xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในไทย! โศกนาฏกรรมตึก SCB... ระบบ “ช่วยชีวิต” ที่ “ฆ่าชีวิต”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เสียชีวิตพุ่งสู่เลข 2 หลัก เช่นเดียวกับจำนวนผู้บาดเจ็บที่ค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกลุ่มควันค่อยๆ จางลง... กลุ่มควันจากระบบเครื่องดับเพลิงทำงานอัตโนมัติ ตัดออกซิเจนภายในห้องใต้ดินเพื่อรักษาความปลอดภัย จนเป็นเหตุให้กลุ่มผู้รับเหมาผู้เข้าไปดูแลระบบ เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างไม่คาดฝัน ไม่น่าเชื่อว่า “ระบบช่วยชีวิต” จะกลายมาเป็น “ระบบฆ่าชีวิต” เสียเอง! เชื่อความสูญเสียครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า และบทเรียนครั้งนี้จะต้องมีคนรับผิดชอบ!!



รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ รู้ดีแต่ยังประมาท!!?

OK นะครับ ที่ข่าวบอกว่า ถังดับเพลิงแบบไฮโดรเจนระเบิด ไม่ใช่นะครับ เพราะไฮโดรเจนติดไฟ ไม่เอามาดับไฟแน่ๆ... ที่ระเบิดจริงๆ...

Posted by Weerachai Phutdhawong on Sunday, March 13, 2016

“ปกติแล้วเวลาจะซ่อมไฟที่บ้านสักที่หนึ่ง คนทั่วๆ ไปจะต้องสับคัตเอาต์ลงก่อนไหม? ก็ต้องสับลงก่อนอยู่แล้ว เพราะเรากลัวไฟดูด นี่ก็เหมือนกันครับ ตามปกติแล้ว ช่างที่เข้าไปในห้องใต้ดินนั้น เพื่อซ่อมระบบป้องกันอัคคีภัย เขาก็ต้องปิดเซ็นเซอร์ทั้งหมดก่อนเพื่อความปลอดภัย แต่นี่เขาคงไม่ได้ปิดไงครับ แล้วพอเข้าไปอ๊อก เข้าไปซ่อมอะไรในนั้น มันก็ทำให้เกิดควัน เกิดประกายไฟ พอเซ็นเซอร์มันจับได้ และคิดว่าเกิดไฟไหม้ ตัวเซ็นเซอร์มันก็จะทำงานทันที!
 
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายกลไกการทำงานของระบบดับเพลิงประจำห้องใต้ดิน “ห้องมั่นคงนิติกรรมหลักประกัน บริหารหลักประกัน” ประจำอาคาร SCB Park ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ย่านรัชโยธิน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นห้องต้นเหตุที่ทำให้ระบบเกิดการปล่อยควันดับเพลิง ตัดก๊าซออกซิเจนตรงจุดเกิดเหตุ จนส่งให้ผู้รับเหมาที่อยู่ภายในนั้นขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างไม่คาดคิด! จากระบบดับเพลิงคร่าชีวิตที่เรียกว่า “ไพโรเจน (PyroGen: Pyrotechnically Generated)”
 
วิธีทำงานของ “ไพโรเจน” ตัวต้นเหตุตัวนี้ มีความคล้ายคลึงกับ “สปริงเกอร์” อยู่ ตรงที่มีระบบเซ็นเซอร์ คอยตรวจจับควันหรือเปลวไฟจากไฟไหม้ และเซ็นเซอร์ตัวนี้เองที่จะส่งข้อมูลไปยังตัวจุดระเบิด แล้วก็สั่งการให้มันปล่อยควันออกมาเพื่อดับไฟ โดยจะพ่นควันออกมาจากปล่องข้างบนลงมายังพื้นด้านล่าง เป็นควันที่ประกอบไปด้วย 'ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์' และ 'ไนโตรเจน' ซึ่งควันพวกนี้แหละที่เป็นตัวดันให้ 'ก๊าซออกซิเจน' หายไป เมื่อห้องขาดออกซิเจนซึ่งเป็นตัวติดไฟ ประกายไฟก็จะดับ เช่นเดียวกับผู้โชคร้ายที่อยู่บริเวณนั้น ที่ต้อง “ดับ” ไปด้วยกัน เพราะขาดอากาศหายใจ!


