xs
xsm
sm
md
lg

หากินกับขยะ!!? ยึดของเหลวขายประมูล... สนามบิน Thailand Only!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เท่ากับเป็นการหลอกลวงผู้โดยสาร” “ไม่ต่างจากปล้นแล้วมาขายต่อ” “ไม่มีประเทศไหนทำกับสินค้าที่ยึดมาแบบนี้หรอก” ฯลฯ สารพัดความคิดเห็นตอกกลับ หลังทราบถึงเส้นทาง “ตลาดค้าของเหลวมือสอง ของที่ถูกยึดจากสนามบิน” ว่าไม่ได้ขนเอาไปทำลายทิ้ง แต่ถูกนำมารวมห่อประมูลขายต่อ นำรายได้เข้าท่าอากาศยานเอง!! และดูเหมือนว่ากระบวนการเหล่านี้จะไม่ผิดกฎ-ระเบียบแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ถูกใจบรรดาเจ้าของสินค้ามือหนึ่งอยู่ดี นี่ถ้าไม่ใช่ประเทศไทย คงไม่มีวันได้เห็นการหารายได้สุดครีเอตแบบนี้จริงๆ!!


 

เจาะเส้นทาง "ตลาดของเหลวมือสองแบรนด์ดัง"

[ขายผลิตภัณฑ์มือสองออนไลน์ สินค้าทิ้งตรงจากแอร์พอร์ต]
"จองหลุดจากสนามบิน ของแท้ ราคาถูกมาก" แม่ค้ารายหนึ่งโพสต์ภาพขวดเครื่องสำอางหลากยี่ห้อ วางเรียงรายสนนราคาตามปริมาณของเหลวที่เหลืออยู่ในขวด ส่งต่อไปยังกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อขายของที่ชื่อ “ส่งต่อเครื่องสำอางราคาเบาๆ แบ่งปันกันสวย” เรื่องราวจึงบานปลายมาสู่การตั้งกระทู้ถาม ด้วยความสงสัยระคนแค้นใจของสมาชิกพันทิปรายหนึ่งในชื่อหัวข้อ "พนักงานสนามบิน สามารถเอาของเหลวที่ยึดจากผู้โดยสาร มาขายต่อได้เหรอคะ" และนี่คือคำถามที่รอให้ทางสนามบินออกมาตอบ...
 
“น่าหงุดหงิด เราเคยโดนสั่งให้ทิ้งที่ล้างเครื่องสำอางแบบเหลือเยอะด้วย คือพนักงานสนามบินเอามาขายต่อแบบนี้ก็ได้เหรอ?? เอาของเหลวพวกครีม, โรลออน, โลชั่น, สเปรย์ ฯลฯ มาขาย??
 
เราเคยโดนให้ทิ้งครีมเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เหลือนิดเดียว แต่เขาบอกว่าขวดมันขนาดเกิน เราก็โอเค ทิ้งไป คิดว่าเขาจะเอาไปทิ้งต่อ หรือจะเอาทำอะไร ตอนนั้นก็ไม่ได้คิด ช่างมันไป แต่ไม่ได้นึกว่าจะเอามาขายกันแบบนี้ เกินไปไหมเอ่ย?
 
เกินไปไหม? ล่าสุด ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกำลังตรวจสอบข้อมูลและจะให้คำตอบกับสังคมให้ได้เร็วที่สุด หลายคำถามที่ฝากเอาไว้จึงยังคาใจหลายต่อหลายคนอยู่ในขณะนี้

ผู้ที่พอจะรู้ข้อมูลบางราย ออกมาช่วยให้รายละเอียดบนโลกออนไลน์เอาไว้ว่า การขายต่อที่เห็นนี่ไม่ใช่พนักงานสนามบินเป็นตัวตั้งตัวตี แต่เป็นตัวสนามบินเองต่างหากที่ทำเป็นระบบ รวบรวมของที่ถูกยึดเหล่านี้เอามาให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้ามาเหมาประมูลเป็นตะกร้าๆ ไป เมื่อตามไปเจาะลึกในรายละเอียด สืบเส้นทาง “ตลาดของเหลวมือสอง” ทิ้งตรงจากแอร์พอร์ตเหล่านี้ไปเรื่อยๆ จึงได้รู้ว่า...

