“ทางที่ดีที่สุดที่จะทำได้ คือการมองไปข้างหน้า!” โรจิเอร์ แวนเดอร์ไฮด์ ผู้อำนวยการงานเทศกาลแสงมืออาชีพระดับอินเตอร์ พร้อมแล้วที่จะปลดปล่อยพลังงานด้านบวกจากศิลปิน 2 ซีกโลก มาฝากไว้บนพื้นที่แห่งนี้ที่เดียว “ย่านราชประสงค์” เพื่อเยียวยารอยอดีตที่เคยบอบช้ำ ผ่านการส่องสว่างด้วย “ความรัก” “ความหวัง” และ “มิตรภาพ” ผ่านศิลปะแห่งแสงสีที่จะทำให้ทุกดวงใจอบอุ่นไปอีกนานเท่านาน...
กรุงเทพฯ น่าอิจฉากว่า อัมสเตอร์ดัม!
[“Thailand Countdown Clock” กลางสี่แยกราชประสงค์ เริ่มนับถอยหลังสู่ศักราชใหม่แล้ว!]
“5 ธ.ค.58 - 5 ม.ค.59” คือช่วงเวลาที่เราจะได้มีโอกาสติดตามผลงานของเขาบนผืนแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรก โรจิเอร์ แวนเดอร์ไฮด์ (Rogier Van Der Heide) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ Amsterdam Light Festival มือวางอันดับต้นๆ ในการจัด “เทศกาลศิลปะการจัดแสง” จากฟากฝั่งยุโรป
เขามาพร้อมศรัทธาอย่างแรงกล้าว่า การส่องสว่างผ่านชิ้นงานจากศิลปินระดับโลกที่คัดเลือกให้มาเข้าร่วม รวมถึงผลงานการออกแบบแสงจากศิลปินไทย จะช่วยมอบ “รอยยิ้ม” และ “มิตรภาพ” ให้แก่พื้นที่อันคลาคล่ำไปด้วยผู้คนกลางใจเมืองแห่งนี้ได้ เพียงแค่ลองก้าวเท้าเข้ามาเสพสีสันทางสายตาในงาน “Thailand The Kingdom of Light 2” งานเทศกาลแสงที่ได้รับการบันทึกในปฏิทินการท่องเที่ยวให้เป็น “กิจกรรมแนะนำของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”
เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีการเปิดตัวงาน “Bangkok Illumination” เทศกาลจัดแสงประจำย่าน The EM District ไป พอมางานนี้ก็ยังคงดึงดูดผู้คนด้วยผลงานของนักออกแบบแสงในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จึงเกิดข้อสงสัยว่าอะไรทำให้ประเทศไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับศิลปะแขนงนี้กันในวงกว้าง แม้แต่นาฬิกาแสง “Thailand Countdown Clock” กลางสี่แยกราชประสงค์ที่กำลังเดินถอยหลังสู่ศักราชใหม่ ก็กลายมาเป็นไฮไลต์จากศิลปะแบบเดียวกัน คนถูกถามได้แต่ยิ้มรับบางๆ แล้วจึงให้คำตอบจากมุมมองของเขา
“ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ นะครับที่มีงานจัดแสงให้เห็นเยอะขึ้น แต่เมืองอื่นๆ ทั่วโลกก็เป็นเหมือนกัน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้วยที่ทำให้เราสามารถเข้าถึง “แสง” ได้ง่ายขึ้น ถ้าเทียบกับสมัยก่อนแล้ว เทคโนโลยีทางด้านแสงมันต้องทำงานกับการใช้ไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งค่อนข้างอันตรายแล้วก็เสี่ยงมาก แถมตัวอุปกรณ์หลายๆ อย่างก็ดูมีราคาแพง
แต่ทุกวันนี้ เราสามารถแปลงเทคโนโลยีทางด้านแสงเข้าไปอยู่ในระบบดิจิตอลได้แล้ว ง่ายๆ เลย แค่ใช้ไอโฟน คุณก็สามารถเปลี่ยนสีของแสงได้แล้วโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เลยกลายเป็นว่าใครก็สามารถเล่นกับแสงหรือสร้างให้เกิดอะไรที่สวยงามขึ้นมาได้ และด้วยความสะดวกสบายหลายๆ อย่างนี้แหละ ที่ทำให้คนเลือกที่จะจัดเทศกาลแสงกันมากขึ้น
[“Under Skywalk” ไฟรุ้งทรงตาข่าย]