“พอไอ้ควันสีขาวถูกพ่นออกมาเต็มไปหมด จนคนในนั้นมองอะไรไม่เห็น ต้องพยายามเอาตัวรอด วิ่งหาทางออก พอวิ่งก็จะเหนื่อย เมื่อเหนื่อยก็ต้องสูดเอาก๊าซพวกนี้เข้าไป ก๊าซพวกนี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจและไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คนที่ถูกควันพวกนี้เข้าไปก็จะเหนื่อยหอบ หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

ด้วยความที่ห้องที่เกิดเหตุครั้งนี้คือห้องนิรภัย เป็นห้องเก็บเอกสารสำคัญ การเข้าออกห้องนี้ต้องใช้ระบบคีย์การ์ด-สแกนลายนิ้วมือ คนออกก็ออกยาก คนมีคีย์การ์ดก็มีคนเดียว ห้องมันก็มีลักษณะเหมือนห้องสมุด มีชั้นเอกสารเยอะแยะ คนที่มองไม่เห็นทางในนั้นยิ่งคลำทางไปไม่ถูก เดาทิศก็ลำบาก จะเห็นจากตอนที่เขาไปเก็บศพ บางคนมาถึงใกล้ประตูทางออกแล้วก็มี

แต่จะโทษว่าเจ้า “ไพโรเจน” ระบบดับเพลิงชนิดนี้เป็นตัวการคร่าชีวิตที่น่ากลัวก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะระบบการดับเพลิงแบบนี้ นิยมใช้กันทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่จะใช้เฉพาะกับบางพื้นที่ที่ต้องการการป้องกันความเสียหายเป็นพิเศษเท่านั้น ต่างจากพื้นที่ทั่วๆ ไปที่จะใช้ระบบดับเพลิงแบบ “สปริงเกอร์” ใช้น้ำฉีดพ่นเพื่อดับเพลิงเป็นหลัก

“เพราะถ้าเอาระบบสปริงเกอร์แบบนี้ไปใช้ในห้องเก็บเอกสารสำคัญ เอกสารก็จะเปียกน้ำไปด้วยตอนดับไฟ หรือถ้าเอาไปใช้ในห้องที่มีคอมพิวเตอร์, ห้องเก็บอุปกรณ์หม้อแปลง, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็จะเสียหาย เขาเลยออกแบบระบบดับเพลิงแบบใหม่นี้ขึ้นมา เรียกว่าสารดับเพลิงไพโรเจนแบบไม่นำไฟฟ้า ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาจากแนวความคิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด โดยจะเก็บรักษาอยู่ในรูปของแข็ง และจะทำปฏิกิริยาก็ต่อเมื่อถูกกระตุ้นเท่านั้น

จริงๆ แล้ว ผมว่าระบบดับเพลิงตัวนี้มันไม่ได้มีปัญหาอะไรด้วยซ้ำ แต่คนที่เข้าไปทำให้เซ็นเซอร์ของมันทำงานสิครับ คือสิ่งที่ต้องคำถามว่า ทำไมถึงปล่อยให้เป็นอย่างนั้น? เหตุการณ์นี้มันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือประมาทเลินเล่อหรือไม่? ผมว่างานนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ!! นี่คือความผิดพลาดที่เกิดจากวิชาชีพเลยนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย เรียกว่า 'หมองูตายเพราะงู' จริงๆ
 


ทีมผู้รับเหมาที่เข้าไปแก้ไขระบบดับเพลิงภายในตึก SCB ในครั้งนี้ ถูกว่าจ้างให้เข้าไปเปลี่ยนแท่งไพโรเจนแบบเดิม จากแบบปล่อย 'ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์' ให้เป็นแบบปล่อย 'ก๊าซไนโตรเจน' ซึ่งมีประสิทธิภาพการดับไฟที่ดีกว่า และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่ด้วยขั้นตอนการทำงานที่ผิดพลาด จึงเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งนี้ขึ้น

ถามว่าตัวคนงานที่เข้าไปเปลี่ยนตัวไพโรเจนเนี่ย เขารู้เรื่องไหม... ก็อาจจะเอาคนต่างด้าวมาช่วยเชื่อมช่วยอ๊อก มาเป็นลูกมือเฉยๆ อาจจะไม่ได้รู้เรื่องอะไร แต่คนที่คุมงานคนเหล่านี้สิ ต้องรู้อยู่แล้วว่าอะไรคืออะไร ต้องรู้ว่าตัวไพโรเจนมันทำงานยังไง ถ้าเห็นแล้วว่าเซ็นเซอร์ไม่ได้ตัดขณะปฏิบัติงาน ก็ต้องเตือนให้คนงานระมัดระวังได้แล้ว
และมีที่ไหน ปล่อยให้ทำงานกันตั้งแต่กลางวันยันกลางคืนแบบนี้ พอมาเกิดเหตุกลางดึก ยิ่งทำให้อลหม่านไปกันใหญ่ เรื่องแบบนี้มันไม่น่าจะพลาดกันได้ มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาสูญเสียอะไรแบบนี้เลย ถ้าคนที่คุมงานใส่ใจจริงๆ”



งานนี้ ต้องมีคนรับผิดชอบ!!

