xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาจิ๊จ๊ะ! หยอดหลักสูตร “สอนจีบ สอนเจ็บ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฮือฮา! จุฬาเปิดวิชาใหม่ “สอนจีบ” หลักสูตรเสริมใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย สอนวิธีจีบอย่างถูกต้อง เป็นทักษะการสร้างความสัมพันธ์ หวังแก้ปัญหาชีวิตคู่เรื้อรังในสังคมไทย นิสิตแห่ลงเรียนจนเป็นรายวิชาที่ฮอตที่สุดไปแล้ว!!

ไม่ได้แค่ “สอนให้จีบ” แต่ยังสอนให้ “เจ็บ” ด้วย!



คนโสดและคนไม่โสดต่างให้ความสนใจ และแห่แชร์ภาพของผู้ใช้ทวิตเตอร์ @jhommino ที่โพสต์ภาพหลักสูตรการเรียนการสอนเสริมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ “วิชาจีบ วิชาที่คุณต้องรู้” พร้อมข้อความประกอบว่า “จุฬาฯ เปิด workshop สอนจีบคน 55555 ต้องโสดขนาดไหนถึงจะลงวิชานี้ได้ ต้องจีบคนไม่เป็นขนาดไหนวะเนี่ย”
รายวิชาที่กำลังเป็นที่สนอกสนใจกันอยู่ในขณะนี้นั้น อยู่ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรการศึกษาทั่วไปเป็นหลักสูตรระยะสั้น ในชื่อว่า Chulalongkorn University Value-added & Integrity Program หรือ CUVIP นิสิตที่สนใจสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีหน่วยกิต และเมื่อเรียนจบหลักสูตรจะได้ใบรับรองผ่านการอบรม ที่สามารถเก็บเป็นผลงานของนิสิตได้ และปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนกว่า 30 หลักสูตรแล้ว



เนื้อหาหลักของวิชานี้ จะประกอบไปด้วย การสร้างความประทับใจ , การฝึกให้มีสติ , ทักษะการอ่านใจคน , การเห็นคุณค่าผู้อื่นด้วยใจบริสุทธิ์ , การสร้างเสน่ห์ตามธรรมชาติ และการจัดการกับอารมณ์ จะใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง เปิดรับนิสิตจำนวน 30 คน แต่มีกระแสตอบรับดีเกินคาด เพราะในตอนนี้มีผู้ลงทะเบียนไป 90 กว่าคนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนิสิตที่มาจากคณะที่เรียนสายวิทย์ โดยจะมีการเรียนการสอนในวันที่ 30 - 31 มีนาคมนี้


[ อ.ธนิช สุนทรธนกูล]

จุดเริ่มต้นของวิชานี้ ธนิช สุนทรธนกูล อาจารย์เจ้าของวิชาสุดแนว เปิดเผยกับสื่อว่า เกิดจากตนได้เข้าไปเป็นอาจารย์สอนร่วมภายในวิชา Innovative thinking ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการสอนวิชาจีบ 101 จึงปิ๊งไอเดีย บรรจุเป็นหลักสูตรเสริมพิเศษในภายหลัง ซึ่งมีนิสิตให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก หลักสูตร “วิชาจีบ วิชาที่คุณต้องรู้” เกิดจากการตั้งคำถามจากประสบการณ์ของตนเอง ว่าทำไมถึงไม่มีวิชาที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ คนเราต้องมีชีวิตคู่ เพราะปัญหาสังคมหลายๆ เรื่องนั้นเกิดจากการมีชีวิตคู่ที่ไม่ถูกต้อง
ที่สำคัญวิชานี้ ไม่ใช่วิชาที่ให้ไปหลอกจีบคนอื่นอย่างที่หลายคนเข้าใจ และอาจารย์ไม่ได้แค่สอนให้รู้จักแต่จีบ แต่สอนให้รู้จักเจ็บด้วย การจีบกันแบบมั่วๆ สุดท้ายก็ทำให้เกิดความทุกข์ วิชานี้จะถ่ายทอดทักษะการจีบที่ถูกต้อง ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เพราะการจีบถือว่าเป็นเสน่ห์ในการปรับตัวเข้าหาคนอย่างหนึ่ง ยืนยันว่าการจีบไม่ได้ใช้ในเชิงชู้สาวหรือการใช้ชีวิตคู่เพียงอย่างเดียวด้วย แต่ยังรวมไปถึงการต้องการให้นิสิตที่จบออกไป นำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ มีทักษะในการอยู่ร่วมกับคนในองค์กร ชุมชน และสังคม อย่างราบรื่นและมีความสุข



