อีกครั้งที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบการทำงานของสื่อในประเทศไทย ที่ล่าสุด ภาพถ่ายปฏิทินช่อง 3 ปี 2559 ถูกตั้งข้อครหาว่าคล้ายกับวงไอดอลเกาหลี ทั้งเรื่องของคอนเซ็ปต์ เสื้อผ้า หรือแม้แต่ท่าโพส ชวนให้สงสัยว่าภาพที่เห็นเป็นเพราะได้รับแรงบันดาลใจหรือตั้งใจลอกเลียนแบบกันแน่?
เหมือนหรือคิดไปเอง?
ดรามาบังเกิดทันที! สำหรับค่ายทีวียักษ์ใหญ่ฝั่งพระราม 4 อย่างสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ขนทัพเหล่าดาราในสังกัดมาร่วมถ่ายปฏิทินของช่อง ทว่า ยังไม่ได้ทันได้วางแผงขาย ก็เกิดเป็นประเด็นร้อนระอุทันทีเมื่อทางช่องนำภาพเบื้องหลังของการถ่ายทำมาให้แฟนๆ ได้ยลโฉมผ่านหน้าจอทีวี
ทันทีที่ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ ทำให้ชาวโซเชียลฯ แห่จับผิดปฏิทินช่อง 3 ปี 2559 กันยกใหญ่ โดยกระทู้เริ่มเรื่องความดรามาครั้งนี้มาจากเว็บไซต์ชื่อดังพันทิปดอทคอม “ปฏิทินช่อง 3 เหมือน หรือคิดไปเอง?” ที่เจ้าของกระทู้ได้ตั้งข้อสงสัยและโพสต์เนื้อหาในประเด็นของการโพสท่าและรูปแบบชุดว่าเหตุใดถึงได้ละม้ายคล้ายเหมือนกับเหล่าบรรดาไอดอลเกาหลีอยู่หลายวง อาทิ super junior,SHINee ,Dalshabet, girl's day
หลังจากกระทู้นี้ถูกเผยแพร่ก็ทำเอาหลายคนเข้าไปคอมเมนต์ถามกันยกใหญ่ว่า เป็นการไปลอกเลียนแบบภาพไอดอลเกาหลีหรือเปล่า? หรือแค่เกิดจากแรงบันดาลใจเท่านั้น อีกทั้ง ส่วนใหญ่ยังมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันคือรู้สึกผิดหวังกับการผลิตผลงานของทางทีมงาน
“ตอนแรกดูในทีวี ก็เอ๊ะ..รูปนี่คุ้นๆ เหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อนนะ ตอนนี้บอกเลยว่า ชัดเจน!”
“ปกติเป็นติ่งช่อง 3 นะแต่พอเห็นแบบนี้แล้ว ขอเบ้ปากรัวๆ ขี้ลอกน่าไม่อายจริงๆ”
“คือชุดคอสตูมไม่เท่าไหร่นะ แต่ท่าโพสถ่ายรูปจากต้นฉบับยังเอามาเหมือนกันนี่คืออะไร ไม่เข้าใจ”
“มันแรงตรงที่ทำขายด้วยยังจะไปเลียนแบบท่าโพสนักร้องเกาหลีมานี่แหละคิดในแง่ดี เขาอาจจะขอลิขสิทธิ์ไว้มั้ง”
“พอเห็นภาพแต่ละคนเอารูปปฏิทินกับคอนเซ็ปต์นักร้องเกาหลีมาเทียบกันแล้ว สรุปว่าปฏิทินช่อง 3 ปีหน้านี่คอนเซ็ปต์ K-pop ใช่มั้ยคะ?”
“ปกติ เราดูช่อง 3 เป็นหลัก แต่กระทู้นี้ขอไม่เข้าข้างนะคะ ลอกเลียนแบบ หรือ แรงบันดาลใจ? เราว่า คนคิดคอนเซ็ปต์ รู้ดีอยู่แก่ใจ”
“ถ้าเราเป็นเจ้าของช่องนะ จะเรียกดารามาถ่ายใหม่ให้หมดเลย บอกตามตรงเราว่าช่อง 3 มีศักยภาพมากพอ ที่จะทำให้ปฏิทินสวยงาม เริ่ดหรู กว่านี้อีก”
“ถ้าต้นฉบับเข้าเห็น คงอายเหมือนกัน !”
เกี่ยวกับประเด็นนี้เอง ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการLive จึงต่อสายตรงไปยังผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิง ให้ช่วยวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าว เธอจึงขอออกความเห็นว่า การลอกเลียนแบบมันมีมานานแล้วไม่ใช่แค่ปฏิทินอย่างเดียว เช่น เรื่องการก๊อปเพลงหรือเอ็มวีเพลง เพราะฉะนั้น ในส่วนของประเด็นนี้ให้คนเสพข่าวใช้วิจารณญาณ และเป็นคนตัดสินเองว่าเลียนแบบจริงหรือไม่?
และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า หากเป็นการลอกเลียนแบบจริงไม่นานก็ต้องมีคนขุดคุ้ยอย่างไรก็สร้างความเสียหายอยู่ดี อาจมีความเป็นไปได้ว่านี่คือการสร้างแรงบันดาลใจ ผลิตมาเพื่อให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจเป็นการกระตุ้นยอดขายอย่างหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นกัน
“มันตัดสินเขาไม่ได้ว่าเขาสร้างกระแสหรือไม่ได้สร้างกระแส เพราะเราไม่ได้อยู่ในระบบองค์กรของเขา เราไม่ได้อยู่ในทีมงานของเขา เราไม่รู้ว่าตั้งใจทำเพื่อให้มันมีกระแสแบบนี้หรือเปล่า แต่เรื่องแบบนี้โดยความเชื่อส่วนตัวว่า เขาอาจจะบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจก็ได้ เขาอาจจะบอกว่าเขาไม่ได้ก๊อป แต่เขาใช้เป็นแรงบันดาลใจ และแรงบันดาลใจอาจจะไประม้ายคล้ายคลึงกัน
ถ้าเขาตั้งใจทำเพื่อให้เป็นการสร้างกระแส เขาก็รู้อยู่แก่ใจแน่นอนว่ามันต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น แสดงว่าเขาต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจไว้อยู่แล้ว การไปเอารูปแบบเขามาหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องรู้อยู่แล้วว่าต้นฉบับเขาเป็นแบบนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากตรงนี้ และทำออกมาเหมือนกัน แต่เขาอาจจะใช้คำว่าแรงบันดาลใจก็ได้
เราไม่รู้ว่าจุดประสงค์ของเขาทำเพื่ออะไร ทำเพื่อให้มันเป็นกระแส ทำเพื่อต้องการให้เป็นที่วิจารณ์ เป็นที่พูดถึง หรืออาจจะเป็นการกระตุ้นยอดขายก็ได้ เพราะเป็นปฏิทินต้องมีการซื้อ การจำหน่าย มีการโฆษณา อาจเป็นไปได้ว่าสร้างแรงบันดาลใจมาให้ดูเหมือนเป็นเกาหลี เพื่อให้คนวิพากษ์วิจารณ์ พอคนอยากรู้อยากดูว่ามันเหมือนยังไง อาจเป็นการกระตุ้นยอดขายอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าคิดในแง่ของการตลาด”
ทว่า หากเป็นการลอกเลียนแบบจริง ประชาชน เหล่าแฟนคลับก็คงไม่เกิดความภาคภูมิใจ มิหนำซ้ำอาจจะทำลายความน่าเชื่อถือ และแน่นอนไม่ใช่เพียงความเสื่อมเสียของภาพลักษณ์องค์กร แต่ประเด็นนี้คงสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศไทยไม่น้อย
“ทั้งคนทำ คนผลิต คนที่คิดทำโปรเจกต์ เขาย่อมรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว ถ้าในกรณีก๊อปจริง เขารู้อยู่แล้วว่าเขาเอาแรงบันดาลใจมาจากไหน แล้วตัวเขาจะภาคภูมิใจแค่ไหนที่งานนี้มันไม่ได้เกิดจากไอเดียของทีมงานกันเอง แต่ไปเอาแรงบันดาลใจคนอื่นมา ภาคภูมิใจเหรอ แล้วประชาชน คนดู หรือแฟนคลับเอง เดี๋ยวนี้เขาไม่โง่ เขาสามารถแยกแยะออกได้ว่าเป็นงานก๊อปหรืองานแรงบันดาลใจ
แต่ถามว่าเสียกับประเทศไหม ถ้าต้นฉบับออริจินัลเขาไม่เห็นก็คงไม่เสียอะไรเสียหาย แต่ถ้าเขาเห็นก็คงอายเหมือนกัน มันก็เหมือนการเปรียบเทียบ มันเหมือนกับการที่เราทำงานของเรา เราภูมิใจกับงานของเรา เหมือนที่เกาหลีเขาภูมิใจกับงานของเขา อยู่วันหนึ่งเขาไปเห็นว่างานเขาถูกก๊อปโดยที่ไม่ให้เครดิต มันอาจจะรู้สึกเฟลเหมือนกันที่เห็นผลงานตัวเองในรูปแบบของงานคนอื่น”
เชื่อยาก! ว่ามาจากแรงบันดาลใจ
เช่นเดียวกับ “กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช” หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เขาก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้คนส่วนใหญ่ที่มองว่าเป็นการลอกเลียนแบบ เพราะรูปภาพที่ออกมานั้นไม่มีการให้เครดิตแต่ผลงานที่ออกมานั้นมีความเหมือนกัน จึงเชื่อได้ยากว่าทั้งหมดนี้สร้างมาจากแรงบันดาลใจ