“ตามที่เกิดเหตุที่ SCB สำนักงานใหญ่ บริเวณชั้นใต้ดิน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 21.30 น. นั้น ขอชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้และไม่ได้เกิดเหตุระเบิดแต่อย่างใด ขณะนี้ได้ควบคุมสถานการณ์เรียบร้อยแล้วค่ะ
 
จากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าพนักงานตำรวจคาดว่า อาจจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้รับเหมาที่เข้ามาปรับปรุงระบบการป้องกันอัคคีภัยของอาคารเพิ่มเติม โดยการทำงานได้ไปกระตุ้นให้สารดับเพลิง (ก๊าซไพโรเจน) ทำงาน ซึ่งหลักการของก๊าซไพโรเจนจะทำให้ออกซิเจนหมดไป จึงทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ธนาคารขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต สำหรับสาเหตุในรายละเอียดอยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเบื้องต้นธนาคารจะให้ความดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม และความคืบหน้าจะขอชี้แจงในลำดับต่อไปนะคะ

นาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านแฟนเพจ "SCB Thailand" ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ของทางบริษัท ที่ได้แสดงความเสียใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสียเอาไว้ พร้อมยังชี้แจงว่าเอกสารส่วนใหญ่ในห้อง ไม่ใช่เอกสารสำคัญอะไร มั่นใจว่าไม่ใช่การลอบวางเพลิงอย่างแน่นอน


อย่างไรก็ตาม กรณีอุบัติเหตุจากระบบดับเพลิงในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นที่สนใจในความรู้สึกคนทั่วไป แต่ยังคงสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบภายในอาคารอย่าง ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จนต้องโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ส่วนต่างๆ ในสังคม โปรดหยิบเอาบทเรียนนี้มาเป็นกรณีศึกษาจากความผิดพลาด ที่ไม่ควรปล่อยผ่านและลืมเลือนไป!

1.มีการก่อสร้างต่อเติมปรับปรุง "ห้องมั่นคง" ที่ชั้น B2 ของอาคาร และในการก่อสร้างนั้นมีประกายไฟเกิดขึ้น หรือมีฝุ่นละอองเกิดเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงานพ่นควันออกมา

2.ระบบดับเพลิงอัตโนมัตินั้นเป็นก๊าซ(สาร) ไพโรเจน (Pyrogen) มีคุณภาพในการกำจัดออกซิเจน ทำให้บริเวณนั้น (ซึ่งมีคนงานจำนวนมาก) ขาด Oxygen ที่จะใช้หายใจ

3.เพราะการก่อสร้างอยู่ที่ชั้นใต้ดิน B2 ทำให้การระบายอากาศทำได้ยาก ไม่มีหน้าต่างเปิดสู่ภายนอก กลุ่มควันจึงลอยอยู่ในห้อง ไม่ออกไปไหน และออกซิเจนจากอากาศภายนอก ไม่สามารถเข้ามาในบริเวณนั้นได้ คนที่อยู่ภายในจึงยิ่งขาดอากาศหายใจ

4.การเข้าไปช่วยเหลือยากมาก เพราะสถานที่ใช้ระบบสแกนนิ้วมือในการเข้าไป (ซึ่งเป็นเรื่องปกติ) ทำให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือเข้าไปช้า หรือเข้าไปไม่ได้ จนต้องมีการทุบรื้อประตูเข้าไปช่วย

5.เมื่ออากาศหายใจไม่มี คนเข้าไปช่วยไม่ได้ อากาศไม่ถ่ายเท มีสาร Pyrogen ทำลายออกซิเจนอยู่... คนไม่มีอากาศหายใจ จึงเสียชีวิต

โศกนาฏกรรมกรณีเช่นนี้ น่าจะเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นในเมืองไทย จึงยังไม่มีการระมัดระวังกันเท่าที่ควร และขอให้เป็นครั้งสุดท้ายเทอญ

บริษัทรับเหมาที่รับช่วงต่อ, วิศวกรออกแบบอาคาร และวิศวกรความปลอดภัย... คือบุคคลทั้ง 3 ฝ่ายที่จำเป็นต้องเข้าให้ปากคำ รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องออกมาร่วมรับผิดชอบในเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งนี้ หากผลการตรวจสอบออกมาว่า สมควรได้รับข้อหา “กระทำการประมาทอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายในทันที”!!


ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: @amarin_bkk, เฟซบุ๊ก "SCB Thailand" และ จส.100




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น