เจ้าของหนังสร้างกระแสหรือเปล่า ทำให้คนอยากดู!!
ผู้มีอำนาจในกระทรวงไดโนเสาร์ แยกแยะไม่ได้เลยเหรอ ว่าสิ่งไหนควรแบน สิ่งไหนไม่ควรแบน!
วงการผ้าเหลืองอายเหรอ ที่จะสะท้อนความจริงของพระสงฆ์ไทย?
นี่คือ แง่มุมบางเหตุผลที่กำลังคุกรุ่น วิพากวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง อาบัติ หนังที่คนจำนวนไม่น้อยอยากดู แต่ยังดูไม่ได้ และ ถูกเลื่อนฉายอย่างไม่มีกำหนด
ยิ่งแบน ยิ่งน่ากล่าวถึง
มติของทางคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมาระบุเอาไว้ชัดเจนว่ามีเหตุผลสนับสนุนถึง 4 ประการ ขอสั่งระงับการฉายคือ 1.ปรากฏภาพสามเณรเสพของมึนเมา 2.มีภาพสามเณรใช้ความรุนแรง 3.พูดความสัมพันธ์และใช้คำพูดเชิงชู้สาวที่ไม่เหมาะสม และ 4.มีการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธรูป
กระแสจากโซเชียล และ เพจต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วย ก็ออกมาเคลื่อนไหว ทั้งข้อความ และ บทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการสั่งแบนภาพยนตร์ เรื่องนี้ ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ที่ว่า นี่คือ ภาพยนตร์ที่สะท้อนความจริงในวงการผ้าเหลือง และให้ข้อคิดแก่ผู้ชมมากกว่า ที่จะให้โทษ และ ผู้มีอำนาจต้องใจกว้างที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชน
ล่าสุด มีกลุ่ม change.org เปิดให้รณรงค์ รณรงค์ให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" ( โดยไม่เซ็นเซอร์เนื้อหาใด ๆ)
โดยมีการส่งข้อความไปยังอีเมลให้ทั่วไปรับรู้ว่า อยากให้ภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ " ได้เข้าฉายตามปกติ โดยไม่มีการตัดตอน ปรับแก้เนื้อหาใด ๆ
ทั้งนี้ เพื่อให้ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เห็นอีกมุมอันเป็นมุมแห่งความเสื่อมที่เกาะกินพระพุทธศาสนา ยังผลทำให้พระศาสนาเสื่อมทรามเพราะ "พวกอลัชชี นอกรีต" ที่นับวันจะยิ่งมีพฤติการณ์อันต่ำช้า ลบหลู่ศาสนา บิดเบือนพระธรรมคำสอน หากินกับผ้าเหลือง เพื่อความสุขสบายส่วนตน มิได้มีเจตนาที่จะบวชเข้ามาเพื่อสืบทอดพระศาสนาโดยเลื่อมใสอย่างแท้จริงดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพระปณิธานไว้ ... แต่กลับบวชเข้าสู่พระศาสนาเพื่อมุ่งหวังแต่ ลาภ ยศ สรรเสริญ อันถือเป็น "กิเลส" ที่พระสงฆ์ผู้สืบทอดพระศาสนาซึ่งเป็นผู้เจริญแล้ว จักได้ปลดปลงซึ่งกิเลสเหล่านั้นตามพระธรรมคำสอน
ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" นี้ จะได้ตีแผ่นำเสนอพฤติกรรมนอกรีตในพระศาสนาบางอย่างของบุคคลบางกลุ่มที่มุ่งร้ายต่อพระศาสนา มุ่งหวังผลประโยชน์ ลาภอันมิควรได้จากความศรัทธาที่มิได้มาพร้อมด้วยสติออกมาให้เราได้รับรู้ในเสี้ยวมุมหนึ่ง (ซึ่งจริงๆแล้วยังมีที่แย่ยิ่งกว่านี้อยู่อีกมาก) ผ่านตัวละครในเนื้อเรื่อง เพื่อที่จะได้ทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายตระหนักรู้ และตื่นตัวในการที่จะดูแลและปกป้อง ทนุบำรุงพระศาสนาประจำชาติไทย ให้ดำรงไว้ซึ่งความน่าเลื่อมใส เป็นไปตามพระปณิธานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยมีคนลงชื่อมากกว่าหมื่นราย และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างมีเป้าหมายให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ กลับมาฉายได้ โดยไม่มีการตัดตอนแต่อย่างใด
