xs
xsm
sm
md
lg

เขาใหญ่ ยุคใหม่ แสนบ้าคลั่ง! สัตว์หากิน คนเบียดเบียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คนหากิน...สัตว์ก็หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน” ข่าวบางข่าวเหมือนนำพาบทเพลงเก่าๆ ที่คุ้นเคย กับภาพของเขาใหญ่เมื่อวันเก่ากลับคืนมาอีกครั้ง... แน่นอนวันเก่าที่ไม่เหมือนวันนี้ และบทเพลงนี้ดูจะยังเป็นเพียงแค่ความฝัน"
                                      
“ผมไปเขาใหญ่ครั้งแรกตอนอยู่ ม.4 ตอนนั้นราวปี 2536 จำได้ว่าคนยังน้อยมาก ต้นไม้ใหญ่ๆ เต็มไปหมด เดินแก้ผ้าโทงๆ ลงเล่นน้ำตกเหวสุวัต ยังจำได้ว่าเอาไม้ไปเขี่ยตัวทากแถวๆ นั้นเล่น ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวอะไร แต่เดี๋ยวนี้ลองไปดูสิ คนยังกับหนอน เมื่อก่อนบนเขาใหญ่มีจุดกางเต็นท์ 2 จุด คือจุดกางเต้นท์ลำตะคลองและจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้ สมัยนั้นโล่งมากไปวันธรรมดานี่แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย รถก็มีจอดอยู่คันสองคัน แต่เดี๋ยวนี้สิทั้ง 2 จุด นักท่องเที่ยวเยอะไปหมด รถยนต์นี่แน่นไปหมดจนทะลักไปยังจุดกางเต็นท์สำรองที่จุดชมวิวเขาร่ม!” วิชัย หนุ่มทหารเรือที่ไปเขาใหญ่มาร่วม 30 ครั้ง บอกเล่าประสบการณ์ตัวเองที่มีต่อเขาใหญ่

“เขาใหญ่” ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย บทเรียนแรกของนักเดินทางล่าสุดกับกรณีที่มีการแชร์คลิปวิดีโอที่มีชื่อว่า "Wild elephant herd attacks motorbike" เกี่ยวกับภาพเหตุการณ์จากเว็บไซต์ KhaoyaiNews ที่มีกลุ่มช่างภาพถ่ายภาพเหตุการณ์ช้างป่าโขลงใหญ่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เผชิญหน้ากับผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์คันหนึ่ง ซึ่งคลิปดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถึงสาเหตุที่ทำให้ช้างป่าหงุดหงิดว่าเกิดจากแม่ช้างเครียด หรือเกิดจากเสียงรบกวนจากกลุ่มบิ๊กไบค์ที่ขี่ผ่านไปก่อนหน้านี้ เขาใหญ่วันนี้เปลี่ยนไป แต่เราจะทำอย่างไรให้คนกับธรรมชาติและสัตว์ป่าอยู่กันได้บนฐานของการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน

“คน” หรือ “ช้าง” ที่ผิด?

เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นี้ว่าคนหรือช้างกันแน่ที่ผิด ทางทีมข่าวได้สอบถามข้อมูลไปยังสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งได้อธิบาย ซึ่งทำให้เราเข้าใจปัญหาว่าทำไมถึงมักเจอช้างบนถนนของเขาใหญ่...

“คือในอดีตเมื่อครั้งยังไม่มีการสร้างถนนเส้นนี้ ช้างป่าได้ใช้เส้นทางบางส่วนของพื้นที่เป็นเส้นทางเดินหากิน หรือที่เราเรียกว่า "ด่านช้าง" ต่อมามีการสร้างถนนขึ้นมาและบังเอิญไปทับซ้อนกับด่านช้างตรงนี้ ทำให้บางส่วนของถนนนั้นเกิดการใช้ร่วมกันระหว่างช้างและรถยนต์ เป้าหมายของการใช้ถนนของช้าง คือ การมุ่งหน้าไปยังพื้นที่แหล่งอาหารต่างๆด้วยความปลอดภัยและรวดเร็ว เช่น แหล่งดินโป่ง หรือแหล่งน้ำ

