"ครั้งนี้เป็นการเสียที่น่ากลัวที่สุด" "มันเป็นช่วงเวลาที่น่าหดหู่และเลวร้ายเหตุการณ์หนึ่ง" คือความรู้สึกจาก 2 ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในช่วงเช้าของวันที่ 21 มี.ค.2559 ซึ่งปัญหาเกิดจากระบบจ่ายไฟที่สถานีรามคำแหงเกิดขัดข้อง ทำให้รถไฟฟ้าทั้งระบบเกิดความล่าช้า
ผู้โดยสารคนแรก เล่าย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุว่า "ตอนที่ไฟค่อยๆ ดับ แอร์ค่อยๆ หยุด ทุกคนมองหน้ากัน และพยายามใจเย็นๆ จนมันพีคถึงขั้นต้องหา "ประตูฉุกเฉิน" หรือ "ที่ทุบกระจบ" เพราะหายใจไม่ออก ตอนนั้นบอกกับตัวเองว่า โชคดีมากที่อยู่ขบวนหน้าสุดติดกับห้องคนขับ
หลายๆ คนอาจไม่รู้ว่าคนขับพยายามช่วยมากแค่ไหน เขาทะเลาะกับทางหอควบคุม "ทำไมไม่ช่วยผู้โดยสารก่อน" "ทำไมถึงห่วงแต่รถ" คือประโยคจากคนขับที่สุดยอดจริงๆ...หลายๆ คนด่าเขาด้วยหลายๆ เหตุผล แต่เราที่อยู่ในห้องคนขับ เห็นเลยว่าเขาพยายามช่วยมากแค่ไหน
มันพีคจริง กลัวจนสั่นตอนที่อากาศเริ่มหมด คนเป็นลมกันเพียบ ดีใจที่ในขบวนมีคุณหมอ น่าชื่นชมมาก คนร้องไห้ก็มี คนที่อารมณ์ร้อน และขึ้นเพราะความกลัวก็เต็มไปหมด แต่ที่เห็นชัดๆ เลยคือ ทุกคนพยายามช่วยกัน พยายามใจเย็น พยายามยื่นยาดม ยื่นพัด ยื่นถุงให้คนป่วย
ผู้ชายไทยใจแมนก็เต็มไปหมด บอกเลยว่าประทับจำใจมาก ทั้งคนที่ทุบกระจบ คนที่อุ้มคนป่วย เห็นเลยว่าคนไทยมีน้ำใจต่อกันแค่ไหนในยามคับขัน เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ให้ความช่วยเหลือห่วยมาก เกลียดมาก ห่วงมันแต่รถ เอารถวิ่งไปมาหลายขบวน แต่ไม่ช่วยขบวนที่ติดอยู่ระหว่างกลางก่อน อยากรอดต้องช่วยตัวเอง คนไทยน้ำใจดีมากจริงๆ ขอบคุณพี่คนขับ หล่ออีกต่างหาก"
เช่นเดียวกับผู้โดยสารอีกหนึ่งท่าน เธอเล่าโดยลงรายละเอียดที่ลึกกว่าว่า "ขบวนรถไฟโดยสารที่ออกจากสถานีสุวรรณภูมิกำลังมุ่งหน้าสู่สถานีปลายทางที่พญาไทเกิดเครื่องกระตุก หยุดกะทันหันระหว่างทางก่อนถึงสถานีรามคำแหง (มองจากข้างบนลงมาคือถนนศรีนครินทร์ตัดแยกพัฒนาการ)
คนขับรถประกาศว่า ขณะนี้รถเกิดขัดข้อง จึงต้องตัดกระแสไฟฟ้าและระบบเครื่องปรับอากาศ (โดยให้ข้อมูลว่าจะใช้เวลาซ่อมประมาณ 20 นาที) เวลาผ่านไปถึง 30 นาที ทุกอย่างยังคงนิ่งสนิท แต่ในขบวนรถ 3 โบกี้ ที่มีผู้โดยสารอัดแน่น จำนวนนับพัน ไม่มีอากาศหายใจมาตั้งแต่ 20 นาทีแล้ว
บางคนเริ่มเป็นลม บางคนหมดสติแน่นิ่งไป หญิงสูงวัยบางคนหายใจไม่ได้เพราะเป็นโรคหอบหืด ผู้โดยสารในรถต่างร้องขอความช่วยเหลือ และก็ตัดสินใจทุบประตูเพื่อเปิดประตูฉุกเฉิน เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทเข้ามาในขบวนรถ และให้ทุกคนอยู่รอดให้ได้ในนาทีวิกฤต
เวลาค่อยๆ เดินผ่านไปเรื่อยๆ จนครบ 1 ชั่วโมงก็ยังไม่มีประกาศหรือการติดต่อใดๆ จากศูนย์บริการหรือรฟม. ผู้โดยสารต่างโทรศัพท์หาคนที่ตนเองรัก บ้างโทร.แจ้งที่ทำงาน บ้างโทร.แจ้งจส. 100 บ้างโทร.แจ้งสถานีร้องทุกข์ต่างๆ (รู้สึกซึ้งในน้ำใจคนไทยที่ต่างคนต่างช่วยเหลือกันยามทุกข์) คนขับประกาศว่าจะใช้ขบวนรถอีกขบวนดันเข้าสถานีที่ใกล้ที่สุด แต่จะต้องปิดประตู เมื่อประตูปิดลง ผ่านไปอีก 15-20 นาที
