xs
xsm
sm
md
lg

สู้จนเฮือกสุดท้าย! "นิตยสาร" ยังไม่ยอมตาย ตลาดออนไลน์-ฟรีก๊อบปี้รออยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


            นิตยสารกำลังจะตาย? แม้แต่ยักษ์ใหญ่วงการนิตยสารอย่าง GM ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ยังถึงกับต้องประกาศปรับรูปแบบใหม่ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนักอ่าน เสนอกลยุทธ์ เอาดีด้านฟรีแม็กกาซีนและสื่อออนไลน์ ย้ำ!! คุณภาพอัดเน้นและสอดคล้องกับ Life Style คนรุ่นใหม่
 
หันพึ่ง “Free Copy” หนียุคสิ่งพิมพ์ตาย!!

 
[ปกรณ์ พงศ์วราภา CEO บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)]

                การปรับตัวครั้งใหญ่สู่ฟรีแม็กกาซีนของนิตยสาร Mother&Care ในครั้งนี้นั้น ปกรณ์ พงศ์วราภา CEO บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่า นิตยสารเล่มนี้เปรียบเหมือนลูกที่เลี้ยงดูมากว่า 10 ปีแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องมีการเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ และรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

“นิตยสารในเครือ GM หลายเล่มมีการจัดพิมพ์ในรูปแบบของฟรีแม็กกาซีน ตัวอย่างเช่น 247 เป็นหนึ่งในสามของหนังสือแจกฟรีที่ดีที่สุดในประเทศ เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า หนังสือแจกฟรีเป็นสิ่งที่ควรจะทำ เพราะทำให้เข้าถึงผู้อ่านได้มากขึ้น คนอ่านจะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อ จุดที่แจกคือจุดกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้และทำการสำรวจมาอย่างดี  

มีหลายคนตั้งคำถามว่า มันจะเสี่ยงไปไหมในการทำหนังสือฟรีในยุคนี้ แต่อย่างไรก็ตามทุกวิกฤตมีทางรอดสำหรับผู้ที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปีนี้ 11 ของเด็กคนนี้ น่าจะเป็นปีที่เขาสามารถเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดได้ จากการร่วมมือของทีมงานที่มีคุณภาพของเรา และนิตยสาร Mother&Care ได้มีการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ ให้เป็นรูปแบบของแม่อุ้มลูก ซึ่งน่าจะสื่อความหมายได้ตรงที่สุด” 

  “ถ้าเราทำให้มีคุณภาพและน่าสนใจ ที่สำคัญคือฟรี ทำไมจะไม่มีใครอ่าน?โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการอำนวยการ นิตยสาร GM กล่าวเสริม หลังประกาศอย่างชัดเจนในงานแถลงข่าวการปรับโฉมใหม่ของนิตยสาร Mother&Care ‘New Change’ 10 ปีสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ว่า การที่นิตยสารจะอยู่รอดได้ ต้องนำวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ มาทดแทน  

 
[ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการอำนวยการ นิตยสาร GM ]

 
หลายคนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์อาจจะกลัวว่านิตยสารกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่เขากลับมองว่าเป็นโอกาส เพราะจริงแล้วๆการทำงานนิตยสารนั้น ถือว่าได้เปรียบกว่าการทำหนังสือประเภทอื่น เนื่องจากรวมทุกศาสตร์ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ การทำสารคดี การเขียนบทความ เพราะฉะนั้น แค่ปรับเพียงเล็กน้อยและนำทักษะมาปรับใช้ในฟรีแม็กกาซีน ซึ่งไม่ต้องไปหาซื้อแต่ได้เนื้อหาที่มีคุณภาพ

 

ปรับกลยุทธ์ รุกตลาดออนไลน์ดึงผู้อ่าน!



         “สูตรสำเร็จของการทำนิตยสาร คือการทำ content(เนื้อหา) ให้ถูกจริตของกลุ่มเป้าหมาย”

         ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฝากมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคดิจิตอล โดยมองว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนเปลี่ยนไป ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ไม่ยอมเสียเงินซื้อข้อมูลข่าวสาร เพราะสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้หลายช่องทาง ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
         แต่การเสพข้อมูลฟรีบนโลกอินเทอร์เน็ตในหลายๆครั้ง ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ว่า ข้อมูลนั้นจะถูกต้องหรือไม่ จุดนี้เองที่กองบรรณาธิการ จะเข้ามามีบทบาทช่วยคัดกรองก่อน ทำให้ยืนยันได้ว่าข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ สามารถเสพได้ฟรี และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ต่อความต้องการของคนยุคปัจจุบัน

   ด้าน สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother&Care กล่าวถึงกลยุทธ์ในการปรับตัวครั้งนี้ว่าเป็นการตอบสนอง life style ของพ่อแม่ในยุคดิจิตอล ทางนิตยสาร Mohter&Care มีความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางโลกออนไลน์มานานแล้ว และได้พัฒนามาตลอด ทั้งเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ที่ปรับปรุงรูปแบบใหม่ จนกระทั่งวันนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Mother&Care” มียอดกดไลค์อันดับหนึ่งในกลุ่มหนังสือที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว นอกจากนี้ยังขยายฐานผู้อ่านไปยังโรงพยาบาล โรงเรียน และกลุ่มพ่อแม่ในยุคปัจจุบันเพื่อความอยู่รอด


 
[ สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother&Care ]
 

นิตยสาร Mother&Care มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อให้เข้ากับสังคมที่ก้าวสู่ยุคดิจิตอลอย่างแท้จริง โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “3 On”  ก้าวแรกคือ On Free Magazine เป็นนิตยสารรายปักษ์ ที่เปลี่ยนจากการวางแผงเป็นการแจกฟรีตามสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมกับคุณพ่อคุณแม่ และกลุ่มครอบครัว  ก้าวที่ 2 คือ Online เป็นการพัฒนาสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และบล็อก เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวางสู่กลุ่มผู้อ่านในยุคดิจิตอล และก้าวสุดท้าย On Ground  การจัดกิจกรรมพิเศษ (Event) ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ครอบครัวยุคใหม่ และเด็กเล็ก เป็นต้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนกลาง และภูมิภาคอย่างทั่วถึง  


 
[ เฉลิมพล ปุณโณทก นักธุรกิจผู้คิดค้นนวัตกรรมหุ่นยนต์ดินสอ ]
 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในการรุกตลาดออนไลน์ ของนิตยสารที่เกี่ยวกับแม่และเด็กในเครือ GM คือการดึงผู้อ่านเข้าสู่โลกของแอปพลิเคชัน โดยการเปิดตัวหุ่นยนต์ ‘ดินสอ’ หุ่นยนต์ตัวนี้ออกแบบมาทำหน้าที่ผู้สูงอายุ ต่อมาได้มีการพัฒนาเพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเด็กได้ พ่อแม่สามารถแอปพลิเคชันให้หุ่นยนต์ดินสอทำงานเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลลูกน้อยสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการก้าวเข้าสู่สังคมในยุคดิจิตอลอย่างแท้จริง

“โลกเปลี่ยน นิตยสารไม่จำเป็นต้องตาย แค่เราเปลี่ยนวิธีนำเสนอ”  สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother&Care กล่าวทิ้งท้ายพร้อมประกายความหวังในดวงตา

 
 
ข่าวโดย : ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ : นิตยสาร Mother&Care , facebook/motherandcare
 
 




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น