ช้างป่าเขาใหญ่ในแต่ละฝูง มีการตกลูกทุกๆปี นั่นหมายถึงว่าในฝูงมีลูกน้อย การเดินหากินในป่าที่รกทึบ หญ้าสูง หรือเขาที่ชัน ของลูกช้างมักมีความยากลำบาก หลายพื้นที่มีลูกช้างป่าพลัดหลงฝูงจากการตกภูเขา และฝูงก็จะห่วงลูกช้างมาก การเดินบนถนนก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ปลอดภัยสำหรับลูกช้าง เดินสะดวก และฝูงช้างป่าจะหวงลูกมากๆ
กอปรกับพื้นถนนในตอนกลางคืนจะอุ่น เนื่องจากความร้อนสะสมในตอนกลางวัน ในช่วงฤดูหนาว ช้างจะเดินออกมาบนถนนถี่ขึ้น บางครั้งจะเห็นช้างป่านอนหลับบนถนนในช่วงหน้าหนาว นอนบนดินโป่งในช่วงหน้าร้อน บริเวณข้างทางของถนน มักมีต้นหญ้าและพื้นขนาดเล็กที่เป็นอาหารของช้าง ช้างสามารถกินได้ง่าย”

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และช่วยเหลือชายคนดังกล่าว ออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Rescue Klongkhoi โดยมีข้อความว่า
"จากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ที่เห็นในคลิปและตามข่าว ผมไม่ขอโทษว่าเป็นความผิดของผู้ชายคนนี้ ส่วนคนที่จะด่าว่าผู้ชายคนนี้ก็คงจะขอบอกว่าขอให้หยุดไว้ก่อน เพราะผมว่าเค้าคงจะตกใจกลัวทำอะไรไม่ถูก ซึ่งถ้าอาจจะเป็นคุณเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมว่าหลาย ๆ คนที่ว่าเขาก็คงทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน

ผมเป็นคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ช้างโขลงนี้มีตัวผู้ตกมัน 1 ตัว กำลังเข้ารวมฝูงเพื่อผสมพันธุ์ แล้วมีลูกอ่อนรวมอยู่ในโขลงด้วย ตอนเกิดเหตุมีผมกับเอ็ดดี้แค่ 2 คน ช่วงนั้นพี่สุทนำขบวนนักท่องเที่ยวที่ติดโขลงช้างป่าขึ้นเขาใหญ่ไปก่อน เพราะใกล้ ๆ กับผาตะแบก มีช้างออกตรงนั้นอีก 1 โขลง ขณะที่ด่านเขาเขียวได้ทำการปิดการจราจร เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เวลาผ่านไปครู่เดียว รถจักรยานยนต์คันนี้ที่มาจากด่านปราจีนจึงมาถึงครับ

ที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง ผมคิดว่าคนขับไม่น่าจะเห็นว่ายังมีช้างอยู่ข้างหน้าอีก จึงขับรถเข้ามา พอถึงหัวโค้งจึงมาจ๊ะเอ๋กับช้างตัวที่เป็นแม่แปรก (จ่าโขลง) แม่แปรกจึงพุ่งเข้าหา แล้วชายคนนี้จึงตกใจทิ้งรถให้ล้มลงไป พอช้างสมาชิกโขลงได้ยินเสียงร้อง ช้างที่เดินลงในป่าข้างทางแล้ว จึงวิ่งย้อนขึ้นมาล้อมผู้ชายคนนี้ ตามที่เห็นในคลิป ผมกับเอ็ดดี้ (ฝรั่งผมยาวคนที่ถ่ายคลิปที่เห็นกันนี้) จึงต้องหาทางช่วย โดยเอ็ดดี้ได้ขับรถเข้าไปดันกันโขลงช้าง ทางฝั่งผมได้เตรียมเคลียร์พื้นที่เผื่อไว้ให้เอ็ดดี้ถอยหลัง เผื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นในกรณีที่รถของเอ็ดดี้ไม่สามารถดันโขลงช้างได้และจำเป็นต้องถอย