ถามว่าเมืองไทยมาบูมเรื่องนี้ช้าไปไหม? ถ้าเทียบกับอัมสเตอร์ดัม ผมเริ่มมันเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วนะ เริ่มมันด้วยงานที่สเกลเล็กมากๆ คิดดูว่าในงานมีชิ้นงานจัดแสดงแค่ชิ้นเดียว (ยิ้ม) จนทุกวันนี้ เรามีงานออกแบบจากศิลปินถึง 45 ชิ้น และผู้มาเข้าชมทุกๆ ปีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
ส่วนงานครั้งนี้ที่กรุงเทพฯ ผมไม่รู้ว่าคนไทยมองมันยังไง แต่ผมมองว่าเรามีงานออกแบบแสงมาจัดแสดงถึง 8 ชิ้นงาน (3 ชิ้นงาน ส่งตรงมาจากต่างประเทศ อีก 5 ชิ้นงานออกแบบโดยศิลปินและนักศึกษาไทย) ผมเลยมองว่ามันเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่อยู่เหมือนกันนะถ้าเทียบกับจุดเริ่มต้นของผมที่อัมสเตอร์ดัม (พูดไปยิ้มไป) ผมเลยเชื่อว่ามันจะนำทางให้เราไปสู่จุดหมายที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต”
[งานออกแบบไฟ ฝีมือนักศึกษามหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี]
เมื่อผลงานศิลปะจาก 2 ฟากฝั่งเดินทางมาบรรจบ เรื่องราวแห่งความแตกต่างและคล้ายคลึงจึงถูกผลักให้มีรายละเอียดน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ลองให้ผู้อำนวยการงานจัดแสงระดับอินเตอร์นายนี้ลองหยิบสักมุมมาแลกเปลี่ยนเอาสนุก จึงเกิดเป็นเรื่องเล่าเบาๆ ที่มีมิติทางวัฒนธรรมที่น่าค้นหา
“ในอัมสเตอร์ดัม พอฤดูหนาวเวียนมาถึงเมื่อไหร่ เราจะถูกโอบล้อมไปด้วยความหนาวเย็นและความมืด ประมาณบ่าย 3 บ่าย 4 ก็มืดสนิทแล้วครับ นาฬิกาชีวิตพวกเราหลังจากนั้นก็คือการต้องอยู่ภายใต้แสงไฟ ผู้คนที่ออกไปทำงานต้องกลับบ้านพร้อมกับความมืดทุกวัน มันเลยเป็นที่มาของการจัดเทศกาลแสงขึ้นมา เพราะเราอยากทำอะไรก็ได้ให้เมืองที่เราอยู่มันมีแสงสว่างขึ้นมาได้บ้างในช่วงฤดูหนาวของทุกๆ ปี วัตถุประสงค์ในการจัดแสงของบ้านผมกับที่กรุงเทพฯ มันเลยต่างกัน
และจริงๆ แล้ว ฝั่งนู้นไม่เหมาะกับงานจัดแสงเท่าเมืองไทยด้วยซ้ำนะ เพราะเราต้องต่อสู้กับอุปสรรคหลายอย่างมากๆ กว่าจะจัดงานงานนึงได้ มีทั้งปัญหาเรื่องอากาศที่หนาวเย็น หนาวจนมีน้ำค้างแข็งจับตัวที่ผลงาน ไหนจะมีเรื่องพายุอีก และเราก็ต้องขนถ่ายชิ้นงานไปจัดแสดงกลางแจ้ง แต่อย่างกรุงเทพฯ จะไม่มีอุปสรรคอะไรแบบนี้เลย ต้องบอกว่าบ้านเมืองคุณน่าอิจฉามากๆ ครับที่มีสภาพอากาศที่คงที่ ทำให้มีหลายองค์ประกอบเกื้อให้จัดแสงได้ง่ายกว่าเยอะเลย”
“แสง” ภาษาสากลที่เข้าใจง่าย
[อุโมงค์ไฟหลากสี "Skywalk" สยาม-ชิดลม]
“ศิลปะเข้าถึงยาก” เป็นคำอ้างติดปากที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในประเทศไทย เมื่อได้รับรู้บางมุมของเพื่อนต่างวัฒนธรรม โรจิเอร์ก็ได้แต่หัวเราะรับเบาๆ มอบยิ้มบางๆ แล้วบอกด้วยน้ำเสียงไร้กังวลว่า “ไม่เป็นไร เพราะศิลปะการสื่อสารด้วยแสง คือศิลปะที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดแล้ว”
“มันคือภาษาสากลที่คนทั่วโลกเข้าใจได้นะ มันไม่มีพรมแดนด้านภาษา เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรมมาเป็นขีดจำกัดในการสื่อสาร แสงมีความสำคัญกับชีวิตคนเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ผมเห็นมีเทศกาลที่การพูดถึงความเชื่อเรื่องดวงดาวอยู่บ่อยๆ มีประเพณีลอยโคม มีการจุดพลุ-ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ผมมีเพื่อนที่อยู่ทางแอฟริกา ก็เห็นว่าเขามีเทศกาลการบูชาแสงด้วยนะครับ ผมเลยคิดว่าแสงคือภาษาสากล และเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่มนุษยชาติจะสามารถเข้าถึงร่วมกันได้ง่ายที่สุดแล้ว