ผิดตั้งแต่การตั้งชื่อ “อาบัติ”
ขณะเดียวกัน ในวงการสงฆ์ มีการออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน ผ่านสื่อ และ ผ่านการโพสต์ข้อความเฟชบุ๊ก อย่างเช่น พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท พระนิสิตปริญญาโท พุทธศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้กล่าวถึงภาพยนตร์ เรื่องอาบัติ โดยมีการโพสต์ข้อความอย่างรุนแรงและเห็นด้วยกับการโดนแบนว่า
“อย่าเห็นแก่เงินให้มากนัก เพราะหนังของพวกคุณมันอาจนำมา ซึ่งความขัดแย้งทางศาสนาที่หาทางจบไม่ได้ พวกคุณคงไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ ต้องจารึกว่า ภาพยนตร์ที่พวกคุณกำกับนั้น เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทางศาสนา ในประเทศไทยเป็นแน่”
ภาพยนตร์เรื่องอาบัติ ถ้าวิเคราะห์กัน ผิดตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องแล้ว เพราะอาบัติ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระภิกษุสงฆ์ แต่คอนเซ็บต์ของหนังที่ออกมาเผยแพร่ เป็น สามเณร ซึ่งสามเณรจะไม่เรียกว่าอาบัติ แต่จะเรียกว่า ศีลขาด หรือ ขาดศีล ถือว่าขัดแย้งกัน
โดยในเนื้อหาของเรื่อง สามเณร เป็นตัวเดินเรื่องทำผิดศีลข้อ 3 กาเมสุมิจฉาจาร ทางพระวินัย ใช้คำว่า อาบัติกับสามเณรไม่ได้ หากจะให้ถูกต้องจริงๆ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องใช้พระภิกษุ เป็นตัวเดินเรื่อง ถึงจะใช้คำว่า อาบัติได้
“ถามว่า หนังเรื่อง อาบัติ ทำลายศรัทธาต่อพระพุทธศนาไหม ตอบว่า มีส่วนกระทบมาก ผู้ใหญ่บางคนแยกแยะได้ แต่เด็กจะตั้งคำถามว่า ดูหนังแล้ว ทำไม พระนอนกับผู้หญิงได้ เรื่องนี้จะกระทบ ต่อความศรัทธา หรือ ความเชื่อ ดังนั้นจะเป็นภาพลบมากกว่า”
"อาบัติ เป็นเรื่องของพระภิกษุ ไม่เกี่ยวกับฆราวาส อาบัติเกิดขึ้นในพระวินัย แก้ไขโดยพระวินัยและดับในพระวินัย เป็นเรื่องของสงฆ์ล้วน ๆ"
พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามนำอาบัติของพระที่ตัดสินแล้ว เรื่องจบลงแล้ว อธิกรณ์ระงับแล้ว ไปโพนทนาประจานรื้อฟื้นขึ้นมาอีก พระพุทธองค์ทรงตำหนิผู้ที่กระทำเช่นนั้นว่าเป็นโมฆบุรุษ เพราะนั่นไม่ใช่วิธีที่จะจรรโลงพระศาสนา ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้คนที่ยังไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธาและคนที่มีศรัทธาแล้วยิ่งศรัทธาเพิ่มขึ้นไปอีก การเอาอาบัติของพระภิกษุไปทำเป็นภาพยนตร์นั้นมันขัดแย้งกับหลักการของศาสนพุทธอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ต้องถามผู้กำกับว่า การที่คุณทำหนังเรื่องนี้ออกมานั้นต้องการอะไรจากสังคม...เงิน...ใช่ไหม ?