ทุกอย่างยังคงนิ่ง รถกระตุกอีกครั้ง พวกเราจึงตัดสินใจเปิดประตูฉุกเฉินออกอีกครั้ง เพื่อให้มีอากาศเข้ามา (ขณะนั้นเอง ตัวดิฉันก็เริ่มเหงื่อท่วมทั้งตัว จนต้องขอเดินออกไปสูดอากาศที่ประตูฉุกเฉิน) และในอีกไม่กี่นาที เมื่อมีคนเริ่มเป็นลมหมดสติอีก เราจึงช่วยกันพยุงคนป่วยออกมารับอากาศที่ประตู และพวกผู้ชายก็พร้อมใจกันกระโดดออกไปยืนที่ข้างๆ รางรถไฟ และเหมือนทุกคนจะคิดตรงกันคือต้องช่วยกันให้ได้ ทุกคนต่างพร้อมใจกันออกจากตัวรถทั้งหมด โดยมีผู้ชายคอยอุ้มผู้หญิงและเด็กออกจากขบวนรถ
คนขับ และช่างจึงบอกกับเราว่าจะถ่ายผู้โดยสารทั้งหมดขึ้นขบวนรถที่จอดต่อท้ายขบวนที่เสีย เพื่อนำกลับไปสู่สถานี กว่าผู้โดยสารนับพันจะทยอยกันปีนขึ้นรถด้วยความทุลักทุเล เพราะมีบันไดแค่ 3 ตัว ให้ปีน เบ็ดเสร็จรวมผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง พวกเราแอบดีใจว่าเขาจะพาพวกเราไปส่งยังจุดหมายปลายทาง แต่ตรงกันข้าม เขากลับพาผู้โดยสารทั้งหมดมาทิ้งไว้ที่สถานีหัวหมาก รวมกับผู้โดยสารที่ค้างอยู่ที่สถานีอีกนับไม่ถ้วน จนไม่มีที่จะยืน
ผู้โดยสารบางคนออกมาแล้วนั่งเป็นลม หมดสติ ไปไหนไม่ได้ (อ้อ ลืมพูดไปถึงน้องที่เรียนพยาบาลที่ติดอยู่ในขบวนรถด้วย น้องคนนี้พยายามช่วยเหลือผู้โดยสารทุกคนด้วยสัญชาตญาณของพยาบาล) และน้องนักเรียนพยาบาลคนนี้ก็คอยช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นลมหมดสติ ฉันตัดสินใจเดินลงจากสถานีเพื่อตั้งหลัก แอบดีใจที่ตอนเดินลงสถานีมาเห็นกล้องทีวีและนักข่าวเต็มไปหมด ทั้งฟรีทีวีและดิจิตอลทีวี เพราะฉันก็เป็นคนหนึ่งที่โทร.ร้องเรียนไปที่สำนักข่าวต่างๆ
ฉันได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าวไปบางสถานีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่อยากพูดให้กับสื่อมวลชนและผู้บริหารของ รฟม. คือ อะไรคือขั้นตอนในการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อะไรคือไม่มีสื่อสารหรือประกาศให้ผู้โดยสารทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อะไรคือไม่เปิดประตูฉุกเฉินเมื่อตัดกระแสไฟและอากาศ อะไรคือมาบอกว่าคืนค่าโดยสารให้กับทุกคน เพราะแท้จริงแล้ว ค่าโดยสารเพียงไม่กี่สิบบาท แลกไม่ได้เลยกับชีวิตของคนนับพัน
ถ้าทุกคนต่างไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาจจะมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น และสุดท้าย อะไรคือความรับผิดชอบของผู้บริหาร รฟม. และ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (อาจจะยาวหน่อยนะคะ แต่อยากแชร์ประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งได้เดินรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่่งมันช่วงเวลาที่น่าหดหู่และเลวร้ายเหตุการณ์หนึ่ง)"
