่อนๆ คอมโบ กับการพูดจาถ่อยๆ กร่างๆ
ผู้หญิง - โชว์โนตม+ขายเครื่องสำอาง/ อาหาร เสริม”
แตกต่างจาก “เน็ตไอดอล” ยุคแรกๆ ที่มักเติบโตมาจากกลุ่มคนที่มีหน้าตาดีเป็นทุนจนทำให้ผู้คนสนใจติดตาม บวกกับมีความสามารถในด้านต่างๆ ให้คนได้ชื่นชม ให้เยาวชนยึดเป็นแบบอย่างที่ดีได้ และนี่คือบทวิเคราะห์เล็กๆ จากเน็ตไอดอลด้านเทคโนโลยี นางฟ้าไอที ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ที่ช่วยพูดถึงปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนไปให้ฟังอีกแรง
"ยุคแรกๆ ของคำว่า Net Idol นิยามไม่เหมือนสมัยนี้เลยค่ะ สมัยก่อนจะหมายถึงคนหน้าตาสวยหล่อที่เรตติ้งดี มีรูปโพสต์ตามเว็บไซต์ เว็บบอร์ดต่างๆ จนมีแฟนคลับเยอะ หลายคนก็ได้มาเป็นดาราดังในปัจจุบัน โลกออนไลน์ทำให้คนธรรมดาๆ กลายเป็นเน็ตไอดอลได้ แค่แสดงความถนัดหรือสิ่งที่ตัวเองรัก ถ้าคนดูเห็นแล้วชอบ ก็เกิดกระแส กดแชร์ กดไลค์ บอกต่อ จนดังในชั่วข้ามคืน หรืออาจไม่ทันข้ามคืน คนก็พูดถึงกันกระจาย แต่สมัยนี้ เน็ตไอดอลกลายเป็นคนธรรมดาที่กล้าทำอะไรก็ได้จนดังบนเน็ต"
หมดเวลา... เน็ตไอดอล?
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Drama-addict"]
แค่ Net Idol ไม่พอ ต้องเป็น Influencer แล้ว!! นี่คือบทสรุปที่ได้จากงานเสวนา “Influencer Marketing การตลาดทรงพลังในยุคสังคมออนไลน์” ซึ่งมีผู้ทรงอิทธิพลบนโลกไซเบอร์จากหลากหลายสาขา มาร่วมแสดงทัศนะที่น่าสนใจเอาไว้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือบทวิเคราะห์จากบล็อกเกอร์ความงามชื่อดังอย่าง หญิงแย้-นนทพร ธีระวัฒนสุข ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามอยู่กว่า 3 ล้านคน!!
“การเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดในโลกโซเชียลฯ นอกจากความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของเราแล้ว ก็ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อสังคมที่สูงด้วยเช่นกัน เพราะเราเป็นเสมือนตัวแทนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวและข้อมูลต่อผู้อื่น ดังนั้น ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่พูดออกไปจะต้องได้รับการทดลอง หรือตรวจสอบด้วยตัวเองก่อนทุกครั้ง มันเป็นหน้าที่ของเน็ตไอดอลหรือบล็อกเกอร์ ที่จะต้องให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนที่ติดตามเรา
จุดเริ่มต้นที่แย้ได้มาเป็นบล็อกเกอร์ ก็มาจากการรีวิวเรื่องของผิวขาวใสของพริตตี้นี่แหละค่ะ เพราะช่วงนั้นมีคนสงสัยกันเยอะมากว่า ทำไมพริตตี้ถึงผิวขาวใส ฉีดหรือเปล่า ใช้หมอกระเป๋าหรือเปล่า และยิ่งมีข่าวเรื่องการเสียชีวิตด้วย ก็ยิ่งเป็นห่วงสังคม แย้ก็เริ่มให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ครีมผิวขาวที่ไม่เป็นอันตราย
ก็อยากฝากไปถึงน้องๆ ที่เป็นเน็ตไอดอลหรือบล็อกเกอร์ด้วยค่ะว่า ต้องอิงถึงความจริงเป็นหลัก สำหรับคนที่อยากก้าวเข้ามาเป็นเน็ตไอดอลหรือให้คนมาติดตามเราเยอะๆ ก่อนอื่นเลยให้มองว่าตัวเรานี่แหละคือผู้ติดตามคนนึง เราอยากเห็นอะไรในหน้าเพจเราบ้าง ไม่ใช่อยากลงรูปอะไรก็ลง ทำอะไรก็ทำ ให้คิดว่าหน้าเพจเราก็คือ ทีวี จะลงอะไรต้องคิดและไตร่ตรองก่อนเสมอ”
[เน็ตไอดอลบางราย ที่คิดน้อยเกินไป ใช้ความดังขายเสื้อที่ไม่เหมาะสม]
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ แพท-ณปภา ตันตระกูล นักแสดงสาวอารมณ์ดีที่เคยฝากมุมมองของเธอ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ “เน็ตไอดอล” เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
“การเป็นที่รู้จักบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กในปัจจุบันเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมาก เพราะสมัยนี้ใครๆ ก็สามารถดังได้ ถ้าเราเป็นคนที่มีจุดเด่น ก็สามารถเป็นเน็ตไอดอลได้ สังคมบนโลกออนไลน์สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ เพราะปัจจุบันเด็กๆ ก็มีแอนดรอยด์หรือไอโฟนพกพากันแทบจะทุกคน เขาสามารถรู้ได้ตลอดเวลาเลยว่าช่วงนี้มีอะไรอัปเดต ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องรอดูข่าวจากทีวี หรือหนังสือพิมพ์ เลยปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุคนี้เน็ตไอดอลหรือบล็อกเกอร์มีอิทธิพลอย่างมาก
แต่ปัจจุบัน สังคมหรือสื่อมักจะให้คำนิยามคนที่ได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์ว่าเป็น 'เน็ตไอดอล' ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทมองว่าไม่ถูกต้องเท่าไหร่ เพราะคำว่า 'เน็ตไอดอล' น่าจะมีความหมายในการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมมากกว่า การที่เราจะมีใครสักคนเป็นไอดอล ย่อมหมายถึงบุคคลที่เราจะยึดเป็นแบบอย่างได้ ดังนั้น การเป็นคนดังในโลกออนไลน์ก็จะต้องมาพร้อมกับการเป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างที่ดีในทุกๆ ด้านด้วยเหมือนกัน”
ยังไม่มีใครรู้แน่ว่าปรากฏการณ์ “เน็ตไอดอลฟีเวอร์” จะเป็นไปในทิศทางไหนต่อไป ที่แน่ๆ แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังอดตัดพ้อเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ไม่ได้
"การประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย มีประชาชนกดไลค์เพียง 140 คนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ เน วัดดาว ที่มียอดไลค์มากถึง 1 ล้านคน ดังนั้น จึงต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น"
ส่วนจะสร้างความเข้าใจอย่างไร จะช่วยให้ประชาชนแยกระหว่าง “เน็ตไอดอล” กับ “เน็ตอีเดียต” ออกจากกันได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องขอแรงให้ชาวเน็ตช่วยกดติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป ถ้ามีเน็ตไอดอลฝั่งรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ คงน่าสนุกพิลึก...
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754