หากผู้โดยสารนำของเหลว เจล สเปรย์ หรือวัตถุและสารอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นำติดตัวขึ้นเครื่องไปเกิน 1,000 มล. ชิ้นที่เกินกำหนดมาจะถูกยึดเป็นของสนามบิน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดหลังจากนั้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศของทางกรมการขนส่งทางอากาศที่ระบุเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายใช้ของเหลวเหล่านั้นมาผลิตระเบิดหรือก่อวินาศกรรมบนเครื่องบิน


“อนุญาตให้นำของเหลว เจล และสเปรย์ ติดตัวขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องมีปริมาณไม่เกิน 100 มล.ต่อ 1 ชิ้น และแต่ละชิ้นเมื่อรวมกันแล้ว ห้ามเกิน 1,000 มล. และของเหลวดังกล่าว ถ้าจะนำขึ้นเครื่อง ต้องแยกเก็บรวมกันในถุงพลาสติกใสแบบซีลปิดได้ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน”

ถ้าผู้โดยสารไม่สามารถจัดการกับของกินของใช้ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวในกระเป๋าของตัวเองตามกฎสนามบินระบุเอาไว้ได้ พวกเขาก็จะถูกบังคับให้ต้องตั้งวางผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเอาไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่พนักงานผู้ตรวจค้น เพื่อส่งไปยังการขายต่ออย่างเป็นกระบวนการในภายหลัง

รู้หรือไม่ว่า... มีแม่ค้าผู้ยึดอาชีพ "ขายสินค้ามือสองทิ้งตรงจากสนามบิน" โดยเฉพาะจำนวนไม่น้อยเลย คนที่ทำงานอยู่ในสนามบินอยู่แล้วและอยากมีรายได้จากอาชีพที่เสริมกัน บางรายก็ใช้วิธีพุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง มุ่งหน้าตรงไปขอซื้อของเหลวส่วนเกินเหล่านั้นจากผู้โดยสารที่พกมาเกินกำหนดในกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง ซึ่งร้อยทั้งร้อยยินยอมที่จะขายต่อ เพราะคิดว่าดีกว่าทิ้งไว้ที่สนามบินให้เสียประโยชน์เปล่าๆ

แต่ถ้าจะทำเป็นกิจการระดับไฮโซ เป็นพ่อค้าแม่ค้าผู้หวังรวยจากการค้าของเหลวมือสองเหล่านี้ และไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับบุคคลที่ทำงานภายในสนามบิน ก็ต้องลงเงินทุนใน "หลักแสน" ต่อการเหมาซื้อ 1 เที่ยว เพื่อให้ได้สิทธิเข้าไปเลือกของข้างในระดับแบรนด์ดีๆ ดังๆ คุณภาพคับขวดก่อนรายอื่นๆ

[ส่วนที่เกินไปจากนี้ จะกลายเป็น "ของเหลวขายดี" ในตลาดประมูลผลิตภัณฑ์มือสอง หลังจากนั้น]
 
แต่ถ้าเงินไม่ถึงหลักนั้น ก็ต้องมีเงินลงทุน "หลักหมื่น" เพื่อให้ได้สิทธิเข้าไปประมูลซื้อ "สินค้าถุงดำ" จำนวน 1 เที่ยว ซึ่งเจ้าหน้าที่แพกเอาเหล่าของเหลวทิ้งตรงจากสนามบินเหล่านี้ไว้ในถุงดำถุงเดียวกัน ส่วนคนซื้อต่อก็ทำได้แค่ลุ้นว่าสินค้าภายในจะคละไปด้วยสินค้ามีราคา ให้สมกับที่ลงทุนวางเงินเอาไว้กับทางสนามบิน

หลังไปเหมาซื้อมาเรียบร้อยแล้ว เหล่านักโกยของเหลวจากท่าอากาศยานเหล่านี้ก็จะนำสินค้าทั้งหมดมาขาย โดยจะเอามาเปิดตลาดแบกะดินตามย่านต่างๆ วางแยกเป็นตะกร้าตามสรรพคุณของเครื่องสำอางนั้นๆ เช่น ครีมบำรุงหน้า, โลชั่นบำรุงผิวกาย, น้ำหอม, ยาบำรุงร่างกาย, เหล้า-ไวน์-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ ยิ่งถ้าสินค้านั้นๆ มียี่ห้อ เป็นสินค้าแบรนด์ดัง ยิ่งจะเป็น "เพชรในตม" เป็นของดีราคาถูกที่เหล่าลูกค้าอยากได้มาไว้ในครอบครอง