ภายหลังจากเกิดเหตุขัดข้องดังกล่าว พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อฉบับหนึ่ง โดยยอมรับว่า สถานีรามคำแหงมักเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้งเนื่องจากเกิดการคาดช่วงจ่ายไฟระหว่างสถานี เพราะที่ผ่านมาระหว่างจะเข้าสถานีรามคำแหงรถไฟฟ้าจะใช้แรงไฟฟ้าจากสถานีหัวหมากวิ่งส่งไปยังสถานีดังกล่าวแทน
แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แจงเหตุรถไฟฟ้าฯขัดข้องล่าช้ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ชี้แจงเหตุระบบจ่ายไฟที่สถานีรามคำแหงเกิดขั...
Posted by Airport Rail Link on Monday, March 21, 2016
นอกจากนี้ยังเผยถึงปัญหาในส่วนของระบบไฟฟ้าสำรอง หรือยูพีเอฟที่เสื่อมภาพ ซึ่งปกติจะสามารถสำรองไฟได้นานกว่า 2 ชั่วโมง แต่เมื่อระบบดังกล่าวทำงานไม่ได้ เป็นเหตุให้ระบบปรับอากาศและการเดินรถหยุดทันที ส่วนการจัดของบประมาณเปลี่ยนระบบสำรองไฟนั้น ได้มีการเสนอเรื่องขอซื้อระบบไฟสำรอง ตัวละ 4-5 ล้านบาทไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตั้งแต่เดือนก.พ.แล้ว ก่อนจะแสดงความรับผิดชอบถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยพร้อมชดเชยค่าโดยสาร และจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้โดยสารที่มีอาการเป็นลมในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว
ชำแหละข้อบกพร่อง "แอร์พอร์ต เรล ลิงก์"
สำหรับกรณีปัญหาของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 มี.ค. 2559 ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผ่านเฟซบุ๊ก "Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D." โดยชำแหละข้อบกพร่องที่ต้องทำความเข้าใจ และคิดต่อไปยาวๆ เพื่ออนาคตใน 9 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
1. ภายใต้เงื่อนไขที่กระบวนการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงของ SARL (Suvarnabhumi Airport Rail Link) ที่แตกต่างไปจากโครงการ BTS และ MRT คือ ทาง SARL พยายามจะบริหารกิจกรรมการซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง (ไม่ได้ outsource ให้กับเอกชน อย่างที่ BTS และ MRT จ้างบริษัท Siemens เป็นผู้ดำเนินการ)
สิ่งที่ SARL ประสบปัญหาและเป็นอุปสรรคหลักจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุง คือ ไม่สามารถจัดหาอะไหล่ได้ทันตามเวลา อันเนื่องจากกระบวนการจัดซื้อที่ผูกกับระเบียบของกระทรวงการคลัง และต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ดบริหาร 2 บอร์ด คือ บอร์ดของ SARL เอง (บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท จำกัด หรือ ร.ฟ.ฟ.ท.) และบอร์ดของ ร.ฟ.ท. แปลว่า ปัญหาใหญ่สุดของ SARL แท้ที่จริงไม่ใช่แค่เรื่องเหตุสุดวิสัยอย่างที่เกิด แต่เป็นเรื่องวิธีบริหารจัดการ และ business model ที่จะต้องได้รับการแก้ไขผ่านการปฏิรูปองค์กร ถ้าไม่มีใครทำอะไร อีกไม่นานปัญหาแบบวันนี้ก็จะวนกลับมาอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