ผ่านไปสักพักก็ยังไม่สามารถนำผู้ชายคนนี้ฝ่าวงล้อมช้างออกมาได้ ถึงจะมีช่วงที่ช้างล่าถอยและเปิดช่องให้หนี แล้วผมตะโกนให้หนีมาทางหลังรถ แต่เหมือนจะไม่ได้ยินเพราะเสียงช้างร้องพร้อมกันทุกตัวเสียงดังมาก แล้วสักพักพี่สุทกับทีมช่วยเหลือนักท่องเที่ยวถึงกลับมาเสริม แล้วช่วยทำการผลักดันช้างออก ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวคนนี้ได้อย่างปลอดภัยครับ หลังจากนั้นจึงดันช้างออกข้างทางและนำรถนักท่องเที่ยวที่ติดอยู่บนเขาใหญ่ประมาณ 50-60 คัน ลงได้อย่างปลอดภัย แต่ผมดูแล้วไม่รู้ว่าแกห่วงรถหรือว่ากลัวจนทำอะไรไม่ถูกกันแน่"

ทั้งนี้ ทางด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กรณีที่นักท่องเที่ยวยกมือไหว้ช้าง แล้วทำให้ช้างไม่เข้าทำร้ายนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด แต่สาเหตุที่ช้างยอมถอย เพราะช้างแค่สงสัยว่ารถนั้นคืออะไร โดยหากนักท่องเที่ยวประสบกับสถานการณ์เช่นนี้ ขอให้ตั้งสติ แล้วถอยออกมาให้ไกลช้างมากที่สุด

เขาใหญ่วันนี้ไม่เหมือนวันเก่า

"เขาใหญ่" หรือที่ผู้คนเคยเรียกขานกันว่า “ผืนป่าดงพญาไฟ” อันสะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของป่าผืนนี้ ทเขาใหญ่มีลักษณะเป็นป่าดงดิบหนาทึบสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งสัตว์ใหญ่อย่าง ช้าง เสือ กระทิง และชุกชุมด้วยไข้ป่า หรือไข้มาลาเรีย ต่อมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5เสด็จผ่านในคราวเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ทรงเห็นว่าชื่อ ดงพญาไฟ ดูน่ากลัว จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ดงพญาเย็น” ตั้งแต่นั้นเป็นมา

“แต่ก่อนถนนหนทางยังไม่สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ และยังไม่มีถนนหนทางตัดผ่านผืนป่าแบบนี้ แต่ก่อนจะไปบ่อย เดี๋ยวนี้ปีหนึ่งอาจจะไปสักครั้ง เบื่อคนมันเยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีงานคอนเสิร์ตบ้าบออะไรกันก็ไม่รู้ คนก็ยิ่งแห่กันไป เราก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยที่ทำให้คนมันเยอะขึ้น เลยนานๆ จะไปทีเดี๋ยวนี้ ” วิชัย เล่าถึงเขาใหญ่ในความทรงจำ
นักข่าวเคยไปเยือนเขาใหญ่กับเขาหลายครั้งครา หากนับจากสัตหีบบ้านของเราก็ถือว่าไม่ไกลนัก ขับรถไปเพียงสองร้อยกว่ากิโลเมตร ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๓๐๗๗ (ถนนปราจีนบุรี-เขาใหญ่) กับเวลาเดินทางไม่เกิน 3 ชั่วโมง

หากวันนี้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากถนนที่เคยโล่ง นานๆ จะมีรถสวนไปมาสักที ปัจจุบันเส้นทางมุ่งเข้าสู่ป่า กลับกลายเป็นสิ่งธรรมดา ที่ในช่วงวันหยุดจะเห็นบรรดานักปั่นจักรยานเป็นกลุ่มๆ ปั่นออกกำลังกายไต่ขึ้นเขาสูงแห่งนี้เป็นระยะๆ อีกทั้งสิงห์นักบิดบิ๊กไบค์ขับฉวัดเฉวียน เข้าโค้งขึ้นไปกันอย่างเพลินอารมณ์

“เดี๋ยวนี้คนมันเยอะมากๆ เยอะเกินไป เมื่อก่อนบนเขาใหญ่มีจุดกางเต็นท์ 2 จุด ได้แก่จุดกางเต็นท์ลำตะคลองและจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้แต่วันนี้ทั้ง 2 จุดนักท่องเที่ยวไปจับจองพื้นที่แน่นไปหมด จนต้องทะลักไปยังจุดกางเต้นท์สำรองคือจุดชมวิวเขาร่ม