"น้ำหอม, อาหารกระป๋อง และยาสีฟันแบรนด์ดังจากต่างประเทศ" คือสินค้าขายดีที่ลูกค้าตลาดของเหลวมือสองนิยมซื้อ เพราะถือเป็นสินค้าหายาก และถ้าเทียบกับแบรนด์เดียวกันที่อิมพอร์ตที่มาขายในห้างฯ ไทยแล้ว บอกได้เลยว่าราคาต่างกันลิบแบบไม่เห็นฝุ่น การซื้อสินค้ามือสองทิ้งตรงจากแอร์พอร์ตในตลาดแบกะดินเหล่านี้ ถือเป็นสวรรค์ย่อมๆ ของเหล่านักชอปงบน้อยเลยก็ว่าได้


 

หากินกับของที่ถูกยึด... ถูกกฎ แต่ไม่ถูกใจ!

ถ้ามองในมุมพ่อค้าแม่ขายและเหล่านักชอปอาจถือว่าเป็นธุรกิจที่มีแต่ได้กับได้ เพราะในเมื่อสินค้าเหล่านั้นก็ไม่มีเจ้าของอีกต่อไป จะขนไปทำลายทิ้งเหมือนระเบียบสนามบินของประเทศอื่นๆ ก็ยิ่งน่าเสียดาย ขนใส่ถุงดำออกมาขายยังก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนเข้ารัฐได้มากกว่าไม่รู้กี่เท่า แต่เมื่อหันกลับมามองในมุมของเจ้าของสินค้า "ผู้ถูกยึด" บรรดาของใช้แสนรักเหล่านั้นดูบ้าง จะเห็นอีกมิติความคิดที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

"บอกเลยค่ะ เราไม่เคยซื้อของพวกนี้เลย และไม่คิดจะซื้อ จะสนับสนุนเลย เคยโดนยึดโฟมล้างหน้า Shisedo 10 หลอด เพราะลืมตอนกลับจากญี่ปุ่น ขอเดินกลับไปโหลดลงใต้เครื่องก็ไม่ยอม มันคือเงินเก็บเรา ของฝากญาติเรา และหยาดน้ำตาของเรา บอกตรงๆ เห็นแล้วทำใจซื้อไม่ลง สงสารคนโดนยึด ของแพงๆ ตั้งเยอะแยะ" Sense Lalada

"ถ้าน้ำหนักเกิน เป็นของเหลวก็ไม่ต้องให้ยึดไปเป็นขวดดีๆ หรอกค่ะ ให้บีบใส่ขยะไปเลย ไม่ปวดใจ เราซื้อมาแพงๆ แต่ก็ต้องตามกฎ" Ananya Boonpun

"ของเราก็เคยโดน เป็นน้ำหอมกับครีมล้างหน้าของ skII ไปเชียงใหม่แล้วนัดกับที่บ้าน ไปเจอสนามบิน พอดีตื่นสายเลยเอาของพวกนี้ที่ใช้เสร็จตอนเช้า ยัดตามไป แล้วพอไปถึงคือมันสาย คิวตอนเช้ายาวมาก รีบวิ่ง ลืมนึกว่ามีน้ำหอมกับครีมล้างหน้า เลยจะวิ่งไปโหลด แต่พนักงานคนนึง... นางบอกไม่ทัน ให้ทิ้งเลย

เราก็นะ แบบว่าเราไม่ได้ คนอื่นก็ต้องไม่ได้ เลยบีบทิ้งตรงนั้นเลย ส่วนน้ำหอม เราใช้พวงกุญแจห้อง ตอกแรงๆ ให้มันร้าว แล้วโยนลงไปในถุงขยะที่สนามบินให้ใส่นั้นแหละ แล้วก็มีพนักงานผู้หญิงมีอายุหน่อยนึงพูดออกมาว่า... เสียดาย ทำแบบนี้ทำไม ของแพง อย่างน้อยก็มีคนได้ใช้ต่อ... ถามกูสักคำหรือยังว่าอยากให้ใครใช้ต่อไหม" FeoLiiTa

