xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตแบบอย่าง “สมเด็จพระสังฆราช” สถิตใจชาวไทยกว่า 24 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เนื่องในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2558 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ทีมข่าว ผู้จัดการ Live จึงถือโอกาสขอรวบรวมคำสอน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้แสดงความสํานึกในพระเมตตาและพระบารมีธรรม ควรน้อมเป็นแบบอย่างนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สุข....


 

พระประวัติชีวิต..ที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

พระประวัติชีวิตและผลงานของสมเด็จพระสังฆราช เป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การยึดถือเป็นแบบอย่างของคนทั่วไป อย่างน้อย 2 ประการคือ ชีวิตแบบอย่าง และปฏิปทาแบบอย่าง ชีวิตแบบอย่างของสมเด็จพระสังฆราช นั้นก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่วๆ ไป คือมีทั้งผิด หวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรม หลายประการที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต ชีวิตของพระองค์จึงมีแต่ความสมหวังมากกว่าผิดหวัง มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว และมีความดีใจมากกว่าเสียใจ

ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าวพระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ หรือทรงเจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หากวิเคราะห์ ตามที่ปรากฏในพระประวัติ ก็จะเห็นได้ว่า พระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ ก็คือ อดทน ใฝ่รู้ กตัญญู ถ่อมตน คารวธรรม




พระคุณธรรมประการแรกที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของสมเด็จพระสังฆราช คือ ความอดทน (ขันติ) ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย จนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนัก ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่น ในเวลานั่งสอบ และยังต้องอดทนต่อเสียง ค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น

พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมาก็คือ ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอดแม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ ก็ไม่เคยจืดจาง ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า “เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”

พระคุณธรรมข้อกตัญญู สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ เช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหากไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ 1 ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ 2 ฉะนั้น เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด




พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ) ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น เพราะความถ่อมตน สมเด็จพระสังฆราช จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใครๆ แต่มักตรัสว่า “แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน” บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ “ใครๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”

ข้อสุดท้ายพระคุณธรรมข้อคารวธรรม คือความเคารพในพระรัตนตรัย ความเคารพในพระพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์ เช่น ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระ ผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์ อะไรหากมีอาวุโสพรรษามากกว่า พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ เมื่อมีพระสงฆ์ จากที่ต่างๆ มาเข้าเฝ้า หากมีพระเถระผู้เฒ่ามาด้วย ก็จะทรงถามก่อนว่าท่านพรรษาเท่าไร หากมีอายุพรรษามากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย

พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของสมเด็จพระสังฆราช เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่าง ภาษาชาวโลกก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือ เป็นแบบอย่าง ได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทาง โลกหรือชีวิตทางธรรม…
 
 



“ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา”

 
พระองค์ทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวม 24 ปี ถือว่ายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราช ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อพุทธศาสนาอย่างมากมาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จนได้รับทูลถวายตำแหน่งผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555 ในการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศ และตลอดห้วงระยะเวลาที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาอย่างยาวนานนั้น ทรงปฏิบัติบำเพ็ญต่อพระศาสนา ประชาชน และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ พอสรุปโดยสังเขป ดังนี้




ด้านสาธารณูปการ ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก คือ ปูชนียสถาน อาทิ พระอารามวัดต่างๆ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรี และยังทรงก่อสร้างโรงเรียน คือโรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร และโรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี อีกทั้งยังได้ประทานทุนการศึกษาให้แก่เด็กเรียนดีแต่ยากจนเป็นจำนวนมาก

ด้านสาธารณสุขและสาธารณกุศล พระองค์ท่านทรงอำนวยการก่อสร้างตึกหลายแห่งในหลาย ๆ โรงพยาบาล อาทิ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปริณายก พร้อมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช ณ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี




ด้านการพระศาสนา สมเด็จพระสังฆราชทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย และยังทรงเป็นพระอาจารย์รุ่นแรก รวมถึงมีพระดำริส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ขยายการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งประทานทุนการศึกษาแก่พระภิกษุให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ

อีกทั้ง ยังทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป อาทิ ทรงเรียบเรียงวากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบ การศึกษาของนักเรียนบาลี และทรงอำนวยการจัดทำ ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ ประเภทพระธรรมเทศนา มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วเช่น ปัญจคุณ 5 กัณฑ์, ทศพลญาณ 10 กัณฑ์, มงคลเทศนา, โอวาทปาฏิโมกข์ 3 กัณฑ์, สังฆคุณ 9 กัณฑ์ เป็นต้น