“ตอนนี้กระทู้เรื่องปฏิทินช่อง 3 ในพันทิปก็มีคนแชร์เกือบพัน คนให้ความเห็นหลายร้อยคนแล้ว ส่วนในแฟนเพจต่างๆ มีคนเห็นนับแสน กดเข้าไปอ่านหลายหมื่นคนแล้ว ส่วนมากมองไปในทางเดียวกันว่าลอกเลียนแบบ ส่วนหลักเกณฑ์ง่ายๆ ที่ใช้พิจารณากรณีนี้ได้คือ ถ้าไม่ให้เครดิต แล้วผลงานออกมาเหมือนมากก็เรียกได้ว่าเป็นการลอกเลียนแบบ และยิ่งมีลักษณะสำเนาถูกต้อง หลายๆ สำเนาขนาดนี้ด้วยแล้ว ยากที่จะให้เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจเพียงอย่างเดียว”
ทั้งนี้ ในส่วนของการลอกเลียนแบบนั้นผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด โดยหนึ่งในนั้นคือ งานนาฏกรรม ( ท่าทาง ท่ารำ ท่าเต้น ฯลฯ ) ซึ่งถึงแม้ไม่จดทะเบียนลิขสิทธิ์เอาไว้ แต่หากมีการคัดลอก เลียนแบบ ผู้ที่คิดขึ้นคนแรกสามารถเรียกร้องสิทธิ์ และแจ้งเจ้าหน้าที่เรื่องถูกละเมิดได้ แต่ในกรณีต้นแบบอยู่ต่างประเทศต้องแล้วแต่ผู้ริเริ่ม และเทียบเคียงกฎหมายกันอีกทีหนึ่งด้วย
ทว่า ในส่วนของประเด็นนี้อาจจะส่งผลต่อการกระตุ้นยอดขายก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้กำไร เพราะมันจะส่งผลเสียในเรื่องของภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถืออาจจะดูลดลงไปอีกเท่าตัว ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดจึงฟันธงได้ว่า หากเป็นการทำตลาดจริงถือเป็นการทำการตลาดที่ไม่ดี
เพราะยุคนี้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อมากขึ้น และส่งต่อข่าวกันได้ไวมากขึ้น หากมีอะไรไม่ดี หลายๆ คนพร้อมทันทีที่จะช่วยกระจายข่าวออกไป ยอดขายถึงแม้จะสูงขึ้น แต่ความแข็งแรงของแบรนด์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งช่อง ทั้งผู้จัด ทั้งดารา โดยรวมในระยะยาวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
“คนเราไม่ได้ชื่นชมคนที่ลอกเลียนแบบอยู่แล้ว หลายคนอาจจะบอกว่าแฟนคลับเขาไม่ได้ซีเรียสอะไรกับสิ่งที่ออกมาคล้ายกัน แต่ผมคิดว่าแฟนคลับยุคนี้ก็ติดตามข่าวสารมากขึ้นผ่านทางสื่อเครือข่ายสังคมต่างๆ และบางส่วนจะเกิดเสียศรัทธาอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะมีผลต่อผู้สนับสนุนรายการในอีกทอดหนึ่งด้วย
อย่างกรณีปฏิทินนี้ แฟนเพจใหญ่ ๆ หลายเพจเอาไปโพสต์ มีคนกดแชร์ร่วมสามพันคน ลองคิดดูว่าจะมีคนเห็นข่าวในทางไม่ดีนี้มากน้อยเท่าไร ถึงแม้ว่าจะมีคนแห่ไปซื้อ แต่อยากจะบอกว่ายอดขายสูงขึ้นไม่ได้แปลว่าจะได้กำไร เพราะอาจจะขาดทุนในแง่ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และ มูลค่าแบรนด์ลดลง”
เพราะฉะนั้น การผลิตผลงานในยุคปัจจุบันต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาด้วย อีกทั้ง ควรมีแนวทางที่ชัดเจนว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ จรรยาบรรณในการทำงานถือเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่งและควรให้ความเคารพต่อผลงานของผู้อื่นมากขึ้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดกล่าวทิ้งท้าย
“งานสร้างสรรค์ในยุคนี้ผู้ประกอบการควรมีการให้นโยบายแก้ผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนว่าแนวทางไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ ถ้าพลาดไปแล้วควรยอมรับแล้วกล่าวขอโทษที่ใช้แรงบันดาลใจแบบลอกเลียนแบบมากเกินไป ในส่วนของจรรยาบรรณวงการบันเทิงปัจจุบันต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะทิศทางของโลกเราเน้นไปที่การให้ความเคารพต่อความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่นมากขึ้น”
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754