"ไม่แตกต่างจากการปล้นแล้วมาขายต่อ น่ารังเกียจที่สุด ถ้าทำแบบนี้เรียกว่าถูกต้องจริง ทำไมต่างประเทศเขาถึงทำลาย แย่มาก... โจรในเครื่องแบบ" Juttarat Saisong

"เข้าใจว่าเอาไปทำลายทิ้งเพราะเป็นสิ่งของต้องห้าม ห้ามขึ้นเครื่อง กลัวระเบิด (ที่ให้ยึดก็เพราะเข้าใจว่าเราผิด เราต้องทำตามกฎ) แต่นี่คือการเอาสิ่งของต้องห้ามมาประมูลขายต่อ!!! สุดๆ!!" Phattira Klinlakhar

"ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างกับปล้นของเขามาหรือเปล่าครับ" Kittikul Chotikunta

"ไม่ถูกต้อง ควรทำลายทิ้ง เห็นแก่เงิน" Chetawat Kontongern

"ไม่มีประเทศไหนที่จะนำสินค้าเหล่านั้นมาขายต่อ เท่ากับเป็นการหลอกลวงผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบิน และถูกยึดสินค้าต่างๆ เหล่านี้ไป" Kaewkwan

[ถ้าเป็นต่างประเทศ จะนำสินค้าที่ยึดมาไปทำลายทิ้ง ไม่มีมาขายต่ออย่างบ้านเรา]

"มิน่า... เอะอะไรก็ไม่ผ่าน เอามาขายแบบนี้นี่เอง" ประมวล กาละครัว

"เออ... ถ้าเอาไปบริจาคให้นักโทษหรือคนยากไร้ ว่าไปอย่าง นี่เอามา "หากินต่อ" หน้าตาเฉย แล้วแบบนี้จะแยกแยะได้ไงว่า "ยึดเพราะผิดกฎจริง" หรือ "ยึดเพราะเจ้าหน้าที่อยากเอาไปใช้เองหรือไปขายต่อ?" คือมันเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบได้เลยนะครับ

พวกของเหลวที่ใช้ล้างหน้า สระผม หรือทาตัวพวกนี้ จริงๆ แล้ว มีประโยชน์มากสำหรับคนจรจัดนะครับ ผมเคยดูรายการดังมาก 'The Secret Millionaire' ที่เป็นรายการ reality เกี่ยวกับมหาเศรษฐีปลอมตัวไปค้นหาคนดีมีน้ำใจของสังคม มีตอนหนึ่ง ชายหนุ่มที่ลาออกจากตลาดหุ้นมาทำงานการกุศลเล็กๆ ของตัวเอง เขาจะไปขอบริจาคพวกแชมพู สบู่ ที่แขกใช้เหลือจากโรงแรม หรือของใช้ค้างสต๊อกจากซูเปอร์ฯ มหาเศรษฐีปลอมตัวไปถามว่าเอามาทำอะไร เขาบอกว่ารวบรวมนำไปแจกคนเร่ร่อนครับ พวกเขาต้องการมาก

บางคนที่ได้รับ ไม่ใช่คนเร่ร่อน แต่เป็นคนที่เจอภาวะวิกฤตชีวิต ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อของชำ ก็จะมาต่อแถวรอรับครับของพวกนี้ เซตนึงเขาใช้ได้ 1 อาทิตย์เลยครับ มหาเศรษฐีเห็นคนจูงลูกๆ มารอรับของพวกนี้ น้ำตาไหลเลย คือเขาคิดไม่ถึงว่าของเล็กๆ ดูไร้ค่าเหล่านี้จะมีค่ามหาศาลสำหรับคนยากไร้จริงๆ" ผึ้งน้อยพเนจร

"เจ้าหน้าที่บอกตอนยึดน้ำหอมว่า ยังไงทางเราก็ไม่เก็บไว้ จะนำไปทำลายทิ้ง!!?? งง... ทำลายยังไง ถึงเอาของที่ยึดไว้ไปขาย แย่จริงๆ ชาวต่างรู้คงเอาไปตีแผ่อีก... Thailand Only!!" Supattra RZ

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: suvarnabhumiairport.com




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น