บางทีทางอุทยานควรจะจำกัดนักท่องเที่ยวให้ผ่านเข้าไปได้น้อยกว่านี้ ยิ่งกับงานคอนเสิร์ตอะไรนี่ ไม่น่าจะมาจัดที่นี่เลย เสียงมันดังมาก ดังก้องไปทั้งป่า รบกวนสัตว์ป่าอย่างมาก เข้าใจนะ ว่าอยากได้ฟีลลิ่ง ชมคอนเสิร์ตกลางป่า แต่ถามหน่อยว่าในความสนุกสนานของเรา นั้นมันไปรบกวนธรรมชาติ และชีวิตอื่นๆ อีกมาก แล้วกับถนนเส้นนั้นที่มักมีข่าวช้างป่าออกมาที่คนมักใช้คำว่า “รบกวน” ผู้คนที่สัญจร ผมไม่แปลกใจเลย เพราะตรงนั้นมันเป็นทางช้างผ่านมานานแล้ว คนเราไปตัดถนนผ่านที่ของช้างเอง”

“ตรงนั้นมันเคยเป็นเส้นทางหากินของช้างอยู่แล้ว พอไปทำถนนเหมือนไปแบ่งพื้นที่หากินของช้าง ช้างก็ยังคงหากินอยู่แถบพื้นที่เดิมของเค้าและข้ามถนนไปมาตามเส้นทางของเค้า” วิชัยบอก “สมัยก่อนเวลาขับรถเข้าเขาใหญ่เจอช้างเราจะอยู่ห่างๆ เลยนะ ถอยไปไกลๆ เลย ยอมเสียเวลารอสักหน่อย แต่เดี๋ยวนี้คนกลับจะรีบผ่านๆ ไป บางทีเห็นนี่ต้องถอยก่อนแล้ว
ปีนี้ผมยังไม่ได้ไปเขาใหญ่เลย ไปครั้งสุดท้ายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ดีนะที่ไปตอนก่อนจัดคอนเสิร์ต คือสถานที่จัดคอนเสิร์ตแม้จะอยู่นอกเขตอุทยานก็จริง แต่มันใกล้มากนะจริงๆ แล้ว คงห่างราวๆ 600-700 เมตร เองจากตรงนั้น ยังไงเรื่องเสียงที่ดังขนาดนั้นมันก็ต้องมีผลกระทบกับสัตว์อยู่แล้ว คนบ้าคลั่งแหกปากร้องเพลงสนุกสนาน แต่สัตว์มันคงรำคาญ...”

“ผมไม่รู้นะ ว่าอนาคตเขาใหญ่จะเป็นอย่างไร มันอาจจะบ้าคลั่งกว่านี้ก็ได้ ” วิชัยบอกด้วยน้ำเสียงหดหู่

ควรใช้กฎหมาย-จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

จากข้อมูลของกรมอุทยาน พบว่าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดยาวเทศกาลต่างๆ จะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนเขาใหญ่มากถึงราววันละ 15,000-20,000 คน และล่าสุดช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ได้ทำลายสถิตินักท่องเที่ยวหนาแน่นมากที่สุด ถึง 23,000 คน ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 2557 โดยตลอดปี 2557 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทั้งสิ้น 1,186,175 คน แบ่งเป็น ชาวไทย 1,141,581 คน ชาวต่างชาติ 44,594 คน! ซึ่งจากสถิติพบว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลตัวเลขนี้สะท้อนถึงปัญหาหลายๆ อย่าง เพราะด้วยปริมาณคนที่มากขนาดนั้น ย่อมส่งผลรบกวนต่อธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ล่าสุดทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เตรียมประกาศห้ามรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่มีความดังเกินที่กฎหมายกำหนดขึ้นเขาใหญ่ โดยนายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เตรียมเชิญสมาคมรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เข้าชี้แจงระเบียบการขึ้นเขาใหญ่ ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ช้างป่าล้อมคนขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เพราะตกใจเสียงดัง ทั้งนี้ หากการหารือร่วมกัน พบว่า ไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวจะประกาศห้ามรถจักรยานยนต์ประเภทนี้ขึ้นเขาใหญ่ และจะเพิ่มมาตรการควบคุมความเร็ว และระดับเสียงเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้เกินตามกฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการเฝ้าระวังช้างป่าให้กับนักท่องเที่ยว กรณีพบช้างป่าระหว่างทางเพื่อป้องกันอันตราย ด้วยการตั้งจุดรับแจ้งเหตุเมื่อพบช้างป่า และจัดชุดลาดตระเวนตลอดเส้นทาง แต่ช้างป่าจะปรากฎตัวบนถนนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จึงยากต่อการตรวจสอบ นักท่องเที่ยวจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับช้างป่าและไม่ทำให้ช้างป่าตื่นตกใจ พร้อมชี้ว่า อาจต้องทบทวนมาตรการจำกัดความเร็วรอบเครื่องของรถจักรยานยนต์ขนาด 250 ซีซี ที่ 5,000 รอบต่อนาที เพื่อควบคุมความเร็ว และเสียงต้องไม่ดังเกิน 95 เดซิเบล เมื่อเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