สรุป คือ เอาเรื่องของพระภิกษุ มาประจาน มาดำเนินเรื่อง และหนังมาสรุปตอนท้ายว่า สื่อว่า คุณอย่าทำนะมันไม่ดี มันสมควรไหม ทำไม ไม่ทำหรือสร้างหนังแต่เรื่องพระ เณร
หลวงพี่ก็อยากดูนะโยม
พระมหาวิชาญ สุวิชาโน ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live อีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่างกัน ว่า หลวงพี่อยากดูนะ ถ้าดูแล้วให้เป็นการเรียนรู้ ถ้าหลวงพี่ดูหลวงพี่จะไม่ทำ หลาวงพี่เชื่อว่าคนดูมีวิจารณญาณในการรับชม เขาตัดสินและแยกแยะเองได้ว่าทั้งหมดนี้คือภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องจริง
“หลวงพี่เป็นกลางนะไม่ด่วนรับและไม่ด่วนปฏิเสธ เวลาที่เรารับสิ่งนี้ ถ้าเป็นตัวหลวงพี่คือเคารพวิจารณญาณของผู้ชม ว่าเขาไม่ได้เชื่อหมด เมื่อเขาดูแล้วเขาก็จะได้ตัดสินเอง ที่บอกว่าดูแล้วมันจะเชื่อหมดมันจะเสื่อมเสีย สมมติโยมดูโยมก็ไม่เสื่อมเสียหรอก เพราะว่าหนังก็คือหนัง แม้แต่หนังพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ตรงพระไตรปิฎกประเทศไทยในหลายเรื่องหลายตอน หนังก็คือหนังนั่นแหละ และมันก็ไม่ได้ย้อนกลับไปหาองค์พระพุทธเจ้า องค์จริงที่อยู่ในพระไตรปิฎก ในส่วนนี้มันก็เป็นเครื่องทดสอบนะ เหมือนอาศัยเรื่องนี้เป็นการเรียนรู้”
ภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาในปัจจุบันมีหลายแบบ หลายแง่คิดด้วยกัน ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์แนวอาชญากรรม เมื่อคนดู ดูแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำตาม แต่เนื้อหานั้นๆ มันสอดแทรกข้อคิด หรือเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนดูมากกว่าว่าถ้ากระทำแบบในภาพยนตร์แล้วจุดจบคืออะไร
“หนังเรื่องนี้ไม่ได้ดูเพื่อการบันเทิงแน่นอน เป็นเครื่องมือการเรียนรู้เลยว่าหนังก็คือหนังเป็นกรณีศึกษา ในนั้นก็มีพระ มีเณรอยู่องค์หนึ่งด้วยซ้ำไป หลวงพี่อยากดูนะให้เป็นการเรียนรู้ ถ้าหลวงพี่ดูหลวงพี่จะไม่ทำ มันมีหนังสงคราม หนังคนบาป หนังข่มขืน หนังฆ่า ทุกคนดูแล้วทำตามไหม
หนังทุกวันนี้เป็นยังไงบ้างมีแต่หนังอาชญากรรม โจรแหกคุก แล้วมันสอนให้คนทำหรือสอนให้คนระวังตัว มันคล้ายๆ กัน แต่พอมาเป็นเรื่องศาสนา อะไรที่จับต้องไม่ถึง มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มันจะถูกหลงลืมไป เป็นเครื่องวัดผล ยังไม่จรรโลงหรือทำให้ดีขึ้นหรือลดลง ถ้าหากว่าดูแล้วภาพรวมโดยส่วนมาก ข้อที่หนึ่ง มั่นใจว่าคนที่ดูไม่เลียนแบบหรอก พวกหลวงพี่ที่บวชอยู่ไม่เลียนแบบแน่นอน อันที่สอง หลวงพี่ว่าคนที่ไปดูครึ่งๆ หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ มีวิจารณญาณว่านี่ไม่ใช่ มันเป็นแค่หนัง เป็นแค่กรณีศึกษา ไม่ได้เชื่อหรอก แล้วก็กลับไปกราบหลวงพ่อตัวเองที่วัดก็เหมือนเดิม”
อย่าเหมารวม..หนังเรื่องนี้ไม่ได้แทนพระสงฆ์ทั้งหมด!