2. กระบวนการซ่อมบำรุงโดยพนักงานของ รฟฟท. ได้ผ่านการเรียนรู้มาแล้วนับตั้งแต่เปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 จวบจนถึงปัจจุบัน ก็ให้บริการมาแล้ว 5-6 ปี ในระหว่างนี้ก็ผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง เรียกได้ว่าพนักงานซ่อมบำรุงของ รฟฟท. ได้ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร และมีขีดความสามารถที่รับมือได้ทว่าปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนอะไหล่ จนไม่สามารถดำเนินการซ่อมบำรุงได้ตามรอบเวลาที่ควรกระทำ น่าจะเป็นต้นเหตุหลักที่นำไปสู่สารพัดปัญหาที่คล้ายเป็นระเบิดเวลาของ SARL
ความไร้ประสิทธิภาพนี้ กำลังเริ่มสั่นคลอนตัว รฟฟท. เอง เมื่อพนักงานในแผนกงานซ่อมบำรุงส่วนหนึ่งเริ่มย้ายตัวเองไปอยู่บริษัทอื่นๆ ขีดความสามารถในทีมบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงก็กำลังจะเริ่มมีปัญหาในไม่ช้า และเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่จะผูกรวมไปกับเรื่องการขาดแคลนอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงอย่างแน่นอน
3. วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2557 ผม และทีมงานวิจัยที่จุฬาฯ ได้เคยออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวในนามจุฬาฯ เรื่องความปลอดภัยของระบบ SARL ซึ่งในขณะนั้นวิ่งใช้งานไปแล้วราวๆ 1.3 ล้านกิโลเมตร (ควรทราบว่า ตามคู่มืองานซ่อมบำรุงระบุว่าระบบ SARL จะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการซ๋อมบำรุงหนัก หรือ overhaul เมื่อวิ่งใช้งานครบ 1.2 ล้านกิโลเมตร บวกไม่เกิน 10% แล้วแต่สภาพการใช้งาน) นั่นหมายความว่า ในขณะเวลานั้น SARL ถึงวาระต้องซ่อมบำรุงใหญ่แล้ว แต่เท่าที่ผมทราบ จวบจนถึงปัจจุบัน SARL วิ่งมาแล้ว 1.6-1.7 ล้านกิโลเมตร โดยที่ยังไม่ผ่านการซ่อมบำรุงหนัก!
ถามว่า แล้วทำไมไม่ดำเนินการซ่อมบำรุงหนัก? ตอบได้ว่า ปัญหาเริ่มต้นที่การไม่มีอะไหล่ ตามมาด้วยความพยายามของบอร์ดบริหารตั้งแต่ชุดเก่า (ก่อนการปฏิวัติ) และบอร์ดชุดปัจจุบัน ต่างพยายามจะว่าจ้างบริษัทเอกชนรายอื่น ให้มารับผิดชอบกิจกรรมการซ่อมบำรุง แทนการบริหารจัดการด้วยพนักงานของ รฟฟท เอง
ในกรณีนี้ โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนะครับ (ข้อมูลน่าสนใจ และต้องสนใจเป็นพิเศษคือ ณ วันนี้ เจ้าของเทคโนโลยีอย่าง Siemens เองก็ไม่กล้ารับงานซ่อมบำรุง SARL ในขณะนี้นะครับ เพราะสภาพรถ "บอบช้ำ" เกินกว่าบริษัทจะเสี่ยงรับผิดชอบไหว ยกเว้นว่าเงินหนาพอๆ กับซื้อขบวนรถไฟฟ้าใหม่กันเลยทีเดียว)
ล่าสุด ทราบว่าปัจจุบัน รฟฟท. กำลังอยู่ในระหว่างร่างสัญญาเพื่อว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งมารับงาน ซึ่งผมไม่ทราบว่าจะสามารถเริ่มงานได้เมื่อไหร่ สรุปเลยนะครับ สถานะ SARL ตอนนี้ พูดหยาบๆ แบบไม่เกรงใจใคร คือ วิกฤติ และไม่มีใครรับรองความปลอดภัยได้นะครับ
4. ในระยะสั้น ระหว่างที่ รฟฟท. กำลังมีปัญหาการจัดการงานซ่อมบำรุง สิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน และเหตุเมื่อเช้าได้พิสูจน์ด้วยตัวมันเองว่า รฟฟท. take action หรือตอบสนองกับเหตุฉุกเฉินช้าเกินไป คือ ต้องเตรียมมาตรการฉุกเฉินเพื่อรองกับเหตุไม่พึงประสงค์ให้เร็วกว่านี้ หากอะไหล่ไม่มี ซ่อมไม่ 100% ก็ต้อง response กับปัญหาเร็วกว่านี้ครับ