โดยหัวหน้าอุทยานฯ ได้เผยว่าปัจจุบันช้างป่าเขาใหญ่มีกว่า 300 ตัววนเวียนหากินในพื้นที่โดยรอบอุทยานฯ ประชาชน นักท่องเที่ยวพบเจอได้ตลอดเวลา แนะขอให้ปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำ ป้ายเตือน และ เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ไว้ทุกจุดบริการนักท่องเที่ยว และมีป้ายสื่อความหมายต่างๆ ตามจุดที่มีสัตว์เดินข้าม พร้อมกับส่งสายตรวจชุดเคลื่อนที่เร็วทั้งรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ จำนวน 2 ชุด ชุดละ 4 คน คอยออกตรวจลาดตระเวน และ ดูแลติดตามรถยนต์ที่วิ่งในเส้นทางดังกล่าวตลอดเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่มีอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงความเชี่ยวชาญ และการใช้ท่าทาง คำพูด ส่งสัญญาณกับช้างป่าเท่านั้น

หากสิ่งสำคัญที่อยากฝากไปถึงนักท่องเที่ยว คือ ให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเข้าไปท่องเที่ยวยังพื้นที่ต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติในการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ 1. การขับรถเร็วเกิน 60 กม./ชม. ผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ 2. การให้อาหาร ลิง สัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่าก้าวร้าว และเป็นอันตราย 3. กรณีทิ้งขยะลงในที่รองรับเท่านั้น 4. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นและสัตว์ป่า 5. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามา 6. ห้ามเครื่องดนตรีทุกชนิด 7. ห้ามเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 500-2,000 บาท

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับเสียงที่รบกวนสัตว์ป่าอันเกิดมาจากาการจัดคอนเสิร์ตนั้น ทางหัวหน้าอุทยานฯ ได้ชี้แจงว่าเป็นเพราะกฎหมายของอุทยานครอบคลุมไปไม่ถึงเรื่องผลกระทบด้านเสียง อีกทั้งบริเวณดังกล่าวก็อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ด้วย จึงยากที่จะจัดการ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นของคนและสัตว์ หากบางทีผลกระทบที่มนุษย์กระทำไว้นั้นเราอาจไม่รู้ตัว ทั้งมลพิษจากท่อไอเสียของพาหนะต่างๆ รวมทั้งมลภาวะทางเสียง ที่รถยนต์บางคันมีเสียงดังเกินกว่ามาตรฐาน รวมถึงการใช้ความเร็วเกินกำหนดในเขตอุทยานฯ ทำให้เรามักเห็นภาพของสัตว์ป่าที่ถูกรถทับหรือรถชนตายอยู่บ่อยๆ 

แน่นอนส่วนใหญ่คนที่ไปเที่ยวเขาใหญ่คือคนเมือง ที่ต่างอยากจะ slow life หากทำไมเราต้องรีบตะบึงรถกันอย่างบ้าคลั่งเข้าไปในป่าด้วย? ลองสโลว์ไลฟ์ขับขี่ไปแบบเงียบๆ ช้าๆ น่าจะดีกว่าไหม เพราะการห้ามให้คนไปเที่ยวคงเป็นไปไม่ได้ หนทางนี้จึงอาจเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดเท่าที่เราจะทำได้...




 


 





มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015




 
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น