แสงคือชีวิต ถ้าไม่มีแสงอาทิตย์ เราก็ไม่อาจมีชีวิตต่อได้ แสงคือพลังงานที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ตื่นเช้ามาเราก็เจอกับแสงแล้ว แสงช่วยให้เรากระปรี้กระเปร่า แสงคือสัญลักษณ์ของพลังงานด้านบวก มันคือสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมโยงถึงกันได้ ดังนั้น พอมีงานเทศกาลเกี่ยวกับแสงขึ้นมา มันเลยไม่ยากที่จะสร้างความรู้สึกร่วมกันในแง่มุมบวก ช่วยให้รับรู้ได้ถึงความสุขที่รายล้อมรอบเราอยู่ผ่านความสว่างที่ถูกออกแบบมา ผมว่าแค่ลองเดินเข้ามาแวะดูชิ้นงานชิ้นนึงในงานนี้ที่เป็นรูปหัวใจ แค่นั้นก็ทำให้ใครต่อใครยิ้มได้แล้วล่ะ” นักออกแบบผมบลอนด์ ยิ้มบางๆ ตบท้าย
ปกติแล้ว โรจิเอร์จะออกแบบชิ้นงานของตัวเองประดับเอาไว้ในเทศกาลด้วยแทบจะทุกครั้ง แต่สำหรับการโชว์ฝีมือในไทยครั้งแรกครั้งนี้ เขาขอเก็บเซอร์ไพรส์นี้เอาไว้ก่อน หยิกแกมหยอกไว้ว่าเอาไว้ปีหน้า จะมาขอออกแบบผลงานเพื่อเทศกาลนี้โดยเฉพาะให้เลย เพราะครั้งนี้เขาอยากทำหน้าที่ดีไซเนอร์ผู้คัดเลือกผลงานให้ดีที่สุดก่อน เพื่อให้ทุกอย่างตรงตามคอนเซ็ปต์ที่ได้วางไว้
“ผมต้องทำหน้าที่คัดเลือกผลงานอย่างเต็มความสามารถ ต้องคอยสื่อสารกับตัวศิลปิน ดูแลเรื่องการขนย้ายงานทั้งหมดมาติดตั้งที่นี่ ผมพยายามทำงานให้หนัก ศึกษาให้มาก เพราะมันคงไม่มีอะไรที่เราจะทำได้ดีไปกว่าการทำงานหนักแล้วล่ะครับ (ยิ้ม) แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ทำงานหนักยิ่งกว่าผมอีกนะ พวกเขาคือกลุ่ม “TCEB (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน)”
ตอนทำงานในกรุงอัมสเตอร์ดัม ถึงเราจะมีชิ้นงานที่ต้องจัดการหลายชิ้น แต่เราก็มีองค์กรใหญ่ที่ช่วยเข้ามาจัดการ มีอาสาสมัครถึง 200 กว่าคนมาคอยช่วย, มีทีมสตาฟอีกอย่างน้อย 20 ราย, มีศิลปินเป็นพันๆ คนที่เข้ามาดูงานในแต่ละปี ฯลฯ ซึ่งมันก็จะกดดันต่างกัน เพราะเวลาทำงานที่นู่นจะมีศิลปินที่มาคอยดูงานเราด้วย แต่กับที่นี่สเกลมันเล็กลงมาหน่อย แต่กลับมีคนมาจัดการตรงนี้น้อยกว่ามาก โดยเฉพาะ TCEB ที่ช่วยจัดการทุกอย่างให้ ผมว่ามันเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆ เลย
ผมแค่หวังว่าจะได้เห็นผู้คนมา connect กันผ่านศิลปะการจัดแสงในครั้งนี้ แค่ชิ้นงานชิ้นเดียวที่ตั้งเอาไว้ แล้วมีผู้คนมาเดินเล่น วนผ่านไปมา แค่มันทำให้คนแปลกหน้าหันมามองหน้าแล้วยิ้มให้กันได้ มอบมิตรภาพให้แก่กัน แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว เพราะรอยยิ้มคือสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วในชีวิตของคนเรา”
[“195 Bottles” ผลงานที่จะช่วยสร้างรอยยิ้ม]