7 วิถี สมถะ

พระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพส่วนมากอยู่ในสมณเพศมาโดยตลอด ยังใช้ชีวิตเสมือนบุคคลทั่วไป ทรงมีความถ่อมพระองค์ ทรงปฏิบัติอย่างเรียบง่ายเหมือนกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง พระองค์จะทรงเตือนพระสงฆ์ และสามเณรอยู่เสมอว่า "พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา" พระองค์ทรงไม่สะสมวัตถุสิ่งของที่มีผู้นำมาถวาย โดยจะทรงแจกจ่ายต่อไปตามโอกาส มีเพียงเครื่องสมณบริขารหรือเครื่องใช้สอยของพระสงฆ์ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ด้วยความเรียบง่าย สิ่งของเครื่องใช้ของพระองค์ก็จะเป็นของมือสองเสียส่วนใหญ่ อาทิ




1.โต๊ะทรงงานของพระองค์ อีกทั้ง ยังเป็นโต๊ะรับแขกของสมเด็จพระสังฆราชด้วย รอบๆ โต๊ะทรงงานของพระองค์ ยังแวดล้อมไปด้วยหนังสือธรรมะ หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และหนังสือภาษาอังกฤษจำนวนมากที่พระองค์ทรงโปรดปราน

2.บาตรน้ำมนต์ พระองค์ทรงใช้ตลอด มีผู้ถวายครั้งเสด็จไปประเทศเนปาล ความพิเศษของบาตรใบนี้ทำจากทองแดง และรูปทรงก็จะไม่เหมือนกับบาตรที่สร้างในบ้านเรา

3.พระแก้ว เป็นพระพุทธรูปที่อยู่กับพระองค์มากว่า 30 ปีแล้ว โดยวางอยู่ในห้องตำหนักคอยท่าปราโมช




4.โต๊ะและเก้าอี้สำหรับสอนธรรมะ พระองค์ซื้อมาจากเวิ้งนาครเขษม ราคาประมาณ 6 บาท พระองค์เอามาซ่อมแซม และทำใหม่ โต๊ะและเก้าอี้ชุดนี้ใช้เวลาสอนเรื่องพระพุทธศาสนา และธรรมะให้แก่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะ

5.เตียงบรรทม เป็นตั่งไม้ แต่ตัวตั่งสั้นมาก ขณะที่พระองค์สูง 179 เซนติเมตร สมัยก่อนพระองค์เดินตรวจวัดหรือว่าเดินไปพบเศษไม้ หรือโต๊ะหมู่ที่ลูกศิษย์ทิ้งแล้ว พระองค์จะเก็บกลับมาต่อตั่งให้ยาวขึ้น เตียงบรรทมของพระองค์ก็เหมือนเตียงนอนของชาวบ้านทั่วไป ส่วนที่นอนของพระองค์เย็บจากฟางข้าว

6.อาสนะ (ที่ปูรองนั่ง) เป็นอาสนะที่สมเด็จพระสังฆราชโปรดปรานที่สุด เพราะพระชนนีของพระองค์เย็บด้วยมือจากเศษเสื้อผ้าที่เหลือจากเย็บเสื้อผ้าให้ลูกค้า ซึ่งอาสนะผืนนี้พระชนนีทำด้วยความรัก และความศรัทธา นำมาถวายให้พระองค์ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร พระองค์จะบอกเสมอว่าเวลาคิดถึงพระชนนีก็จะดูอาสนะผืนนี้เพื่อคลายความคิดถึง

7.บาตร เป็นบาตรที่สมเด็จพระสังฆราชทรงใช้บิณฑบาต และฉันภัตตาหาร ไม่ว่าจะรับกิจนิมนต์ที่ไหนพระองค์ก็จะใช้บาตรใบนี้ตลอด




ทั้งนี้ สำหรับเครื่องสมณบริขารทั้ง 7 ชิ้นของสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารจะรวบรวมไว้ที่ตำหนักคอยท่าปราโมชและในอนาคตเตรียมนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทิ้งไว้เป็นมรดกให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาถึงความพอเพียงของพระองค์ ที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

จากพระประวัติที่ได้กล่าวมานี้ พระองค์ทรงเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม และทรงปฏิบัติพระจริยวัตร พระกรณียกิจ ในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง แม้พระองค์ท่านจะจากไปแล้ว แต่คุณงามความดีและคำสอนของพระองค์ท่านจะยังคงอยู่ในใจของพวกเราปวงชนชาวไทยตลอดไป...

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณข้อมูล: เว็บไซต์วัดบวรนิเวศวิหาร, วิกิพีเดีย
ภาพประกอบ: www.sangharaja.org




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น