“มีหลายคนที่เรียนแล้วไปใช้ให้ประสบความสำเร็จมีเยอะ เพราะวิชานี้จะครอบคลุมไปถึงในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ที่มีปัญหาระหองระแหงกันอยู่ ลดความขัดแย้งลง หรือสามารถเอาไปใช้การงานจีบลูกค้า จีบเจ้านาย ก็ได้”

หรือการศึกษาจะเป็นการแก้ปัญหาสังคม?!
วิชาจีบนี้ ได้จุดประเด็นให้สังคมเกิดคำถามว่า ทุกวันนี้ที่เรียนกัน มีวิชาไหนบ้างที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างวิชาเพศศึกษาที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ประถม เป็นเพียงทฤษฎีบนหน้ากระดาษ เพราะผู้ใหญ่ในสังคมไทยยังมีความเขินอายที่จะสอนให้ลูกหลานได้รู้จักการป้องกันที่ถูกวิธีอยู่ ทุกวันนี้จึงเกิดปัญหา เช่น การท้องในวัยเรียน , การติดโรคทางเพศสัมพันธุ์ , เด็กถูกทอดทิ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ยังมีหลายคนยังได้ตั้งคำถามกลับว่า การจีบมันจำเป็นถึงขนาดที่ต้องมาเปิดสอนเป็นรายวิชาเลยหรือ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่า อย่างเรื่องจิตสำนึกทางสัมคม ซึ่ง อ.ธนิช ยืนยันว่า ปัญหาการใช้ชีวิตคู่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา



ลองมองย้อนกลับไปถึงสถิติการหย่าร้าง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สังคมไทยมีอัตราการหย่าร้างอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ในปี 2555 สถิติการหย่าร้างที่สูงขึ้น มีการจดทะเบียนสมรสใหม่กว่า 614,338 คู่ และคู่สมรสเก่าจดทะเบียนหย่า 111,377 คู่ โดยการจดทะเบียนสมรสหย่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ถึงร้อยละ 27
แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุพื้นฐานมาจากทั้ง 2 ฝ่าย มาจากความเครียดเรื่องงาน รวมทั้งค่านิยมใหม่ที่ต่างคิดว่า ตนสามารถอยู่ด้วยลำแข้งของตนเองได้ ทำให้มีความอดทนน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องมีชีวิตคู่ ผลที่ตามมาคือการเลี้ยงลูกตามลำพัง หรือเป็นครอบครัวเดียวมากขึ้น แม้ในปัจจุบันเด็กอาจจะเข้าใจการไม่อยู่ร่วมกันของพ่อและแม่ แต่เด็กก็หวังว่าจะได้รับการดูแลจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งในเรื่องของการดูแล ควรเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตน เช่น พบปะกัน มีกิจกรรมร่วมกันในวันสำคัญ เพื่อที่เด็กจะได้รับความอบอุ่นจากพ่อและแม่ ไม่รู้สึกว่าเขาถูกทอดทิ้ง ไม่กลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าวและสร้างปัญหาให้แก่สังคมในภายหลัง



โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังแนะเทคนิคการครองเรือนที่แต่ละครอบครัวพึงปฏิบัติ “3 อย่า” คือ อย่าจ้องจับผิด ควรมองเห็นข้อดีของคู่สมรสบ้าง , อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง ควรภูมิใจในความดีและเห็นคุณค่าของคู่สมรส และสุดท้าย อย่าทำให้อีกฝ่ายหมดความอดทน ต้องนึกถึงใจเขาใจเราบ้าง
นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขยังเพิ่มเติมในเรื่องทักษะในการใช้ชีวิตคู่อีกว่า การใช้ชีวิตคู่เป็นเรื่องของคน 2 คน ควรปรับเข้าหากันให้อยู่ในจุดที่พอดี ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา เพราะจะยิ่งทำให้ขัดแย้งกันมากขึ้น ควรคุยกันด้วยเหตุผล จะช่วยสร้างความเข้าใจได้ดีกว่า และที่สำคัญต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนเอง แสดงความรัก ความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน แม้จะอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรงมากขึ้นก็ตาม



ปัจจุบันนี้สังคมไทยเผชิญปัญหาการใช้ชีวิตคู่มากขึ้นทุกวัน “วิชาจีบ” จึงอาจเป็นแสงสว่างเล็กๆ ให้แก่นิสิตที่ต้องการเรียนรู้การปรับตัวให้อยู่ร่วมกันคนในสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างถูกต้อง ก่อนที่จะออกไปใช้ชีวิตจริงๆ ในสังคมการทำงาน หรือการมีครอบครัวในอนาคต

ข่าวโดย : ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ : twitter @Jhommino , never-age.com , khajochi.com และภาพยนตร์ “เพื่อนสนิท”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น