“195 Bottles” ผลงานของครีเอทีฟชื่อดังแห่งเนเธอร์แลนด์ “Saskia Hoogendoorn” และ ”Lieuwe Martijn” คือชิ้นงานไฮไลต์ที่โรจิเอร์คาดหวังว่าจะสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้คนที่สัญจรไปมาได้ มันคือประติมากรรมรูป “หัวใจ” ที่สร้างขึ้นมาจากขวดน้ำ เป็นชิ้นงานที่เคยจัดแสดงใน “Amsterdam Light Festival” แต่ครั้งนั้นมีองค์ประกอบอยู่เพียง 178 ขวด ซึ่งเป็นจำนวนเชื้อชาติที่อยู่อาศัยในอัมสเตอร์ดัม ส่วนครั้งนี้ที่ตั้งใจเปลี่ยนให้เป็น 195 ขวด ก็เพราะต้องการสื่อสาร message ใหม่ออกไป โดยเจาะจงให้ตัวเลข 195 แทนจำนวนประเทศทั้งหมดทั่วโลก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “ความปรองดอง” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทั้งโลกนั่นเอง
“หัวใจสำคัญของงานนี้คือเรื่อง “ความรัก” และ “มิตรภาพ” ผมเลยให้ชิ้นงานรูปหัวใจชิ้นนั้นเป็นไฮไลต์ของงานนี้ครับ มันทำมาจากขวดหลายๆ ใบ เพื่อใช้เป็นตัวแทนของนานาอารยประเทศ เป็นชิ้นที่น่าจะสร้างรอยยิ้มให้คนที่มาดูได้นะ ผมแอบหวังไว้อย่างนั้น (ยิ้ม) จินตนาการเอาไว้ว่าถ้าคุณมาจากประเทศอื่น คุณก็ต้องมาหาธงชาติของคุณอยู่แล้ว และพอได้เจอ มันก็จะมีปฏิสัมพันธ์ มีการพูดคุย หรือมีพลังบวกอะไรบางอย่างเกิดขึ้น
["Floating Light" แสงสีที่เชื้อเชิญให้เข้ามาลองเล่น]
อย่างตัวชิ้นงาน “Floating Light” เป็นชิ้นงานที่ได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ ในตอนตั้งที่อัมสเตอร์ดัม มีคนเข้ามาเดินเล่นลอดแนวแสงกันอย่างสนุกสนาน พอเอามาตั้งไว้ที่นี่ ผมก็รอคอยอย่างใจจดใจจ่อที่จะได้เห็นปฏิกิริยาของคนที่เข้ามาร่วมสนุก อาจจะมีคนเข้ามาลูบๆ คลำๆ ถ่ายรูปเล่นกับมันในหลากหลายรูปแบบ (พูดไปยิ้มไป) มันเป็นสิ่งที่ผมมีความสุขและตื่นเต้นเสมอที่จะได้เห็นครับ”
ราชประสงค์ = ศูนย์กลางความต่างของโลก!
[ดวงไฟแห่งศรัทธา ณ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ]
อะไรคือเสน่ห์ของ “สี่แยกราชประสงค์”? คำถามนี้ถูกยิงตรงไปยังนักออกแบบผู้มีประสบการณ์จัดงานระดับอินเตอร์มาแล้วหลากสถานที่ทั่วโลก และนี่คือคำตอบที่น่าประทับใจจากสายตาแขกผู้มาเยือน
“เสน่ห์ของมันอยู่ที่ “แยก” ที่รวมเอาทุกอย่างมาบรรจบกันครับ คือไม่ใช่แค่สถานที่ที่ตัดผ่านให้ถนนได้มาบรรจบกัน แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ดึงเอาผู้คนที่มีความแตกต่างกันในหลากหลายรูปแบบมาไว้ที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ความแตกต่างระหว่างคนต่างชาติต่างภาษา, คนจน-คนรวย, คนที่แบ็กแพกมาเพราะอยากจะเห็นความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม-คนที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวงแห่งนี้เพื่อความก้าวหน้าในชีวิต ฯลฯ ผมว่ามันน่าสนใจมากๆ ที่ที่แห่งนี้สามารถเอาความแตกต่างจากทุกมุมโลกมาไว้ใจกลางเมืองแบบนี้ได้
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ที่แห่งนี้ก็พร้อมอ้าแขนรับคุณเสมอ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สี่แยกตรงนี้มีผู้คนสัญจรไปมาแน่นขนัดอยู่ตลอดเวลาก็ได้นะ และนี่แหละครับคือเสน่ห์ของราชประสงค์ที่ผมมองเห็น เสน่ห์ดึงดูดของการเป็น “จุดศูนย์กลางของโลก” คือการรวมความแตกต่างเอามาไว้ที่นี่ที่เดียว ยิ่งได้มาจัดแสดงงานในจุดที่มีมิติของผู้คนมากมายขนาดนี้ มันยิ่งน่าสนุกสำหรับตัวศิลปินนะ มันคือความน่าตื่นเต้นของการสื่อสารกับกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ มันคือโอกาสงามๆ สำหรับคนสร้างงานอย่างพวกเรา”