พระมหาวิชาญ ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” อีกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเครื่องมือการเรียนรู้ อย่างหนึ่ง หากใครที่ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเหมารวมว่าพระสงฆ์ไม่ดี หรือเป็นภัยไปเสียหมด ถือว่าขาดความรู้และเป็นการคิดจินตนาการมากจนเกินไป
“มันแปลกมากถ้าจะมีคนไปดูหนังแล้วบอกว่าคณะสงฆ์ไม่ดี มันเป็นเรื่องที่คิดจินตนาการเกิน แล้วถ้าดูหนังวัยรุ่นอะไรที่ออกมา ถ้าจะบอกว่าเด็กทุกคนเป็นหมด หลวงพี่ว่าไม่นะ คือส่วนตัวนะไม่ใช่ทั้งหมดหรอก เป็นเครื่องมือการเรียนรู้แล้วก็วัดผลว่า ถ้าคณะสงฆ์เห็นเรื่องนี้มันเป็นภัย แสดงว่าความรู้ของพุทธศาสนิกชนหรือว่าเยาวชนไม่เพียงพอ
เพราะฉะนั้น ที่มีการสอบธรรมศึกษายังไม่มีความคุ้มกันดีพอ เป็นเครื่องประเมินผล และเราก็หันหน้ามาจัดการการศึกษาและก็ให้ความรู้แก่เยาวชนหรือสามเณรที่จะหลงไป เหมือนกับมีเครื่องวัดผลชนิดหนึ่งที่อยู่กันไปตามประสาไม่มีแรงกระตุ้นที่ดีพอ เพราะเขาไม่ได้ประกาศว่าหนังเรื่องนี้แทนพระสงฆ์ทั้งหมด บางทีเขาก็บอกว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นบทบาทสมมติเขาก็จะขึ้นหน้าจอเอาไว้”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์ในสมัยนี้ผลิตออกมาเสียดสีพระพุทธศาสนาหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ เรื่อง นาคปรก ที่ใช้ผ้าเหลืองมาห่มคลุมความชั่ว สะท้อนให้เห็นว่าชาวพุทธมองศาสนาเสื่อมไปแล้วหรือไม่?
“มันไม่ได้เสียดสีอย่างเดียวหรอก ยกตัวอย่าง เรื่องข้ามากับพระก็ดี มันมีสลับกันอยู่นะในโลกนี้ ถึงแม้คนเขาจะทำแบบมีเจตนาแอบแฝงก็ตาม แต่ว่าเราควรมีศรัทธาที่มั่นคง แล้วหนังมันก็คือหนังไม่ใช่เรื่องจริง หนังเกี่ยวกับพระส่วนมากก็ทำเสียดสีในแนวตลกนะ"
อย่างไรก็ตาม พระมหาวิชาญ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้สร้างภาพยนตร์แนวนี้ ต้องคำนึงการสอดแทรกคำสอนไว้ในบทด้วย เพื่อเป็นกรณีศึกษาและเป็นการให้แง่คิดกับคนดู และในส่วนของคนดูนั้น ควรจะดูเพื่อให้เกิดปัญญาและก็คิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้
“ความจริงการวิจารณ์ทำให้หนังเขาดังมากขึ้นด้วยซ้ำไป ควรจะแทรกคำพูดหรือบทบาท ก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีคนไปดูแต่พอมีกระแสขึ้นคนอาจจะไปดูเยอะขึ้น และก็ควรแทรกบทกลางหรือสุดท้ายแทรกคำสอนไว้ ก็เสริมบทเป็นการเรียนรู้ เหมือนเอากฎแห่งกรรมมาเป็นกรณีศึกษา ก็สรุปเป็นบทเรียนให้ประชาชน ที่ไม่ควรกระทำแบบเณรองค์นี้แบบนี้เป็นต้น หรือคำพูดของตัวละครก็แทรกข้อคิดเกี่ยวกับหลักศาสนาด้วยไปด้วย
ความจริงอาบัติในพระไตรปิฎกก็มีเยอะมากเขาก็ยกมาข้อเดียวสองข้อ เรื่องจริงมันมีมากกว่าหนังอีกก็ต้องควรจัดการมากกว่า สิ่งที่ฝากคนดูหรือว่า หน่วยงานที่เดือดร้อนเราก็มองหาแนวทางประชุมหาทางป้องกันให้ความรู้กับสามเณรบวชใหม่ หรือระบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริงๆ ในวัด ในศาสนสถาน ในเฟซบุ๊กจะดีกว่า และถ้าเรื่องนี้มันกระตุ้นขึ้นก็หันมาทำอันนี้ซะ อย่าไปเอาความอะไรกับหนังเล็กๆ น้อยๆ เลย”
...อาบัติ ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ โดนแบน ก่อนหน้านี้เคย มีภาพยนตร์เรื่อง นาคปรกที่เคยเกิดกระแสนี้มาแล้ว มีคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่ ฟังก์ชั่นของหนังไทย ได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างอิสระ และสามารถให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสิน หรือ ณ วันนี้ยังไม่ถึงเวลา...
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754