5. SARL มีขบวนรถที่ซื้อมาใช้งานครั้งแรก เป็นรถแบบ Express 4 ขบวน และรถแบบ City Line 5 ขบวน ใช้ๆ ไป ก็จอดเสีย 1 ขบวน เพื่อถอดอะไหล่มาซ่อมให้กับ 8 ขบวนที่เหลือ แปลว่าจริงๆ ก็วิ่งได้แค่ 8 ขบวน ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ทาง รฟฟท. ได้ยุติการให้บริการรถไฟด่วน Express เนื่องเพราะหลายเหตุผล ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการซ่อมบำรุง ทำให้มีการดัดแปลงสภาพรถไฟ Express มาให้บริการแบบ City Line เท่าที่ผมทราบ ขณะนี้จอดเสียไปแล้ว 2 ขบวน วิ่งได้ 7 ขบวน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มีรถวิ่งได้แน่ๆ 5-6 ขบวน ด้วยสภาพความพร้อม 60-70%
6. ผมยังยืนยันคำพูดเดิมที่เคยพูดไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ว่า ระบบตรวจสอบความพร้อมของ SARL จะไม่ยอมให้รถที่มีปัญหาออกไปวิ่ง แต่การไม่ผ่านการซ่อมบำรุงหนัก ทะลุไปถึง 1.6-1.7 ล้านกิโลเมตร ย่อมหมายถึง "ทุกอย่างกำลังดำเนินไปภายใต้ความไม่แน่นอน" ไม่มีใครรับรองผลได้นะครับ
7. เหตุสุดวิสัยร้ายแรงอาจจะเกิดได้จากความบกพร่องของสภาพราง (แบบเดียวกับกรณี BTS แต่ที่น่ากลัวกว่า คือ SARL ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบแบบเดียวกับที่ BTS ทำ) และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้ากว่าที่ควรจะเป็น เช่น การปล่อยให้ผู้โดยสารติดอยู่ในรถนานกว่า 30 นาที โดยไม่มีการช่วยระบายอากาศ อาจส่งผลเสียรุนแรง และเหตุวันนี้คือสัญญาณเตือนที่ต้องระวัง
8. ปัญหาของ SARL ดูผิวเผินเป็นเรื่องการซ่อมบำรุง แต่ถ้ามองลึกๆ มองยาวๆ นี่คือเรื่องโครงสร้างองค์กร เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องยุทธศาสตร์ ไล่เรียงไปจนถึงเรื่องความไม่พร้อมของไทยเอง ในการจะรับมือกับระบบขนส่งระบบรางที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ เรื่องแค่นี้ปัจจุบันยังแก้ไม่ได้ แล้วเรื่องในอนาคตจะแก้กันได้อย่างไร
9. SARL อยู่ในสภาพวิกฤติ เวลาได้พิสูจน์ด้วยตัวมันเองแล้วว่า เงื่อนไขการบริหารจัดการในปัจจุบัน ไม่ทำให้ทั้ง รฟฟท. + ร.ฟ.ท. สามารถทำอะไรได้ (ถ้าทำได้ คงทำไปนานแล้ว) นี่คือเวลาที่ทางรัฐบาล จะต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป"
รู้แบบนี้ คงต้องฝากผู้เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพในเร็ววัน โดยเฉพาะการบริหารแบบไม่เป็นระบบ เละเทะ สูญเงิน สิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุ รวมไปถึงบางจุดที่เป็นจุดเสี่ยงอันตราย ขาดการดูแลซ่อมบำรุงจนต้องถูกเอามาแชร์เตือนภัยกันอยู่บ่อยๆ บนโลกออนไลน์
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก "JS100 Radio" และอาสากู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754