[“Origami Elephants (ช้างออริกามิ)” คัดเลือกมาให้ประเทศไทยโดยเฉพาะ]
“Origami Elephants” ผลงานศิลปินชาวต่างชาติ “Chris Bosse” คืออีกหนึ่งชิ้นงานที่เขาภูมิใจนำเสนอ มันคืองานออกแบบโคมไฟโดยมีไอเดียเรื่อง “ออริกามิ” (การพับกระดาษเป็นรูปทรงต่างๆ ตามแบบฉบับญี่ปุ่น) ที่สะท้อนให้เห็นว่าศิลปินที่มาร่วมแสดงงานในครั้งนี้ ได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพื่อให้ศิลปะการออกแบบวัตถุและแสง สามารถดึงดูดคนในท้องที่ได้จริงๆ
“มันเป็นงานที่มีแนวคิดมาจากรากวัฒนธรรมไทยเลยครับ ที่มี “ช้าง” เป็นสัญลักษณ์สำคัญมาโดยตลอด อันนี้คือเหตุผลที่เราเลือกว่าต้องเป็นช้างนะ เพราะถ้าเอางานเดียวกันนี้ย้ายไปจัดแสดงที่อัมสเตอร์ดัม เราจะต้องเลือกเป็นอย่างอื่นแทน อาจจะเปลี่ยนเป็น “เสือ” อย่างที่เคยจัดที่ไชน่าทาวน์ไป ตรงนี้แหละครับคือรายละเอียดความต่างของการเลือกให้เหมาะกับแต่ละสถานที่ที่เราใส่ใจครับ”
คาดหวังว่าการส่องสว่างในครั้งนี้ตลอดแนวราชประสงค์ จะช่วยลบมุมมืดที่เคยสั่นคลอนจิตใจคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน? นักออกแบบร่างสูงนิ่งคิดพักหนึ่ง แล้วให้คำตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า...
“ถึงพื้นที่ตรงนี้จะเคยเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ แต่เราก็อยากให้มองเห็นว่ายังมีด้านสว่างให้เราได้มองเห็นกันในวันนี้นะ เราต้องมองไปข้างหน้า เดินไปข้างหน้า! เพราะมันเป็นทางเดียวที่ดีที่สุดที่จะทำได้...
ผมอยากจะบอกว่าไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นนะครับที่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่เรายังมีการก่อการร้ายที่ปารีส มีภาพความหลังที่ไม่อยากพูดถึงในอีกหลายๆ แห่ง มีเหตุการณ์ช็อกโลกตั้งแต่ 9-11 ที่อเมริกา แต่ถ้าเรายิ่งขวัญหนีดีฝ่อ เหตุการณ์มันก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก...
สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ดีที่สุดก็คือการมอบความกล้าให้แก่กันและกัน แล้วจับมือกันเดินไปข้างหน้า! แล้วเราจะสามารถฟันฝ่าทุกเรื่องเลวร้ายต่างๆ ไปด้วยกันได้ในที่สุด นี่แหละคือ message ที่เราอยากจะนำเสนอ ผมอยากให้ “ไฟ” ทั้งหมดนี้ เป็นตัวแทนของ “ความหวัง” และการ “ส่องสว่าง” ให้แก่ทุกชีวิต”
[บรรยากาศงาน "Thailand The Kingdom of Light" เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่ได้เชิญศิลปินระดับโลกมาเข้าร่วม]
[จุดจัดแสดงไฟในงาน "Thailand The Kingdom of Light 2"]
กลับมาอีกครั้งกับงานเทศกาลแสงสุดยิ่งใหญ่ Thailand the Kingdom of Light : Celebrate the light ครั้งที่2 5ธันวาคม 2558 - 5...
Posted by Thailand Kingdom of Light on Sunday, December 13, 2015
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ข้อมูลเพิ่มเติม: แฟนเพจ “Thailand Kingdom of Light”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- สุดยอด “นักจัดแสง” ระดับโลกสู่ไทย! “เพราะเคยตาบอด ผมจึงใช้แสงบำบัดชีวิต”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754